ธรรม หรือ ธรรมะ คือ อะไร
ธรรมะในพระพุทธศาสนา
สติปัฏฐานสี่

ธรรม หรือ ธรรมะ คือ อะไร

ธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม,
ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด;
คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ,
แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม;
พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรม
ให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)

ธรรมชาติ คือ อะไร

ธรรมชาติ คือ ของที่เกิดเองตามวิสัยของโลก
เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นต้น
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)

ธรรมดา คือ อะไร

ธรรมดา คือ อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ;
สามัญ, ปกติ, พื้นๆ

 

 
ธรรมะในพุทธศาสนา

เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่าโลกนี้มีแต่ทุกข์ (จากการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-พลัดพราก) จึงทรงออกค้นหาคำตอบแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง จนได้ทรงตรัสรู้ เข้าไปหยั่งรู้ความจริงแท้ ของธรรมชาติทั้งปวง

ทรงพบว่าธรรมชาติทั้งปวงมีอยู่เพียง ๔ เท่านั้น คือ (๑) จิต (๒) เจตสิก (๓) รูป (๔) นิพพาน ทั้ง ๔ นี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ฝ่าย

ฝ่ายแรก
เรียกว่า ธรรมฝ่ายโลกหรือธรรมฝ่ายทุกข์ (โลกียธรรม) หรือเรียกอีกอย่างว่าฝ่ายสังสารวัฏหรือวัฏฏสงสาร ที่ต้องเวียนเกิดเวียนตายเวียนทุกข์ไม่สิ้นสุด ก็คือ
จิต เจตสิกและรูป
อีกฝ่าย
เรียกว่าธรรมฝ่ายหมดทุกข์สิ้นทุกข์ (โลกุตตรธรรม) ก็คือ
พระนิพพาน (คำว่า 'พระนิพพาน' มีความหมายว่า การสิ้นทุกข์ การสิ้นกิเลส)

การที่สรรพสัตว์จะพาตัวออกจากธรรมฝ่ายทุกข์หรือโลกียธรรมได้นั้น มีเพียงวิธีเดียวคือจะต้องเข้ามาทำความรู้จักกับธรรมขาติแท้ๆ ของตนเอง ก็คือ ธรรมชาติแท้ๆ ของจิต เจตสิกและรูป อันเป็นสภาพธรรมหรือ เป็นธรรมชาติที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่อยู่ในบังคับ บัญชาใคร ไม่เป็นของๆ ใคร ไม่มีใครสร้าง (อนัตตา)

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงให้วิธี (ที่ทรงตรัสรู้มา) ที่บุคคลจะพาตัว เข้าไปรู้จักกับธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของตน ทรงตรัสไว้ว่า ทางสายนี้เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว (เป็นเอกายนมรรค) เป็นสายตรง ลัดสั้นที่สุด ที่จะพาสัตว์ทั้งหลายออกไปให้พ้นจากห้วงแห่งทุกข์ทั้งปวง (คือ สังสารวัฏและการเวียนว่ายตายเกิด) ทางสายนี้เรียกว่า 'สติปัฏฐาน'

สติปัฏฐานสี่- ทางสายเอก ทางสายเดียว

วิชาสติปัฏฐานเป็นวิชาที่ว่าด้วยการกลับเข้ามามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับ จิต-เจตสิก-รูป ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายโลกหรือธรรมฝ่ายทุกข์ จิต-เจตสิก-รูปนี้ เรียกได้อีกอย่างว่า กาย(รูป)กับใจ(จิต+เจตสิก) หรืออีกอย่างว่ารูปกับนาม

ด้วยการฝึกสติให้เฉียบคม ด้วยการเพียรเพ่งมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เฝ้าสังเกตุ ตามดูตามรู้อาการทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับกายและใจหรือรูปกับนาม หรือขันธ์ห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ของตนแต่ละคน นี้เอง ที่บุคคลจะสามารถเข้าไปหยั่งรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้ หรือก็คือธรรมชาติของกายและใจหรือรูปกับนามหรือขันธ์ห้า หรือก็คือจิต-เจตสิก-รูป อันเป็นธรรมฝ่ายทุกข์ธรรมฝ่ายโลกนี้เอง บุคคลก็จะเข้าใจธรรมชาติรู้เห็นธรรมชาติทั้งปวงตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งทังหลาย ไม่มีตัวเราของเราตรงไหน เป็นแต่เพียงความเป็นเหตุและปัจจัยระหว่างกันและกันของรูปกับนาม สรรพสิ่งอันเป็นธรรมชาติฝ่ายทุกข์นี้ ล้วนตกอยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นอย่างนี้ชั่วกาลนาน โดยมีกิเลสพาร้อยรัด ให้ติดอยู่ในกับดักแห่งสังสารวัฏ มีอวิชชา (คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง) เป็นตัวการสำคัญ

อาศัยการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เนืองๆ รวมทั้งกายพยายามเพียรเพ่งเผากิเลส และความไม่รู้ให้หมดไปเรื่อยๆ บุคคลก็จะค่อยๆ เกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดด้วยตนเอง จะค่อยๆ เข้าใจธรรมชาติทั้งปวงยิ่งๆ เมื่อเข้าใจยิ่งชัดขึ้นก็จะค่อยๆ ละค่อยๆ วางจากความเป็นตัวตน ค่อยๆ เห็นโทษทุกข์ภัยในธรรมฝ่ายทุกข์ เห็นทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร เริ่มเห็นว่าเป็นสิ่งไม่น่ามีไม่น่าเอา เริ่มเบื่อ-เริ่มหน่ายและจะค่อยๆ คลายและหลุดเป็นลำดับจนถึงหลุดอย่างแท้จริงคือสามารถตัด อาสวกิเลส (กิเลสที่หมักหมมหมักดองอยู่ในขันธสันดานของสรรพสัตว์) นับตั้งแต่ขั้นต้น คือ ละสักกายทิฏฐิได้ ฯลฯ เป็นลำดับไป เมื่อนั้น ก็คือได้ก้าวพ้นประตูแห่งฟากทุกข์ (โลกียธรรม) ไปสู่ประตู แห่งการพ้นทุกข์ (โลกุตตรธรรม) กิเลสเบาบางลงเรื่อยๆ จนตราบที่ ละกิเลสได้หมดสิ้น ได้บรรลุถึงซึ่งอรหัตตผล ได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติ ทั้งปวง หมดสิ้นกิเลส ตัณหา อุปาทาน หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง

เมื่อหมดกิเลส ก็หมดทุกข์ ได้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพานนั่นเอง

 

ขอสรรพสัตว์ทั้งปวง ได้มีโอกาสมาพบทางสายเอกคือสติปัฏฐานสี่ ได้ปฏิบัติตนจนสามารถเข้าใจในธรรมชาติทั้งปวง เกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดด้วยตนเอง ล่วงทุกข์ ก้าวพ้นจากความทุกข์ กิเลส ตัณหา อุปาทานทั้งปวง ไปสู่ความสงบสุขนิรันดร์ คือ พระนิพพาน ด้วยกันทุกรูปทุกนาม โดยเร็วด้วยเทอญ

| deedi_deedi@email.com |