ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต

ฝนดาวตกที่ได้ชื่อว่า ราชาแห่งฝนดาวตก ก็คือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต(Leonids) เกิดในช่วงคืน
วันที่ 17 ต่อถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยปกติจะเกิดดาวตกประมาณ 8-10 ครั้งต่อ
ชั่วโมง และบางปีอาจมากถึง 15-30 ครั้ง แต่สุดยอดของฝนดาวตกชุดนี้จะเกิดขึ้นทุกรอบ 33 ปี

Professor Denison Olmsted แห่งมหาวิทยาลัย Yale ได้เห็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต
ในปี พ.ศ. 2376 และเรียกว่า พายุฝนดาวตกแห่งเดือนพฤศจิกายน บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า
"…มีดาวตกร่วงลงมาจากท้องฟ้ามากมายเหมือนหิมะตกทิศทางที่ดาวตกปรากฏนั้นพุ่งออกมาจากจุดหนึ่งของ
ท้องฟ้าตรงส่วนหัวของกลุ่มดาวสิงโต ดาวตกมีจำนวนมากมายเกิดขึ้นครอบคลุมทั่วทุกส่วนของท้องฟ้า
จนไม่มีที่ว่าง เกิดพายุฝนดาวตกนานถึง 9 ชั่วโมง มีดาวตกเกิดขึ้นราว 240,000 ครั้ง…"

มีผู้คนจำนวนมากได้เห็นพายุฝนดาวตกในครั้งนั้น และคิดว่าเป็นดาวในท้องฟ้าที่ตกลงมาจริง ๆ จนเกิด
ความกลัวว่าในคืนต่อไปคงไม่มีดาวเหลืออยู่บนท้องฟ้าให้ได้เห็นอีก


จุดที่เห็นฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตพุ่งมาจากบริเวณกลุ่มดาวสิงโต

แสงสว่างของดาวตกที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องนานถึง 9 ชั่วโมง ทำให้ท้องฟ้าสว่างพอ ๆ กับความสว่าง
ของคืนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง

มีบันทึกกล่าวถึงการเห็นฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตในเดือนพฤศจิกายนอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งที่เกิดจะห่าง
กันเป็นเวลาประมาณ 33 ปี เพราะฝุ่นและหินที่หลุดออกมาจากดาวหางชื่อ เทมเปล-ทัทเทิ้ล
(Temple-Tuttle)
นอกจากจะอยู่กระจายทั่วไปในทางโคจรแล้ว ยังมีชิ้นส่วนชิ้นส่วนที่หลุดออกมาเป็น
กลุ่มขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ 35,000 กิโลเมตรเคลื่อนที่ไปตามวงโคจรด้วย คืนวันที่ 1- ต่อถึงเช้าวันที่
18 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี โลกจะเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่วงโคจรของโลกตัดกับวงโคจรของ
ดาวหางเทมเปล-ทัทเทิ้ล ทำให้เกิดฝนอุกกาบาตกลุ่มดาวสิงโต และทุกรอบ 33 ปี โลกจะเคลื่อนที่ไปพบกับ
กลุ่มอุกกาบาตขนาดใหญ่ทำให้เกิดพายุฝนดาวตกขึ้นในปีนั้น

ครั้งสุดท้ายที่เกิดพายุฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เกิดในช่วงก่อนรุ่งเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509
มีผู้บันทึกไว้ว่า "…จากดาวตกที่ตกลงมาเป็นระยะประมาณ 40 ครั้งต่อชั่วโมง ดาวตกได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่าง
รวดเร็วจนกลายเป็นพายุฝนดาวตก มีดาวตกจำนวนมากจนนับไม่ทัน เกิดอยู่นาน 2 นาที ประมาณว่ามีดาวตก
จำนวนมากถึง 50,000 ครั้งทีเดียว…"

เรียบเรียงจาก : เอกสารเผยแพร่ของ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ