สารบัญธรรมปฏิบัติ
คาถาและอาราธนา สมาธิภาวนา ธรรมบรรยาย ธรรมประจำวัน ส่งเสริมธรรม ศึกษาธรรม สื่อธรรม แหล่งข้อมูลธรรม
การช่วยเหลือผู้อื่นให้มีธรรมะโดยหลักพื้นฐาน
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรม ทั้งหลาย,

การบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชาเป็นครั้งที่ ๑๑ ในวันนี้ อาตมาก็ยังคงกล่าวเรื่อง ธรรมะโดยหลักพื้นฐานต่อไปตามเดิม, แต่มีหัวข้อเฉพาะในครั้งนี้ว่า การช่วยเหลือผู้อื่นให้มีธรรมะ โดยหลักพื้นฐาน คำว่า โดยหลักพื้นฐานนี้เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ทุกๆข้อกระทำโดยหลักพื้นฐาน และเป็นหลักพื้นฐาน, มาในครั้งนี้จะได้กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีธรรมะ โดยหลักพื้นฐาน. หลักพื้นฐานที่ควรทราบมีอยู่อย่างไร ก็จะต้องทราบกันโดยหมดสิ้น, แล้วก็ทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น โดยอาศัยหลักพื้นฐานนั้น.

การบรรยายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นครั้งที่ ๑๑ สิบครั้งที่แล้วมา ได้พูดถึงเรื่องอันเกี่ยวกับบุคคลนั้นๆ โดยเฉพาะ, ส่วนในวันนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับผู้อื่น คือที่จะต้องกระทำกับผู้อื่น ในครั้งแรกที่สุด ได้กล่าวถึง ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์, ธรรมชาติปรุงแต่งให้เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาอย่างไร, มีหลักเกณฑ์ขึ้นมาอย่างไร, มีหลักเกณฑ์อย่างไร.

ในครั้งที่ ๒ ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ คือความที่ต้องการเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นความทุกข์ได้โดยง่าย.

ครั้งที่ ๓ การดำรงชีวิตที่ถูกต้อง คืออยู่ในลักษณะที่ว่ายากที่จะเป็นทุกข์.

ครั้งที่ ๔ จิตตภาวนาทุกรูปแบบ, คือการดำรงจิตไว้ในลักษณะที่จะไม่เกิดความทุกข์ทุกรูปแบบ.

ครั้งที่ ๕ เรื่อง ตัวตนและมิใช่ตัวตน อันนี้เป็นหลักปรมัตถ์ตัวตนคืออย่างไร, ไม่มีตัวตนคืออย่างไร, ตามธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน แต่ความรู้สึกคิดนึกของคนมันก็มีตัวตนไปเสียหมด มันเลยฝืนธรรมชาติ, หรือเรียกว่า ปล้นของธรรมชาติเอามาเป็นตัวตน.

ครั้งที่ ๖ เรื่อง สันติสุขของบุคคลและสันติภาพของสังคมนี้เป็นผลที่พึงปรารถนา. บุคคลควรจะได้สันติสุข, สังคมควรจะมีสันติภาพ.

ครั้งที่ ๗ ตรงไปยังหัวใจของธรรมะ คือไม่เสียเวลาศึกษาเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องโน้นโดยอ้อมค้อม, แต่ศึกษาพุ่งตรงไปว่าจะดับทุกข์อย่างไร เรื่องเดียวเท่านั้น.

ครั้งที่ ๘ การออกมาเสียจากวัตถุนิยม คือวัตถุนิยมกำลังครองโลก มันกำลังครอบงำโลก, กำลังชักจูงโลกให้เป็นไปตามอำนาจ, ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยมก็จะเป็นอิสระ.

ครั้งที่ ๙ การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา คือแต่ละคนก็มีศาสนา มันคอยแต่จะกระทบกระทั่งกัน, ควรจะมีการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา จนอยู่ร่วมบ้านเมืองกันได้, กระทั่งอยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ได้, เช่น สามีถือศาสนาหนึ่งภรรยาถือศาสนาหนึ่ง ก็ยังทำความเข้าในกันได้, ไม่มีปัญหาอันเนื่องมาจากการที่ถือศาสนาต่างกัน.

ครั้งที่ ๑๐ เรื่อง การมีธรรมะในชีวิตประจำวัน จะทำได้กี่รูปแบบ, เมื่อมีชีวิตเป็นปรกติอยู่ตลอดวันเป็นประจำวัน มันก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ.

นี่ สิบครั้งนี้เรื่องเกี่ยวกับบุคคล นั้นๆจบไปแล้ว, วันนี้จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับผู้อื่น คือเรื่อง การช่วยผู้อื่นให้มีธรรมะ.

ขอให้นึกกันให้ดีๆ คนที่ใจแคบจะไม่นึกถึงผู้คน จนเกิดความเคยชินเป็นนิสัยที่จะไม่นึกถึงผู้อื่น ก็นึกถึงแต่เรื่องของตัว, แล้วก็เห็นแก่ตัว, แล้วก็ มีความเข้าใจผิดว่าผู้อื่นไม่สำคัญ, เราสำคัญ เราได้ เราดี เรามีสุขอะไรก็แล้วกัน, คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีปัญหา. อาจจะมีคนขึ้เกียจคิด แล้วลงมติเอาเสียว่าอย่างนี้ ว่าผู้อื่นไม่เกี่ยว, เราคนเดียวที่จะต้องเอาใจใส่. ถ้าอย่างนี้มันก็จะผิดเอามากๆ ผิดหลายอย่าง, ผิดหลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผิดหลักธรรมชาติ, ผิดกฎธรรมชาติ

เขาจะต้องรู้ จะต้องคิดจนรู้ จะต้องมองเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าโลกนี้เป็นที่อยู่ของคนร่วมกันจำนวนมาก, เดี๋ยวนี้ก็หลายพันล้านแล้ว อยู่ร่วมกันในโลกเดียวกัน, ถ้าไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องควบคุมโลก ให้มันกลมกลืนกันได้ มันก็ต้องกระทบกระทั่งกัน. คนแต่ละคนในโลก จะต้องมีความเหมือนกันในอะไรบางอย่าง, เหมือนกันในอะไรบางอย่าง. พูดอย่างกำปั้นทุบดินก็คือว่าอยากจะไม่มีปัญหา, อยากจะอยู่อย่างมีความสุข ด้วยกันทั้งนั้น. นี่ต้องการเหมือนกัน และว่ามีความเข้าใจกันได้, ทำความเข้าใจกันได้, สามารถทำความเข้าใจกันได้, แล้วอะไรเล่าที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้? มันก็ มีแต่ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ อย่างเดียวเท่านั้นแหละที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้.

ธรรมะ จะช่วยโลกให้สุขสมบูรณ์.
ธรรมะจะช่วยให้มีอะไรบ้าง ก็ควรจะลองพิจารณาดู.
ข้อที่ ๑. ธรรมะนี้จะช่วยให้มีเมตตาสามัคคี ร่วมสุข ร่วมทุกข์กัน, เดี๋ยวนี้ความที่ไม่มีเมตตา ไม่มีความสามัคคี ไม่มีความรักอย่าง เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย กัน, มันก็ยิ่งฆ่าฟันเบียดเบียนกันยิ่งขึ้นทุกที ดังที่ปรากฎอยู่และหนาหูยิ่งขึ้น. การเบียดเบียนกันในโลกนี้ทวีมากขึ้น, ตามที่ธรรมะมันร่อยหรอไป. พูดได้ว่าสมัยก่อนมีธรรมะคุ้มครองอยู่ในโลกมาก เดี๋ยวนี้ ธรรมะร่อยหรอไป ความเห็นแก่ตัวมันเข้ามาแทน, บูชาตนยิ่งกว่าบูชาธรรมะ, โลกก็ได้เป็นอย่างนี้. ถ้าธรรมะเข้ามา ก็จะเกิดความเมตตา ความสามัคคี ความรักใคร่ ว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น มันก็จะมา, โลกก็จะเป็นผาสุก.

ทีนี้ ข้อที่ ๒. ธรรมะจะช่วยให้มีทิฏฐิสามัญญตา, ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นเสมอกัน, มีความรู้ มีความเข้าใจ มีความเชื่อ มีอุดมคติอะไรเสมอกัน คือเหมือนกัน. ถ้ามีทิฏฐิ มีความเห็นร่วมกัน เสมอกัน มันก็จะหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง. ขอให้คิดดูให้ดีๆ เรื่องนี้สำคัญมาก. การที่จะทะเลาะวิวาทกันได้ ก็เพราะว่ามีทิฏฐิไม่ตรงกัน, มีทิฏฐิไม่ตรงกัน, เมื่อมีทิฏฐิไม่ตรงกันมันก็ทุ่มเถียงกัน ทะเลาะวิวาทกัน แก่งแย่งกัน, หรือว่ามันจะเกลียดชังกัน เพราะเหตุผลเพียวว่าคิดเห็นไม่เหมือนกัน, ไม่มีเรื่องอะไรมาก มีแต่เพียงว่าเขาไม่คิดอย่างเราก็โกรธเขาแล้ว ก็เป็นศัตรูกันแล้ว.

แต่ถ้ามีทิฏฐิเสมอกัน ไปในแนวเดียวกัน ก็จะไม่เกิดอาการอย่างที่กล่าวนี้, มีความคิดเห็นตรงกันว่า เรามีจุดหมายปลายทางร่วมกัน, สิ่งที่มีชีวิตมีจุดหมายปลายทางเป็นอันเดียวกัน คือความพ้นจากอำนาจของกิเลส และไม่ต้องมีความทุกข์. ทุกคนเกิดมาพร้อมที่จะมีกิเลสตามธรรมชาติ, ตามที่ธรรมชาติสร้างมานั้น มันพร้อมที่จะมีกิเลส. ครั้งเมื่อมีกิเลสแล้วมันก็ต้องมีความทุกข์, ฉะนั้น จุดหมายปลายทางของทุกคนจึงอยู่ที่ว่า กวาดความทุกข์เหล่านี้ออกไปเสียให้หมดสิ้น, อยู่กันอย่างไรไม่ต้องมีความทุกข์เลย. นี่จะเป็นผลดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ.

เดี๋ยวนี้เราก็ยังไม่ถึงนั่น, เราไม่หวังว่าจะถึงได้โดยง่ายเพราะว่ามีความคิดเห็นต่างกัน แยกกันตามความคิดเห็นของตัว, ยึดถือแม้แต่ที่พึ่งก็ต่างกัน. บางพวกก็ยึดถือที่พึ่งต่ำเกินไปจนคนอื่นเอาด้วยไม่ไหว, คือยึดถือสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นที่พึ่ง มาเป็นที่พึ่งไปเสียอย่างนี้.

และในที่สุด ข้อที่ ๓. ก็จะมีกัมมสามัญญตา คือ การกระทำที่เสมอกัน. ถ้ามีธรรมะอยู่ในโลกเป็นหลักยึดถือปฎิบัติอยู่ในโลกมนุษย์ทุกคนก็จะมีการกระทำเสมอกัน, ในเรื่อง ศีล คือพื้นฐานขั้นต้นที่สุดเกี่ยวกับเรื่องศีล ก็จะเป็นไปด้วยกัน แนวเดียวกันกลมกลืนกัน เสมอกัน สูงขึ้นไปถึง สมาธิ และปัญญา ก็จะกระทำไปได้ในแนวเดียวกัน, คือแนวที่จะดับทุกข์ได้.

ประโยชน์ของธรรมะมีอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่ต้องมี, ควรจะมี และต้องมี. จำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในโลก, แล้วเราจะมานิ่งเฉยเสีย จะไม่รู้จักช่วยให้ผู้อื่นมีธรรมะนี้ มันจะเป็นอย่างไร. ว่าที่จริงมันยังโง่อยู่ครึ่งหนึ่งแหละ, การที่มีธรรมะแต่ฝ่ายเดียว ไม่ช่วยผู้อื่นให้มีธรรมะด้วยนั้น เรียกว่ามันยังโง่อยู่ครึ่งหนึ่ง เพราะว่าถ้าช่วยให้มีธรรมะด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วโลกนี้ก็มีความสุขเต็มเปี่ยมสมบูรณ์.

ธรรมทานมีผลมากกว่าทานอื่น
เดี๋ยวนี้เราไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของเรา เอาละ, ที่ว่านั่งฟังอยู่ที่นี่ ใครเคยนึกบ้างว่า การช่วยคนอื่นให้มีธรรมะนั้นเป็นหน้าที่ของเรา. บางทีจะนึกว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่วัด, เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์อะไรที่ไหนก็ไม่รู้. แต่ที่แท้นั้นมันเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ที่มีธรรมะแล้วอย่างไร เพียรไร, จงช่วยเหลือให้บุคคลอื่นมีธรรมะเท่าที่จะมากได้ เท่าที่จะทำได้, เพราะว่าเมื่อมีธรรมะขึ้นมาในโลกแล้วก็จะทำให้เกิดผลดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า สามารถที่จะมีเมตตาสามัคคี, มีความคิดเห็นกลมเกลียวกัน, มีการกระทำกลมเกลียวกันโลกนี้ก็มีความสุข. เพราะฉะนั้นอยากจะพูดว่า ธรรมทาน นั่นแหละ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรพยายามกระทำ.

เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะเข้าใจกันแต่เพียงว่า จะทำวัตถุทาน, ทำทานทางวัตถุเท่านั้น, ไม่ค่อยนึกคิดถึงเรื่องจะให้ธรรมทานโดยถือเสียว่าไม่ใช่หน้าที่บ้าง ยากเกินไปบ้าง, อยู่นอกเหนือวิสัยบ้าง, ข้อนี้ไม่ถูก.

ถ้าจะเปรียบเทียบกัน ตามหลักธรรมะ นั้นถือว่าธรรมทานนี้สูงสุดกว่าทานทั้งหลาย : วัตถุทาน การให้วัตถุก็ดี, คือให้ธรรมะ ความรู้เป็นทานนั้น เหนือกว่าเลิศกว่าให้วัตถุเป็นทาน หรือให้อภัยให้ความไม่เบียดเบียน. ให้วัตถุเป็นทานนี้เป็นธรรมดา เรียกว่า ยึดมั่นกันเต็มที่. ส่วนให้ธรรมะเป็นทานนั้นยิ่งหายาก ยิ่งขี้นไปอีก, ข้อนี้ไม่ถูก เพราะว่ามัน จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยการที่ทุกคนมีธรรมะ, มีความรู้ธรรมะ สำหรับประพฤติปฎิบัติต่อตนเองและต่อผู้อื่น มันอยู่ในวิสัยที่จะทำได้. ให้วัตถุทานเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านก็มีคนให้, แต่จะให้ธรรมทานสักคำหนึ่งก็หายาก แม้แต่จะให้แก่ลูกหลานเล็กๆ ในครอบครัวของตน, พ่อแม่ไม่มีเวลา ไม่มีจิตใจที่จะอบรมลูก ให้รู้จักผิดถูกชั่วดีมีธรรมะ.

ถ้ามองกันให้ดีจะเห็นว่า ธรรมทานนั้นมีผลมากกว่าทานอื่นๆ จริงๆ วัตถุทานก็ช่วยกัน แต่เรื่องมีชีวิตอยู่รอด, อภัยทานก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่รอด, แต่มันยังไม่ดับทุกข์. มีชีวิตอยู่รอดอย่างเป็นทุกข์น่ะมันดีอะไร เขาให้มีชีวิตอยู่ แต่เขาให้รับทุกข์ทรมานอยู่นี้มันคืออะไร, มันดีอะไร. เมื่อรอดชีวิตอยู่แล้ว มันจะต้องไม่มีความทุกข์ด้วย จึงจะนับว่าดีมีประโยชน์, ข้อนี้สำเร็จด้วยธรรมทาน. มีความรู้ธรรมะแล้ว รู้จักทำให้ไม่มีความทุกข์,  รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์, รู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่, เลยธรรมทานจึงมีผลกว่า ในลักษณะอย่างนี้ มันช่วยให้ชีวิตไม่เป็นหมัน. วัตถุทานและอภัยทานช่วยให้รอดชีวิตอยู่ บางทีก็อยู่เฉยๆ มันสักว่ารอดชีวิตอยู่เฉยๆ แต่ถ้ามีธรรมทานเข้ามา ก็จะสามารถช่วยให้มีผลดีถึงที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ. เพราะฉะนั้นขอให้สนใจในเรื่องธรรมทาน.

พูดไปก็เดี๋ยวจะกระทบกระเทือน แต่ก็ต้องพูดว่าทำบุญสักล้านหนึ่งได้ผลอะไรบ้าง? แล้วก็ทำให้คนมีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แม้เพียงคนเดียว มีผลอะไรบ้าง? ไม่ได้ลงทุนสักบาทเดียว สักสตางค์เดียว แต่ว่าเสียแรงพูดหน่อย เหนื่อยเพราะพูดหน่อย แล้วก็ทำให้คนมีความรู้ถูกต้องออกมาเสียจากมิจฉาทิฏฐิได้, อย่างนี้อันไหนจะมีผลมากกว่ากัน? ที่ไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว กลับจะมีผลมากกว่าที่ต้องลงทุนตั้งล้านหนึ่ง, ที่เขาทำบุญตั้งล้านๆ มันยังไม่แน่ว่าจะทำให้ใครละมิจฉาทิฏฐิ ดำรงตนอยู่ในความถูกต้องได้. แต่ถ้ามีธรรมทาน การพูดจา นี้มันแน่นอน มีนแน่นอนที่ว่าจะทำให้คนมีความรู้ และดำเนินตนอยู่อย่างปราศจากความทุกข์ได้. ทำไมจึงไม่คิดอย่างนี้กันบ้าง.

ความยึดถือทางวัตถุมันมากเกินไป เพราะว่าไม่ค่อยมีใครจะพูดว่าให้ธรรมะเป็นทาน แล้วก็ได้สวรรค์วิมานนับสิบนับร้อย มันไม่มีใครพูด. ถ้าพูดกันให้จริง ตามความเป็นจริง ว่าให้ธรรมทานจะได้ผลเป็นความสุขอย่างสวรรค์วิมานนั้นเกินไปเสียอีก นับหมื่นนับแสนนับล้านก็ได้, เพราะว่ามันเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์. เรื่องสวรรค์วิมานอย่างที่กล่าวๆกันนั้น ยังเป็นสุขที่เจืออยู้ด้วยความทุกข์ เพราะมันต้องมีกิเลสมาก มันจึงจะเสวยสวรรค์วิมานเหล่านั้น ถ้าไม่มีกิเลสแล้ว มันไม่อาจจะเสวยสวรรค์วิมานเหล่านั้นได้, มันเลยต้องมีกิเลสมากกว่าคนธรรมดา มันจึงจะเสวยสวรรค์วิมานเหล่านั้นได้.

ทีนี้ ให้ธรรมทาน มีจิตใจอยู่เหนือกิเลส ไม่ประกอบไปด้วยกิเลส มันก็ไม่มีปัญหา มันก็เสวยความสุขชนิดที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เหนือกว่า เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนพยายามให้ธรรมทาน คือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะ, ทำให้บุคคลพยายามให้ธรรมทาน คือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะ, ทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะ แล้วก็จะได้ผล ชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง ประณีต ประเสริฐยิ่งกว่าให้วัตถุทาน.

นี่พูดไม่กลัวอด ว่าคนจะเลิกให้ทาน แล้วก็จะมาให้ธรรมทานกันเสียหมด, พระจะไม่มีอะไรฉัน ก็ไม่กลัว. ขอบอกความจริงว่า ให้ธรรมทานนั้นมันยังมีผลมากกว่าวัตถุทาน อยู่นั่นเอง ส่วนข้อที่ว่าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ไม่มีความรู้ นั้นไม่จริง อย่าไปเชื่อคนที่พูดว่า ต้องเป็นพระอรหันต์เองเสียก่อนแล้วจึงจะสอนผู้อื่น, ข้อนี้ไม่จริง.

ธรรมทานทำได้เท่าที่ตนรู้,
และอบรมให้ลดความเห็นแก่ตัวเสียตั้งแต่เด็ก.

เรารู้เท่าไร, เราดับทุกข์ได้เท่าไร, ก็จงสั่งสอนเท่านั้น ยังมีคนที่รู้น้อยกว่าเราถม ตั้งแต่ลูกเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ คนใช้ คนกรรมกร คนชาวบ้าน ยังรู้ธรรมะน้อยกว่าเราอีกมากมาย ก็สอนได้ เรามีความทุกข์น้อยกว่า, เราก็สามารถที่จะสอนคนที่ไม่มีความทุกข์มากกว่า.

หมอก็ยังเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เห็นไหม? แต่หมอก็ยังรักษาคนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บได้, หมอคนไหนไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เห็นมี แต่หมอที่ยังมีโรคภัยไข้เจ็บนั่นแหละ เขารักษาคนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ เพราะฉะนั้น เรายังมีความทุกข์อยู่บ้างนี้ มีความทุกข์อยู่เท่าไรก็ตาม ก็สามารถที่จะสอนคนให้พ้นจากความทุกข์ได้ตามสมควร, โดยเฉพาะอย่าง คนที่อยู่ใกล้ชิด ลูกหลานนั่นแหละควรจะอบรมควรจะสั่งสอน.

ถ้าลูกหลานมีธรรมะแล้ว ปัญหาต่างๆ จะหมดไป จะสืบสกุลได้ดี. ลูกหลานที่ไม่มีธรรมะนั้นไม่สามารถจะสืบสกุลดอก มันทำลายหมด, ไม่กี่ชั่วเวลามันก็ทำลายวงศ์สกุลได้ ฉะนั้น พูดกันอยู่ตลอดเวลาก็แล้วกัน, โอกาศมีเมื่อไรก็พูดเมื่อนั้น ให้รู้เรื่องกิเลสว่ากิเลสเป็นอย่างไร, ความทุกข์เป็นอย่างไร, กิเลสนี้มันเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร เรื่องมันก็มาก. แต่ว่าอย่างน้องมันก็สรุปใจความได้ว่า กิเลสนี้มันเกิดมาจากความโง่ ความไม่รู้ ที่เรียกว่า อวิชชา.

เมื่อโง่ ไม่รู้ แล้วมันก็ทำผิด, ทำผิดจนเกิดความผิดขึ้นมาในจิตใจ ก็เรียกว่ากิเลส, มันโง่ไปรักอะไรเข้า มันก็เกิดความโลภ, มันโง่ไปเกลียดอะไรเข้า มันก็เกิดความหลง. ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้มันเกิดมาจากอวิชชา ความไม่รู้ตามที่เป็นจริง, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่รู้เรื่องอนัตตา คือเรื่องไม่มีตัวตนน่ะมันไม่รู้จึงปล่อยไปตามสัญชาตญาณเดิมๆ ของธรรมชาติ ก็เกิดความรู้สึกคิดนึกตัวตนๆมากๆขึ้นๆ.

ครั้นมีความยึดถือเป็นตัวตนมากขึ้น ก็เกิดความเห็นแก่ตน, คำนี้สำคัญมาก ช่วยจำไว้ให้ดีๆ ว่าความเห็นแก่ตน นั่นแหละเป็นตัวสิ่งเลวร้ายที่สุด จงรู้ไว้ เข้าใจไว้, แล้วก็ สั่งสอนลูกเด็กๆ เล็กๆ ให้มันลดความเห็นแก่ตน. ลูกเด็กๆ เล็กๆ ให้มันลดความเห็นแก่ตน นี่ยอดของธรรมะ ที่จะสอนให้แก่เด็กๆลูกเด็กๆ. อย่าเข้าใจว่าลูกเด็กๆ ไม่ต้องการธรรมะชั้นสูง เรื่องไม่มีตัวตน หรือเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น นั้นมันคนหลับตาพูด, พูดทั้งไม่รู้ มันหลับตาพูด. เด็กๆก็จะต้องได้รับความรู้เรื่องธรรมะที่ถูกต้อง และสูงเพียงพอ เพราะว่าถ้าเด็กๆเห็นแก่ตัว มันก็เกิดความทุกข์มากมาย เด็กๆเห็นแก่ตน มันก็ยึดมั่นถือมั่น.

จงดูลูกเด็กๆของเราให้ดีๆเข้าใจให้ดีๆว่ามันมีปัญหา อะไรบ้าง, ทำไมเด็กๆลูกเล็กๆของเราดื้อ เพราะมันเห็นแก่ตน มันยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกู ของมัน, ตีให้ตายมันก็ไม่ยอม เด็กๆบางคน ฉะนั้น ทำไมมันจึงดื้อ? เพราะมันไม่รู้เรื่องไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือมันไม่รู้เรื่องที่ว่าไม่มีตัวตน. มันมีตัวตน เห็นแก่ตน มันก็ดื้อ ดื้อตาใส ดื้อจนพ่อแม่อยากจะตายเสียเอง เพราะลูกมันดื้น. ทีนี้ทำไมเด็กๆมันจึงโมโหง่าย โกรธง่าย โมโหง่าย ทะเลาะวิวาทกันแม้กับพี่น้องกันแท้ๆ? นี่เพราะมันเห็นแก่ตน. มีความยึดมั่นถือมั่นมาก. ทำไมเด็กๆจึงร้องไห้ง่าย? ในกรณีที่จะร้องไห้ มันร้องไห้ง่าย อะไรหายหน่อยมันก็ร้องไห้, ไม่ได้อะไรหน่อยมันก็ร้องไห้, สอบไล่ตกมันก็ร้องไห้ นี่เพราะยึดมั่นถือมั่น แล้วเพราะมัน เห็นแก่ตัว มันไม่มีสติปัญญาในข้อนี้.

รวมความว่า เรื่องเห็นแก่ตัวทุกอย่างน่ะเด็กๆมันก็มี ฉะนั้นเด็กๆ ควรจะได้รับคำสั่งสอน เรื่องนี้ เรื่องไม่ให้เห็นแก่ตน. ให้ลดความเห็สนแก่ตน ให้เห็นแก่ผู้อื่น ให้เห็นแก่ธรรมะ ให้เห็นแก่ความจริง ให้เห็นแก่ความถูกต้อง. เด็กๆเขาก็จะได้รับผลดี มีความสงบสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องต่างๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ไม่ดื้อ ไม่โมโห ไม่เศร้าสร้อยโศกเศร้าเสียใจง่าย, แล้วก็ไม่บ้าไม่หลงในเรื่องสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนาน.

เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญนี่, พ่อแม่เองก็ไม่รู้เรื่องนี้ แล้วก็ไม่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ จึงปล่อยให้เด็กเป็นไปตามบุญตามกรรม, ตัวเองก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม, ธรรมะก็ไม่มีทั้งแก่แม่พ่อและแก่ลูกของตน เรื่องมันก็เป็นไปในทางที่จะต้องเร่าร้อน จะต้องกระวนกระวายในครอบครัว .

ฉะนั้น ทีเวลาสักเท่าไร เมื่อไร แม้แต่สักนิดหนึ่งก็ต้องพูดคำใดคำหนึ่งให้เด็กๆเข้ารู้สึกได้ เรื่องเช่นนั้นเอง เรื่องเช่นนั้นเอง เป็นเรื่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่มีคนบางคนว่าไม่ควรเอามาสอนเด็กๆ นั้นคนโง่พูด คนโง่หลับตาพูด จะต้องเอาเรื่องที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั่นแหละมาสอนลูกเด็กๆ ตามสมควรแก่กาลเทศะหรือสถานะอะไร ก็ตาม, ให้ลูกเด็กๆเขารู้จักความเป็นเช่นนั้นเองไปตั้งแต่เล็กๆ มันจะได้ไม่กลัวผี มันจะต้องไม่กล้วไส้เดือน กิ้งกือ ตุ๊กแก เหล่านี้, มันจะไม่ทำอะไรอย่างโง่ๆ เพราะรู้จักความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ.

นี่ขอให้พ่อแม่แต่ละคนพิจารณาดูให้ดีว่า จะทำประโยชน์ให้แก่ลูกของตน สูงสุดอย่างไรเท่าไรนั้น มันจะทำได้อย่างไร. อาตมาขอยืนยันเดี๋ยวนี้ว่า ทำให้เขามีธรรมะ, ทำให้ลูกเด็กๆ มีธรรมะมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เท่าที่จะรับเอาได้, แล้วก็เพิ่มเติมยิ่งๆขึ้นไปทุกที จนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ก็มีธรรมะสมบูรณ์.

ธรรมทานเป็นพระพุทธประสงค์.

การที่ทำให้ผู้อื่นมีธรรมะ รู้ธรรมะนั้น เป็นพระพุทธประสงค์ ถ้าใครไม่อยากจะสนองพระพุท฿ธประสงค์ก็ตามใจ ก็ปล่อยไปอย่างเดิม. แต่ถ้าใครอยากจะสนองพระพุทธประสงค์แล้วจงช่วยกันทำให้ผู้อื่นมีธรรมะ ข้อนี้เห็นได้จากพระพุทธดำรัส ที่ทรงส่งภิกษุทั้งหลายไปประกาศพระศาสนา, คือเมื่อพระองค์มีสาวกได้เพียง ๖๐ รูปเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรนัก ในชั่วเวลาปีนั้น มีสาวกเกิดขึ้น ๖๐ รูปก็ทรงไปประกาศพระศาสนาทันทีด้วยคำพูดชนิดที่ฟังแล้วก็โอ๊ย, เหลือประมาณ จะเป็นคำสั่งก็ได้ จะเป็น คำขอร้องอ้อนวอนก็ได้, เป็นคำต่อรอง กันระหว่างฉันกับแกก็ได้.

ที่ว่าเป็นคำสั่ง ก็ว่า จงไป, จงไป เพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่มหาชนทั้งหลายทั้งเทวดาแลมนุษย์, คือว่าเดี๋ยวนี้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงที่เป็นบ่วงทิพย์ และบ่วงมนุษย์ คือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างมนุษย์ หรืออย่างเทวดา ก็พ้นหมดแล้ว ฉันเองก็พ้นแล้วจากบ่วง ที่เป็นทั้งอย่างบ่วงทิพย์และบ่วงมนุษย์ ฉะนั้น เราจงไปเพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์. เธอทั้งหลายจงจาริกไป แล้วให้ไปแยกกันไปเป็นองค์ๆ นะ เป็นองค์ๆ อย่าไปทางเดียวกัน ๒ องค์ มันเปลืองคน ให้ไปทางละองค์ ทางละองค์ มันก็จะได้ถึง ๖๐ ทาง แม้ฉันก็จะไป แม้ฉันก็จะไป แม้ฉันก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วพระองค์ก็ไปทำงานสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ คือโปรดชฎิลพันรูปให้เลิกละลัทธิเดิมมานับถือพระพุทธศาสนา ได้รับความสุขประโยชน์เกื้อกูลสักเท่าไร ก็ลองคิดดู.

นี่ฟังอีกทางหนึ่งก็เป็นคำสั่ง เป็นคำขอร้อง เป็นคำอ้อนวอน เป็นคำวิงวอน กระทั่งเป็นคำต่อรองว่า ไม่ใช่ว่าฉันจะให้เธอทำข้างเดียว แม้ฉันก็จะทำ นี่เอาสิ พระพุทธเจ้าท่านเห็นความสำคัญของการทำให้ผู้อื่นรู้ธรรมะ ว่ามันสำคัญถึงขนาดนี้, เรียกสั้นๆก็ว่าเห็นความสำคัญของธรรมทาน การให้ธรรมมันมีความสำคัญถึงอย่างนี้

การทำให้ผู้อื่นรู้ธรรมะนั้นเป็นพุทธประสงค์ ถ้าเราจะสนองพระพุทธประสงค์กันให้ตรงพระพุทธประสงค์แล้ว จงสนองด้วยการทำให้ผู้อื่นรู้ธรรมะ สนองด้วยการสร้างโบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม ถวายข้าวปลาอาหารอะไรต่างๆ มันไม่เท่ากันกับทำให้ผู้อื่นรู้ธรรมะ. นี่ขอให้ฟังดูให้ดีๆ ว่าถ้าจะทำให้ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์อย่างยิ่งแล้ว คือช่วยกันทำให้ผู้อื่นรู้ธรรมะ, ไม่ได้มีตรัสสรรเสริญอะไรยิ่งไปกว่าธรรมทาน. ทานมีถึง ๓ ชนิด วัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน, ในบรรดาทานเหล่านั้น ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งปวง.

นี่สนองพระพุทธประสงค์กันทุกคน, อย่าเห็นแก่ตัวจนถึงกับว่าไม่มีเวลาจะพูดจากับใคร, เห็นใครพอจะเตือนสติได้ก็ควรจะทำ แล้วก็ทำให้มันถูกเรื่องถูกราว. อย่าทำด้วยอวิชชา ทำเอาหน้า ทำด้วยอวิชชานั้นเดี๋ยวจะถูกด่ากลับมา เพราะว่ามันไปสอนเขาด้วยอำนาจอหังการมมังการของตน อย่างนี้มันจะถูกด่ากลับมา. ต้องใคร่ครวญให้ดีที่สุดอย่างยิ่ง ว่ามีความทุกข์อยู่เพราะเหตุอะไร, แล้วก็ทำให้เขามีความสำนึกตน เขาก็จะกลัวความทุกข์ แล้วเขาก็จะพยายามที่จะพ้นทุกข์ มันก็ง่าย เพราะความประสงค์มันตรงกัน, ความคิดความเห็นมันตรงกัน ต้องการจะดับทุกข์ด้วยกัน มันก็ง่าย.

ฉะนั้น คอยดูให้ดีๆคนข้างบ้านข้างเคียง บ้านใกล้เรือนเคียงก็มีโอกาศที่จะพูดจาคำสองคำก็สุดแท้, ให้เขาได้มีความรู้ในธรรมะ, รู้สึกในธรรมะ ให้เดินถูกทาง เรียกว่า ให้เดินถูกทางคือทำให้มีธรรมะ, แล้วก็ไม่ต้องลงทุนเป็นเงินแม้แต่บาทเดียว แต่เสียเวลาบ้าง. แต่แล้วเสียเวลาบ้างนั้น มันกลับได้บุญได้กุศลมากยิ่งกว่าเสียเงินตั้งล้านๆ ทำบุญชนิดเสียเงินล้านๆ บางทีจะได้บุญไม่เท่ากับว่าพูดสัก ๒-๓ คำ จนเขาเปลี่ยนได้ เปลี่ยนได้เป็นเหมือนเกิดใหม่, เปลี่ยนจากมิจฉาทิฎฐิมาเป็นสัมมาทิฎฐิเหมือนกับว่าเกิดใหม่ อย่างนี้ตีราคาไม่ไหวดอก เหลือวิสัยที่จะตีราคา นี้ถ้าทำได้สัก ๒-๓ คนมันก็คุ้มแล้ว, ถ้าทำได้เท่าไรก็เหมือนกับช่วยกันสร้างโลกนี้ใหม่ ให้โลกนี้มันดีขึ้น ให้โลกนี้มันเป็นโลกของมนุษย์ที่เป็นสัมมาทิฎฐิ, มีแต่จะสร้างสรรค์ความสุข ความสงบหรือพระนิพพาน, ช่วยกันสร้างโลกนี้ให้มันเป็นโลกของพระอริยเจ้า มีแต่ความสงบสุข.

นี่ขอให้คิดดูให้ดีว่า การทำผู้อื่นให้รู้ธรรมะนั้น สำคัญอย่างไร สำคัญเท่าไร และจำเป็นเท่าไร ถ้าว่าโลกนี้มีคนที่ไม่มีธรรมะมาก คนที่มีธรรมะก็จะอยู่ไม่ได้ ก็จะต้องหนีไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้. การที่ทำให้มีธรรมะนั้น มันทำให้อยู่ร่วมโลกกันได้, แล้วก็เป็นสุขด้วยกันทุกฝ่าย. พระพุทธเจ้าคงจะทรงมองเห็นความจริงข้อนี้จึงทรงเป็นห่วงที่สุด เอาใจใส่ที่สุด ในการที่จะส่งพระสาวกให้ไปประกาศพระศาสนา ในทันทีที่พอจะมีส่ง ๖๐ องค์เท่านั้น ส่งไปคนละทิศละทาง. เดี๋ยวก็มากขึ้นเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน, ความสงบสุขมันก็เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ผู้ที่มีธรรมะ.

เรื่องธรรมะเป็นอย่างไร, อะไรเป็นอย่างไร ก็พูดกันมาแล้ว ในการบรรยายครั้งต้นๆ เดี๋ยวนี้เป็นการบรรยายครั้งสุดท้าย จึงพูดถึงเรื่องว่า จะทำให้คนมีธรรมะได้อย่างไร.

การทำให้ผู้อื่นมีธรรมะ.

นี้ขอให้สนใจต่อไปในข้อที่ว่า ผู้อื่นคือใคร การทำผู้อื่นให้มีธรรมะ ผู้อื่นนั้นคือใคร. ตามธรรมดาคำว่าผู้อื่นๆ นั้นมันมักจะเป็นคำที่เราไม่ต้องรับผิดชอบ เราไม่ต้องเอาใจใส่ ก็เรียกเสียว่าผู้อื่น ผู้อื่นเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน เราไม่ต้องรับผิดชอบ. แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้น, คำว่าผู้อื่น ในที่นี้ เป็นผู้ที่เราต้องรับผิดชอบต้องเกี่ยวข้อง ต้องเอาใจใส่. ผู้อื่น คำนี้หมายความว่า ถ้านอกไปจากตัวเราแล้ว ก็เรียกว่าผู้อื่น ทั้งนั้น แม้แต่ลูกหลาน บุตร ภรรยา สามี, ใครก็ตามที่ว่าพอสักว่านอกออกไปจากตัวเรา ก็เรียกว่าผู้อื่น, แล้วก็มีผู้อื่นที่ไกลออกไป ไกลออกไป ไกลออกไป จนเป็นผู้อื่นที่ไกล กระทั่งว่าไม่เคยรู้จักมักคุ้นก็เป็นผู้อื่น. คนทั้งโลกก็เป็นผู้อื่นต่อเรา. แล้วเราจะต้องทำให้ผู้อื่นนั้นมีธรรมะให้จนได้.

เอ้า, จะดูที่คำว่า ผู้อื่นแต่ละอย่างๆ แล้วก็จะดูพร้อมกันไปว่า จะทำให้เขามีธรรมะได้อย่างไร.

ผู้อื่นชุดที่ ๑.

ผู้อื่นชุดแรก ก็จะแยกเป็นว่าผู้อื่น คนในครอบครัว ก็คือผู้อื่น. คนในหมู่บ้าน บ้านเมือง หรือประเทศร่วมประเทศกัน ก็ผู้อื่น, แล้วคนร่วมโลก อยู่ในโลกเดียวกัน ก็คือผู้อื่น, จะต้องให้ถูกต้องตามสถานะของผู้อื่น.
(๑) ผู้อื่นพวกแรก คือคนในครอบครัว มันก็ต้องสนใจไปตั้งแต่ที่ยังเป็นเด็ก เด็กทารก เด็กวัยรุ่น เด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว กระทั่งเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน เป็นบุตรภรรยาสามี กระทั่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ คุณตาคุณยาย, ล้วนแต่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ผู้อื่นอย่างนี้จะช่วยให้มีธรรมะได้ทั้งนั้น.

อบรมลูกเด็กๆ ให้รู้จักยึกถือความจริงความถูกต้อง ไม่งมงาย ยึดถือหลักที่ว่า เราต้อง ไม่เห็นแก่ตัว เราต้องเห็นแก่ผู้อื่น. พอเห็นแก่ตัว เราจะต้องทำอะไรผิดโดยไม่รู้ตัว เช่นเราจะไปทำร้ายเขา หรืออะไรเขาอย่างนี้ หรือว่าพอเห็นแก่ตัว เราก็เอาเปรียบเขา เอาเปรียบเขาจนเขาเกลียดน้ำหน้า จนเราไม่มีเพื่อน อย่างนี้เรียกว่ามันเห็นแก่ตัว.

ความรู้สึกทางไสยศาสตร์ ก็เหมือนกัน ควรจะป้องกันกันเสียแต่เล็กๆ ว่าอย่าต้องไปพึ่งผีสางเทวดาอะไรเหล่านั้นเลย จงรู้จักการกระทำของตัว ว่ากระทำถูกต้องแล้วก็จะเป็นที่พึ่งได้. ฉะนั้น เราก็เป็นผู้พึ่งตัวเอง มีธรรมะ, มีธรรมะคือพึ่งตัวเอง. ถ้าไม่มีธรรมะจะพึ่งมันจึงจะต้องไปพี่งผู้อื่น ไปพึ่งสิ่งอื่น แล้วก็สอนกันมาสืบต่อกันมา ในฐานะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์, แล้วขอร้องอ้อนวอน จับเด็กๆ นั้นให้ไปเป็นทาสของภูตผีปีศาจของเทวดา เสียโดยไม่รู้สึกตัว, เขาเกิดมาเป็นอิสระ ก็มาเป็นทาส เพราะพ่อแม่สอนผิด.

ถ้าพ่อแม่รู้จัก เรื่องนี้ และสอนให้ถูก เด็กๆก็จะไม่ต้องตกเป็นทาสของไสยศาสตร์ ทั้งหลาย จะไม่ต้องไปนั่งไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์. แต่รู้ว่าตนจะต้องทำอย่างไร และรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์. คือรู้ว่าการกระทำของตนนั่นแหละเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์. การกระทำของตน นั่นแหละ หน้าที่ของตนนั่นแหละ คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะต้องทำให้ถูกต้อง แล้วมันก็ จะศักดิ์สิทธิ์คือจะช่วยได้จริงๆ.

เดี๋ยวนี้เราไม่ได้รับคำสั่งสอนอย่างนั้นมาตั้งแต่เล็กๆ ก็บอกได้ว่าอาตมาเองก็เหมือนกัน เมื่อเด็กๆนี่ ยังเคยไปนั่งไหว้พ่อท่านในกุฎิให้ช่วยให้สอบไล่ได้ รู้กันหรือไม่รู้ก็ไม่รู้ แต่ก็เคยทำอาตมานี้ก็เคยทำ ไปไหว้ไปจุดธูปเทียนพ่อท่านในกุฎิ ให้ช่วยให้สอบไล่ได้ พอมานึกถึงเดี๋ยวนี้แล้วก็สงสารตัวเอง. ฉะนั้นจึงอยากจะให้พ่อแม่ทุกคนรู้จักเรื่องนี้ไว้ จะได้อบรมสั่งสอนลูกเด็กๆ ให้รู้จักความถูกต้อง, ความจริง, ควรจะทำอย่างไร, ถ้าจะให้สอบไล่ได้ควรจะทำอย่างไร, ของหายก็ไปบนบานผีสางเทวดา อะไรที่ไหน, อะไรหน่อยก็มีแต่จะไปบนบาน จุดธูปจุดเทียน แล้วก็กลัวมาก, จนกระทั่งว่ามันงมงายไปหมด. ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่มีคนมาให้เป่าหัวนี่ นับได้สิบๆคนแล้ว มาให้เป่าหัว บอกว่าไม่ได้เล่าเรียน ทำไม่เป็น มันก็ยังเชื่อ มันยังโกรธเอาแน่ะ เขาทำหน้าตาถมึงทึงส่งเสียง ชุ ชิ อะไร. อาตมาบอกว่าทำไม่เป็น ไม่ได้เรียนนี่. แล้วอีกอย่างหนึ่งเอาเด็กๆ มาให้ผูกมือว่ากลัวว่ามันจะตาย ฝันร้าย, เอาลูกเล็กๆมาให้ผูกมือ บอกว่าฉันไม่เชื่อดอก ฉันไม่เชื่อ, ฉันไม่เชื่อแล้ว ฉันจะทำอย่างไรได้เล่า เขาก็โกรธเสียอีก ว่าไม่ยอมทำตามความประสงค์.

นี่เป็นเรื่องไสยศาสตร์, เป็นตัวอย่างทางเรื่องไสยศาสตร์ ที่เราได้ปล่อยให้ครอบงำลูกเด็กๆเรื่อยๆจนลูกเด็กๆไม่มีหลักเกณฑ์อันมั่นคงของธรรมะ หวั่นไหว จิตใจอ่อนไหวไปตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่เชื่อๆกันมา, กลัวแม้กระทั่งจิ้งจก ตุ๊กแก ไส้เดือน ถือโชคถือลางอย่างนั้น อย่างนี้ จนเรียกว่ามันหวั่นไหวไปหมด ทั้งวันทั้งคืน. ถ้าทำให้เด็กๆปลอดจากสิ่งเหล่านี้ได้ ก็นับว่าเป็นการดีคือทำให้มีธรรมะ
เด็กๆเขาจะได้รู้จักความจริงชั้นมูลฐาน ชั้นรากฐาน ไปตั้งแต่เล็กๆ, แล้วจะได้ดำเนินไปตามร่องรอยนั้นให้ถูกต้อง เขาจะมีความเห็นแก่ตัวน้อย. ถ้าเห็นแก่ตัวน้อยแล้วเป็นใช้ได้แหละ, เขาจะไม่โกรธง่าย เขาจะไม่โลภมากเกินไป เขาจะไม่ขี้ขลาด งมงายมากเกินไป จะไม่อะไรๆทุกอย่างซึ่งมาจากความไม่รู้. ครั้นเป็นเด็กวัยรุ่น รุ่นหนุ่มสาวขึ้นมา ก็จะรู้จักบังคับกิเลส บังคับตนคือบังคับกิเลส, ไม่ให้กิเลสครอบงำการอบรมธรรมะมาอย่างเพียงพอ มันก็ทำอะไรผิดๆ. ครั้งมาเป็นพ่อแม่บ้านแม่เรือน ก็ยังชักจูงลูกให้ทำอะไรผิดๆ เพราะไม่รู้ แม่เสียเอง พ่อเสียเอง เป็นผู้ชักจูง กระทำตัวอย่างให้ดู ลูกมันก็ทำตามไปหมด, มันก็เลยถ่ายทอดสิ่งที่ไม่รู้ หรือไสยศาสตร์ที่น่าสงสารนี้สืบต่อกันไว้อย่างไม่รู้จักขาดสายขาดตอน.
นี่ขอให้ทำผู้อื่นให้มีธรรมะ นับตั้งแต่ว่าคนในครอบครัว.

(๒) ช่วยให้ธรรมะแก่เพื่อนบ้าน  เอ้า ทีนี้เพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านนอกครอบครัว คนในหมู่บ้านเดียวกัน ในเมืองเดียวกัน ในประเทศเดียวกันนี่, มันจะต้องมีธรรมะที่แปลกออกไป ว่าเราจะอยู่ร่วมบ้าน ร่วมเมือง ร่วมประเทศกันได้อย่างไร. ต้องรู้จักรับผิดชอบว่าบ้านเมืองของเรา, เราต้องรับผิดชอบ ต้องเสียสละได้โดยง่าย ที่จะช่วยกันทำให้บ้านเมืองนี้อยู่รอด อยู่รอดไปทุกความหมายแหละ คือไม่ยากจน ไม่ยุ่งยากลำบาก. เรื่องเจ็บ เรื่องไข้ เรื่องปัญหานานาชนิด ช่วยกันร่วมมือกันจนทำให้เป็นบ้านเมืองชนิดที่มีปัญหาน้อย หรือไม่มีปัญหา อย่างที่รัฐบาลก็ต้องการอย่างยิ่ง พัฒนาอย่างนั้นพัฒนาอย่างนี้ พัฒนาอย่างโน้น ก็เพื่อให้เกิดผลอย่างนี้อย่างที่ว่ามานี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้มันถูกเรื่องถูกความจริงที่ว่าทำให้เขามีธรรมะ.

ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้พลเมืองมีธรรมะได้แล้ว ก็จะหมดปัญหา ไม่ต้องชักจูง หรือไม่ต้องบีบบังคับ หรือไม่ต้องล่อไม่ต้องหลอก ไม่ต้องอะไรดอก. ถ้าพลเมืองมีธรรมะแล้ว ก็สมัครทำด้วยความพอใจ แล้วก็ทำได้จริงทำได้สำเร็จประโยชน์. เดี๋ยวนี้กลับจะไม่ค่อยมองเห็น ทำให้มีธรรมะกันเสียก่อน มีแต่ไปชักจูงอย่างอื่น ซึ่งบางทีมันก็กลายเป็นเรื่องทำให้ไม่มีธรรมะไปเสียก็มีบางทีว่าอยากจะได้ภาษีอะไรมากๆ ก็ปล่อยให้ประชาชนทำสิ่งที่ไม่ควรทำ, อย่างนี้ก็คือไม่มีธรรมะ มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์.
เอาละ, แม้แต่เพื่อนร่วมบ้าน ร่วมเมือง ร่วมประเทศของเรา เราก็หาโอกาศที่จะคอยให้สติเขา ตักเตือนเขา กระซิบกระซาบกับเขา ให้เขาคิดได้ ให้เขานึกได้ด้วยตัวเอง, แล้วเขาก็กระทำของเขาเอง. อย่าถึงกับไปยกตนข่มเขา แล้วก็อวดดิบอวดดีอะไรอย่างนั้น มันก็ไม่มีทางจะสำเร็จ, มันต้องทำด้วยความสุภาพอ่อนน้อม ถูกต้องเรียบร้อย ให้เขามองเห็นด้วยตนเองว่ามันควรทำอย่างนั้น, ควรทำอย่างนั้น.

(๓) ช่วยให้ธรรมะแก่เพื่อนร่วมโลก  ทีนี้มาถึงเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมโลกก็เป็นผู้อื่นที่เราจะต้อง่นึกถึงเขา อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่โลกทั้งโลก เราจะช่วยกันทำ. อาตมาเห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่าธรรมะ, การทำให้ธรรมะมีอยู่ในโลกนั่นแหละคือช่วยคนทั้งโลก ถ้าจะช่วยคนทั้งโลกให้ปลอดภัย ก็จงทำให้ธรรมะมีอยู่ในโลก, แล้วธรรมะมันช่วยเอง. ธรรมะมีหน้าที่อย่างแน่นอนอย่างนั้น ตายตัวอย่างนั้น. ใครมีธรรมะ ธรรมะก็ช่วยคนนั้น เมื่อช่วยให้ธรรมะมีอยู่ในโลก โลกก็มีธรรมะ โลกนี้ก็ได้รับการช่วยเหลือจากธรรมะจากพระธรรม.

เราก็ทำทุกอย่าง อย่างที่ว่า การเผยแผ่พระศาสนานี่ ต้องการจะเผยแผ่ไปให้ทั่วโลกนี่ก็คือทำ ให้โลกมีธรรมะ, ทำผู้อื่นให้มีธรรมะ, คิดดูสิ มันก็จะมองเห็นความหวังว่า มันจะมีสันติภาพ. คนในครอบครัวเราก็ช่วยให้มีธรรมะ คนทั้งโลกเราก็ช่วยให้มีธรรมะ แล้วจะเอาอะไรกันอีก นี่ธรรมะเป็นอย่างไรก็พูดกันมาแล้วนะ วันนี้ไม่พูดนะ ธรรมะคืออะไรพูดมาแล้วตั้งสิบครั้ง วันนี้จะพูดแต่วิธีที่จะช่วยให้คนอื่นมีธรรมะ.

ผู้อื่นชุดที่ ๒.

ทีนี้ก็ยังจะต้องดูให้ละเอียดลงไปอีกชุดหนึ่งว่า คนปรกติอยู่ ปรกติตามธรรมดา แล้วก็ คนมีความทุกข์ ความร้อน, แล้วก็คนมีความสุขความเพลิดเพลินนี่มันไม่เหมือนกันนะ.
(๑) ช่วยให้ธรรมะแก่คนไม่มีปัญหา คนปรกติ ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ มีกินมีใช้ตามปรกติ เราก็ช่วยเขาให้มันถูกเรื่องของคนปรกติ ตามปรกติ, พูดกันอย่างคนปรกติ สอนธรรมะอย่างคนปรกตินี้ก็มีหลักอยู่แล้ว.

(๒) ช่วยคนที่กำลังมีความทุกข์ ทีนี้ ถ้าว่า คนกำลังมีความทุกข์ ล่ะ, เขากำลังมีความทุกข์โศกด้วยเรื่องอะไรหลายๆอย่างตามที่มันมีอยู่ในโลก กระทั่งว่าใครติดคุกติดตะรางจองจำมีความทุกข์อยู่ ก็เป็นคนมีความทุกข์ เราจะช่วยเขาอย่างไรให้เป็นประโยชน์แก่เขา ก็ต้องนึกคิดให้เหมาะ. คนมีความทุกข์ ก็เรียกว่าเป็นเพื่อนทุกข์ ก็ถือโอกาศชี้แจงเรื่องของความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องการปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์.

คนมีความทุกข์นั่นแหละกำลังเหมาะที่สุดที่จะฟังธรรมะ เพราะว่าธรรมะนั่นมันเป็นเรื่องดับทุกข์นี่. ถ้าคนไม่มีทุกข์มันก็ไม่สนใจธรรมะ, ถ้าคนกำลังมีความทุกข์มันมีความพร้อมที่จะรับธรรมะ เพราะฉะนั้น จึงถือโอกาศเมื่อเขามีความทุกข์นั่นแหละช่วยเปิดเผยธรรมะที่จะดับทุกข์ให้เขาฟัง, แล้วเขาก็จะยินดีรับฟัง และไปคิดไปนึกศึกษาแล้วจะได้ปฎิบัติตาม. คนมีความทุกข์ก็ต้องพูดกันแบบนี้ ถ้าคนปรกติสุขมันก็พูดกันพอสมควรตามปรกติเพราะมันไม่มีความทุกข์มันก็ไม่สนใจธรรมะ แตถึงอย่างนั้นก็มีเรื่องที่จะพูดกันตามสมควรด้วยเหมือนกัน.

แต่ถ้าคนมีความทุกข์มันได้เปรียบแล้ว เขากำลังต้องการธรรมะที่จะดับทุกข์ ขอแต่ให้เราพูดเรื่องที่มันจะดับทุกข์ได้ อย่าไปสอนเขาให้งมงาย ไห้ไปหวังพึ่งไสยศาสตร์ หรือว่าไปหวังเพื่ออะไรผิดๆ ต่อไปเสียอีก, อย่างนั้นมันไม่ดับทุกข์. ให้รู้จักเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น, ให้รู้จักเรื่อง มันเป็นเช่นนั้นเอง จงทำใจคอให้ปรกติ แล้วจงมีสติสัมปชัญญะ แล้วจงปฎิบัติหน้าที่ของตน ให้ลุล่วงไปด้วยดี มันก็จะดับทุกข์ได้ มันอย่างนั้นเอง. เกิดมาในโลกนี้มันต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้ มันต้องประสบกับความผิดหวังอย่างนี้ แล้วเราก็แก้ลำมัน โดยการที่ว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น, ไม่เอามาเป็นของเรา, มันเป็นของจิตที่โง่เขลา. แต่คำว่าเรา เราในที่นี้มันเป็นเรื่องของจิตที่โง่เขลาด้วยเหมือนกัน แต่จะพูดให้แยกออกไปอีกทีหนึ่งว่า มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของเรา จิตอย่าโง่เขลาเอาธรรมชาติมาเป็นตัวเรา มาเป็นของเรา ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็จะไม่เป็นปัญหาแก่เรา.

พระพุทธเจ้าท่านสอนทั้งสองตอนนะ ว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้, มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้, มีความเจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บ ความตายได้. แต่ท่านสอน อีกตอนหนึ่งว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความเกิด, ที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความแก่, ที่มีความเจ็บความตายเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความเจ็บความตาย. แต่ตอนนี้ไม่เอามาสวดกันนี่, มันก็เลยชะงักอยู่ว่า กูจะต้องนั่งทนรับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้.

นี่มันสงสาร ความไม่สมบูรณ์ของความรู้ หรือไม่เอาคำสั่งสอนมาให้ครบถ้วนตามที่ทรงสั่งสอน ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาก็จริง แต่ถ้าได้อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย. คือมันไม่ทำความสำคัญมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวตน หรือของตน ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นของธรรมชาติไป ก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่มีใครที่เป็นทุกข์.

นี่ระวังให้ดีๆ เรื่องธรรมะนี้ ต้องศึกษาให้ตลอดทุกขั้นตอน. อย่าให้ครึ่งๆกลางๆ เราเป็นเพื่อนทุกข์กับคนที่มีความทุกข์ ชี้แจงให้เขาเห็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตน. เอาละ, เป็นเพื่อนทุกข์แก่บุคคลที่กำลังเป็นทุกข์น่ะ เป็นโอกาสที่ได้บุญได้กุศลเหลือประมาณ. ลองนึกถึงตัวเราเอง ถ้าเรามีความทุกข์แล้วมีคนมาช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ก็นับว่ามีบุญเหลือประมาณ.

(๓) ช่วยให้ธรรมะแก่คนที่กำลังสนุก. นี้มันก็มาถึงคนประเภทที่ ๓. คือ คนที่กำลังเป็นสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน มีกินมีใช้อยู่, พวกนี้สอนยากที่สุด. คนปรกติธรรมดายังสอนง่าย คนที่มีความทุกข์ยังสอนง่ายยิ่งขึ้นไปอีก แต่คนกำลังมีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินนี้สอนยาก. เพราะว่าความสนุกสนานเพลิดเพลินกำลังครอบงำจิตใจของเขา, เขาเสวยรสของความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน, มีความอยู่ดีอยู่อย่างแรงกล้า มีนันทิราคะ มีอะไรในความสุขเหล่านั้นอย่างแรงกล้า เลยสอนยาก มันก็มีอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ อย่าละโอกาส ถ้ามีโอกาสที่จะพูดอะไรกันสักคำหนึ่งให้รู้เรื่อง ให้เตือนสติได้ ก็ถือโอกาศพูดเตือนสติคนที่กำลังหลงไหลเพลิดเพลินนั้น ให้ได้สำนึกตัว. ให้หยุดความหลงไหลเพลิดเพลินนั้นเสีย มาดำรงตนอยู่ในความถูกต้องพอดีๆ.

นี่ที่จะสอนผู้อื่นให้มันมีธรรมะนี้มันมีปัญหาอย่างนี้ แยกเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งเป็นคนปรกติธรรมดา, พวกหนึ่งมีความทุกข์อยู่, พวกหนึ่งมีความสุขอยู่ สอนเหมือนกันไม่ได้, มันจะต้องหาคำพูดหรืออะไรๆ ที่มันเหมาะแก่บุคคลนั้นๆ แต่ละคน เป็นคนๆไป.
 

ผู้อื่นชุดที่ ๓.

เอ้า, ทีนี้ก็อยากจะให้ดูอีกชุดหนึ่ง ชุดที่สามนี้ว่า คนที่อยู่ในฐานะต่ำกว่า, คนที่อยู่ในฐานะที่เสมอกัน และคนที่อยู่ในฐานะสูงกว่า.
(๑) คนที่ต่ำกว่า เราก็มีโอกาสที่จะสอน, สอนได้ง่ายเพราะว่าเขายังเคารพนับถือเรา ยังอยู่ในพวกที่ว่าจะสอนง่าย ถ้าเขาไม่เป็นคนอวดดี จองหอง เย่อหยิ่งแล้ว มันก็มีโอกาศที่จะได้รับคำสั่งสอน. เพราะเขาอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าผู้สอน.

ทีนี้ (๒) ถ้า เสมอกัน นี้มันก็ยากขึ้นมาแหละ, จะสอนคนที่มีอะไรเสมอกันนั้น ทรัพย์สมบัติเสมอกัน อำนาจวาสนาเสมอกัน รู้ธรรมะพอๆกัน, นี่ก็สอนยากอยู่สักหน่อย.

(๓) คนที่สูงกว่า เขามีอะไรสูงกว่า สูงกว่าไปเสียทุกอย่างก็ยังสอนได้ตามโอกาศ เพราะว่าคนเราอาจจะประมาทได้, การที่สูงด้วยทรัพย์สมบัติ อำนาจวาสนาอะไรเหล่านี้ มันยังมีปัญหาไปตามแบบนั้นๆ, อาจจะเตือนผู้ที่มีอำนาจ ให้สำนึกในความหลงอำนาจ, เอาเถอะว่าลูกศิษย์ที่ฉลาด ก็ยังอาจจะเตือนอาจารย์ ให้สำนึกในความประมาทพลั้งเผลอได้ แม้อยู่ในฐานะที่สูงกว่าเรา เราก็ยังพูดให้มีธรรมะได้.

เอาละ, ต่ำกว่าเราก็สอนไปอย่างหนึ่ง, เสมอกันเราก็สอนไปอย่างหนึ่ง, สูงกว่าเราก็สอนไปอย่างหนึ่ง, เรียกว่าสอนทั้งนั้นแหละ คือทำให้มีธรรมะแล้วก็เรียกว่าสอนทั้งนั้นแหละ.

ผู้อื่นชุดที่ ๔
ทีนี้มองดูอีกชุดหนึ่ง เป็นชุดที่สี่ คนร่วมวัฒนธรรม, มีวัฒนธรรมะร่วมกัน นี้พวกหนึ่ง, แล้วคนต่างวัฒนธรรมะ นี้อีกพวกหนึ่ง, แล้วก็คนไม่มีวัฒนธรรมเลย นี้ก็พวกหนึ่ง.

(๑) คนร่วมวัฒนธรรมนี่สอนง่าย พูดง่าย เพราะมันมีหลักเกณฑ์ตั้งต้นมาแต่อ้อนแต่ออกเหมือนๆกัน เช่นเกิดในตระกูลพุทธบริษัทด้วยกัน มีวัฒนธรรมชาวพุทธด้วยกันมาตั้งแต่แรกเกิด, อย่างนี้ก็พูดกันง่าย.

(๒) คนที่ต่างวัฒนธรรม วัฒนธรรมไม่เหมือนกันต่างกัน นี้ก็สอนยาก เพราะพื้นฐาน พื้อเพแห่งจิตใจของเขามีเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว มันก็สอนยาก เช่นว่าเขามีพื้นเพมาในวัฒนธรรมที่ถือศาสนาไสยศาสตร์, เขามีวัฒนธรรมะไสยศาสตร์ แล้วเรามีวัฒนธรรมพุทธศาสตร์ มันก็สอนกันยาก. เรียกว่าวัฒนธรรมมันต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ด้วยความหวังดี, ไม่ไปลบหลู่ดูถูกใคร พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า อย่างนี้ดับทุกข์ได้ อย่างนี้ดับทุกข์ได้, อย่างนี้ดับทุกข์ได้, พิสูจน์ให้เห็นข้อที่ว่า อย่างนี้ดับทุกข์ได้ เขาก็อาจจะเปลี่ยนแนวความคิด หรือยอมเปลี่ยนวัฒนธรรมหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม มาถืออย่างเราก็ได้ นี่กับผู้ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน.

ทีนี้ พวกที่ ๓ ไม่มีวัฒนธรรมเลย. นี้ยากลำบาก เป็นคนป่าคนเถื่อน แล้วยังดื้อ ยังอวดดี ยังจองหอง ยังอันธพาลอะไร, คนไม่มีวัฒนธรรมนี้มันสอนยาก. ข้อนี้มันต้องนึกถึงข้อที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลักว่า มันต้องช่วย ช่วยตามที่จะช่วยได้. พระเยซูพูดว่า หมอก็ต้องรักษาคนเจ็บ. เราเป็นคนสบาย เป็นคนมีความสุข มีอะไรก็ต้องรักษาคนเจ็บ, คนที่มีความทุกข์, คนไม่มีวัฒนธรรม, คนไม่มีศาสนา นั้นก็เหมือนกับคนเจ็บ ต้องหาโอกาสช่วยรักษาคนเจ็บ, คือคนที่ไม่มีวัฒนธรรมเอาเสียเลย ก็ชักจูงชี้แจงให้เขามีวัฒนธรรมนั่นแหละ

ถ้าวัฒนธรรมเหมือนกัน ก็พูดกันง่าย เป็นเกลอกันไปได้ วัฒนธรรมต่างกันก็ทำความเข้าใจกันได้, ไม่มีวัฒนธรรมเลยก็ทำให้เขามีวัฒนธรรมขึ้นมา. นี่เรียกว่าทำผู้อื่นให้มีธรรมะ มันจะเผชิญปัญหาอย่างนี้.

ผู้อื่นชุดที่ ๕.

เอ้า, อีกชุดหนึ่งว่า คนโง่หัวดื้อ อย่างหนึ่ง, แล้วคนอยู่ในระดับกลางๆ ไม่โง่เง่า ไม่หัวดื้อ ปรกติธรรมดานี้พวกหนึ่ง. แล้วก็คนมีสติปัญญาเป็นวิญญูชน นี้ก็พวกหนึ่ง.

(๑) คนโง่หัวดื้อ มันยิ่งโง่มันยิ่งดื้อ, นี่สังเกตุดู ถ้ามันยิ่งโง่ มันยิ่งดื้อ. ความดื้อนั้นมันมากเท่ากับความโง่ของเขาก็ต้องแก้ไขให้ฉลาด ฉลาดขึ้นได้เท่าไร, ความโง่ความดื้อของเขาก็จะลดลงเท่านั้น. ทำคนโง่หัวดื้อให้มีธรรมะนั้นมันก็ต้องทำให้เขาฉลาดขึ้นมา, อย่าไปบีบบังคับเขา ไปข่มเหงเขา เขาก็ไม่ยอม เดี๋ยวก็เกิดอันตรายต่อสู้กันขึ้นมา. เราทำให้เขาฉลาดแล้ว เขาหายดื้อเอง, นี่ คนโง่คนดื้อ. ถ้ามีโอกาสสักแวบหนึ่ง ทำให้เขาสำนึกตัวได้สักแวบหนี่ง จะมีบุญมากกว่าสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่งไหม? ไปคิดดูทีว่าทำคนโง่คนดื้อให้สำนึกตัวได้สักคนหนึ่ง มันจะได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่งไหม? เพราะว่าโบสถ์นี้มักจะสร้างไว้ทำพิธีเฉยๆ เท่านั้น มันยังไม่ทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนสมตามความมุ่งหมาย.

(๒) คนปูนกลาง หมายความว่า ไม่โง่ไม่ดื้อ แล้วก็ไม่ฉลาด แล้วก็ไม่ถ่อมตัวอะไร, ก็ทำไปอย่างตามปรกติธรรมดาสามัญเป็นเพื่อนกัน, เป็นเพื่อนกัน.

(๓) ทีนี้ถ้าว่าคนเขาฉลาดเป็นวิญญูชนมีสติปัญญามากนี่ก็ต้องทำไปอีกแบบหนึ่ง. นี้เราจะต้องทำตัวเป็นศิษย์เขามากกว่าที่เราจะไปสอน คนที่ฉลาดกว่า เราลองทำตัวเป็นศิษย์เขา แล้วเราจะมีโอกาศพูดเตือนสติเขาแหละ. ถ้าเราทำตัวไม่ถูกไม่เหมาะสมเขาก็ไม่ฟังเรา เพราะเขาฉลาดกว่าเรา สูงกว่าเรา มีความรู้มากกว่าเรา เราทำตัวเสมือนหนึ่งว่าจะเป็นลูกศิษย์ ไปขอรับความรู้จากเขา ได้โอกาศก็พูดจาให้เขาระลึกได้ นั่นแหละ ก็สอนคนที่ฉลาดกว่าเราได้ เพราะว่าวิญญูชนนั้นง่ายที่จะรู้ ที่จะเข้าใจ ที่จะเห็นแจ้ง เพราะเป็นวิญญูชน. ถ้าเรามีสติปัญญาพอสมกันมันก็ง่ายแหละ มันก็อาจจะกลายเป็นเพื่อนกันเสียมากกว่า.

เราพูดกันถึงผู้อื่นๆกันมามากพอสมควรแล้ว ผู้อื่นมี ๕ ชุด ชุดละ ๓ พวก ๓ ชนิด ๑๕ ชนิดแล้ว, ผู้อื่นๆ เราไม่ยอมแพ้ เราจะเอาชนะผู้อื่น โดยทำให้เขามีธรรมะทุกชนิดและทุกพวก.

วิธีที่ช่วยให้มีธรรมะ.
เอ้า, ที่นี้ต่อไปก็จะพูดถึงวิธีที่จะกระทำ ทำอย่างไร, จะช่วยเขาให้มีธรรมะ ให้เข้าสำนึกตัว ให้มีธรรมะจะทำอย่างไร. ต้องพูดตรงๆ พูดชนิดที่เรียกว่ากำปั้นทุกดินก็ได้ คือพูดว่าต้องทำให้เขาชอบธรรมะ, จะทำให้เขามีธรรมะนั้น จะต้องทำให้เขาชอบธรรมะ, หรือพูดขยายความให้ชัดออกไปอีกหน่อยก็ว่า พูดให้เขาเห็นประโยชน์ของการมีธรรมะ ชี้แจง พูดจา ชักจูง หรือว่าแสดงอะไรก็ได้ ไม่พูดด้วยปากแต่แสดงด้วยของอย่างอื่นก็ได้, เรียกว่า พูดเหมือนกันแหละ พูดด้วยปากก็ได้ พูดด้วยตัวหนังสือก็ได้ พูดด้วยท่าทางก็ได้ พูดด้วยการแสดงอะไรบางสิ่งบางอย่างก็ได้ เรียกว่าพูด, พูดให้เขาเห็นประโยชน์ของการมีธรรมะ.

ทีนี้ประโยชน์ของการมีธรรมะนี้ มันหลายอย่างหลายชนิด มีทางที่จะเลือกเอาให้ถูกให้ตรงตามปัญหาที่มันมีอยู่. ธรรมะมีประโยชน์อย่างไร บอกให้เขาได้มอบเห็น ได้เข้าใจ ได้ทุกอย่างทุกประการ.

ข้อแรกนั้น ธรรมะดับทุกข์ส่วนตัวบุคคลได้โดยตรง ความทุกข์ส่วนบุคคลแต่ละคนๆ ธรรมะดับทุกข์ได้ พูดจนให้เขาเห็นความจริงอันนี้ ว่าธรรมะดับทุกข์ส่วนตัวบุคคล, แล้วเขาก็เกิดชอบธรรมะขึ้นมา มันก็ง่ายที่จะให้เขาศึกษาธรรมะ, พูดจนให้เขาเห็นประโยชน์เห็นอานิสงส์ของธรรมะแล้ว มันก็ง่ายที่จะชักจูงให้เขาศึกษาธรรมะยิ่งๆ ขึ้นไป. เปรียบเทียบกันหน่อยเหมือนกับว่าเรื่องหาเงิน ทำไมไม่ต้องชักชวน เพราะคนรู้อยู้แล้ว เงินมันมีประโยชน์อะไร เงินมันมีประโยชน์อย่างไร ไม่ต้องแสดงอานิสงส์, ชักชวนให้หาเงินก็เอากันเท่านั้นเอง เพราะว่ารู้ประโยชน์ รู้อานิสงส์กันอยู่แล้ว. แต่ทีเรื่องของธรรมะยังไม่รู้ ก็จะต้องชี้แจงชักจูงให้เห็นประโยชน์ เห็นอานิสงส์ของธรรมะว่า ดับทุกข์ได้ เขามีความทุกข์อยุ่ เขาก็สนใจธรรมะที่จะดับทุกข์ข้อนั้น ข้อนั้นของเขาเป็นเรื่องๆ ไป. นี่เรียกว่าเป็นประโยชน์ของธรรมะ.

ทีนี้ ข้อที่สองธรรมะทำให้มีความสามารถในการทำหน้าที่การงาน หรือทำหน้าที่ใดๆ ก็ได้. ธรรมะมีประโยชน์ คือทำให้สามารถในการทำหน้าที่ หน้าที่หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำไร่ทำนาอะไรก็ตาม ธรรมะนั้นจะช่วยให้ทำได้ดี มีจิตใจเป็นธรรมะสงบเป็นธรรมะ ทำงานสนุกไม่เร่าร้อน, จะต่อสู้ จะป้องกันตัวกับศัตรู, ถ้าจิตใจมีธรรมะก็ต่อสู้ได้ดี. นี่เรียกว่าหน้าที่ต่อสู้ หน้าที่ป้องกัน ก็จะป้องกันได้ดี หน้าที่แสวงหา ก็แสวงหาได้ดี ในการมี การเก็บ การกิน การใช้ การอะไรก็ตาม ถ้ามีธรรมะแล้วทำได้ดี, แปลว่า หน้าที่ทุกอย่างของมนุษย์ ที่มนุษย์กระทำๆ กันอยู่นี้ ถ้ามีธรรมะแล้วจะทำได้ดี เพราะมันไม่ร้อน, มีสติปัญญาก็ยังไม่เท่ากับมีธรรมะ มีธรรมะทำได้ดีกว่า เพราะมันไม่ร้อน มีสติปัญญาบางทีมันก็ร้อนๆ ทำไปอย่างร้อนๆ มันก็ไม่น่าดู. ถ้ามีธรรมะมันก็ทำไปอย่างเย็นๆ เย็นๆ ทำหน้าที่ทุกหน้าที่ในเรื่องของชีวิต.

ทีนี้ ข้อที่สาม ชี้ต่อไปให้เห็นประโยชน์ของธรรมะว่า ธรรมะนี้สามารถจะสร้างสังคมมนุษย์ให้อยู่กันเป็นสุข สังคมมนุษย์จะอยู่กันเป็นสุขได้เพราะมีธรรมะ. เมื่อเขามองเห็นความจริงข้อนี้ เขาก็ร่วมมือในการที่จะสร้างสังคมของผู้มีธรรมะ, ให้สังคมของเราเป็นสังคมที่มีธรรมะ. เขาเห็นประโยชน์ อันนี้แล้วเขาก็พอใจที่จะศึกษาธรรมะ จะรู้ธรรมะ. จะปฎิบัติธรรมะ. ฉะนั้น ในการที่จะทำให้เขาสมัครมีธรรมะ ก็ต้องทำให้เขาเห็นประโยชน์ของธรรมะ อย่างน้อยที่สุด ทำให้เขาเกิดความรู้สึกสนุกสนานด้วยการมีธรรมะร่วมกัน, มีความสุขมีความสนุก เพราะการมีธรรมะร่วมกัน ชี้แจงให้เห็นประโยชน์ ว่ามันจะมีความสุขมีความสนุกอย่างยิ่งในขณะที่มีธรรมะกลมเกลียวกันไป นี่เป็นตัวอย่าง.

ขอให้ผู้ที่สนใจจะเผยแผ่ธรรมะจะตั้งสมาคมธรรมะ จะตั้งหมู่บ้านธรรมะ แผ่นดินธรรม แผ่นดินอะไรนี้ จงพิจารณาถึงหลักเหล่านี้เถิด, พิจารณาให้เห็นลู่ทาง ที่จะดึงคนมาสู่ธรรมะ ปฎิบัติธรรมะ, ทำให้เขามองเห็นประโยชน์อย่างยิ่งของธรรมะ จะดับทุกข์ส่วนตัวได้, ให้มีความสามารถในการทำหน้าที่ทุกอย่าง ทุกประการก็ได้, จะช่วยกันสร้างสังคมหมู่คณะที่มีความสงบสุขก็ได้, แล้วที่ดีกว่านั้นจะได้สนุกในการมีธรรมะร่วมกันไปในการศึกษา ในการปฎิบัติ ในการรับผลของการปฎิบัติ อย่างสนุกสนานเป็นหมู่คณะที่สนุกอยู่ด้วยธรรมะก็ได้ พูดให้ชัดเจนอย่างนี้.

ปัญญามี ๓ ขั้นตอน.

เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดกันต่อไปถึงว่า ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดความรู้สึกคิดนึกมาในใจอย่างนี้. นี่ผู้ที่จะสร้างสมาคมธรรมะ ก็จงสนใจฟังต่อไปว่า ทำอย่างไรมันจึงจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นในจิตใจของคนเหล่านั้นได้? ข้อนี้ต้องตอบว่า ทำให้เขามี สติปัญญา, มีปัญญาครบถ้วนขึ้นมา ๓ ขั้นตอน, ปัญญา ๓ ขั้นตอน จะสำเร็จประโยชน์ในการที่จะให้ผู้อื่น, เพื่อนของเราน่ะมีธรรมะด้วยการ ทำให้เขามีปัญญาทั้ง ๓ ขั้นตอน.

ข้อที่ ๑ เรียกว่า สุตมยปัญญา สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดมาจากการศึกษา ตัวหนังสือแปลว่าฟัง, แต่ว่าความหมายที่ถูกต้องคือการศึกษา. ให้เขาได้ยินได้ฟัง ให้ได้ศึกษา นี้เป็นจุดตั้งต้น. เขาได้ยินเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่จะศึกษาทางการอ่าน ทางการเขียน ทางการฟัง นี่ให้เพียงพอเสียก่อน, แล้วเขาจะค่อยรู้สึกพอใจ หรือศรัทธา เป็นเบื้องต้น ในธรรมะนั้นๆ นี่ปัญญาเกิดจากการศึกษา ทำได้เพียงเท่านี้.

ข้อ ๒ ครั้งเขามีปัญญาในชั้นนี้แล้ว ทำให้เขามีปัญญาในขั้นต่อไป ก็คือ ให้เขารู้จักคิดนึก เรียกว่า จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดนึก ให้เขาเอาเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากเราไปคิดนึก, เราท้าว่า ให้เอาไปคิดดู จริงหรือไม่จริงให้เอาไปคิดดู, ที่เราพูดให้ฟังนี้ แล้วเขาก็เอาไปคิดไปนึก, ความคิดนึกไตร่ตรองอยู่นั่นแหละ มันจะช่วยให้เขาเกิดความรู้สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง, เรียกว่าปัญญาเกิดมาจากการคิดนึก. ให้เขาใช้เหตุผลของเขาเอง ไม่ต้องเชื่อคนอื่นละ, ถือตามหลักพระพุทธเจ้าเลย ไม่เชื่อคนอื่น เชื่อสติปัญญาของตัวเอง, คิดนึกๆ ก็ได้ปัญญาสูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง. ปัญญาเกิดจากการใช้เหตุผลจากการคิดการนึก ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั่นแหละ เอามาคิดเอามานึก เอามาใช้เหตุผล. ขั้นที่ ๑ ปัญญาได้ยินได้ฟังมาอย่างไร ขั้นที่ ๒ เอามาคิดนึกศึกษาใช้เหตุผลให้ครบถ้วน ก็มีปัญญาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง.

ที่นี้ ข้อที่ ๓ ภาวนามยปัญญา ให้เขาเอาเหตุผลที่คิดนึกเหล่านั้นมาทำไว้ในใจให้แจ่มแจ้ง มาทำในใจโดยแยบคาย, ปัญญาคิดนึกเอามาทำใจโดยแยบคายอยู่เป็นประจำ มันก็จะเกิดปัญญาเห็นแจ้ง เห็นแจ้งตามที่เป็นจริง เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ปัญญามี ๓ ขั้นตอนอย่างนี้ ถ้าเราจะดึงเพื่อนของเราให้มาสู่ธรรมะแล้ว เราต้องช่วยให้เขาสามารถสร้างปัญญาในธรรมะ ๓ ขั้นตอนนี้ให้สำเร็จ ขั้นตอนแรกให้ได้ยินได้ฟังให้เป็นพื้นฐานจนพอใจหรือมีศรัทธาขึ้นมาบ้าง. แล้วปัญญาขั้นที่ ๒ ให้เขามานึกคิดด้วยเหตุผลของตนเองอย่างอิสระ เชื่อตัวเอว คิดของตัวเอง อะไรของตัวเองนี้ก็เป็นปัญญาขั้นสูงขึ้นมา ครั้นแล้วก็เอาเหตุผลเหล่านั้นมาทำไว้ในใจให้ยิ่งขึ้นไปอยู่เสมอๆ อบรมจิตใจด้วยเหตุผลเหล่านั้นอยู่เสมอ เขาจะเกิดปัญญาขั้นที่ ๓ คือปัญญาเห็นแจ้งในทางจิตด้วยจิตใจ ที่เรียกว่า การทำภาวนา การทำให้เห็นแจ้ง.

นี่ขอให้กำหนดดูให้ดีๆ ว่าเราต้องการจะให้เพื่อนของเรามีธรรมะ เราต้องพูดให้เขาเห็นประโยชน์ของการมีธรรมะ และให้เขาเอาไปคิด เขาได้ยินได้ฟังอย่างนี้แล้ว เป็นปัญญาขั้นหนึ่งแล้ว, ให้เขาเอาไปคิดนึกด้วยเหตุผล จนมีปัญญาด้วยเหตุผลของเขาเองอีกขั้นหนึ่ง. ครั้นแล้วให้เขาเอาปัญญาเหตุผลของเขาเองอีกขั้นหนึ่ง. ครั้นแล้วให้เขาเอาปัญญาเหตุผลของเขาเองมาทำในใจให้เป็นปรกติ เป็นปรกติ จนมันแจ่มแจ้งมันลึกซึ้งลงไปในสันดาน หมดชีวิตจิตใจ เห็นแจ้ง มันก็ไม่ไปไหนเสีย มันก็รู้แจ้งเห็นจริงในความจริงข้อนี้ ก็ง่ายที่จะประพฤติปฎิบัติ นี่ช่วยให้เขามีปัญญา ๓ ขั้นตอน.

หลังจากช่วยให้เขาเห็นประโยชน์ของการมีธรรมะแล้ว
ต้องช่วยให้เขามีปัญญาครบถ้วนทั้ง ๓ ขั้นตอน ปัญญาที่ได้ยินได้ฟังจากเรา, ปัญญาทีเกิดจากเหตุผลของเขาเอง, ปัญญาที่เขาเอาเหตุผลมากระทำอยู่ในใจ อบรมจิตใจอยู่เสมอ จนเห็นแจ้งถึงที่สุดก็สำเร็จประโยชน์ในการที่ทำให้เขามีธรรมะ, เขามีธรรมะ.

ประโยชน์ในการช่วยผู้อื่นให้มีธรรมะ

เอ้า, เวลายังเหลืออีกนิดหน่อยก็พูดกันถึงข้อสุดท้าย คือประโยชน์ ประโยชน์, ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ คือว่า เราพยายามให้ผู้อื่นมีธรรมะ มันมีประโยชน์เหลือที่จะกล่าวได้แหละ เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสนองพระพุทธประสงค์ ทรงประสงค์ให้เราช่วยกัน ให้โลกมีแสงสว่าง, ให้แสงสว่างสอ่งเข้าไปในจิตใจของคนทุกคน, นี้เป็นพุทธประสงค์ เมื่อเราทำอยู่อย่างนี้ เราก็สนองพระพุทธประสงค์ ตีราคาไม่ไหวแล้ว, ตีราคายิ่งกว่าโบสถ์ราคาร้อยล้านพันล้านแล้ว. ถ้าสนองพระพุทธประสงค์ได้สำเร็จมันมีค่ามากกว่าสร้างโบสถ์ราคาร้อยล้าน พันล้านสนองพระพุทธประสงค์ พระพุทธประสงค์ก็คือความสงบสุขของชีวิตทุกชีวิตทุกระดับ ให้ต้นไม้ต้นไร่เป็นสุข ให้สัตว์เดรัจฉานเป็นสุข, ให้มนุษย์เป็นสุข, ให้เทวดาเป็นสุข, ให้พรหมเป็นสุข จนหมดเลยถึงภวัคคพรหมแล้ว เป็นสุขแล้ว มันก็หมดเรื่องพระพุทธประสงค์.

ทีนี้ ถ้าเราทำให้เพื่อนมนุษย์ของเรามีธรรมะได้จริง อะไรจะเกิดขึ้น? ก็เกิดโลกพระศรีอาริยเมตไตรยขึ้นมาในทันทีทันใดนี้ ไม่ต้องในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญดอก,
ในทันทีทันใดนี้มันจะเกิดโลกพระศรีอริยเมตไตรยขึ้นมา, คือโลกแห่งความเมตตาและความรัก. ทุกคนมีธรรมะ รักเพื่อนมนุษย์ คิดดูสิ ลองเปรียบเทียบดูว่า ถ้าทุกคนในโลกนี้รักเพื่อนมนุษย์ แล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร? เดี๋ยวนี้มันพร้องมที่จะขโมยนี่, มันพร้อมที่จะปล้นจะจี้, มันพร้อมที่จะแย่งชิง, มันพร้อมที่จะเอาเปรียบ, มันเป็นเรื่องที่ไว้ใจไม่ได้.

ถ้าทุกคนมีธรรมะ รักเพื่อนมนุษย์เหมือนกับรักตัวเองแล้วนั่นคือโลกพระศรีอริยเมตไตรย ไม่มีสิ่งอื่นจะช่วยได้นอกจากธรรมะ. ถ้าธรรมะมาสิงในใจของมนุษย์ มนุษย์มีความรักผู้อื่น แล้วโลกนี้ทั้งโลกก็กลายเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย. เหลียวไปทางไหนก็พบแต่ผู้ที่จะช่วย. นี่ฟังดูให้ดีๆ ว่าเหลียวไปทางไหนก็พบแต่ผู้ที่จะช่วย ไม่พบผู้ที่จะปล้นจี้ หรือจะคอยเอาเปรียบ, มันพบแต่ผู้ที่คอยจะช่วย, นี่โลกพระศรีอาริยเมตไตรยเป็นอย่างนี้.

ทีนี้ดูโดยรายละเอียด ถ้ามีธรรมะแล้วมนุษย์ก็จะเป็นมนุษยที่เต็มตามความหมายของคำว่า มนุษย์ ถ้ามีธรรมะแล้ว มนุษย์นี่จะได้เป็นมนุษยที่มีความเต็มตามความหมายของคำวา มนุษย์ยังไม่มีธรรมะอยู่เพียงไร ยังเป็นมนุษย์บกพร่อง มนุษย์กลลวงเป็นโพรงอยู่ตลอดเวลา. ถ้ามีธรรมะแล้ว ก็มีมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ มันก็ไม่เสียทีที่เกิด. ไม่เสียทีที่เกิด ได้รับความเป็นมนุษย์เต็มตามความหมายของคำว่า มนุษย์.

ทีนี้มัน มีแต่โลกมนุษย์, ไม่เสียทีที่ได้เกิดมา ได้มีความเป็นมนุษย์เต็มตามความหมามของคำว่า

ทีนี้มันมีแต่โลกมนุษย์ ไม่ทีโลกสัตว์ร้ายเข้ามาเจือปนอยู่, โลกนี้ก็ปราศจากปัญหาทุกความหมาย ปัญหาทุกความหมาย. คำว่าปัญา นี้สำคัญมากนะ แล้วก็ ทุกความหมาย เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่มีปัญหา, เรื่องเศรษฐกิจก็ไม่มีปัญหา, เรื่องการสังคมก็ไม่เป็นปัญหา, เรื่องทุกอย่างไม่มีปัญหา, มันกลายเป็นโลกมนุษย์ที่ไม่มีปัญหา ไม่ว่าปัญหาชนิดไหน เดี๋ยวนี้กำลังเต็มไปด้วยปัญหาใช่ไหมล่ะ? ยิ่งอ่านหนังสือพิมพ์แล้วยิ่งเวียนหัว มันเต็มไปด้วยปัญหา, มนุษย์กำลังเต็มไปด้วยปัญหา เพราะขาดธรรมะ. พอธรรมะเข้ามา ก็รุกไล่ปัญหาเหล่านั้นออกไปหมด ไม่มีเหลืออยู่ในโลก, เป็นโลกที่ไม่ปัญหา.

ในที่สุดเราได้มีความพอใจ ชื่นอกชื่นใจ อิ่มอกอิ่มใจ ว่าได้สนองพระพุทธประสงค์ ที่พระองค์ตรัสว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ เธอทั้งหลายจงยินดีในธรรมทาน เพราะว่าธรรมทานนั้นย่อมชนะทานทั้งปวง อามิสทานก็สู้ไม่ได้ อภัยทานก็สู้ธรรมทานไม่ได้ เพราะธรรมทานนี้ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง. ส่วนอามิสทานหรืออภัยทาน บางทีเพียงแต่ทำให้ไม่ตายเท่านั้นแหละ, เพียงแต่ไม่ตาย อยู่ได้ แต่แล้วมีความทุกข์ เพราะมันไม่ฉลาดมีชีวิตอยู่อย่างไม่ฉลาดล แม้จะไม่เบียดเบียนกัน มันก็ยังไม่ฉลาด มีชีวิตอยู่อย่างไม่ฉลาด, แม้จะไม่เบียดเบียนกัน มันก็ยังไม่เยือกเย็นในทางจิตวิญญาณดอก. ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอจึงจะเป็นชีวิตที่เยือกเย็นทางวิญญาณ คือทางจิตทางใจ เมื่อได้สิ่งนี้แล้วก็เรียกว่า ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือได้มีชีวิตที่เยือกเย็น.

คำว่าเยือกเย็นนี้มันเป็นคำที่มีความหมายนะ มันมีความหมายถึงว่ามัน สว่างไสว ไม่มือมน ไม่สกปรก ไม่เศร้าหมอง ไม่บีบคั้น ไม่เผาลน ไม่ทิ่มแทงร้อยรัด อะไรทุกอย่างทุกประการจึงจะเรียกว่าเป็นชีวิตที่เยือกเย็น ภาษาบาลี เรียกสิ่งนี้ว่า นิพฺพุตา นิพฺพุโต นิพฺพุตา ชีวิตที่เยือกเย็น, เมื่อมีธรรมะแล้วจะมีชีวิตที่เยือกเย็น เป็นนิพฺพุโต ถ้าเป็นผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็น นิพฺพุตา เป็นนิพฺพุต เป็น นิพฺพุต นิพฺพุโต นิพฺพุตา นิพฺพุตํ  อะไรก็แล้วแต่ จะมีแต่ความเยือกเย็น เพราะอานุภาพของธรรมะ นี่คือผลสุดท้ายที่จะได้รับจากการที่มีธรรมะ.

ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจธรรมะ ดังที่ได้บรรยายมาแล้ว ๑๐ ครั้ง. ส่วนครั้งนี้ก็บรรยายเรื่อง ช่วยให้ผู้อื่นให้มีธรรมะ เป็นครั้งสุดท้ายของการบรรยาย แล้วก็ถึงสมัยปิดประชุม. นี่เป็นวันเสาร์ครั้งสุดท้ายที่จะบรรยาย สิ้นเดือนกันยายนก็หมดกัน แล้วก็หยุดเทอม ๓ เดือน ๓ เดือน แล้วก็ค่อยเปิดวันเสาร์ใหม่อีก.

วันนี้เป็นการบรรยายครั้นสุดท้าย ช่วยจำไว้ว่า ในครั้งนี้ได้พูดถึงการทำผู้อื่นให้มีธรรมะโดยหลักพื้นฐาน หลักพื้นฐาน ก็คือที่กล่าวมาแล้ว ว่ามันมีเหตุผลอย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร มีอะไรอย่างไร, นั้นเรียกว่าหลักฐาน เมื่อทำถูกต้องตามหลักพื้นฐานแล้ว ก็สำเร็จตามความประสงค์ ฉะนั้น ขอให้ทำอะไรๆ ทุกอย่างอย่าให้ขาดหลักพื้นฐาน ขอให้มีหลักพื้นฐานโดยทุกอย่างทุกประการ ไม่ว่าเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องโลก เรื่องธรรมะ เรื่องอะไรก็ตาม ต้องมีหลักพื้นฐานทั้งนั้น.

นี่การบรรยายในวันนี้ ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายให้พระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้สวดบทพระธรรมคุณสาธยาย มีข้อความส่งเสริมกำลังใจ ในการที่จะประพฤติปฎิบัติธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนประสบความสำเร็จ สมตามความปรารถนาต่อไป ณ บัดนี้
 

จัดทำเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
คาถาและอาราธนา สมาธิภาวนา ธรรมบรรยาย ธรรมประจำวัน ส่งเสริมธรรม ศึกษาธรรม สื่อธรรม แหล่งข้อมูลธรรม
พบข้อบกพร่อง มีข้อเสนอแนะ บอกกันบ้างครับ
สารบัญหลัก อ่านข่าวเมืองไทย
สารบัญธรรมปฏิบัติ
สารบัญวิทยุโทรทัศน์
สารบัญเวปสื่อชาวไทย
สารบัญข่าวราชการ
สารบัญกฏหมายไทย
สารบัญงานไทย