หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l มงคลชีวิต ๓๘ ประการ
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์

 

 

ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์

แสดงธรรม โดย พระราชนิโรธรังสี

(เทสก์ เทสรังสี)


วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่

จังหวัดหนองคาย


---------------------------

 

ขันธ์ ๕

เมื่อได้อธิบายธาตุ ๔ มาพอสมควรแล้ว ต่อจากนี้ไปจะได้อธิบายขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นของเกี่ยวเนื่องกันมา ธาตุ ๔ เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ มิได้เกี่ยวเนื่องด้วยใจ คนเราถ้ามีธาตุ ๔ ล้วนๆ ไม่มีใจแล้ว ก็ไร้ค่าหาประโยชน์มิได้ หรือจะพูดให้สั้นๆ ที่เรียกว่าคนตายนั่นเอง

ขันธ์คือกองแห่งธรรม ในตัวของคนเรานี้ ท่านจัดกองแห่งธรรมไว้ ๕ ดวง กองรูปได้แก่ธาตุ ๔ ดังอธิบายมาแล้ว เรียกว่ารูปขันธ์ อีก ๔ กองเรียกว่านามขันธ์ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ อายตนภายใน ๖ มีตาเป็นต้น ประสบกับอายตนะภายนอก ๖ มีรูปเป็นต้น แล้วเกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง หรือโสมนัส โทมนัส อุเบกขาเฉยๆ เรียกว่าเวทนาขันธ์ฯ

 

อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ประสบกันเข้าแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาดังอธิบายมาแล้วข้างต้น แล้วจำได้หมายรู้ในอารมณ์นั้นๆ แม้จะนานแสนนานทั้งที่เป็นอดีตแลอนาคตหรือปัจจุบัน เรียกว่าสัญญาขันธ์ฯ จิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากอายตนะทั้งสองนั้นประสบกันก็ดี หรือเกิดลอยๆ ขึ้นมาแล้วคิดนึกฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปต่างๆ นานา จนหาที่จบลงไม่ได้ เรียกว่าสังขารขันธ์ หมายถึงสังขารจิตโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นการตรึกตรองในเรื่องนั้นๆ จนเห็นถ่องแท้ชัดเจนหมดกังขาด้วยปัญญาอันชอบแล้ว เรียกว่า "ธัมมวิจย" มิได้เรียกสังขารขันธ์ฯ วิญญาณมีมากอย่าง

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทเป็นวิญญาณนำเอาขันธ์ทั้ง ๕ มาปฏิสนธิ คือวิญญาณตัวนั้นต้องมีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมมูลมาในตัว จึงจะมาอุบัติในภูมิขันธ์ ๕ ได้ ถ้ามี ๔ ก็ไปอุบัติในภูมิขันธ์ ๔ คือมีแต่นามไม่มีรูป ความจริงรูปท่านก็เรียกรูปจิตเหมือนกัน แต่เป็นรูปละเอียดพ้นเสียจากรูปขันธ์ที่อธิบายมาแล้วข้างต้น ถ้ามีหนึ่งคือมีแต่เฉพาะวิญญาณตัวเดียว ก็ไปอุบัติใน "เอกโอปปาติก" ที่เรียกว่าพรหมลูกฟัก คือมีแต่รูปจิตอย่างเดียวนั้นเองฯ

วิญญาณทำหน้าที่ในอายตนะได้แก่ ความรู้สึกในชั้นแรกของอายตนะทั้งสองประสบกัน แต่ไม่ถึงกับจำอารมณ์หรือเสวยอารมณ์นั้นๆ การจำอารมณ์เป็นหน้าที่ของสัญญา การเสวยอารมณ์เป็นหน้าที่ของเวทนา วิญญาณชนิดนี้จะเรียกว่าวิญญาณธาตุก็ได้ฯ ส่วนวิญญาณในขันธ์ ๕ เป็นวิญญาณนามบัญญัติล้วนๆ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆ เหมือนกับขันธ์อื่นๆ ขันธ์ ๕ ก็เหมือนกันกับธาตุ คือไม่ใช่ตัวกิเลสแลไม่ได้ทำให้ใครเกิดกิเลส แต่ท่านจัดเป็นประเภทแห่งรูปธรรม-นามธรรม เป็นกองๆ ไว้เพื่อให้รู้ว่านั่นรูปนั่นนามเท่านั้น

กิเลสเกิดขึ้นเพราะผู้มาหลงสมมติแล้วเข้าไปยึดเอาขันธ์ว่าเป็นตัวของตนหรือตนเป็นขันธ์บ้างต่างหาก เมื่อจะพูดให้เข้าใจง่ายแล้ว ความที่เข้าใจผิดหลงไปยึดเอาขันธ์ ๕ ว่าเป็นของตน ของตัว หรือเห็นว่าตัวของตนเป็นขันธ์ ๕ บ้าง มิฉะนั้น ก็เห็นว่าขันธ์ ๕ นอกออกไปจากคนหรือคนนอกไปจากขันธ์ ๕ บ้าง ความเห็นอย่างนั้นแล จึงทำให้เข้าไปยึดถือจนเกิดกิเลสขึ้นเป็นทุกข์

ในเมื่อขันธ์เหล่านั้นเป็นไปตามปรารถนาแล้วก็ชอบใจเพลิดเพลินหลงระเริงลืมตัวมัวเมาประมาทจนเป็นเหตุให้ประกอบบาปกรรมความชั่วด้วยประการต่างๆ หากขันธ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามปรารถนาก็ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์โทมนัสด้วยประการต่างๆ ไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริงของขันธ์นั้นๆ ซึ่งมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่อย่างนั้น

ธรรมที่พระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรเมื่อท่านยังเป็นนักบวชนอกพระศาสนา ครั้งพบกันที่แรกว่า ธรรมของพระสมณะโคดมทรงแสดงว่า
"ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ เมื่อเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับไป" ดังนี้ รูปขันธ์เกิดจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นแจ้งชัดด้วยตนเองแล้วว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นเหตุแห่งรูป วิชชาเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว อวิชชาก็ดับไป ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ที่มีอยู่แล้วก็กลายเป็นวิบากไป ที่จะเกิดใหม่อีกก็ไม่มี กิเลสแลทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะความหลงในขันธ์แล้วเข้าไปยึดเอาขันธ์อัตตา ดังแสดงมาแล้ว

ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า

ภารหเว ปญฺจักขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระจริง
ภาราหาโร จ ปุคคโล แต่บุคคลก็ยังถือภาระไว้
ภาราทานํ ทุกขํ โลเก การเข้าไปยึดถือเอาภาระไว้ เป็นทุกข์ในโลก
ภารนิกเขปนํ สุขํ การปล่อยวางภาระเสีย เป็นความสุข
นิกขิปิตวา ครุ ภารํ บุคคลปล่อยวางภาระเสียได้แล้ว
อญฺญํ ภารํ อนาทิย ไม่เข้าไปถือเอาสิ่งอื่นเป็นภาระอีก
สมูลํ ตณหํ อพฺพุยห เป็นผู้รื้อถอนตัณหากับทั้งรากได้แล้ว
นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ติฯ เป็นผู้หมดความอยากแล้วปรินิพพาน ดังนี้ฯ


ในพุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ เมื่อผู้ใดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความสุขแล้วหลงเข้าไปยึดไว้ ผู้นั้นจะได้รับความทุกข์เดือดร้อนอย่างยิ่ง เปรียบเหมือนผู้เห็นเปลวความร้อนของก้อนเหล็กแดงว่าเป็นของสวยงาม หลงชอบใจเข้าไปกอดเอาด้วยความรัก ความร้อนของก้อนเหล็กแดงนั้นจะมิได้ผ่อนความร้อนแล้วย่อมรับด้วยความปราณีเลย

ความร้อนของมันมีอยู่เท่าไรมันก็จะแผดเผาเอาผู้นั้นให้ไหม้เป็นเถ้าผงไปตามเคยฉะนั้น สมกับพุทธพจน์ว่า "สังขารา ปรมา ทุกขา - สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง"

หากจะมีคำถามว่า เป็นทุกข์เพราะอะไร? ก็ต้องตอบว่า เป็นทุกข์เพราะความหิว ความไม่รู้จักพอ ความหิว ความไม่รู้จักพอไม่ว่าจะเป็นส่วนร่างกายหรือจิตใจ เป็นทุกข์ทั้งนั้น เมื่อความอิ่มความพอของจิตใจเกิดขึ้นมาแล้ว ความสงบสุขของใจก็จะเกิดขึ้นมาทันที แล้วจะมองเห็นความเกิดดับของขันธ์ตามความเป็นจริงดังอุปมา

รูปขันธ์ "เปรียบเหมือนฟองน้ำอันเกิดจากคลื่นหรือระลอก เป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาชั่วครู่หนึ่งประเดี๋ยวแล้วก็ดับแตกไปเป็นน้ำตามเดิม" รูปกายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แปรสภาพเป็นรูปมนุษย์ชายหญิงหรือเป็นสัตว์ต่างๆ นานา มาจากธาตุ ๔ อยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งซึ่งคนเราเข้าใจว่านาน แต่สัตว์บางจำพวกซึ่งมีอายุนานกว่า เขาจะเห็นว่าชั่วครู่เดียวแล้วก็แตกดับสลายไปเป็นธาตุ ๔ ตามเดิมฯ

เวทนา "เปรียบเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ลูกคลื่นเหมือนกับเป็นตัวตนกลิ้งมากระทบกับฝั่งดังซู่ซ่าแล้วสลายหายตัวไปเป็นน้ำตามเดิม" เวทนาก็เกิดจากสัมผัส แล้วมีความรู้สึกเปรียบเหมือนเสียงคลื่นเป็นสุขบ้างทุกข์บ้างหรือเฉยๆ แล้วก็หายไป เดี๋ยวสัมผัสอื่นมากระทบอีก ดังนี้อยู่ตลอดกาลฯ

สัญญา "เปรียบเหมือนพยับแดด ธรรมดาพยับแดดอันเกิดจากไอระเหยของความร้อน เมื่อบุคคลเพ่งมองดูอยูแต่ที่ไกลจะแลเห็นเป็นตัวระยิบระยับเป็นกลุ่มเป็นหมู่ๆ เมื่อเข้าไปถึงใกล้แล้ว สิ่งที่เห็นอยู่นั้นก็จะหายไป" ฉันใด สัญญาความจำที่เกิดจากสัมผัสในอายตนะทั้ง ๖ ก็ผลุบๆ โผล่ๆ เกิดทางตาบ้าง ทางหูบ้าง โน่นบ้าง นี่บ้างอยู่ตลอดกาล ไม่เป็นของตัวเองเลยก็ฉันนั้นฯ

สังขาร "เปรียบเหมือนต้นกล้วย ธรรมชาติของต้นกล้วยย่อมไม่มีแก่นเป็นธรรมดา" สังขารรูปกายของคนเรานี้ก็หาสาระมิได้ เริ่มเกิดขึ้นมาก็มีสภาวะแปรสภาพไปพร้อมๆ กันเลย จะอยู่ได้นานแสนนาน สภาพความแปรปรวนของสังขารก็เปลี่ยนแปลงไปตามทุกขณะอยู่อย่างนั้น แล้วก็มีความแตกดับเป็นที่สุด แม้แต่สังขารจิตคิดนึกปรุงแต่งเอาจริงเอาจังกันประเดี๋ยวๆ ก็หายวูบไป ฉะนั้นเหมือนกันฯ

วิญญาณ "เปรียบเหมือนมายา ธรรมดาเรื่องของมายาแล้ว มีแต่จะหลอกลวงผู้อื่นให้เข้าใจผิดคิดตามไม่ทันในเรื่องของตัวเท่านั้น" วิญญาณก็มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้อื่นตามไม่ทัน พอตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกขึ้น เมื่อจะตามไปดูความรู้สึกนั้นยังไม่ทันอะไร เดี๋ยวไปเกิดความรู้สึกขึ้นทางหู เมื่อจะตามไปดูความรู้สึกทางหูนั้น ยังไม่ทันอะไร เดี๋ยวไปเกิดความรู้สึกขึ้นทางอื่นต่อๆ ไปอีกแล้ว มีแต่จะหลอกลวงให้คนอื่นตามไม่ทันฉันนั้นเหมือนกันฯ

ผู้มาพิจารณาเห็นขันธ์มีอุปมาดังแสดงมาแล้วนี้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันชอบด้วยตนเองแล้ว จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาขันธ์มาเป็นอัตตาหรืออนัตตา แต่จะหยิบยกเอาขันธ์เป็นเป้าหมายแห่งญาณทัสสนะของปัญญาวิปัสสนา การใช้ปัญญาแยบคายไม่เข้าไปยึดเอาของมีอยู่แลเนื่องด้วยอัตตา จัดเป็นปัญญาในอริยมรรค เพราะของที่ไม่มีและไม่เนื่องด้วยอัตตาสามัญญนาม ใครๆก็ละได้ หรือจะเรียกว่าผู้ไปยึดของไม่มีเป็นผู้ไร้ปัญญาก็ได้

คำสอนของพระพุทธองค์เป็นคำสอนยุทธวิธีเพื่อผจญกับกิเลสข้าศึกความชั่ว ซึ่งมันฝังอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลมานานแล้ว ฉะนั้น ขันธ์ ๕ คือตัวของคนเราแต่ละคน จึงเท่ากับสนามยุทธ แต่ยุทธวิธีของพระองค์ การแพ้คือการเข้าไปยึดถือ การชนะคือการปล่อยวางให้มันเป็นไปตามสภาพเดิมของมัน ไม่เหมือนการแพ้แลการชนะของผู้ยังมีกิเลสอยู่

ความเป็นจริงการชนะของทุกๆ อย่างไม่ว่าชนะภายนอกและภายใน ในโลกนี้หรือในโลกไหนๆ ก็ตาม ถ้าจะว่าการชนะที่บริสุทธิ์แลแท้จริงแล้วก็คือคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอิสระเต็มที่ หากจะยังมีการคิดเพื่อจะต่อสู้กันอีกหรือเข้าไปยึดอำนาจควบคุมยึดถือกันอยู่แล้ว ชนะนั้นไม่ชื่อว่าเป็นการชนะที่บริสุทธิ์แลเป็นธรรมเลย วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องมีการแพ้อีกเป็นแน่ หรืออย่างนั้นก็ก่อเวรก่อกรรมซึ่งกันและกัน

พระพุทธองค์ทรงเห็นทุกข์คือตัวข้าศึกมีชาติเป็นต้น ก็เห็นอยู่ในขันธ์นี้เอง แล้วทรงใช้ยุทธวิธีด้วยปัญญาอันชอบจนเอาชนะข้าศึกก็ในขันธ์อันนี้ แต่แล้วข้าศึกก็มิได้ล้มตายฉิบหายไปไหน ข้าศึกคือขันธ์ก็ยังเป็นขันธ์ปกติอยู่เช่นเดิม ปัญญาวุธที่พระองค์นำมาใช้เป็นของกายสิทธิ์ ประหารข้าศึกจนพ่ายแพ้ไปได้ แต่หาได้ทำให้ข้าศึกเจ็บปวดแม้แต่แผลเท่าเมล็ดงาก็หาได้ปรากฏไม่

เรื่องนี้มีอุทาหรณ์รับสมอ้างดังปรากฏในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรอยู่แล้ว หากจะมีปัญหาถามว่า ข้าศึกที่แพ้แก่พระองค์แล้วจะไปตั้งทัพอยู่ ณ ที่ไหน ตอบว่าเมื่อแพ้แก่พระองค์แล้วก็ต้องเป็นบ่าวรับใช้ของพระองค์ต่อไป ผู้ที่เอาชนะมันไม่ได้เท่านั้นจึงยอมเป็นทาสของมันต่อไป ฉะนั้น ขันธ์ที่ยังไม่มีใครเอาชนะได้จึงยังมีอิสระครอบโลกทั้งสามอยู่

อายตนะ

อายตนะแปลว่า บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์อะไร อธิบายว่า สื่อสัมพันธ์ของอายตนะทั้งสองแล้วเกิดอารมณ์ขึ้น บ่อน้ำก็คือสายของน้ำที่ออกมาจากใต้ดิน แล้วไหลเนื่องติดต่อกันกับน้ำที่อยู่ข้างนอกไม่ขาดสายนั้นเอง อายตนะมีตาเป็นต้น เมื่อสัมผัสกับรูปแล้ว ก็ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงประสาทเข้ามาหาใจ แล้วใจก็รับเอามาเป็นอารมณ์ ถ้าดีก็ชอบใจ สนุก เพลิดเพลิน หรรษา ถ้าไม่ดีก็ไม่ชอบใจ คับแค้นเป็นทุกข์โทมนัสต่อไป

เมื่อตายังไม่หลับ อายตนะอื่นๆ มีหูเป็นต้น ก็มีนัยเช่นเดียวกัน ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้นตอนว่าด้วยอายตน ๖ ฉะนั้นในที่นี้จึงจะไม่อธิบายอีก แต่จะอธิบายเฉพาะยุทธวิธีสำหรับต่อสู้กับข้าศึก (คืออารมณ์หรือกิเลส) ที่มันจะรุกรบเข้ามาทางทวาร ๖ ต่อไป เพื่อให้เชื่อมกับขันธ์ ๕ อันอุปมาเทียบเหมือน "สนามยุทธ" ดังได้พูดค้างไว้ ที่พูดค้างไว้นั้นได้พูดเฉพาะแต่สนามยุทธเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงเชิงยุทธวิธีเลย ฉะนั้นต่อไปนี้จะได้แสดงยุทธวิธีอันจะมีขึ้นในสมรภูมินั้นต่อไป ใครจะแพ้ ใครจะชนะ ขอท่านผู้อ่านจงติดตามดูลวดลายของคู่ต่อสู้ต่อไป

อายตนะ ๖ ได้แต่ ตา ที่เห็นวัตถุรูป ๑ หู ที่เสียงดังมากระทบ ๑ จมูก ที่สูบกลิ่นสารพัดทั้งปวง ๑ ลิ้น ที่รับรสทุกๆ อย่างที่มาปรากฏสัมผัส ๑ กาย ที่ถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอันจะรู้ได้ทางกาย ๑ ใจ ความรู้สึกนึกคิดในอารมณ์นั้นๆ ๑

อายตนะทั้ง ๖ นี้ย่อมรับทำหน้าที่แต่ละแผนกๆ ไม่ปะปนกัน เช่นตารับทำหน้าที่แต่เฉพาะไว้ดูรูปเท่านั้น ตกลงว่าบรรดารูปทั้งหลายแล้ว จะเป็นรูปชนิดใดอย่างไร หยาบละเอียด แม้แต่รูปอสุภะอันแสนน่าเกลียดก็มอบภาระให้ตาดูไป ให้หูดูแทนไม่ได้เด็ดขาด เป็นต้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่นั้นๆ

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงอายตนะภายใน ๖ แล้ว จึงจำต้องพูดคู่ของอายตนะภายในไปพร้อมๆ กันจึงจะเห็นประโยชน์ของอายตนะ ๖ ที่ว่ามานั้นเป็นของอยู่ในตัวของเราท่านจึงเรียกว่าอายตนะภายใน สิ่งที่เป็นคู่กับอายตะภายในเช่นรูปเป็นคู่กับตาเป็นต้น ท่านเรียกว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายนอกก็มี ๖ เหมือนกัน อายตนะภายตัวไม่มีคู่เช่นมีแต่ตาอย่างเดียวไม่มีรูปให้เห็นก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลย หรือมีแต่รูปอย่างเดียวไม่มีตาดูก็จะมีประโยชน์อันใด แต่เมื่อเห็นรูปแล้วย่อมมีทั้งคุณแลโทษเหมือนๆ กับผู้รับผิดชอบการงานในหน้าที่นั้นๆ จะต้องรับผิดชอบทั้งดีแลไม่ดี อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกันเข้านี่แหละที่ทำให้เกิดคุณแลโทษก็อยู่ที่ตรงนี้

ฉะนั้น อารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งสองนี้จึงเป็นเหมือนกับมิตรแลศัตรูไปพร้อมๆกัน แต่มิตรไม่เป็นไรเรายอมรับทุกเมื่อ แต่ศัตรูนี้ซิ ตาเกลียดนักจึงคอยตั้งป้อมต่อสู้มัน

อายตนะทั้ง ๖

เมื่อใครได้มาเป็นสมบัติของตนครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่วิกลวิกาลแล้วจึงนับได้ว่าเป็นลาภของผู้นั้นแล้ว เพราะมันเป็นทรัพย์ภายในอันมีคุณค่ามหาศาล ยากที่จะหาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในตลาดได้ ทรัพย์ทั้งหลายภายนอกจะมีมากน้อยสักเท่าไร แลจะดีมีคุณค่าให้สำเร็จประโยชน์ได้ทุกประการก็ตาม หากขาดทรัพย์ภายในเหล่านี้แล้ว ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเท่าไรนัก

อนึ่ง ทรัพย์ภายใน ๖ กองนี้มีแล้วใช้ได้ไม่รู้จักหมดสิ้นตลอดวันตาย เป็นแก้วสารพัดนึกให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกสิ่ง เมื่อโดยมิต้องลงทุนหรือหางจะลงทุนบ้างเล็กน้อยแต่ได้ยลล้นค่า เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ ๖ กองอย่างน่าภาคภูมิใจด้วย

หากใครได้เกิดมาในโลกนี้ไม่ได้สมบัติ ๖ กองนี้ หรือได้แต่ไม่ครบถ้วน ก็เท่ากับเป็นคนอาภัพในโลกนี้เสียแล้ว สมบัติ ๖ กองนี้เป็นของผู้ที่เกิดมาในกามโลก มีขันธ์ ๕ โดยเฉพาะ อารมณ์ ๕ ที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บัญญัติธรรมเรียกว่า "กามคุณ ๕" เพราะผู้ที่ได้ประสบอารมณ์ ๕ นี้แล้วชอบใจ ดีใจ ติดใจ เข้าไปฝังแน่นอยู่ในใจ เห็นเป็นคุณทั้งหมด หากจะเห็นโทษของมันอยู่บ้างบางกรณี แต่ก็ยากนักที่เอาโทษนั้นมาลบล้างคุณของมัน ฉะนั้นเหมาะสมแล้วที่เรียกว่า "กามคุณ"

ปุถุชนผู้เยาว์ปัญญาเมื่อได้ประสบอารมณ์ทั้ง ๕ นั้นแล้วจึงหวานฉ่ำ เหมือนแมลงวันหลงใหลในน้ำผึ้ง ติดทั้งรสทั้งกลิ่น จะบินหนีก็เสียดาย ผลที่สุดคลุกเคล้าเอาตัวไปจมลอยอยู่ในนั้น กามคุณเป็นหลุมฝังของปุถุชนผู้เยาว์ปัญญาโดยความสมัครใจของแต่ละบุคคลโดยแท้ โลกที่มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕

อายตนะ ๖ บริบูรณ์ ท่านเรียกว่า "กามโลก" ทุกๆ คนที่ยังพากันสร้างบารมีอยู่จำจะต้องเวียนว่ายมาเกิดในกามโลกนี้จนได้ เพราะกามโลกสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง จึงทำให้ปุถุชนผู้เยาว์ปัญญาหลงใหลคิดว่าเกิดมาได้รับความสุขพอแล้ว แม้พระพุทธเจ้าหรืออริยเจ้าทั้งหลายก่อนที่ท่านจะได้สำเร็จเป็นพระอริยะ ท่านก็ต้องมาเกิดในกามโลกนี้อันเป็นวิบากผลกรรมของท่านแต่ชาติก่อน

อนึ่ง กามโลกนี้นับว่าเป็นสมรภูมิอย่างดีที่สุดของท่านผู้จะได้เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย มรรคปฏิปทา สมถะ-ฌาน-สมาธิ-สมาบัติ-วิปัสสนา อันเป็นหนทางที่จะให้ถึงเป็นพระอริยเจ้า ก็จำเป็นจะต้องมายืมสถานที่คือกามโลกนี้เป็นที่บำเพ็ญเจริญให้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าจะพูดให้สั้นแล้วเรียกว่า ผู้จะพ้นจากกามโลกได้ ก็ต้องมาเกิดหรือมาศึกษาค้นคว้าในกามโลกนี้ ให้เห็นคุณแลโทษชัดแจ้งด้วยปัญญาแยบคายด้วยตนเองเสียก่อน จึงจะเรียกว่ารู้แจ้งซึ่งโลกแล้วจึงจะหนีจากโลกนี้ได้โดยชอบธรรม ถึงรูปโลกแลอรูปโลกก็เช่นนั้นเหมือนกัน

ฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านั้นเกิดขึ้นมาในกามโลกนี้แล้ว ด้วยบุญญาบารมีที่ท่านได้สะสมมานาน แทนที่ท่านจะหลงเพลิดเพลินมัวเมาในกามทั้งหลายดังปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ท่านเลยเห็นตรงกันข้าม

อายตนะทั้ง ๖ มีไว้ใช้เพื่อให้เกิดความสุขแก่ปุถุชนก็จริงแล แต่ท่านผู้มีบารมีที่ได้บำเพ็ญมาควรที่จะได้ตรัสรู้ท่านเลยเห็นตรงกันข้าม คือเห็นว่าที่แท้นั้นมันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ นำทุกข์มาให ้เช่นตาเห็นรูปสวยแล้วขอบใจอยากได้มาเป็นของตัว ก็เป็นทุกข์เพราะอยากได้


การพยายามที่จะให้ได้มาก็เป็นทุกข์ ได้มาแล้วก็เป็นทุกข์ เพราะจะต้องบริหาร หากรูปนั้นเสื่อมสูญฉิบหายไปโดยธรรมดาของมันอย่างนั้นก็ตาม แต่ใจเราฝ่าฝืนไม่อยากให้มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นทุกข์ เมื่อยังมีการเห็นเช่นนั้นอยู่ ก็เป็นทุกข์ เมื่อระลึกถึงรูปนั้นที่หายไปแล้ว ก็ยังเป็นทุกข์อยู่อีก

อายตนะอื่นๆ นอกนี้มีหูเป็นต้นก็เช่นเดียวกันนี้ เรื่องนี้ พระพุทธองค์ได้เคยประสบการณ์มาด้วยพระองค์เองแล้วจนเห็นโทษ แล้วทรงสละทุกสิ่งทุกอย่างออกบวชบำเพ็ญทางใจ (คือต่อสู้กับอารมณ์) จนได้สำเร็จพระโพธิญาณ พระองค์จึงนำเอาประสบการณ์แลหลักยุทธวิธีที่พระองค์ทรงใช้ได้ผลแล้วนั้นนำมาสั่งสอนแก่เหล่าศาสนิกชนต่อมา

หลักคำสอนของพระพุทธองค์ตั้งแต่อนุปุพพิกถา มีทาน ศีล เป็นต้น ล้วนแต่เป็นหลักยุทธวิธีทั้งนั้น แต่เป็นยุทธวิธีเป็นขั้นๆ ไป ต่อสู้กับอะไร? ท่านต่อสู้กับความตระหนี่ เห็นแก่ตัว บางทีใจเป็นบุญกุศลอยากทำทานอยู่ แต่อีกใจหนึ่งคิดห่วงหน้าห่วงหลัง กลัวจะขาดแคลน หรือไม่เมื่อให้ท่านไปแล้วกลัวทรัพย์ที่มีอยู่จะไม่ครบจำนวน ดังนี้เป็นต้นฯ

ศีล ก็ต่อสู้กับเสียดาย ความสุขสนุกเพลิดเพลินอันเป็นโลกียะที่เคยได้ประสบมาแล้วแลเห็นแก่ตัวเหมือนกันฯ เมื่อผู้มาต่อสู้ทั้งสองทัพนี้จนพ่ายแพ้ไปได้แล้ว จะเห็นกิเลสเหล่านั้นเป็นของน้อยนิดเดียว ไม่มีกำลังอ้นน่ากลัวเลย แล้วจะเห็นความสุขอันยิ่งใหญ่ในชัยชนะนั้น จนจิตใจกล้าหาญ มีความร่าเริงอิ่มใจเป็นอย่างยิ่งฯ เรียกว่า อ นิสังสกถา ฯ

คำสอนของพระองค์ยังสอนไว้ว่า ชนะขั้นนี้ยังไม่เป็นการชนะอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการชนะข้าศึกภายนอกมันยังอาจกลับกลอกได้ เพราะใจมันยังไปยินดีติดกับด้วยความสุขในกามคุณ ๕ คือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ อันเป็นอานิสงส์ของ ทาน ศีล เท่านั้นฯ กามคุณ ๕ เป็นความสุขที่เจือไปด้วยทุกข์ สำหรับหลอกลวงบุคคลผู้มีปัญญาเยาว์ให้หลงติดอยู่ เหมือนกับปลากำลังหิวอาหารหลงเข้าไปฮุบเอาเหยื่อที่เขาหุ้มเบ็ดไว้ฉะนั้น แล้วท่านสอนให้ต่อสู้กับความหลงผิดติดสุขในกาม อย่าเห็นแก่ความหิวในเหยื่อเท่านั้น โทษจะถึงความตายในภายหลัง เรียกว่า "กามทีนพโทษ"ฯ

เมื่อผู้มาพิจารณาเห็นโทษในกามคุณ ๕ ว่าเป็นเหมือนกับยาเสพติดคิดเบื่อหน่ายคลายสละได้ ใจพ้นจากอามิส เป็นอิสระสุขอยู่แต่ผู้เดียว เรียกว่า เนกขัมกถาฯ แต่ยุทธวิธีตอนว่าด้วยอายตนะซึ่งจะอธิบายต่อไปนั้น เป็นยุทธวิธีอย่างละเอียด ต้องต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายกันจริงๆ และสามารถให้ก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณทัสสนะได้ฯ

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เป็นที่น่าอัศจรรย์ไหม พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในกามภพ เป็นอยู่ในกามภูมิ แวดล้อมแล้วด้วยกามคุณ ๕ ยั่วยวนแล้วด้วยกามกิเลสเหมือนๆ กับปุถุชนคนเราทั้งหลาย แต่พระองค์เห็นโทษแล้วในกามทั้งหลาย จึงทรงแสดงหาอุบายหนีเอาตนรอดจนเป็นยอดของบุคคลผู้เป็นอิสระทั้งหลาย โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์แต่รู้แจ้งด้วยพระองค์เอง ฉะนั้น

พระอานนท์เถระจึงชมเชยพระองค์ว่า เป็นที่น่าอัศจรรย์หนอ "พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ในโอกาส" อธิบายว่า พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในกามภพ แต่ไม่หลงติดอยู่ในกามภพ ถึงจะแวดล้อมไปด้วยกามคุณ ๕ แต่พระองค์ก็มิได้หลงใหลไปด้วย ถึงจะอุบัติอยู่ในกามภูมิแต่พระองค์ก็มิได้จมอยู่ในภูมินั้น รู้เท่าเข้าใจเห็นแจ้งชัดจริงทั้งคุณแลโทษพร้อมทั้งอุบายหนีให้พ้นจากมันเสียจนได้ ด้วยใจด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของพระองค์เอง

อายตนะทั้ง ๖ ถึงแม้จะเป็นบ่อเกิดกองบุญของผู้ที่ยังปรารถนากามภพอยู่ก็จริงแล แต่ผู้ที่เห็นโทษในกามภพแล้ว ผลของบุญหรืออานิสงส์ของบุญนั้นมันกลับเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจของผู้ต้องการพ้นจากกามไป เปรียบเหมือนสมบัติทั้งหลายย่อมเป็นที่ปรารถนาแต่เฉพาะผู้ต้องการเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแล้วแม้จะถูกคนบางคนหาว่าเป็นบ้าก็ตาม เขาผู้นั้นก็ยอมสละเพื่อเนกขัมมะ

ฉะนั้น อายตนะทั้ง ๖ มีตาเป็นต้นมิใช่จะเป็นบ่อเกิดแต่กิเลสอันเป็นของหยาบๆ เท่านั้น ผลบุญกุศลที่เกิดจากอายตนะทั้ง ๖ ก็จัดเป็นกิเลสของผู้เห็นโทษในกามภพด้วย เช่นผู้ออกบวชก็เห็นโทษในกามตามนามบัญญัติว่า เนกฺขมฺม อยู่แล้ว สรุปแล้วสัพพกิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ณ ทวารทั้ง ๖ นี้ทั้งนั้น ในอาทิตตปริยายสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ชฏิลสามพี่น้องพร้อมทั้งบริวาร ผู้บูชาไฟเพื่อปรารถนาในกามสุขว่า "อายตนะทั้ง ๖ มีตาเป็นต้น เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ โมหะ"

ท่านผู้อ่านบางคนอาจสงสัยว่า ถ้าอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้นเป็นของร้อนแล้ว ไฉนมนุษย์คนเราทั้งหลายจึงเป็นคนอยู่ได้ ทำไมไฟคือกิเลสราคะเป็นต้นจึงไม่ไหม้ตายหมด พูดดูเหมือนอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้น จะไม่มีประโยชน์ให้คุณเสียเลย หากมีผู้คิดเห็นไปเช่นนั้นก็เป็นที่น่าเห็นใจเหมือนกัน ปลาเกิดในน้ำจืดจะไปอยู่ในน้ำเค็มย่อมไม่ได้ สัตว์บางชนิดเกิดในน้ำร้อนแต่มันก็อยู่ได้ไม่ตาย หนอนเกิดในที่สกปรกแลเหม็นคลุ้งมันก็เพลินสนุกอยู่ได้ไม่เห็นมีอะไรแปลก ไฟมิใช่จะให้แต่โทษอย่างเดียว คุณของไฟก็มีมาก คุณแลโทษเป็นแต่บทรำพันแต่ละทัศนะของแต่ละบุคคลเท่านั้น

อายตนะ ๖ มีตาเป็นต้น ผู้เกิดมามีไม่ครบบริบูรณ์ ทางพระศาสนาถือว่าเป็นกรรมเก่าของผู้นั้น คนพิการแม้จะบวชในพระศาสนาพระวินัยบัญญัติก็ห้าม สมจริงตามนั้น โลกอันนี้จะเป็นที่น่าอยู่น่าชมสนุกสนานก็เพราะมีอายตนะทั้ง ๖ นี้เอง หากขาดอายตนะอันใดอันหนึ่งไปเสียแล้ว ก็เรียกได้ว่าความสุขในโลกนี้ไม่สมบูรณ์ นี่ก็แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า อายตนะทั้ง ๖ แต่ละอย่างมีความสำคัญแลคุณประโยชน์มากแก่ความเป็นอยู่ของผู้เกิดมาสักเพียงไร

เกจิอาจารย์บางท่านยังแสดงอายตนะทั้ง ๖ เทียบกับสวรรค์ ๖ ชั้นอีกด้วย พอสมจริงดังท่านว่าอีกเหมือนกัน เพราะท่านพูดต้นเหตุ อายตนะทั้ง ๖ เป็นบ่อเกิดของกามาพจรกุศลทั้งหลาย หรือผู้มีอายตนะทั้ง ๖ แล้วก็เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ

ฉะนั้น ที่ท่านแสดงไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า อายตนะเป็นของร้อนนั้น ท่านหมายเอาอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้น สัมผัสกับรูปแล้ว วิญญาณอาศัยของสองอย่างนั้นเกิดขึ้น ว่าเป็นของร้อน แล้วพระองค์แจงออกไปว่าร้อนเพราะอะไร? ร้อนเพราะมีเชื้อเดิมอยู่แล้วในตานั้นที่ไปเห็นรูป ๓ อย่างได้แต่ ราคะความกำหนัดย้อมใจ ๑ โทสะความโกรธขึ้งเคียด ๑ โมหะความหลงไม่รู้เท่าเข้าใจในเหตุผลของสิ่งนั้นๆ ๑ ของสามอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดความร้อน

 

 

อ่านต่อหน้า ๓>>>>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : webmaster@yahoo.com