เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

 

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

กาลามสูตร (พระสูตรว่าด้วยการเชื่อแบบพุทธ)

สิ่งสำคัญที่สุดทีโฮมเพจ easydharma และห้องสนทนาสบายๆ สไตล์ธรรมปฏิบัติ
เน้นเป็นหลักเสมอ เน้นให้ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมเพื่อค้นคว้าหาคำตอบทุกคน อ่าน
ทุกอย่างอย่างตริตรองรวมทั้งเน้นมากเรื่องการอย่าเพิ่งเชื่อ ดังที่พระพุทธองค์
ทรงให้หลักในการเชื่อไว้แล้วอย่างชัดเจน เพราะในธรรมะนั้นเน้นที่ต้องลองนำ
หลักที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ (เน้นว่า 'ทรงค้นพบความจริงของธรรมชาติ'
ไม่ใข่ว่าทรงบัญญัติธรรมขึ้นหรือสร้างขึ้น ธรรมนั้นมีอยู่เสมอ เพียงแต่ผู้ที่จะเข้า
ไปสามารถเห็นหรือพบธรรมชาติตามความเป็นจริงได้อย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้งที่สุด
นั้น ก็มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทำได้) มาปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น ลองทำบุญ
ทำทาน จึงจะสามารถได้รับผล ได้รู้ซึ้งและสัมผัสถึง 'บุญ' คือความสุข ความ
อิ่มใจจากกการให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ได้ด้วยตนเอง ใครจะมาอธิบายอย่างไรว่า
ความสุขจากการทำบุญทำทานเป็นอย่างไร ก็คงไม่ซึ้ง ไม่ชัดเจน เชื่อได้ไม่สนิท
ใจเหมือนกับได้ลงมือลองทำเองและสัมผัสกับผลเอง นี้เองอิงหลักกาลามสูตร
ว่าอย่าเชื่อแม้ครูบอก อย่าปลงใจเชื่อแน่นอนแม้แต่ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ
ไว้เอง แต่ทุกอย่าง (ที่ดีๆ และเราพิจารณาแล้วว่าควรค่าแก่การลองฟังและ
ลองนำมาพิจารณาและปฏิบัติดูด้วยตนเอง) ต้องลองพิสูจน์ด้วยตนเองก่อน
เมื่อพิสูจน์แล้ว เห็นว่าดีจริงๆ เห็นผลจริงๆ ก็ค่อยปลงใจปักใจเชื่อ


อ่าน กาลามสูตร

TopOfPage

จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา

ด้วยเหตุที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นการเกิดแก่เจ็บตาย ทรงเห็นชีวิตเป็น 'ทุกข์'
จึงทรงละทุกอย่างทางโลก ออกบวช แสวงหาทางออกจากทุกข์

ดังนั้น จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาอันแรกที่สุด ก็คือการหาทางออกจากทุกข์
พาตนให้พ้นภัยในทุกข์ในสังสารวัฏอันเกิดจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ
ความตาย ความปวดร้าวระทมหม่นหมองจากการไม่ได้สิ่งที่อยากจะได้
ความเศร้าระทมจากการต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ความทุกข์จาก
การที่สิ่งที่เป็นที่รักต้องมีอันเป็นไป พลัดพรากจากไป ฯลฯ

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงพบความจริงทั้งปวงของสรรพสิ่ง
กิเลสทั้งปวง อวิชชาทั้งปวง ขาดสิ้นไป ทรงพบทางแห่งการพ้นทุกข์ วิถี
แห่งการออกจากทุกข์ในความไม่รู้ (อวิชชา) ออกจากทุกข์ที่ต้องเวียนเกิด
เวียนตายเวียนพลัดพรากไม่รู้จบในสังสารวัฏหรือที่ในภาษาอังกฤษ
เรียกว่า Wheel of Rebirth; Rebirth Process; the Round of Rebirth
(ยกภาษาอังกฤษมาเพราะเห็นว่าเห็นภาพได้ชัดว่าเป็นวงเวียนวงกลม
อันหมุนไม่รู้จบ เป็นกงล้อแก่งการเกิดแก่เจ็บตายไม่รู้จบ)

ดังนั้น เป้าหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา ก็คือ 'การออกจากทุกข์'
หรือเรียกกันในคำที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือ การได้ถึงซึ่งพระนิพพาน อันหาก
เปรียบง่ายๆ ว่าเป็นธรรมชาติทั้งปวงเป็นเหรียญที่มีสองด้าน ธรรมฝ่ายโลก
หรือธรรมฝ่ายทุกข์ ก็คือเหรียญด้านหนึ่ง ส่วนพระนิพพานก็เป็นเสมือน
เหรียญอีกด้านหนึ่ง เป็นเหรียญด้านที่หมดทุกข์ ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย
อีกต่อไป พ้นจากอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

TopOfPage

พุทธศาสนามีสองระนาบ ธรรมฝ่ายโลกและธรรมฝ่ายพ้นโลกพ้นทุกข์

ความรู้แจ้งหรือพระสัพพัญญุตญาณ (พระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง) นี้
ทำให้พระพุทธองค์ทรงแจ่มแจ้งเหรียญทั้งสองด้าน ทั้งธรรมฝ่ายพ้นทุกข์
(พระนิพพาน) และธรรมฝ่ายโลกหรือธรรมฝ่ายทุกข์ (สังสารวัฏหรือเรียก
อีกชื่อว่าวัฏฏสงสาร)

นอกไปจากนั้น ทรงพิจารณาเห็นชัดว่า สัตว์โลก (หมายถึงสรรพสัตว์ในทุกภพภูมิ
ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ในสังสารวัฏ) นี้ หลากหลายกันไป บ้างก็อยู่ในภาวะ
ที่สามารถชี้ให้เห็นทางออกจากทุกข์ได้ บ้างก็ยังไม่ได้ (ที่ทรงเปรียบเป็น บัวสี่เหล่า)
บ้างก็ยังสนุกสนานมีความสุขอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ยังพอใจที่จะได้เสพสุข
แบบโลกๆ แต่ก็มีบ้างที่มุ่งจะพลิกตนไปสู่อีกด้านของเหรียญซึ่งก็คือพลิกตัวไปสู่
การถึงซึ่งความพ้นทุกข์

ด้วยเหตุนี้ ในระยะเวลา ๔๕ ปีที่ทรงเผยแผ่พระธรรมไว้ให้กับสรรพสัตว์
พระพุทธองค์ทรงชี้แจงแสดงธรรม (ธรรม คือ ธรรมะ คือ ธรรมดา คือ ธรรมชาติ)
ไว้ทั้งละเอียด กว้างขวางและครอบคลุมหมดสิ้นแล้วในสรรพสิ่งทั้งปวง กล่าวคือ
ในธรรมทั้งสองด้านหรือในเรื่องที่เกี่ยวกับเหรียญทั้งสองด้าน โดยที่หากผู้ใด
มุ่งจะออกจากทุกข์ พระพุทธองค์ก็ทรงชี้แจงแสดงวิธีออกจากทุกข์ไว้ให้
และหากผู้ใดยังมีความสุขอยู่ในโลก ยังพึงพอใจที่จะเวียนว่ายตายเกิด
ยังเห็นโลก (คือการเวียนว่ายตายเกิด) เป็นเรื่องสนุกสนาน น่ามีน่าเอา
พระพุทธองค์ ก็ทรงชี้แจงแสดงวิธีที่จะให้ได้เวียนว่ายตายเกิดได้อย่าง
อยู่ในธรรม ปลอดภัยขึ้นจากอันตรายใดๆ จากความไม่รู้และกิเลส ตัณหา
อุปาทานทั้งหลาย ขึ้นได้บ้าง ทั้งทรงชี้แจงแสดงวิธีที่จะให้ได้เกิดดียิ่งๆ ขึ้น
(เช่นการอยู่ในศีล การอยู่ในธรรม ฆราวาสธรรม ฯลฯ) สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้
ไม่เห็นในโทษภัยของสังสารวัฏ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ๔๕ ปีที่ทรงเผยแผ่พระธรรม มองในแง่หนึ่งจะเห็นว่า
ทรงแสดงเอาไว้ทั้งสองด้านของเหรียญ นั่นก็คือ ทรงแสดงธรรมฝ่ายโลก
หรือธรรมฝ่ายทุกข์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือธรรมสำหรับฆราวาส ธรรมะสำหรับ
ผู้ยังครองเรือน (๑) และก็ทรงแสดงวิธีการไปสู่อีกด้านของเหรียญไว้ด้วย
อันได้กล่าวแล้วว่าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งก็คือเป็น
กรรมวิธีปฏิบัติกายและใจตามทางสายเอกทางสายเดียว (เอกายนมรรค)
คือสติปัฏฐานสี่และวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ ขัดเกลา
พัฒนาจิตใจให้เกิดปัญญา มุ่งไปสู่การพ้นจากกิเลส พ้นจากอวิชชา
(คือความไม่รู้) พ้นจากทุกข์ ไปถึงซึ่งความสุขอันแน่นอน ไม่ผันแปร
ที่ชื่อว่าพระนิพพาน (๑)

ในโฮมเพจ easydharma และห้องสนทนาธรรมเล็กๆ แห่งนี้ จะพูดถึงธรรม
ทั้งสองฝ่ายรวมๆ กันไป บางครั้งก็พูดถึงธรรมฝ่ายโลก บางครั้งก็พูดถึงการ
ปฏิบัติกายใจตามแนวสติปัฏฐานสี่เพื่อชวนมุ่งหน้าสู่ธรรมฝ่ายพ้นทุกข์
โดยจะพยายามบอกไว้เป็นที่ๆ ไปเสมอ ว่าขณะนี้กำลังพูดถึงเหรียญด้านใด
เป็นธรรมฝ่ายโลกหรือเป็นธรรมฝ่ายพ้นโลกพ้นทุกข์ เมื่อจะนำข้อธรรม ณ
จุดใดๆ มาพิจารณา จะได้สามารถเข้าใจได้ตรงกันว่า กำลังพูดถึงเหรียญ
ด้านไหน ระนาบใด

TopOfPage

ธรรมะต้องนำมาประยุกต์ใช้จึงจะเห็นผล

ประเด็นสำคัญมากอีกประเด็นที่โฮมเพจนี้อยากจะเน้นให้เข้าใจตรงกันก็คือ
ธรรมทั้งปวง เหรียญทั้งสองด้านที่พระพุทธองค์ทรงแจกแจงแสดงไว้ครบถ้วน
แล้วนี้ บุคคลจะไม่สามารถสัมผัสหรือเห็นผลที่แท้จริงอย่างแจ่มแจ้งได้เลย
หากไม่ได้นำมาลองใช้ หากไม่ได้ลงมือลอง 'ปฏิบัติ' จริง

ดังนั้น ข้อธรรมทั้งหลาย จะมีประโยชน์และช่วยให้ชีวิตในธรรมฝ่ายโลก
หรือชีวิตแบบผู้ครองเรือน (ฆราวาสธรรม) อยู่เย็นเป็นสุขด้วยปัญญายิ่งขึ้นได้
ก็ต้องลองนำมาปฏิบัติ นำมาใช้จริงๆ ลองพิสูจน์คุณค่าของพระธรรมด้วย
การปฏิบัติดูด้วยตนเอง (เช่น อยู่ในศีลห้า วางตนอยู่ในฆราวาสธรรม
(ฆราวาสธรรม = หลักธรรมสำหรับการครองเรือน ธรรมของผู้ครองเรือน
มี ๔ อย่าง คือ สัจจะ (ความจริง) ทมะ (ความฝึกฝนปรับปรุงตน) ขันติ
(ความอดทน) จาคะ (ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ)) จึงจะเห็น
ผลว่าทำให้ชีวิตดีขึ้น อยู่เย็นเป็นสุขและสงบขึ้นจริงหรือไม่

ในทางเดียวกัน ธรรมฝ่ายพ้นโลกหรือธรรมฝ่ายพ้นทุกข์ ก็ต้องอาศัยสิ่งเดียวกัน
คือการนำไปลองฝึกฝน ปฏิบัติ ลองใช้ธรรมะกับกายและใจของเราแต่ละคนเอง
จึงจะเห็นผลเอง สัมผัสผลเอง วิธีหรือวิถีทางสู่การพ้นทุกข์นี้ ก็คือส่วนที่โฮมเพจ
นี้พูดถึงวิธีการเจริญสติ (สติปัฏฐานสี่) และการฝึกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
นั่นเอง

TopOfPage

แนวทางการใช้ชีวิตแบบอยู่ในธรรม

สำหรับธรรมฝ่ายโลกหรือธรรมะสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน วิธีปฏิบัติกาย
และใจก็คือ
(๑)
การพยายามอยู่ในศีลอย่างต่ำที่สุดคือศีลห้า ให้มั่น แต่ก็ไม่ต้อง
เคร่งเครียดจนเกินไป หากเรายังเพิ่งเริ่มฝึกตน อาจมีลืมมีเผลอหรือมีศีลพร่อง
ไปบ้างก็ไม่ต้องเครียดไม่ต้องไม่สบายใจจนเกินไป เมื่อพร่องไปแล้วก็เอาใหม่
พยายามระมัดมั่นใหม่ เมื่อฝึกเข้าบ่อยๆ เราก็จะเผลอน้อยลง ศีลพร่องน้อยลง
ศีลขาดลดลง ศีลก็จะมั่นขึ้น
(๒)
พยายามศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะ เพื่อให้เข้าใจใน
แก่นของธรรมะ เมื่อเราเข้าใจในแก่นของธรรมะมากขึ้น เราก็จะสามารถแยกแยะ
ดีชั่วถูกผิด ของดีของแท้หรือของปลอม ได้ดีขึ้น เราจะสามารถเข้าใจผู้คนได้ดีขึ้น
ดำรงตนไม่ขัดแย้งกับกฏของธรรมชาติ (ธรรมะ) เราก็จะสุขเย็นขึ้น มองอะไรๆ
ชัดเจนขึ้น เป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน น้อยลง ปลอดภัยต่อการพาตน
ไปสู่ทางที่ต่ำมากขึ้น (ทางที่ต่ำก็คือการต้องคลุกคลีกับผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ การ
ต้องคลุกคลีกับผู้ประกอบอาชีพอันมิชอบ และคือ ทุคติภูมิ กล่าวคือ เป็นสัตว์
เดรัจฉาน เป็นเปรตอสุรกาย หรือต้องตกนรก) หรือหากเรายังไม่เชื่อเรื่องการ
เวียนว่ายตายเกิดหรือเรื่องสวรรค์นรกนัก ก็ไม่เป็นไร เพียงลองปฏิบัติตน
อยู่ในศีลในธรรม อยู่ในฆราวาสธรรม ทำบุญทำทานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ออกไป
บ้างตามโอกาสและกำลัง ก็จะมีเวลาปัจจุบัน มีชีวิตในปัจจุบันที่มีความสุข
ยิ่งขึ้นสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน

TopOfPage

คำว่า 'ผู้ปฏิบัติธรรม' และ 'การปฏิบัติธรรม' ไม่ใช่สิ่งยากและซับซ้อน

บางคนก็อยู่ทั้งสองทางคืออยู่ในโลก มีชีวิตแบบฆราวาส ในขณะเดียวกัน
ก็พยายามศึกษาและปฏิบัติกายและใจในอันที่จะเดินออกจากความทุกข์
ในวัฏฏสงสารไปด้วย นี่ก็เป็นไปได้ เพราะที่จริงธรรมะนั้นมีอยู่ในทุกสิ่ง
มีอยู่ในทุกอย่างมีอยู่ในทุกการเคลื่อนไหว ทุกการกระทำและทุกความคิด
หากทราบวิธีที่จะนำธรรมะมาใช้ (ซึ่งก็คือการฝึกมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมในทุก
ขณะจิต) ในชีวิตประจำวัน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าที่แท้จริง 'โลก'
ก็คือเรา คือ กายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกและใจ ของเราแต่ละคนนี้เอง
(อันนี้ หากได้ลองมาฝึกฝนกายและใจตามแนวสติปัฏฐานดู ก็จะสามารถ
เข้าใจแจ่มแจ้งได้ด้วยตนเองว่าทำไมพระพุทธองค์จึงทรงกล่าวไว้เช่นนี้)
ธรรมะก็อยู่ที่กายนี้ใจนี้ของเราแต่ละคนเอง ไม่ได้ไปอยู่ภายนอกที่ไหน
ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงบอกว่า เมื่อเราปฏิบัติธรรม (คือมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม)
กายเราก็เป็นวัด ใจเราก็เป็นวัด อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด อยู่ที่บ้านบ้านก็กลาย
เป็นวัด - โฮมเพจนี้จึงอยากจะขอเน้นว่า จะเป็นใคร จะอยู่ที่ไหน อายุ
เท่าไหร่ เพศอะไร เรียนมากหรือน้อย ร่ำรวยหรือจน หรือแม้แต่นับถือ
ศาสนาอะไรก็ตาม ไม่สำคัญหรือไม่เป็นอุปสรรคใดๆ เลยต่อการปฏิบัติ
ธรรม ขอให้มีแค่กายและใจ และมีความตั้งใจจริงเท่านั้นที่จะเอากาย
และใจของตนมาทดลองทำตามแนวธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้
ไม่ว่าเป็นใคร ถ้าทำถูกวิธี ก็จะเห็นผลได้เหมือนกันทั้งนั้น (ทั้งนี้เพราะว่า
ธรรมชาติ ธรรมะที่แท้จริง อันเป็นแก่นนั้น ไม่ผันแปร ใครได้เข้ามาสัมผัส
ได้เข้ามารู้ ก็จะรู้จะสัมผัสได้เหมือนๆ กัน อย่างเดียวกัน เป็นสิ่งเรียบง่าย
ที่สุด)

ดังนั้น ที่แท้จริงแล้ว คำว่า 'การปฏิบัติธรรม' หรือ 'ผู้ปฏิบัติธรรม' นั้นไม่ได้
เป็นสิ่งที่ยากหรือซับซ้อนอะไรเลย เป็นเพียงคำสมมุติที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียก
ให้เข้าใจได้ตรงกันว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไรเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนหรือ
อาศัยอุปกรณ์อะไรพิเศษราคาแพงหรือต้องอาศัยตำรายากลึกซึ้งประการใด
เลย ที่จริงเป็นสิ่งเรียบง่ายเพียงแค่การฝึกตนให้มีทาน มีศีล รู้จักการเจริญ
สมถวิปัสสนาภาวนา หรือตามธรรมอีกชุดก็คือ การเจริญศีล (การอยู่ในศีล)
การเจริญสมาธิ (ฝึกสมาธิ) การเจริญปัญญา (ฝึกสติปัฏฐานสี่และวิปัสสนา
กรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่) เท่านี้ เราก็สามารถทำงานไปด้วย มีชีวิต
ทางโลกไปด้วย หรือจะถือบวช สละเพศฆราวาส มุ่งปฏิบัติอย่างเข้มข้น
ก็ล้วนเป็นการปฏิบัติธรรม ล้วนนับเป็นผู้ปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น พาไปสู่การ
ค่อยๆ เกิดปัญญา จัดการกับปัญหาชีวิตปัญหาการงานแบบโลกๆ ได้
และค่อยๆ เกิดปัญญารู้เท่าทันและรู้แจ้งโลกรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง
อันนำพาไปสู่การลด-ละ-เลิก-การประหารกิเลสให้หมดไปได้จริงในที่สุด

TopOfPage

วิธีสังเกตธรรมที่แท้ ธรรมของแท้ควรเป็นอย่างไร

สมัยนี้เป็นยุคสมัยแห่งข้อมูล มีข้อมูลมากมายให้เลือกให้พิจารณา
รวมทั้งข้อมูลทางธรรมทั้งหมดใน easydharma นี้ ดังนั้น เพื่อสนับสนุน
ให้เข้ากับหลักกาลามสูตร จึงขอนำวิธีหรือแนวในการสังเกตว่าธรรมใด
น่าจะเป็นของแท้หรือเป็นของปลอมปนมาไว้ตรงนี้ โดยจะขอยก 'โคตมีสูตร'
มาขึ้นนำไว้ จากนั้นตามด้วยแนววิธีสังเกต ๑๖ ประการที่ได้เคยลอง
เรียบเรียงตั้งเป็นกระทู้เอาไว้ในห้องสนทนาธรรมมาเผื่อประกอบการ
พิจารณาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาอันเห็นชอบ
มีปัญญาเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยกันทุกท่านทุกคน

โคตมีสูตร: หลักว่าธรรมใดเป็นของแท้หรือเป็นของปลอม

ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า
อะไรไม่ใช่ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านก็หวั่นวิตกอยู่
พระองค์จึงได้วางหลักไว้ให้เราตัดสิน ที่เรียกว่า
หลักโคตมีสูตร เป็นหลักซึ่งเราควรจะนำมาใช้
ที่สุดในสมัยนี้ ว่าอะไรเป็นของแท้อะไรเป็นของปลอม
หลักที่พระพุทธเจ้าวางไว้มี ๘ ข้อด้วยกัน คือ

ธรรมเหล่าใด
-เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
-เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส
-เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่
-เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
-เป็นไปเพื่อความคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะ
-เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
-เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก

นั่นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า

แต่ถ้าหากว่าข้อปฏิบัติการกระทำ หรือคำสอนเหล่าใด
-เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัดย้อมใจ
-เป็นไปเพื่อคลายความทุกข์
-เป็นไปเพื่อไม่สะสมกองกิเลส
-เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลีกันเป็นหมู่คณะ
-เป็นไปเพื่อความขยันหมั่นเพียร
-เป็นคนเลี้ยงง่าย

นั้นเป็นธรรมเป็นวินัยของพระพุทธเจ้า

หลักนี้เราควรจะจำทีเดียว ก็เก็บไปติดไว้ในใจแล้วก็ดู
การกระทำ การพูด การปฏิบัติ หนังสือที่เราอ่าน ว่าสิ่งนั้น
เป็นธรรมเป็นวินัยหรือไม่ เอาแว่นแปดอันนี้ใส่ตาเข้า
แล้วก็ส่องดูเราก็เห็นได้ ว่าอันนั้นใช่ อันนั้นไม่ใช่
เพราะในสมัยนี้ครูมาก อาจารย์มาก แล้วครูอาจารย์
ส่วนมากก็มักจะชักนำลูกศิษย์ตามทางของตน
เพื่อประโยชน์อย่างโน้น เพื่อประโยชน์อย่างนี้
ถ้าหากว่าเราไม่มีแว่นกระจกไว้ส่องดูให้ดีๆ แล้ว
ความเข้าใจผิดก็อาจจะเกิดขึ้นแก่พี่น้องพุทธบริษัททั้งหลาย
ได้ง่ายเหลือเกิน จึงอยากจะขอฝากแนวคิดนี้ไว้ด้วย

จากหน้า ๗๙ - ๘๐
หนังสือ
'๙๐ ปี ปัญญานันทะ ๔๐ ปี วัดชลประทานรังสฤษฏ์'
โดย มูลนิธิภิกขุปัญญานันทะ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
พิมพ์เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

วิธีการสังเกตและข้อสังเกตธรรมแท้ๆ

เกริ่น

ยุคนี้ ครูบาอาจารย์บอกว่าเป็น 'วิมุตติยุค' คือเป็นยุคที่มีผู้มาบำเพ็ญเพียรสร้างบารมี
มา 'เติมน้ำ' ในภาชนะแห่งการพ้นทุกข์ ให้ค่อยๆ เต็มได้

ตราบที่พระพุทธศาสนายังประดิษฐานอยู่ ผู้คนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่ได้มุ่งมั่นจะ
ตรัสรู้ธรรมด้วยตนเอง ก็ยังคงมีที่พึ่งอันประเสริฐ แม้ว่า ณ วินาทีนี้ พระพุทธองค์ทรง
เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีองค์จริงๆ ให้เราได้กราบไหว้ ฟังพระธรรมจาก
พระโอษฐ์ หรือ กราบไหว้ถามไถ่ธรรม หรือทำบุญกับเนื้อนาบุญอันเป็นเลิศที่สุดก็ตาม

พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้แล้วว่า เมื่อเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ก็ธรรมทั้งหลายที่ได้
ทรงประดิษฐานสั่งสอนไว้ในระยะเวลานับแต่ตรัสรู้มานั่นเอง ที่จะเป็นผู้นำทางให้กับ
ผู้สนใจ ผู้มีศรัทธาอยากหาคำตอบให้กับชีวิต อยากหาทางออกจากทุกข์


อย่างไรก็ตาม แม้กาลเวลาจะผ่านมาสองพันกว่าปีแล้ว พระธรรมที่แท้ (ธรรม =
ธรรมะ = ธรรมดา = ธรรมชาติ) ก็ไม่ได้เปลี่ยนผันแปรไปตรงไหน แม้จะมีรายละเอียด
หรือศัพท์ที่ใช้เรียกต่างๆ กันไปบ้างมากหรือน้อยก็ตาม

ในสังคมยุคข้อมูลข่าวสารของเราๆ เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย
จนอาจเรียกได้ว่าข้อมูลล้น จากสื่อหลากหลายประเภท การจะเลือกเสพข้อมูลที่ดี
มีคุณภาพ เป็นข้อมูลที่จริงแท้และถูกต้อง เป็นเรื่องที่ยากเอาการอยู่ บางข้อมูลฟังดูดี
น่าเชื่อถือ แต่ก็อาจนำพาเราไปสู่ความรู้และความเชื่อความศรัทธาที่ไม่ตรงทาง
(คือ ไม่ตรงกับความเป็นจริงแท้ๆ ในธรรม ในธรรมดา ในธรรมชาติ)
อันนี้เป็นอันตรายมาก

การรู้ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเป็นอันตรายอย่างไร

เป็นอันตรายก็ตรงที่ ในทางธรรมนั้น การได้รับข้อมูลความรู้ที่ปัดเป๋ไปจากความ
เป็นจริงก็เหมือนเราเรียนหนังสือแล้วครูสอนว่าตัว A เรียกว่าตัว 'ที' เมื่อเรารู้ผิดๆ
รู้ไม่จริงว่าตัว A ก็คือตัว 'เอ' (อันนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น) เราก็จะ
รู้ผิดๆ เชื่อผิดๆ จะนำไปใช้อย่างผิดๆ สรุปสั้นๆ คือ เมื่อรู้ผิด รู้ไม่ตรง รู้ปัดเป๋
ไปจากความจริงแท้ คนเราก็จะเสี่ยงต่อการ คิดผิดรู้ผิด (ทางใจ) พูดผิด
แสดงธรรมผิดเพี้ยน (ทางวาจา) และลงมือกระทำหรือปฏิบัติต่างๆ ผิดๆ
ปัดเป๋ไปด้วย (ทางกาย)

ครูบาอาจารย์ จึงได้เน้นนักเน้นหนา ว่าในมรรค ๘ อันเป็นแนวทางสู่ปัญญาและ
การพ้นทุกข์นั้น ตัว 'สัมมาทิฏฐิ' (คือ การรู้ดี รู้ถูก เห็นดี เห็นถูก) เป็นตัวนำหน้า
เพราะเมื่อมีความคิดความรู้ความเห็นที่ดีที่ตรงและถูกต้องตามธรรมชาติจริงๆ
แล้ว สัมมาตัวอื่นๆ (สัมมา คือ โดยชอบ ดี ถูกต้อง ถูกถ้วน สมบูรณ์ จริง แท้) ก็จะ
ตามมาเอง เพราะเมื่อรู้ถูกคิดถูก ก็จะพูดถูก ปฏิบัติตัวถูกไปด้วยโดยความเป็นจริง
( มรรค ๘ ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ (๑) สัมมาสังกัปปะคือความ
ดำริชอบ (๑) สัมมาวาจาคือเจรจาชอบ (๑) สัมมากัมมันตะคือกระทำชอบ (๑)
สัมมาอาชีวะคือเลี้ยงชีพชอบ (๑) สัมมาวายามะคือพยายามชอบ (๑) สัมมาสติ
คือระลึกชอบ (๑) สัมมาสมาธิคือตั้งจิตมั่นชอบ (๑) )

ดังนั้น 'กาลามสูตร' ที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้เป็นสมบัติล้ำค่า พึงอ่าน พึ่งตริตรอง
พระสูตรอันนี้ไว้ให้เนืองๆ แนวคิดที่ฉลาดและเปิดกว้างที่สุดอันนี้ จะได้ติดตรึงอยู่ในใจ
ติดตามไปด้วยทุกภพทุกชาติที่ยังต้องเกิดอีก สั้นๆ คือพระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงบอก
ไว้ประเสริฐที่สุดแล้วว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ให้คิดพิจารณาและพิสูจน์ด้วยตนเองเสียก่อน
ให้แน่ใจจริงๆ แล้ว ค่อยเชื่อ

ขออนุญาตยกเอา 'กาลามสูตร' นี้ มาใส่ไว้ตรงนี้อีกที่หนึ่ง เพื่อให้กระทู้นี้
และทุกๆ กระทู้ ทุกๆ ความคิดคำพูดและการกระทำเป็นไปเพื่อการนำไปคิด
ตริตรองลองพินิจพิจารณาด้วยปัญญา แล้วจึงค่อยตัดสินใจเชื่อ

กาลามสูตร
(กาลามสูตร เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือ เกสปุตตสูตร)

สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะ
แห่งเกสปุตตนิคม ในแคว้นโกมล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ

๑.
มา อนุสสะเวนะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังบอกตามๆ กันมา
๒.
มา ปรัมปรายะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมาอย่างปรัมปรา
๓.
มา อิติกิรายะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
๔.
มา ปิฎกสัมปะทาเนนะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ คำว่า ปิฎก ในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เรา
เรียกว่าตำรา สำหรับพระพุทธศาสนา ก็คือ บันทึกคำสอนที่เขียนไว้ในใบลาน
เอามารวมกันไว้เป็นชุดๆ เรียก ไตรปิฎก
๕.
มา ตักกะเหตุ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยตรรก ด้วยการใคร่ครวญตามวิธีที่เรียกว่า ตรรกะ
เพราะว่าตรรกะก็ยังผิดได้ ในเมื่อเหตุผลหรือวิธีใช้เหตุผลมันผิดอยู่
๖.
มา นะยะเหตุ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอนุมาน ด้วยเหตุผลว่าสมเหตุสมผลทางนัยยะ
๗.
มา อาการะปะริวิตักเกนะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ด้วยการตรึกตามอาการ
คือ ตามความคุ้นเคย ด้วกยการคิดตามสบายใจ ที่เรียกกันสมัยนี้
ว่า common sense
๘.
มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน อย่าได้รับเอาเพราะว่าสิ่งนั้น
ทนได้ต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน ตัวเองมีทิฏฐิอย่างไร ถ้าเขามาสอนด้วย
คำสอนชนิดที่เข้ากันได้กับทิฏฐิของตัวเอง ก็อย่าเพิ่งถือเอา
เพราะว่าทิฏฐิของตัวเอง ก็ผิดได้
๙.
มา ภัพพะรูปะตายะ
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ เพราะเหตุว่าผู้พูดมีลักษณะ
น่าเชื่อถือ มีคำพูด มีลักษณะท่าทางที่น่าเชื่อ
๑๐.
มา สัมโณ โน คะรูติ
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล
มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

คำสอนทั้ง ๑๐ ข้อนี้ เรียกว่าเป็นเสรีภาพในการรับถือธรรมะ
มาเป็นที่พึ่งของตน

[รวบรวมมาจาก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับ ประมวลศัพท์
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
และ
พระบาลีกาลามสูตร
(คัดและย่อมาจากหนังสือการขุดเพชรในพระไตรปิฎก
โดย พุทธทาส อินทปัญโญ)
จากปกหลังหนังสือ พระศาสนา ๓ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชา]

ข้อสังเกตธรรมแท้ๆ

(ธรรมตรงนี้ ขอนิยามให้เข้าใจชัดเจนง่ายๆ ว่าคือ 'ความคิด คำพูดหรือ
การกระทำใดๆ ของใครก็ตาม')

(๑)
ธรรมแท้ๆ จะอยู่ในกรอบของศีลห้า
เบื้องต้นที่สุด การพิจารณาธรรมแท้ๆ (คือ ความคิด คำพูด การกระทำใดๆ ก็ตาม)
มีหลักให้ดูได้ง่ายๆ คือ ธรรมนั้นคือความคิดคำพูดหรือการกระทำนั้นๆ จะอยู่
ในหลักของศีลห้า คือ
ก. ธรรมแท้ๆ จะไม่มีการฆ่าฟัน ทำร้ายทำลายผู้หนึ่งผู้ใดสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ไม่ว่าทางกาย วาจาหรือใจ
ข. ธรรมแท้ๆ จะไม่มีการถือเอาสิ่งของของผู้อื่นผู้ใดมาเป็นเจ้าของโดย
ยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเสียก่อน
ค. ธรรมแท้ๆ จะไม่มีการประพฤติผิดในกาม คือ ล่วงละเมิดในภรรยา
หรือสามีของผู้อื่น
ง. ธรรมแท้ๆ จะสำรวมวาจาให้อยู่ในขอบเขต กล่าวคือ
- ไม่กล่าวคำเท็จให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน
- ไม่กล่าวยุยงส่อเสียดให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน
- ไม่กล่าวคำหยาบคายด่าทอให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน
- ไม่พูดเพ้อเจ้อโปรยประโยชน์ให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน
จ. ธรรมแท้ๆ จะไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องดองของเมาอันเป็นเหตุให้ขาดสติ
รวมทั้งขอแถมว่า ธรรมแท้ๆ ต้องอยู่ในสัมมาอาชีวะคือมีอาชีพที่ชอบ โดย
พยายามหลีกเลี่ยงการประกอบมิจฉาอาชีพที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ ๕ อย่าง
คือ ขายสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่า (๑) ขายมนุษย์ (๒) ขายอาวุธ (๓) ขายยาพิษ (๔)
ขายสุราและดื่มสุรา (๕)

หากพิจารณาแล้วความคิด คำพูดหรือการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ออกไปนอก
ขอบเขตของศีลห้าดังกล่าวมาโดยละเอียดข้างบนนี้แล้ว ธรรมนั้นๆ ก็น่าจะเป็น
ธรรมที่อยู่ในธรรม น่าจะจัดเป็นธรรมแท้ๆ ได้

(๒)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อความสุข ทั้งสุขทางโลกและสุขทางธรรม
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อความสุข อันนี้หมายความว่า ธรรมแท้ๆ เมื่อคิดหรือทำหรือพูด
ล้วนแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปัญญา ในทางที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถอยู่
ร่วมกันด้วยดี ธรรมแท้ๆ ของโลก เมื่อคิดหรือพูดหรือปฏิบัติแล้ว ก็จะทำให้อยู่ร่วมกัน
ในโลกได้อย่างสันติสุข เจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน ไม่เบียดเบียนกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
แบ่งปัน พยายามเข้าใจและอะลุ่มอล่วยต่อกันและกัน การรู้จักอยู่ร่วมกันอย่างมีศีล
การรู้จักเสียสละด้วยการทำบุญทำทานบริจาคต่างๆ นอกจากนี้ ในทางธรรม
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อการเข้าใจในโลก เข้าใจในธรรมชาติ เข้าใจในทุกข์ เข้าใจ
ในพระไตรลักษณ์ (คือ ความไม่เที่ยงหรืออนิจจัง ความเป็นทุกข์ของทุกสิ่งทุกอย่าง
หรือทุกขัง ความไม่เป็นของๆ ใคร ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครหรือผู้หนึ่งผู้ใด
ของสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งปวงคืออนัตตา) รู้วิธีออกจากทุกข์ และ รู้จักปฏิบัติตัว
ปฏิบัติกายและใจเพื่อมุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์หรือพระนิพพาน

(๓)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อการเกิดปัญญา
กล่าวคือ ธรรมแท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิด คำพูดหรือการกระทำใดๆ เมื่อออกมาแล้ว
จะเป็นไปด้วยปัญญา คือ คิดด้วยปัญญา คิดอย่างเป็นกลาง อย่างอิงเหตุอิงผลแท้ๆ
พูดด้วยปัญญาและทำด้วยปัญญา ธรรมแท้ๆ จะเปิดกว้างเสมอ พร้อมที่จะพูดคุย
ถกเถียงและรอให้พิสูจน์ได้เสมอ และในทางตรงกันข้าม หากธรรมคือความคิดคำพูด
หรือการกระทำใดๆ ปิดกั้น บังคับ ให้รู้สึกอึดอัดคับแคบ ธรรมนั้น ไม่น่าจะใช่ธรรมแท้ๆ

(๔)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียน
ธรรมคือความคิดคำพูดและการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่เป็นธรรมแท้ๆ จะเป็นไปเพื่อการ
ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายทำลายใครทั้งตัวเองและผู้อื่น เสมอ แม้แต่เพียงน้อยนิด
ธรรมอันใด มุ่งกระทำด้วยจิตคิดจะทำร้ายทำลาย มุ่งพูดเพื่อประหัตประหารน้ำใจ
มุ่งกระทำการเพื่อให้เกิดทุกข์ภัยแก่ผู้อื่นสิ่งอื่นหรือแก่ตนเองก็ตาม
ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๕)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อการหาเหตุผล การพินิจพิจารณา
กล่าวมาแล้วในข้อต้นๆ แต่ขอแยกข้อนี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ธรรมแท้ๆ นั้น เปิดกว้างอยู่เสมอ
รอให้พิสูจน์รสแห่งธรรมเสมอ อาทิเช่นมีผู้กล่าวว่าการให้มีผลเป็นสุข จริงหรือไม่ ก็ต้อง
ลองหัดเป็น 'ผู้ให้' ดูเอง เมื่อได้ให้แล้วก็จะรู้และได้ลิ้มรสชาติแห่งความสุขจากการ
เป็นผู้ให้เอง อย่างนี้เป็นต้น

(๖)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปด้วยความเมตตา
(ความเมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรี
และคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า) กล่าวคือนอกจากความคิดคำพูดหรือการ
กระทำใดๆ จะอยู่ในศีล ประกอบด้วยปัญญาอยู่เนืองๆ แล้ว ความคิดคำพูดหรือ
การกระทำใดๆ ที่เป็นธรรมแท้ๆ เป็นธรรมดาอันควรจะเป็นของสรรพสิ่ง จะประกอบ
และเปี่ยมไปด้วยความเมตตาอยู่เสมอ ผู้พูดผู้คิดผู้ทำเมื่อได้พูดหรือคิดหรือกระทำ
สิ่งนั้นๆ ลงไปแล้ว ก็เกิดความแจ่มใส สบายใจ เกิดเมตตา ผู้ได้ยินได้ฟังได้รับหรือ
สัมผัสธรรมคือความคิดคำพูดหรือการกระทำนั้นๆ ก็จะเกิดความอบอุ่น สบายใจ
รู้สึกได้ถึงเมตตาที่แผ่ออกมา ดังนั้น ในทางตรงกันข้ามหากธรรมคือความคิดคำพูด
หรือการกระทำใดๆ ก็ตาม เป็นไปด้วยโทสะจริต ว่ากล่าวหยาบคายจาบจ้วง รุนแรง
ด้วยอารมณ์ หรือว่ากล่าวอย่างไร้เหตุผลเต็มไปด้วยโมหะ ได้ยินได้ฟังได้พบได้เห็น
แล้วพาให้รู้สึกอึดอัด สับสน ไม่สบายกายไม่สบายใจ ธรรมนั้นๆ ก็ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๗)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปด้วยความกรุณา
นอกจากธรรมแท้ๆ จะประกอบไปด้วยเมตตาแล้ว ธรรมแท้ๆ ยังจะเปี่ยมไปด้วย
ความกรุณา (ความกรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันที่จะ
ปลดเปลี้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์) กล่าวคือ ความคิดคำพูด
หรือการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นไปด้วยความสงสาร ไม่เป็นไปด้วยการคิดช่วยให้
ผู้อื่นได้พ้นทุกข์ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม ธรรมนั้นๆ ก็ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๘)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปด้วยมุทิตาจิต
มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการ
แช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วย
เมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป กล่าวคือ ธรรมแท้ๆ นั้นมีแต่ความยินดี
จะเป็นคำพูดความคิดหรือการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยความยินดี การอนุโมทนา
ในปกติสุขและความสุขความยินดีในเรื่องดีๆ ที่ถูกที่ควรของผู้อื่นเสมอ

(๙)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปด้วยอุเบกขา
อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง มีจิตเรียบตรงและเที่ยงธรรมดุจตราชั่งอยู่เป็นนิจสิน
ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉย
สงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ กล่าวคือ ธรรมแท้ๆ นั้นเที่ยงตรง ไม่โอนเอียง
ไม่ลำเอียง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งทางคำพูดความคิดและการกระทำ รวมทั้งธรรมแท้ๆ
จะรู้จักวางเฉย รู้จักสงบใจ ในกิจที่ไม่สมควรลงไปพูดคิดหรือกระทำใดๆ

(๑๐)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปด้วยความเป็นกลาง ไม่เลือกเขาเลือกเรา
ไม่แบ่งพรรคพวกฝักฝ่าย
กล่าวคือ ธรรมแท้ๆ นั้นจะเหมือนตาชั่งที่ตรงอยู่เสมอ เป็นกลางอยู่เสมอ รักและเมตตา
เสมอกัน ไม่โอนเอนไปทางผู้หนึ่งผู้ใด ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เห็นเสมอกันว่าสรรพสิ่ง
สรรพสัตว์ล้วนเป็นผู้ร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเสมอ ดังนั้น ในทางตรงกันข้าม
ความคิดคำพูดและการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นกลาง เลือกเขาเลือกเรา แบ่งแยกออกเป็น
พวกนั้นพวกนี้ ธรรมนั้น ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๑๑)
ธรรมแท้ๆ ประณีต
กล่าวคือธรรมคือความคิดคำพูดและการกระทำใดก็ตามที่เป็นธรรมแท้ๆ
ย่อมเป็นไปด้วยความประณีตอ่อนโยน กล่าวคือ คิดพูดและกระทำอย่างประณีต
ละมุนละไมเสมอ จะคิดก็ประณีต จะพูดก็พูดอย่างประณีตละเมียดละไม จะทำก็ทำ
อย่างประณีตอ่อนโยน คำพูดความคิดการกระทำจะเปี่ยมด้วยเมตตา เปี่ยมด้วย
ปัญญา เปิดกว้างให้โอกาสได้คิดได้เลือกเสมอ ผู้ได้สัมผัสได้ยินได้ฟังจะเกิดความ
สบายใจ เห็นและเข้าใจและสามารถสัมผัสรสอันประณีตอ่อนโยนมีเหตุผล
ของความคิดคำพูดและการกระทำอันเป็นธรรมนั้นได้

(๑๒)
ธรรมแท้ๆ ก่อให้เกิดความสบายใจ ไม่มัวหมอง
ธรรมแท้ๆ นั้นผู้คิดผู้พูดผู้กระทำได้คิดหรือพูดหรือกระทำลงไปแล้วก็จะเกิดความผ่องใส
สบายใจ อิ่มเอิบใจ ผู้ได้สัมผัสได้ยินได้ฟังหรือได้รับรสธรรมนั้นๆ ก็จะเกิดความรู้สึก
ในทำนองเดียวกันคือผ่องใส สบายใจ อิ่มเอิบใจ กระจ่างแจ้ง
ในทางตรงกันข้าม ธรรมคือความคิดคำพูดการกระทำใดๆ ก็ตาม คิดแล้ว
พูดแล้วทำแล้วหรือได้สัมผัสได้ฟังแล้วไม่สบายใจ ขัดข้อง มัวหมอง
พิศวงงงงวยไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ธรรมนั้นๆ ก็ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๑๓)
ธรรมแท้ๆ สวยงามจรรโลงใจ
ธรรมคือความคิดคำพูดหรือการกระทำใดๆ จรรโลงใจ คิดทำและพูดแล้ว
เกิดปัญญา สร้างสรรค์ เปิดกว้างให้คิดพิจารณาต่อได้หรือสรุปเห็นทาง
ออกที่สวยงามจรรโลงใจได้ ธรรมนั้นก็เป็นธรรมแท้ๆ

(๑๔)
ธรรมแท้ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน
ธรรมแท้ๆ นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขทั้งของผู้อื่นและของตน กล่าวคือ
ธรรมแท้ๆ นั้นคิดหรือพูดหรือกระทำแล้วจะเกิดสุขเกิดประโยชน์ ไม่เป็นโทษทั้งกับ
ผู้คิดผู้พูดผู้กระทำและกับผู้ได้สัมผัสได้ยินธรรมนั้นๆ ดังนั้น ในทางตรงกันข้าม
ธรรมคือความคิดคำพูดหรือการกระทำใดๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ มุ่งทำร้ายทำลายประโยชน์
อันดีอันประเสริฐแล้วอันชอบแล้วของผู้หนึ่งผู้ใดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม
ธรรมนั้นก็ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๑๕)
ธรรมแท้ๆ ไม่ประกอบด้วยอารมณ์ด้านลบทั้งปวง
กล่าวคือความคิดคำพูดและการกระทำใดที่เป็นธรรมแท้ๆ จะไม่ประกอบไปด้วยอารมณ์
(คือไม่มีการใส่อารมณ์ด้านลบ ไม่มีเจตนาในด้านลบ) ไม่ประกอบไปด้วยหรือไม่เป็นการ
มุ่งติฉิน นินทา ว่าร้าย ให้ร้าย ให้โทษกับใครผู้หนึ่งผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น
ดังนั้น ธรรมใดคิดแล้วทำแล้วหรือพูดแล้วอันล้วนประกอบไปด้วยอารมณ์ความคิด
ทัศนคติด้านลบ หรือ ประกอบไปด้วยเจตนาให้ร้ายให้โทษใดๆ แม้แต่น้อยนิด
ธรรมนั้นๆ ก็ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ

(๑๖)
ธรรมแท้ๆ เย็นฉ่ำสบายใจ ไม่เร่าร้อน
กล่าวคือ ธรรมคือความคิดคำพูดหรือการกระทำใดๆ ผู้กระทำทำแล้วหรือผู้รับ
ผู้ได้ยินได้ฟังได้สัมผัสธรรมนั้นๆ เกิดความร้อนใจ เป็นทุกข์ กระสับกระส่าย
ร้อนรน ด้วยประการใดๆ ธรรมนั้นๆ ก็ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ และในทางตรงกันข้าม
หากธรรมคือความคิดคำพูดหรือการกระทำใดๆ ได้กระทำด้วยกายวาจาหรือใจ
ก็ดีหรือผู้ได้สัมผัสธรรมนั้นๆ ก็ดี แล้วเกิดความเย็นชุ่มฉ่ำสบายใจ เย็นใจ
ไม่เร่าร้อน ธรรมนั้นๆ ก็น่าจะเป็นธรรมแท้ๆ

ปิดท้าย

ก็เป็นอันว่าจบวิธีและแนวทางสำหรับการลองนำไปใช้พินิจพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ความคิดหนึ่งความคิดใด คำพูดหนึ่งคำพูดใด และ การกระทำหนึ่งการกระทำใดๆ
ก็ตาม สามารถลองใช้แนวทางเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยคิด ช่วยพิจารณาด้วยตนเองได้

ข้อคิดทั้ง ๑๖ ข้อนี้ สามารถใช้พิจารณาได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
เพราะโดยแก่นแท้แล้วทางโลกหรือทางธรรมก็ล้วนเป็น 'ธรรม' คือเป็น
ธรรมะ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ อยู่ในตัวเสมออยู่แล้ว จึงสามารถ
เอาหลักเหล่านี้มาควบเข้ากับกาลามสูตรที่ได้ยกมาไว้ข้างบนแล้ว
มาจับได้เสมอ

บุญกุศลอันใดที่ได้จากการพยายามวิเคราะห์เพื่อให้มีหลักในการสามารถ
เข้าใจธรรมแท้ๆ สามารถเลือกคัดด้วยตนเองได้ว่าธรรมใดๆ ที่มีแสดงอยู่เมื่อไหร่
ที่ไหนโดยใครก็ตาม เป็นธรรมแท้ๆ หรือไม่ ควรค่าแก่การอ่าน ฟังหรือควรค่า
แก่การรับมาพิจารณาหรือไม่ เป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่ บุญกุศลเหล่านี้ขอเราทุกคน
มาอนุโมทนาร่วมกัน ขอให้เราทุกคน สรรพสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์
เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ได้รีบมาพบพระพุทธศาสนา ได้เข้าถึงแก่น
แห่งพระพุทธศาสนาคือพระธรรมอันบริสุทธิ์ ได้มีโอกาสรู้และเข้าใจธรรม
อย่างเป็นสัมมาทิฏฐิ ได้มีปัญญารู้แนวทางในการเลือกสรรที่จะเชื่อจะศรัทธา
ข้อธรรมใดๆ ก็ตามได้ถูกต้องและตรงทางอันเป็นสัมมา และ ได้มุ่งจะสร้าง
ปัญญาในธรรมแท้ๆ ให้เกิดแก่ตนและผู้อื่น เพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด
อย่างกอปรด้วยปัญญา สมบูรณ์ไปด้วยอายุวรรณะ สุขะ พละ ปราศจากโรคภัย
อันตรายทั้งปวง ได้มีโอกาสสร้างทานบารมี ศีลบารมี และภาวนาบารมี ให้ยิ่งๆ
เพื่อประโยชน์สูงสุดคือการได้ไปถึงซึ่งการพ้นทุกข์คือพระนิพพานในอนาคต
อันใกล้ที่สุดตามสมควรแก่บารมีของตน ด้วยกันทุกรูปทุกนามด้วยเทอญ

TopOfPage
MainPage

 

เจริญในธรรม
ผู้จัดทำ easydharma ( deedi )
| deedi_deedi@email.com |