จันทร์เจ้าขา ภาค ๑๙๑ ลูกสิงห์...
จันทร์เจ้าขา ภาค ๑๙๑ ลูกสิงห์...


    คำร้อง ทำนอง โก๋กานต์
    
    ...รุ่งเช้าท้องฟ้าสดใส ได้ยินเสียงชายเมืองสิงห์แว่วหวาน
    
    สายลมพัดมายาวนาน ฉันร่วมประสานขับขานเรื่อยไป...
    
    ...โอ้หนุ่มลุ่มแม่น้ำน้อย เธอคอยหาสาวลุ่มเจ้าพระยา
    
    เธอคือความฝันอันมีค่า ที่เธอเกิดมาบนพื้นดินเดียวกัน...
    
    ...ลูกสิงห์ทองของไทย สร้างวีรกรรมไว้ให้ชนรุ่นหลัง
    
    ศึกบางระจันครั้งนั้น จดจำให้มั่นพี่น้องของเรา...
    
    ...โอ้อกเอ๋ย อกเราชาวทุ่ง ตื่นเช้าก็มุ่งหน้าหาทำกิน
    
    พื้นนาก็คือพื้นดิน พวกเราไม่สิ้นเยื่อใยสัมพันธ์...
    
    ...พรหมบุรี อินทร์บุรี ท่าช้าง บางระจัน เมืองสิงห์ ค่ายบางระจัน
    
    จดจำให้มั่นพี่น้องเรา...
    	




    ...ช่วงนี้ภาพยนตร์เรื่องบางระจัน กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งในกรุงเทพฯ 
    และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ประวัติศาสตร์วีรกรรมความเสียสละของชาวบ้านบางจัน
    เป็นที่กล่าวขานกันมาหลายร้อยปี ทำให้ผมเกิดอยากจะเขียน เรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสิงห์บุรีขึ้นมา 
    กระผมเองเป็นคนสิงห์บุรี คุณพ่อเป็นคนอำเภอบางระจัน ส่วนคุณแม่เป็นคนอำเภออินทร์บุรี 
    ผมเกิดและเติบโตที่สิงห์บุรีมาโดยตลอด ...
    
    ...เมื่อปี พ.ศ. 2308 รัชสมัยพระเจ้าเอกทัต ครั้งนั้น พม่ายกทัพมาตีไทย และมีกองทัพส่วนหนึ่ง 
    ผ่านมาทางหมู่บ้านบางระจัน กองทัพพม่า ซึ่งมีกำลังพลมากกว่า ชาวบ้านบางระจัน กองทัพพม่า 
    ได้เข้าตีหมู่บ้านบางระจัน ถึง 8 ครั้ง จึงสามารถยึดหมู่บ้านได้ แม้ชาวบางระจัน จะขาดแคลนอาวุธ 
    และมีกำลังน้อยกว่า แต่ก็ได้แสดงความกล้าหาญ และความสามัคคี ยอมพลีชีวิต 
    เพื่อประเทศชาติ ไม่ว่าหญิงหรือชาย วีรกรรมครั้งนั้น จึงได้รับการยกย่อง สรรเสริญตราบจนทุกวันนี้ ...
    
    	


    ...สิงห์บุรี... ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ ทรงให้ยุบเมืองเล็ก ๆ 3 เมือง 
    ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือจังหวัดอ่างทอง ขึ้นไป คือเมืองสิงห์บุรี อินทร์บุรี และพรหมบุรี เป็นอำเภอ 
    แล้วตั้งเมืองใหม่ขึ้น ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันตก ที่ตำบลบางพุทรา แล้วพระราชทานนามว่า 
    เมืองสิงห์บุรี ปัจจุบัน จังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่ประมาณ 822 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครอง ออกเป็น 6 อำเภอ 
    ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี 
    และอำเภอท่าช้าง สิงห์บุรีอยู่ห่างจากรุงเทพฯ เพียง 142 กิโลเมตร และมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า 
    ..............ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อน ปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง ....................
    
    ...ลักษณะภูมิประเทศ... โดยทั่วไป เป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น 
    ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนริมแม่น้ำเป็นอย่างมาก มีแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ 
    แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ ยังมีลำน้ำสายอื่นๆ อีกคือ ลำแม่ลา ลำการ้อง 
    ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย ...
    	


    ...สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ... จังหวัดสิงห์บุรีมีสถานที่น่าท่องเที่ยวอยู่หลายแห่งด้วยกัน 
    ซึ่งแต่ละแห่งนั้นเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง นับเป็นความโชคดีของคนจังหวัดสิงห์บุรี 
    ซึ่งแม้จะไม่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขา แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวโดยคนสมัยก่อนได้สร้างไว้
    เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ทั้งทางด้านศิลปะ  วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา และประวัติศาสตร์มากมาย...
    
    ...วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นแหล่งปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูป 
    มาจากตระกูลช่าง บ้านช่างหล่อธนบุรี อีกทั้งที่วัดนี้ ยังเป็นแหล่งเก็บตัวหนังใหญ่ ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย 
    มีตัวหนังเล่นได้กว่า 300 ตัว ...
    
    ...พระนอนจักรสีห์ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่นับถือกันมาก ว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นของคู่บ้านคู่เมือง 
    ประดิษฐานอยู่ ที่วัดพระนอนจักรสีห์ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร 
    มีความยาวองค์พระ 23 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว เปิดให้ผู้เข้าชมได้นมัสการทุกวัน ...
    
    ...วัดหน้าพระธาตุ อยู่ที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี อยู่ทางทิศตะวันตก 
    ของพระนอนจักรสีห์ ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหน้าพระธาตุ 
    เป็นที่ประดิษฐาน พระปรางค์เก่าแก่ ที่สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างมาตั้งแต่ สมัยที่ขอมเรืองอำนาจ ...
    
    	


    ...วัดพิกุลทอง อยู่ที่ตำบลวิหารขาว อำเภอท่าช้าง ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ประมาณ 9 กิโลเมตร 
    ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดหลวงพ่อแพ มีประชาชน ชอบแวะไปเที่ยว และนมัสการหลวงพ่อแพเสมอ 
    ที่วัดนี้ ยังมีพระพุทธรูปนั่ง ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือพระใหญ่ประทานพร หรือพระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี 
    ซึ่งสร้างโดยหลวงพ่อแพ และสวนธรรมะเพื่อความสงบของจิตใจด้วย ...
    
    ...อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน อุทยานค่ายบางระจัน เป็นสวนรุกขชาติ ที่พักผ่อนหย่อนใจ 
    ซึ่งมีอนุสาวรีย์วีรชนบางระจัน ประดิษฐานอยู่ อนุสาวรีย์นี้ ได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 
    โดยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตัวอนุสาวรีย์ เป็นรูปของวีรชน บ้านบางระจัน ผู้ประกอบวีรกรรม 
    ครั้งสำคัญ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย  สำหรับค่ายบางระจัน ที่เห็นในปัจจุบันนั้น 
    เป็นค่ายจำลอง ที่สร้างขึ้นมาตามแบบโบราณ ในบริเวณค่าย มีวัดโพธิ์เก้าต้น มีวิหารประดิษฐาน 
    รูปปั้นพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญผู้หนึ่ง ของชาวบางระจัน วัดโพธิ์เก้าต้น หรือวัดไม้แดง 
    อยู่ในบริเวณค่ายบางระจัน เป็นสถานที่ วีรชนชาวบ้านบางระจัน ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ใช้เป็นที่มั่น 
    ในการต่อต้านข้าศึก ภายในบริเวณวัด มีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ รูปปั้นพระอาจารย์ธรรมโชติ 
    สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีต้นไม้แดง ที่ยืนต้น มาแต่สมัยอยุธยาในบริเวณนี้ ...
    
    ...วัดพระปรางค์และแหล่งเตาแม่น้ำน้อย อยู่ที่ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร 
    ภายในบริเวณวัด มีพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยา สูงราว 15 เมตร ก่อด้วยอิฐ รูปร่างคล้ายฝักข้าวโพด 
    ภายในผนังคูหาเรือนธาตุ มีร่องรอยภาพจิตรกรรมฝาผนัง เหลืออยู่เล็กน้อย ในวัดพระปรางค์ ยังมีร่องรอยเตาเผาโบราณ 
    อยู่อีกประมาณ 3-4 เตา เป็นเตาเผา เครื่องถ้วยชาม สมัยอยุธยา ตัวเตาเผา นับว่ามีขนาดใหญ่ 
    เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผาเช่น ไห อ่าง ครก ระกา ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ...
    
    ...พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโบสถ์ อำเภออินทร์บุรี มีโบราณวัตถุ ที่สำคัญ และหาดูได้ยาก 
    เช่น คานหามรัชกาลที่ 5 หนังใหญ่วัดประศุก พัดยศสมณะศักดิ์ พัดรอง ในงานพิธีต่าง ๆ สมัยรัชกาลที่ 5-6 พระพุทธรูป 
    หินเขียวธรรมจักร สมัยทวารวดี ซึ่งพบที่คูเมือง และหีบอ้อยโบราณ เป็นต้น เปิดทุกวัน เว้นวันจันทร์ 
    และอังคาร เวลา 9.00-16.00 น. บริเวณใกล้กับ พิพิธภัณท์ มีโบสถ์โบราณ ซึ่งก่อสร้างอย่างประหลาด 
    โดยเอารางรถไฟ เป็นแกนกลางข้างล่าง ทั้งตัวโบสถ์ เป็นเครื่องไม้ บานประตูหน้าต่าง แกะสลัก 
    โดยช่างฝีมือเยี่ยมของสิงห์บุรี ...
    
    ...วัดม่วง อยู่ห่างจากตลาดอินทร์บุรี ประมาณ 2.5 กิโลเมตร จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ วิหารเก่าแก่สมัยอยุธยา 
    ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนัง พุทธประวัติ ฝีมือช่างแบบพื้นบ้าน อยู่ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
    ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 สะท้อนให้เห็น สภาพบ้านเรือน และวิถีความเป็นอยู่ ของคนในท้องถิ่น ...
    
    ...อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 
    ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยก เลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร 
    ก็จะถึงอุทยานแม่ลา 
    	


    ...ประเพณีที่น่าสนใจ... จังหวัดสิงห์บุรี มีประเพณีที่ดีงามหลากหลาย และปัจจุบันชาวสิงห์บุรี
    ยังคงสืบทอดมรดกทางประเพณีนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น...
    
    ...ประเพณีกำฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวน ที่บ้านบางน้ำเชี่ยวและบ้านดอนคา อำเภอพรหมบุรี 
    จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาและระลึกถึงเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล 
    ถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ โดยหนุ่มสาวจะช่วยกันตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) และข้าวจี่ ข้าวหลาม 
    ไว้สำหรับ ทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น พิธีจะมีในตอนเย็น ชาวบ้านจะนำข้าวสารเหนียว ไข่ น้ำตาล 
    ไปเข้ามงคล ในพิธีเจริญพุทธมนต์ กลางคืนจะมีมหรสพแสดงกันเป็นที่สนุกสนาน ตกดึกจะพากันนึ่งข้าวเหนียว 
    ทำขนม ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันกำฟ้า ชาวบ้านก็จะนำไทยทานและอาหารที่เตรียมไว้ไปร่วมทำบุญที่วัด 
    เมื่อพ้นกำฟ้า 7 วันแล้ว จะต้องกำฟ้าอีกครึ่งวัน และนับต่อไปอีก 5 วัน จะมีการจัดอาหารถวายพระ 
    เสร็จแล้วนำไฟดุ้นหนึ่งไปทำพิธีเลียแล้ง โดยการนำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง 
    ถือเป็นการบูชาและระลึกถึงเทพเจ้า เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้า ...
    
    ...ประเพณีตีข้าวบิณฑ์ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ทำกันอยู่แห่งเดียวที่หมู่บ้านจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี 
    นิยมทำในช่วง วันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดกันทำพิธีโดยการนำข้าวเหนียว 
    หรือข้าวเหนียวแดงมาหุง หรือนึ่งพอสุกนำมาใส่ใบตอง พับเป็นรูปกรวย นำไปถวายถวาย หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ 
    วัดพระนอนจักรสีห์ ด้วยการนำพานใส่กรวยข้าวเหนียวที่เตรียมวางไว้ ด้านหน้าองค์พระนอนเพื่อทำพิธีถวายข้าวเหนียว 
    เมื่อเห็นว่าเวลาผ่านไปพอสมควรจะทำพิธีลาข้าว ทุกคนจะตรงไปที่พานข้าวของตน แบ่งข้าวเหนียวในกรวยใส่กระทง 
    แล้วนำไปวางไว้ที่หน้าองค์ พระนอนพอเป็นสังเขป จากนั้นชาวบ้านจะแยกกันนั่งเป็นวงๆ ละ 6-7 คน 
    แบ่งกันรับประทาน ข้าวที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นข้าวบิณฑ์ของหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ ...
    
    ...การแข่งเรือยาวประเพณี การแข่งขันเรือยาวจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี 
    ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ริมเขื่อน หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งมีเรือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดต่างๆ 
    ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นับเป็นงานประเพณี 
    ที่ตื่นเต้นสนุกสนาน และเร้าใจ ประกอบการความสวยงามของเรือแต่ละลำที่ตกแต่งประชันกันอย่างเต็มที่ ...
    
    ...งานวันวีรชนค่ายบางระจัน จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่บริเวณอุทยานค่ายบางระจัน 
    ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน ประกอบไปด้วยพิธีสักการะรูปจำลองพระอาจารย์ธรรมโชติ และวางพวงมาลา 
    สักการะอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน การแสดงละครประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ วีรกรรมวีรชน ค่ายบางระจัน 
    ประกอบแสง สี เสียง และมหรสพ การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ มากมาย ...
    
    	


    ...สินค้าพื้นเมือง... หากคุณผู้อ่านได้มีโอกาสแวะผ่านไปเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี 
    อย่าลืมหาขอฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านกันนะครับ ซึ่งมีทั้งของกินและของใช้มากมาย...
    
    ...เครื่องจักสาน ทำกันมากที่บ้านระนาม ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี ผลิตเครื่องจักสานรูป 
    แบบต่างๆ รวมทั้งของที่ระลึก เช่น ไก่ผักตบชวา กุ้ง กบ ตะกร้า ฝาชี ฯลฯ ลวดลายงดงามและประณีตมาก ...
    
    ...เครื่องประดับมุก ทำกันที่บ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี มีผลงานประณีตศิลป์ตั้งแต่ชิ้นเล็ก 
    เช่น ตะลุ่มมุก กล่องใส่เครื่องประดับ เชี่ยนหมาก กระเป๋า ฯลฯ จนถึงเครื่องเรือน ประดับมุกขนาดใหญ่ 
    ด้วยฝีมือช่างไทยโบราณที่มีฝีมือประณีตและมีความ ชำนาญมาก ...
    
    ...เครื่องปั้น ปั้นหม้อทำกันมากที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี ผลิตหม้อตาลขนาดเล็ก และโถนึ่งข้าว 
    เป็นหัตถกรรมที่ยังใช้เครื่องมือแบบสมัยเก่าที่น่าสนใจมาก ปั้นพระรูปเหมือน มีที่บ้านบางมอญ ใกล้วัดสว่างอารมณ์ 
    ซึ่งสืบทอดฝีมือมา จากบ้านช่างหล่อธนบุรี ...
    
    ...การทำที่นอน ทำกันมากในเขตอำเภอพรหมบุรี เป็นที่นอนที่มีคุณภาพ ยัดด้วยนุ่นใหม่ฝีมือ ประณีต 
    ลวดลายสวยงามเป็นพิเศษ ทำให้มีผู้นิยมมาซื้อหาไปใช้กันมาก ...
    
    ...ซาลาเปาแม่สายใจ ซาลาเปาต้นตำรับสูตรกวางเจา ขึ้นชื่อว่าเนื้อแป้งนุ่ม เก็บ 
    ไว้ได้นานมีจำหน่ายที่ร้านซาลาเปาแม่สายใจ ริมเขื่อนถนนวิไลจิตต์ อำเภอเมือง สิงห์บุรี ...
    
    ...ขนมเปี๊ยะ เป็นของฝากที่มีชื่อเสียงของสิงห์บุรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2479 หอมอร่อย 
    มีหลายรสหลายไส้หลายเจ้าให้เลือกรับประทาน มีจำหน่ายตามร้านค้า และท้องตลาดทั่วไป ...
    
    ...กระยาสารท ทำกันมากที่ตำบลบ้านไร่ อำเภออินทร์บุรี มีรสหวาน กรอบนุ่ม เหมาะสำหรับเป็นของว่าง 
    มีจำหน่ายตามร้านค้าและท้องตลาดทั่วไป ...
    
    ...ปลาช่อนแม่ลา สิงห์บุรีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลาช่อนรสดี รู้จักกันทั่วไปว่า 
    ปลาแม่ลาจากลำการ้องและลำแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี มีจำหน่ายที่ตลาดสดเทศบาล เมืองสิงห์บุรี ...
    
    ...กุนเชียง หมูหยอง เป็นของฝากที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานานไม่แพ้กัน ขึ้นชื่อว่า กรอบ 
    ไม่มันมากจนเลี่ยน หอมอร่อย มีหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ จำหน่ายตามร้านค้า และท้องตลาดทั่วไป ...
    
    ...เนื้อทุบ หมูทุบ เป็นอาหารแห้งที่ได้รับความนิยมมาก สามารถเก็บไว้ได้นาน 
    มีจำหน่ายตามร้านค้าและท้องตลาดทั่วไป ...
    	
    	


    ...เรื่องราวสาระดีๆ ของจังหวัดสิงห์บุรี ก็คงมาถึงย่อหน้าสุดท้าย 
    คุณผู้อ่านสามารถค้นหาข้อมูลจังหวัดและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดสิงห์บุรี
    ได้จากเว็บไซด์ http://www.oocities.org/citythai2 หรือ 
    http://www.oocities.org/thai76thai/16.html 
    และแหล่งรวมรูปภาพจังหวัดสิงห์บุรีได้ที่ http://www.oocities.org/citythai2/page_01.htm
    หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ รหัสทางไกล 036 ศาลากลางจังหวัด 511611  
    สถานีขนส่งจังหวัด 511549  สถานีตำรวจอำเภอเมือง 511213  
    สำหรับการเดินทางด้วยรถปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 
    บริษัท ส.วิริยะทรานสปอร์ต จำกัด โทร. 272-5374 
    หรือ สำนักงานสิงห์บุรี โทร.(034) 511-259 
    
    …..สวัสดี…..
    
    	
โดยคุณ : โก๋ [วันพุธที่ 21 มีนาคม 2544 - 21:43:21 น.]

กลับหน้าหลักครับ back to memu