- แ น ะ นำ ห นั ง สื อ สำ ห รั บ ผู้ เเ ริ่ ม ต้ น -
- เ พื่ อ ค ว า ม เ ข้ า ใ จ ใ น แ ก่ น ข อ ง ธ ร ร ม -

( หนังสือทั้งหมดที่แนะนำ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป )

เพื่อปูพื้นทางพระพุทธศาสนาและพื้นฐานแก่นธรรมะ

                      ๑)
                      พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน
                      โดย อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
เล่มนี้แนะนำเพราะว่าเป็นการปูพื้นฐานให้เห็นภาพโดยรวมของ เนื้อหาทั้งหมดในพระไตรปิฎกอันประกอบไปด้วยพระธรรมจำนวน ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เห็นภาพรวมของหลักพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรมอันเป็นสามส่วนใหญ่ๆ ที่ประกอบกัน เป็นพระไตรปิฎก กว้างๆ แต่ครอบคลุมเนื้อหาพระไตรปิฏก ทั้ง ๓ พระปิฎกคือ พระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรม เอาไว้สำหรับ เมื่อต้องการอ่านลึกๆ ตรงไหนก็ค่อยไปหาเอาเพิ่มเติม

                      ๒)
                      พุทธธรรม
                      โดย พระธรรมปิฎก (ปอ. ปยุตโต)
เล่มนี้ความจริงอยากแนะนำให้อ่านเป็นอันดับแรก เพราะว่า เป็นเนื้อหาธรรมะแท้ๆ ในแก่นแห่งธรรม เพื่อความเข้าใจในเรื่องราวแก่นของพระพุทธศาสนา ที่ว่าด้วยขันธ์ห้า เรื่องทุกข์ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา และทุกเรื่องที่จำเป็นต่อความเข้าใจเบื้องต้น อยากแนะนำให้เริ่มที่บทแรกคือขันธ์ห้าก่อน จากนั้นค่อยเลือกอ่านส่วนต่างๆ ตามหัวข้อที่สนใจไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเรียงลำดับ ก็จะสามารถ ค่อยๆ เห็นภาพที่ชัดเจนของธรรมะได้ค่ะ เมื่อสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไร มาเปิดหาอ่านไปได้เรื่อยๆ ลึกซึ้งไปด้วยธรรมะแท้ๆ และกว้างขวางครอบคลุม ธรรมสำคัญๆ ทั้งปวง ทั้งยังใช้ภาษาและสำนวนง่ายๆ ให้คำอธิบายขยายความไว้ละเอียดจุใจ

                      ๓)
                      พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
                      โดย พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) หรือก็คือพระธรรมปิฎก
นั่นละค่ะ เล่มนี้ มีหัวข้อธรรมะที่ล้วนเป็นหลักธรรมทั้งสิ้น อ่านแล้วจะได้ภาพที่ชัดเจน ไปอ่านธรรมะอื่นๆ ที่ไหนก็ สามารถเข้าใจได้ว่าศัพท์หรือหัวข้อธรรมะนั้นๆ หมายถึงอะไร พูดถึงอะไร มีหลักๆ อย่างไร ฯลฯ เมื่อติดข้อธรรมใดๆ ก็หาอ่านได้ จัดไว้เป็นหมวดหมู่ เหมาะแก่การทำความเข้าใจเบื้องต้นในข้อธรรม ที่เป็นหมวดหมู่ทั้งหลาย

                      ๔)
                      พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
                      โดย พระธรรมปิฏก
เล่มนี้ มีศัพท์หลักๆ ในธรรมะ อ่านแล้วจะทำให้เข้าใจภาษาธรรมได้ชัดเจนขึ้น เพราะว่า บางทีศัพท์คำเดียวกัน แต่ทางธรรมกับที่ใช้ในทางโลก เป็นคนละความหมายกันไปเลย อาทิ คำว่า 'วาสนา' เป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อติดศัพท์ใด ก็มาอ่านหา ความหมายได้ตลอด มีประโยชน์มาก

ที่แนะนำมานี้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องหนักๆ ทั้งสิ้น แต่ความจริง ค่อยๆ หามาอ่านไปเรื่อยๆ หรือจะเลือกเปิด อ่านตรงที่สนใจก่อน ไล่ไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เห็นภาพรวมที่ชัดเจน เมื่อเราเข้าใจหลักๆ แล้ว จับหลักโดยรวม หรือจับแก่นของธรรมพอได้แล้ว พอไปฟังธรรมหรือไปอ่านธรรมะที่ไหน ก็คงเข้าใจได้ ง่ายขึ้นค่ะ ที่แนะนำมาทั้งสี่เล่ม ล้วนเป็นหนังสือที่ ทำมาให้อ่านเข้าใจง่ายๆ อยู่แล้ว จึงเหมาะกับผู้เริ่มต้น และมุ่งจะศึกษาและทำความเข้าใจกับธรรมะแท้ๆ ดิฉันเองเริ่มจาก 'พุทธธรรม' ค่ะ :) หัวข้อ 'ขันธ์ห้า' นี่แหละค่ะและได้อะไรมากมายจากตรงนั้น

หมายเหตุ
สำหรับบนอินเทอร์เน็ต
สามารถศึกษาพระสุตตันตปิฎก online
สามารถอ่านพระสุตตันตปิฎกแยกตามหัวข้อ เป็นลำดับขั้นอย่างละเอียด พร้อมระบบค้นหาแบบหลาย keyword
ค้นพระไตรปิฎก online
สามารถค้นหาได้จากพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม
ค้นพจนานุกรมพุทธศาสตร์
จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
ได้ที่เว็บบอร์ด ลานธรรม ค่ะ

| deedi_deedi@email.com |