มนุษย์คืออะไร

ที่มาและที่ไป

คำว่า "มนุษย์" แปลว่า ผู้มีใจสูง เอาความหมายตรงนี้ไว้ก่อนนะคะ แล้วคราวนี้เราก็วางตรงนี้ลงก่อน แล้วไปดูกันว่า ที่มาที่ไปของมนุษย์เป็นอย่างไร

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเอาไว้ว่า ในสังสารวัฏหรือวัฏสงสารอันยาวนาน เหลือจะกล่าวที่เราๆ เวียนเกิดเวียนตายเวียนว่ายกันอยู่นี้ มีที่ๆ เราเวียนเกิด เวียนตาย หรือพูดอีกแง่ก็คือมีที่ๆ เราเวียนไปวนมากันอยู่ทั้งหมด ๖ ที่ ๖ สถานะและ ๖ สภาพ เรียงจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ นรก-เปรตและอสุรกาย- มนุษย์-เทวดา-พรหม

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร นั้น ยาวนานสุดจะหา เบื้องต้นและเบี้องปลายได้ และทุกๆ ชีวิตที่เกิดมา ล้วนตกอยู่ใต้กฏธรรมชาติ อันเป็นสากล คือ ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย ทั้งยังต้อง เวียนเกิด เวียนแก่ เวียนเจ็บ และเวียนตาย เช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก

พระพุทธองค์ยังทรงตรัสไว้อีกว่า สรรพชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ล้วนตกอยู่ภายใต้กฏแห่งพระไตรลักษณ์ นั่นก็คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) - เป็นทุกข์ (ทุกขัง) - ไม่เป็นของใครทั้งสิ้นหรือ อีกนัยคือไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น (อนัตตา)

เราเวียนเกิดเวียนตายใน ๖ ภพภูมินี้อย่างไร

เราจะมาพูดแก่นๆ ที่สำคัญเท่านั้นนะคะว่าแล้วทำไมถึงว่าเราเวียนเกิด และเวียนตายแล้วๆ เล่าๆ หาที่สุดมิได้อยู่ใน ๖ ภพภูมิที่ว่ามานี้

ก่อนอื่น ขอสรุปย่อๆ ให้พอเห็นภาพแต่ละภพภูมิ ดังนี้ (ขอเล่าจากภพภูมิล่างสุดขึ้นบนสุด)

นรก
เป็นทุคติภูมิ

นรกเป็นที่ๆ สรรพสัตว์มาเสวยผลจากกรรมไม่ดีกรรมใดกรรมหนึ่งหรือ หลายๆ กรรมที่ทำเอาไว้ ในนรกมีหลายขุมหลายชั้นแล้วแต่ประเภท ของกรรมที่ทำมาและแล้วแต่ความหนักเบาของกรรมที่ทำมา ในนรกส่วนใหญ่ สัตว์นรกไม่มีเวลาทำอย่างอื่นนอกจากเสวยทุกข์ เพียงอย่างเดียว เวลาในนรกนั้น ยาวนานนัก ท่านว่า สัตว์นรก ไปลงนรก ด้วยแรงโทสะ หรือด้วยกรรมที่เกิดจาก กิเลส ข้อ "โทสะ" นั่นเองค่ะ

เปรตและอสุรกาย
เป็นทุคติภูมิ

เปรตและอสุรกายนี่ โดยรูปธรรมท่านว่าคล้ายกัน เพียงแต่อสุรกาย ตัวใหญ่โตกว่ามาก จึงจัดอยู่ด้วยกัน เป็นที่ๆ สรรพสัตว์มาเสวย ผลของกรรมไม่ดีที่เคยกระทำอีกเช่นกัน เป็นภพภูมิที่มีแต่ความ ทุกข์ทรมาน แต่ก็เบาบางกว่าภูมินรก ท่านว่า เปรตและอสรุกายนี้ ไปเป็นเปรตและอสุรกายได้ ด้วยแรง โลภะ หรือด้วยกรรมที่เกิด จากกิเลส ข้อ "โลภะ" นั่นเอง

สัตว์เดรัจฉาน
เป็นทุคติภูมิ

สัตว์เดรัจฉาน เป็นหนึ่งในสองภพภูมิที่พระพุทธองค์ทรงกล่าว จำแนกไว้ ที่เราสามารถพิสูจน์ได้เดี่ยวนี้ ปัจจุบันขณะนี้ ว่ามีจริง (หนึ่งคือภูมิมนุษย์หรือมนุสสภูมิ สองก็คือภูมิเดรัจฉานนี่เอง) สัตว์เดรัจฉาน ใกล้มนุษย์เข้ามาอีก มีชีวิตความเป็นอยู่ไปตาม สัญชาตญาณ มีทุกข์สุขแตกต่างกันไปตามแต่แรงบุญและกรรม ที่กระทำมาและกำลังส่งผลในภพชาติที่มาเกิดเป็นเดรัจฉานนี้ สัตว์เดรัจฉานเป็นภพภูมิที่เป็นทุคติภูมิ ในอัตภาพนี้ ไม่สามารถ ทำบุญทำทานหรือพัฒนาปัญญาได้ ท่านว่า ที่ไปเกิดเป็น สัตว์เดรัจฉานได้นี้ ก็ด้วยแรงกิเลสข้อ "โมหะ" ค่ะ

มนุษย์
เป็นสุคติภูมิ

ภูมิมนุษย์ ถือว่าเป็นสุคติภูมิ ในคติพุทธบอกว่า ที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ก็เพราะอานิสงส์ที่เราเคยเป็นผู้อยู่ในศีลห้า กล่าวคือ เราเคยทำตัวอยู่ใน ศีลห้ามาแล้ว ไม่ว่าจะทราบหรือรู้จักคำว่า "ศีลห้า" หรือไม่ก็ตาม ภูมิมนุษย์นี้ ท่านว่า เป็นที่ๆ ประเสริฐที่สุด เหมาะสมที่สุด ที่จะทำกรรมดี ทำบุญ สร้างปัญญาบารมี ดังจะสังเกตว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็จะต้อง มาตรัสรู้ ณ ภูมิมนุษย์ นี่แหละ อย่างไรก็ตาม ภูมิมนุษย์นี่เองที่เปรียบ เหมือนทางสองแพร่ง ท่านว่า ภูมิที่จะทำดีหรือทำกรรมดีได้ยิ่งที่สุด ดีที่สุด ก็คือภูมิมนุษย์ ในทางกลับกัน ภูมิที่จะทำเลวที่สุดหรือทำกรรม เลวได้หนักที่สุด ก็คือภูมิมนุษย์เช่นกัน แล้วแต่ใครจะเลือกเอาว่า จะไปทางไหน (ด้วยการประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่วอย่างที่ว่ามาแล้ว) ภูมิมนุษย์เปรียบเสมือนเป็นชุมทาง เมื่อใช้กรรมในทุคติภูมิเสร็จ ก็มาเลือกเอาใหม่ว่าจะไปดีหรือไม่ดีก็ในคราวที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ และหากอยู่บนสวรรค์หรือพรหมโลกเสร็จ หมดอายุขัยเสวยบุญก็ ลงมาที่ภูมิมนุษย์นี้อีก เพื่อมากระทำกรรม เลือกทางของตัวเอง (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่ากำลังเลือกก็ตาม) ว่าจะไปข้างบนหรือ ลงข้างล่างอีกต่อๆ ไป วนเวียนเวียนวนเช่นนี้ ไม่สิ้นสุด

เทวภูมิ
เป็นสุคติภูมิ

ณ สวรรค์ เป็นที่อยู่หรือสถิตย์ของเหล่าเทวดา ที่ไปสวรรค์ได้ก็ด้วย การสร้างกรรมดี การทำบุญทำทาน รักษาศีล สวรรค์เป็นสุคติภูมิ เป็นสถานที่เสวยผลจากกรรมดีที่กระทำมา บนสวรรค์ท่านว่าเป็น การเสวยสุข มีแต่ความสุข ปรารถนาอะไรก็ได้ดังปรารถนา ทุกอย่างเป็น "ทิพย์" ทว่า แม้จะสุข แต่ก็ไม่สามารถประกอบการ บุญหรือการทำทานได้เหมือนอย่างในภพภูมิมนุษย์ค่ะ เวลาในสวรรค์นั้น ยาวนานเหลือเกิน ท่านว่า ร้อยปีในมนุษย์ เท่ากับหนึ่งวันในสวรรค์ชั้นล่างๆ นะคะ อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นอายุขัย เทวดาก็ต้องกลับมาเกิด เวียนว่ายตายเกิดอยู่ตามภพภูมิต่างๆ ตามแรงบุญแรงกรรมที่กระทำไว้ในอดีตและแรงบุญแรงกรรม ที่กำลังสร้างกำลังทำต่อๆ ไป

พรหมภูมิ
เป็นสุคติภูมิ

บนแดนของพระพรหมนี้ เป็นภพภูมิที่สูงสุดแล้วในสังสารวัฏ เป็นภพภูมิที่สุข สงบสงัด ดีและประเสริฐที่สุด ในภพภูมิทั้งหลาย ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดทั้ง ๖ จะมาเป็นพระพรหมได้ ก็ต้อง ประกอบพรหมวิหาร ๔ มาคือ เมตตา - กรุณา - มุทิตา - อุเบกขา ผู้ที่จะไปจุติในภพภูมินี้ได้ ต้องบำเพ็ญสมาธิมาพอสมควร ขออนุญาตไม่พูดมาก เพราะไม่เกี่ยวกับหัวข้อของเราค่ะ พรหมภูมิจึงเป็นแดนที่สรรพสัตว์ที่คุณสมบัติครบตามที่กล่าวมา จะมาจุติและเสวยผลของกรรมดีต่างๆ เหล่านี้ที่กระทำและบำเพ็ญมา อายุของพระพรหมนั้นยาวนานนัก ท่านว่า ยาวนานเสียจนพระพรหม บางองค์บางชั้น ถึงกับลืมไปเลยว่าท่านเคยเวียนเกิดเวียนตายอยู่ ในสังสารวัฏเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ายาวนานอย่างไร ก็ย่อม มีวันสิ้นสุด เมื่อสิ้นอายุขัย ก็กลับลงมาเวียนว่ายตามภพภูมิต่างๆ ตามแรงกรรมและกระแสบุญกรรมที่กระทำไว้และกำลังให้ผล ในขณะนั้นๆ ต่อไป

สรุป

จะเห็นได้ว่า ภูมิอื่นๆ นอกจากภูมิมนุษย์นั้น ล้วนเป็นภพภูมิแห่งการ เสวยผลทั้งสิ้น ทำไม่ดีและผลกรรมไม่ดีกำลังส่งผล ก็จะได้ลงไป เสวยทุกข์ในสามภูมิแน่นอน คือ ไม่นรก ก็เปรตอสุรกาย ก็สัตว์ เดรัจฉาน และถ้าหากผลกรรมดีกำลังส่งผล ก็จะได้ขึ้นไปเสวยผล แห่งกรรมดี ได้ไปเสวยสุข ณ ภูมิมนุษย์ หรือไม่ก็ในเทวภูมิ หรือไม่ก็ที่พรหมภูมิ

จึงขอมองภูมิมนุษย์ว่าเป็นภูมิแห่งการ "สร้างเหตุ" คือ สร้างเหตุ ไปสุคติก็ได้ สร้างเหตุไปทุคติก็ได้ จะสร้างเหตุทั้งสองอย่างก็ ณ ตรงนี้ จะเลือกไปไหน ก็ ณ ตรงนี้ ทางสองแพร่งก็อยู่ตรงนี้นี่เอง ส่วนภูมิอื่นๆ ทั้งหมดนั้น เป็นสถานที่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเสวยผลดีหรือชั่ว เท่านั้น

โลกียภูมิ กับ โลกุตตรภูมิ

ที่กล่าวมาทั้ง ๖ ภพภูมินั้น ศัพท์พุทธเรียกว่าเป็น โลกียภูมิ เป็นภูมิ ที่สรรพสัตว์ในสังสารวัฏต้องเวียนว่ายตายเกิดไปมา มีอยู่เท่านี้ และท่านว่า เราทุกคน เคยอยู่มาแล้วทุกภพภูมิที่ว่า ไปมาหมดแล้ว เวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในวัฏสงสารนี้ มาทั้งหมดแล้ว นี่เป็น ความจริง แบบโลกๆ เป็น โลกียภูมิ

มีอีกที่หนึ่ง มีความจริงอันสูงสุดอีกหนึ่ง ที่ยังไม่ได้พูดถึง สิ่งนี้หรือความจริงสูงสุดอีกอันนี้ เป็นความจริงที่อยู่นอกสังสารวัฏ นอกเหนือการเกิดการตาย เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่เช่นเดียวกับ สังสารวัฏ แต่ทว่าไม่ตกอยู่ภายใต้กฏของพระไตรลักษณ์ เป็นธรรมอีกประเภทที่ยากที่ชีวิตในสังสารวัฏอย่างเราๆ ที่มืดบอดหนาทึบไปด้วยกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน จะสามารถนึกภาพออก

ธรรมอันจริงแท้อีกอันนี้ เรียกว่า "โลกุตตรธรรม" เป็น โลกุตตรภูมิ หรืออีกชื่อก็เรียกได้ว่า "พระนิพพาน" มีอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งแต่จะค้นหาพบ หรือเข้าไปรู้จักหรือไปให้ถึงได้ก็โดยพระพุทธเจ้า ทรงเห็นทุกข์และตั้งคำถามว่าเมื่อมีทุกข์ ก็น่าจะมีทางออกจากทุกข์ จึงทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาความรู้อันประเสริฐ ที่จะออกจากทุกข์และได้พบว่าทางนี้มีอยู่จริง ธรรมชาติที่เรา สมมุติเรียกว่า "พระนิพพาน" นี้มีอยู่จริง

กลับมาที่คำว่ามนุษย์ ที่แปลว่า ผู้มีใจสูง ก็เพราะ ณ ตรงอัตภาพมนุษย์ นี่เองที่สรรพสัตว์สามารถสร้างเหตุแห่งการไปเสวยทุกข์ในทุคติภูมิก็ได้ สร้างเหตุแห่งการไปเสวยสุขในสุคติภูมิทั้ง ๓ ก็ได้

ยิ่งไปกว่าสิ่งใด ในอัตภาพมนุษย์นี่เท่านั้น ที่สามารถเลือกสร้างเหตุ ไปสู่การออกจากทุกข์ทั้งปวง ไปสู่ความสันติสุขนิรันดร์คือการปลดตัวเอง ออกจากกิเลสอันพันธนาการสัตว์เอาไว้ให้ต้องเวียนทุกข์เวียนเกิดตายไม่รู้จบ ในสังสารวัฏ ปลดตัวเองออกจาก อวิชชา ตัณหาและอุปาทาน อันร้อยรัดตัวเอาไว้ได้

ด้วยการค่อยๆ พยายามศึกษาและปฏิบัติตน ปฏิบัติกายและใจ มีชีวิตอยู่ อย่างรู้เท่าทันกิเลส ฝืนกิเลสบ้าง ต่อสู้กับกิเลสฝ่ายไม่ดีบ้างและเร่งสร้าง ความดี เร่งศึกษา ค้นหาความจริง สร้างปัญญาอันแท้จริงให้เกิดกับตน ศึกษาสังเกตชีวิต สังเกตกายและใจของเรานี้เอง กายและใจของตัวเอง กายใจมนุษย์นี้แหละคือธรรมะทั้งแท่ง ไม่ต้องไปหาหรือเรียนรู้จากสิ่งอื่นใด ไหนเลย เมื่อเราศึกษารู้แจ้งแทงตลอดกายและใจของเรานี้ได้ เมื่อนั้น เราก็จะเห็นทุกข์โทษภัยในวัฏสงสารอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ติดข้องสงสัยอะไรอีก

เมื่อเห็นทุกข์ เห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่าไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ได้อยู่ในบัญชาของใครแล้ว ก็จะเบื่อหน่ายคลายไปในที่สุด เบื่อหน่ายคลายและรู้มากๆ เข้า กิเลสก็จะ เบาบางลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ความรู้แท้ๆ นี้เอง จะนำเราออกจากอวิชชา ไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงและออกจากทุกข์ ออกจากการเวียนว่าย ตายเกิดในสังสารวัฏ

จะไปถึงซี่งพระนิพพานคือการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ ก็ด้วยการสร้างเหตุ ในสมัยที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี่เอง

| deedi_deedi@email.com |