เข้าใจแก่นพระศาสนา
ชาวพุทธที่แท้
ชีวิตและความเชื่อแบบพุทธ

แก่นพระศาสนา

จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา หรือ แก่นของพระพุทธศาสนา
คือเรื่อง ทุกข์และการออกจากทุกข์ทั้งปวง

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ บังเกิดขึ้นได้ก็เริ่มต้นจากมองเห็น
โทษและทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร เมื่อเห็นว่ามีทุกข์ก็คิดว่าน่าจะมี
ทางออกจากทุกข์และการหมดทุกข์ จึงทรงบำเพ็ญเพียร สร้างบารมี
เพื่อมุ่งตรัสรู้ หาทางออกจากทุกข์

ศาสนาแห่งการปฏิบัติ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ
หมายความว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล จะต้องทำเอง
จะพึงปฏิบัติด้วยตนเอง จึงจะสามารถเห็นผลได้
ผลคือการเกิดปัญญา สามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจ
เป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตัวเอง
เป็นการพึ่งตัวเองด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง
ตามแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดปัญญาเข้าใจตน
เข้าใจกิเลส เข้าใจกฏธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติทั้งหลาย
ทั้งปวง ตามความเป็นจริง

พุทธศาสนามี ๓ คือ
(๑)
ปริยัติศาสนา
(๒)
ปฏิบัติศาสนา
(๓)
ปฏิเวธศาสนา

ชาวพุทธที่แท้ พึงปฏิบัติตนให้ครบทั้ง ๓ ประการ

ปริยัติศาสนา

ปริยัติศาสนา เป็นการศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์
ศึกษาหลักการ หลักในการปฏิบัติตน แนวทางปฏิบัติตน
เพื่อให้มีความสุขอย่างปลอดภัยในโลก
และเพื่อให้ก้าวเดินไปสู่การพ้นทุกข์
อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระศาสนา

การศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำสอน
และในหลักธรรมต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้นี้
(ปริยัติศาสนา) สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อไม่ให้ความเชื่อหรือความศรัทธาเป็นไปอย่าง
งมงาย พระพุทธองค์ไม่ทรงสนับสนุนให้เอาแต่เชื่อ
แต่ให้ศึกษา ทำความเข้าใจด้วยปัญญา
แล้วจึงลงมือพิสูจน์ด้วยตนเอง

พระพุทธองค์ทรงเน้นการพิสูจน์ทุกอย่างด้วยตนเอง
แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์เอง ก็มิได้ทรงให้เชื่ออย่าง
หลับหูหลับตา ไม่ได้ทรงสนับสนุนให้เชื่ออย่างงมงาย
(กาลามสูตร หรือ โคตมีสูตร) แต่ทรงแนะนำให้
ลองพิสูจน์ด้วยตนเองก่อน แล้วจึงค่อยสรุปว่าควร
หรือไม่ควรเชื่อประการใด อย่างไร ฯลฯ

ปฏิบัติศาสนา

เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจ มองเห็นเหตุและผล
หรือมีหลักพอให้สามารถเทียบเคียงได้แล้ว
บุคคลพึงลงมือปฏิบัติตนไปตามลำดับ

พุทธศาสนา เป็นการสวนทางกับกระแสโลก
กระแสโลกก็คือกระแสกรรม กระแสกิเลส
การจะสวนทางกับกระแสโลกกระแสกิเลสได้
จะต้องฝึกกายฝึกใจ

เริ่มจากการรู้จักสละออกด้วยวิธีให้ทาน ทำบุญ ทำทาน
จากนั้น ชำระกาย-วาจา-ใจ ให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้น
ด้วยการรักษาศีล และที่สุด เจริญภาวนา
ทำจิตใจให้สงบและมีสติ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ตามแนวสติปัฏฐานสี่ อันเป็นทางสายเดียว
ไปสู่การพ้นทุกข์

ปฏิเวธศาสนา

เมื่อบุคคลรักษาศีลและได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เจริญสติ (สติปัฏฐานสี่) จิตใจก็จะค่อยๆ เกิดปัญญา
ปัญญาทางธรรมนี้ เป็นปัญญารู้แจ้ง ที่จะทำให้บุคคล
ค่อยๆ เข้าใจตน เข้าใจกฏธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ
ตามความเป็นจริง รู้จักและเข้าใจกิเลส รู้จักและเข้าใจ ทุกข์

เมื่อสั่งสมปัญญา ฝึกหัดปฏิบัติตน บ่มเพาะความรู้
ความเข้าใจในธรรมทั้งปวงด้วยการปฏิบัติตนนี้
เมื่อทุกอย่างเต็มพร้อมบริบูรณ์ ปัญญาที่จะสามารถ
เข้าไปประหารกิเลส ตัดกิเลสให้ขาดสะบั้นลงได้ตามลำดับ
ก็จะเกิดขึ้น ให้บุคคลนั้นได้ถึงซึ่ง ปฏิเวธศาสนา
คือ ได้ถึงซึ่งมรรคผล ได้ปฏิเวธ ได้รู้แจ้งในอริยสัจจ์ ๔
อันเป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนคนผู้มีกิเลสเต็มร้อย
ไปสู่ความเป็นอริยบุคคล กิเลสลดน้อยลง
หมดกิเลสที่จะนำไปสู่อบาย
และมีอนาคตที่เที่ยงแท้แน่นอน
คือมีพระนิพพานเป็นที่ไปอย่างแน่นอนที่สุด

ชาวพุทธที่แท้ - ชีวิตและความเชื่อแบบพุทธ

ชาวพุทธที่แท้ จึงเป็นผู้ที่พึงพากเพียรปฏิบัติตนในทุกขณะเวลา
และชีวิตและความเชื่อแบบพุทธ จึงเป็นชีวิตที่พึงลงมือทำเอง
ลงมือศึกษาและทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์
ใช้ปัญญาแยกแยะเพื่อจะได้ไม่หลงไปผิดทางและเพื่อไม่ให้
ปฏิบัติไปด้วยความงมงาย

เมื่อได้แนวทางแล้ว จึงพึงลงมือลองปฏิบัติตามคำสอน
อาทิ เรื่อง ทาน-ศีล-ภาวนา และ การเจริญศีล-สมาธิ-ปัญญา

เมื่อได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ก็จะเห็นผลประจักษ์แจ้ง
ด้วยตนเอง อาทิ เมื่อได้ทำบุญทำทาน ก็จะได้ผลเป็น
ความสุขใจ อิ่มเอิบใจ สบายใจ ได้พบความสุขจากการสละออก
ความสุขจากการให้ เมื่อได้รักษาศีลก็จะได้พบกับความสงบกาย
และความสงบใจ ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ใจที่ไม่ได้ไป
เบียดเบียนทำร้ายทำลายใคร กายและใจก็จะบริสุทธิ์ผ่องใส
พร้อมต่อการเจริญสติ (สติปัฏฐานสี่) และการเจริญ
วิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่

เมื่อได้เจริญสติ (สติปัฏฐานสี่) และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ตามแนวสติปัฏฐานสี่ เกิดปัญญาเข้าใจกิเลส เข้าใจทุกข์
เข้าใจธรรมชาติทั้งปวงตามความเป็นจริงยิ่งๆ ขึ้น
เกิดปัญญายิ่งๆ ขึ้น จนกระทั่งถึงที่สุดสามารถเกิดปัญญา
ประหารกิเลสได้ เปลี่ยนจากสภาพความเป็นปุถุชน
ไปสู่ความเป็นอริยบุคคล มุ่งตรงสู่พระนิพพาน
เป็นชาวพุทธที่แท้ พิสูจน์ด้วยตนเองจนถึงที่สุด
ถึงแล้วซึ่งปริยัติ-ปฏิบัติและปฏิเวธศาสนา
ถึงแล้วซึ่งจุดหมายปลายทางอันเป็นสาระสำคัญที่สุด
ของพระพุทธศาสนา นั่นคือ การพ้นทุกข์

+ + + + + + + + + + + + + + + + +

 

 

(หากต้องการสนทนาในรายละเอียดเพิ่มเติมตรงไหน
โปรดไปคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบสบายๆ เป็นกันเอง
ต่อได้ที่ ห้องสนทนาธรรม ได้ทุกเมื่อ ... ทุกความสงสัย ทุกคำถาม มีประโยชน์
และควรค่ากับการสนทนาธรรมทั้งสิ้น)

[ ใหม่ - ๒๖ มกราคม ๒๕๔๖ ]
| deedi_deedi@email.com |