หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ

 

 

 

 

จิตตสังเขป

 


โดย

 

 

อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์

 

 

 



สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒

(๑๘๐) เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร

(๑๘๑) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าโลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ จิต

แสดงให้เห็นความสำคัญของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้

สภาพรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

ซึ่งไม่เพียงแต่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น แต่ยังคิดนึกวิจิตรต่าง ๆ นานา

 


ฉะนั้น โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคน จิตของบางคนก็สะสมกุศลไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ซึ่งเป็นผู้ที่มากไปด้วยอกุศลธรรม จิตของบุคคลซึ่งสะสมกุศลไว้มากนั้นก็ยังเกิดเมตตา หรือกรุณา หรืออุเบกขาได้ ในขณะที่โลกของคนอื่นเป็นโลกของความชิงชัง ความไม่แช่มชื่น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ฉะนั้น แต่ละคนจึงเป็นโลกของตัวเองแตะละโลก ทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง

ดูเหมือนว่าเราทุกคนอยู่ร่วมโลกเดียวกัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความสำคัญแต่อย่างใด แต่เพราะจิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคน

โลกไหนจะดี โลกที่สะสมกุศลมากๆ พร้อมที่จะเกิดเมตตา กรุณามุทิตา อุเบกขา หรือโลกที่ชิงชัง โกรธแค้น ขุ่นเคือง ซึ่งแม้ว่าจะเห็นบุคคลเดียวกัน รู้เรื่องบุคคลเดียวกัน แต่โลกของแต่ละคนจะเมตตาหรือชิงชัง ก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคน ซึ่งสะสมมาต่างๆ กัน

สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้ดูเหมือนว่า มีผู้คนอยู่ร่วมกันในโลกนี้มากมายตามกาละและเทศะ แต่ถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น จะรู้ได้ว่าชั่วขณะนั้นเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็น ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ เพราะขณะนั้นเพียงเห็น ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่าง สัณฐาน และเรื่องราวใดๆ ของสิ่งที่เห็น

ฉะนั้นจึงควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะที่คิดว่าเป็นโลก เป็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นชั่วขณะที่จิตคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ขณะที่กำลังเห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏ แต่ละคนก็มีจิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวๆ สืบต่อกันไปทีละขณะ จนปรากฏเหมือนกับว่าเป็นโลกที่กว้างใหญ่ มีผู้คนและสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ที่จะเข้าใจโลกได้จริงๆ นั้น ต้องรู้ว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงแต่ละขณะจิตเท่านั้น แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ปรากฏเป็นโลกที่เสมือนไม่แตกสลาย เป็นโลกซึ่งปรากฏเสมือนยั่งยืน มีสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งของมากมาย แต่ตามความเป็นจริงนั้น โลกขณะหนึ่งๆ ก็คือ การเกิดขึ้นของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียงชั่วขณะเดียว แล้วก็ดับไป

ในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ ข้อ ๓๑๙ มีข้อความว่า ชื่อว่า "ใจ" ในคำว่า คิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ ความว่าใจ คือจิตใจ ใจ มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณ ธาตุที่เกิดแต่ผัสสะ เป็นต้นนั้น

พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะหลายคำ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของจิต ซึ่งทุกคนมี แต่เพราะจิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ จึงยากที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะที่เป็นเพียงธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ทุกคนคงจะเข้าใจความหมายบางประการของจิตที่ว่า "ใจ" ซึ่งทุกคนมี แต่ก็เพียงแต่รู้ว่ามี ซึ่งเมื่อไม่พิจารณาก็ย่อมไม่ทราบว่าเมื่อไร และขณะไหนเป็นจิต
ในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายจิตตนิทเทส มีข้อความว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร

ธาตุรู้มีมากไม่ใช่อย่างเดียวเลย จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร ความวิจิตรของจิตปรากฏเมื่อคิดนึกเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ว่าใครจะทำอะไรในวันหนึ่งๆ นั้น เมื่อพิจารณาแล้ว ย่อมรู้ว่าเป็นไปตามความวิจิตรของจิตทั้งสิ้น

วันนี้ทำอะไรมาบ้างแล้ว และต่อไปเย็นนี้ พรุ่งนี้จะทำอะไร ถ้าไม่มีจิตก็ทำไม่ได้ เหตุที่ทุกคนมีการกระทำในวันหนึ่งๆ ต่างๆ กันตามวิถีชีวิตของแต่ละคนนั้น จะเห็นได้ว่า การกระทำทั้งหมดย่อมเป็นไปตามความวิจิตรของจิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทั้งทางกาย ทางวาจาต่างๆ กันในชีวิตประจำวัน

จิตเป็นธรรมชาติที่คิด ซึ่งคิดมากเหลือเกิน แต่ละคนก็คิดต่างๆ กันไป ในบรรดาผู้ที่สนใจศึกษาธรรมก็พิจารณาธรรมต่างๆ กัน ความคิดเห็นในขั้นของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ต่างกัน และแม้แต่ในเรื่องของโลก ความเป็นไปในกลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่มแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ของโลก แต่ละขณะนั้นก็ย่อมเกิดขึ้น เป็นไปตามความวิจิตรของความคิดของแต่ละบุคคล โลกยุคนี้เป็นอย่างนี้ ตามความคิดของแต่ละบุคคลในยุคนี้ สมัยนี้ แล้วต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามจิตซึ่งคิดวิจิตรต่างๆ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร จิตที่เห็นทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง ต่างกับจิตที่ได้ยินทางหู ซึ่งเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง และต่างกับจิตที่คิดนึก เป็นต้น
ที่ (จิต) ชื่อว่า "มนะ" เพราะกำหนดรู้อารมณ์

อ่านต่อหน้า ๒>>>>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : webmaster@yahoo.com