.......................................   ..,,,,,,............
 

แฟรนไชส์เพื่อคนทำความดี


ประเทศของเรามีคนดีที่ยากจนอยู่อีกมากในสังคม หลายครั้งหลายหนเมื่อเราได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขา เราก็รู้สึกชื่นชมว่าภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นลำเค็ญ แต่คนเหล่านั้นยังคงรักษาซึ่งเนื้อแท้ของความดีในตัวตนอยู่ได้


ผมคิดว่าคนที่ทำความดีเช่นนี้ สังคมของเราควรจะต้องหันมาช่วยเหลือและยกย่อง ให้พวกเขาหลุดพ้นจากความลำบากที่พวกเขาเผชิญ และให้ความดีเช่นที่พวกเขาทำได้ปรากฏให้เป็นแบบอย่างในสังคม


ด้วยความดีที่พวกเขามี ถ้าเราให้โอกาสพวกเขาได้เติบโต พัฒนาความรู้ความสามารถ ผมเชื่อว่าในวันข้างหน้า นอกจากพวกเขาจะช่วยเหลือตนเองให้อยู่รอดแล้ว พวกเขาจะดูแลครอบครัวและสังคมเป็นอย่างดีอีกด้วย


วันนี้เรามีหลายองค์กร หลายกลุ่ม หลายคน คอยช่วยเหลือดูแลคนดีเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว แต่โดยส่วนตัวของผมคิดว่า ผมน่าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อพวกเขาได้เช่นกัน ถ้าผมมีโอกาสและศักยภาพเพียงพอ ผมก็เลยคิดโครงการ "แฟรนไชส์เพื่อคนทำดี"ขึ้นมา สิ่งที่ผมคิด อาจดูเหมือนสิ่งที่โครงการอื่นๆ ที่มีคนทำมาบ้างแล้ว แต่ผมเชื่อว่าผมได้เพิ่มแนวคิดบางอย่างเข้าไป เพื่อให้โครงการที่ทำเกิดประสิทธิภาพ มันอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ซึ่งผมก็พร้อมจะรับฟังคำแนะนำเพื่อให้โครงการนี้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา


แนวคิดของ แฟรนไชส์คนดี นี้มาจากสิ่งที่ผมยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองอยู่ ผมมีประกอบอาชีพขายขนมอบ เช่นเค้ก,ขนมปังฯลฯ มานับสิบปี แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆแต่ก็เป็นธรกิจที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ และผมเชื่อว่าประสบการณ์ที่สั่งสมมา ผมสามารถทำขนมบางอย่างได้ดีแบบที่เรียกได้ว่า "ไม่ด้อยกว่าคนอื่นในอาชีพเดียวกัน"


มีหลายครั้งที่ผมดูทีวี และได้เห็นเรื่องราวของผู้ที่มีสำนึกดี ยอมลำบากเพื่อครอบครัว แม้ว่าตัวเองจะสามารถหาความสบายส่วนตัวได้ แต่ก็ไม่ทำ.. บางคนไปทำงานรับจ้างเหนื่อยแสนเหนื่อยแต่ก็ได้ค่าแรงมามากสุดไม่ถึงสองร้อยต่อวัน อาจเพราะว่าพวกเขาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ, เป็นผู้หญิง, เป็นเด็กไม่ก็เป็นคนทุกคลภาพ ค่าแรงที่ได้จึงน้อยอย่างที่เห็น

แต่ไม่ว่าจะด้วยสามาเหตุเช่นไร รายได้ที่น้อยนิดเช่นนี้ ทำให้พวกเขายากที่จะหลุดพ้นจากวังวนแห่งความยากจนนี้ได้
สิ่งนี้ทำให้ผมเกิดความคิดว่า ถ้าเพียงแต่พวกเขามีความรู้อย่างผม พอมีเครื่องไม้เครื่องมือ พอมีทุนอยู่บ้าง พวกเขาน่าจะสร้างรายได้หาเลื้ยงครอบครัวได้ไม่ยาก ไม่น่าจะต้องมาลำบากเช่นนี้


ตัวผมเองถ้าจะทำบางอย่างเพื่อช่วยพวกเขาได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องความรู้ในการประกอบอาชีพ ถ้ามีโอกาสผมยินดีจะสอนและเป็นพี่เลี้ยงให้จนกว่าพวกเขาจะทำได้ (โดยที่ผมยังจะสามารถดูแลครอบครัวได้ และไม่กระทบกับหน้าที่ที่ผมต้องรับผิดชอบดูแลจนเกินไปนัก) ส่วนเรื่องอุปกรณ์และเรื่องทุน ตรงนี้เกินความาสามารถของผม ก็คงต้องหาผู้ที่พร้อมจะสนับสนุน สิ่งที่ต้องคิดขั้นต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรให้เกิดกลุ่ม,เกิดองค์กรเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้พวกเขามีอาชีพเป็นของตัวเอง พึ่งตนเองได้จะได้หลุดพ้นจากความลำบากอย่างถาวร โดยใช้ทุนต่างๆสนับสนุนให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด


เพื่อที่จะมีผู้สนับสนุนโครงการ ผมจึงเสนอร่างแนวคิด เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆว่า กิจกรรมในโครงการจะทำอะไรและอย่างไรบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการนี้จะเข้ามาช่วยกันตรงไหนอย่างไร
โดยเคร่าๆที่ผมคิดเอาไว้คือ ต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่า โครงการที่จะทำนี้จะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง
* ผู้ที่เป็นคนดีที่ขาดโอกาสในสังคม ได้รับโอกาสในการสร้างอาชีพ
* สังคมได้มีโอกาสช่วยสนับสนุนคนดี
* สังคมได้บุคคลตัวอย่างที่ทำความดี

โดยวิธีการทำงาน จะไม่เหมือนรูปแบบการช่วยเหลือเดิมๆ กล่าวคือต้องมีกลไกที่ชัดเจนสำหรับตรวจสอบประเมินผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวว่า ผู้ที่รับการช่วยเหลือ นำความรู้ที่ได้จากการฟื้นฟูอาชีพไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่,มีปัญหาจากการประกอบอาชีพหรือเปล่า,รักษาความดีที่ตนมีอย่างต่อเนื่องหรือไม่


กลวิธีที่ผมว่าน่าจะนำมาใช้คือ ปรับเปลี่ยนจากการให้เปล่ามาเป็นให้ยืม โดยให้โอกาสผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือในการมีเครื่องมือในการทำกิน มีเงินทุนกู้ยืมโดยใช้(หลักทรัพย์)ความดีในตัวเป็นสิ่งค้ำประกัน ระยะเวลาในการใช้คืนเงินทุนก็ตามแต่ความสามารถในการใช้คืน โดยดูจากภาระทางการเงินของผู้รับการช่วยเหลือเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การที่กำหนดให้เป็นการให้ยืมแทนการให้เปล่าก็เพราะ ความสม่ำเสมอในการผ่อนชำระ จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมีปัญหาที่เราต้องเข้าไปช่วยเขาจัดการหรือไม่ เช่นปัญหาในการผลิต ปัญหาจากค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้นฯลฯ


หัวใจของความสำเร็จในการสร้างอาชีพที่ทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้นก็คือ ให้อาชีพที่พวกเขาสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง ลดการสูญเสียเงินทุนจากการลองผิดลองถูกระหว่างการผลิตและการขาย นั่นคือต้องสอนอาชีพพวกเขาให้เกิดความเชี่ยวชาญสามารถผลิตสินค้าออกมาได้มาตรฐาน มีกลไกสนับสนุนการขาย และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้พวกเขาจนแน่ใจว่าพวกเขามีช่องทางการตลาดที่สามารถจะขายสินค้าได้รายได้ตามเป้า


เมื่อดูจากวิธีปฏิบัติก็จะเห็นว่า วิธีนี้เหมือนกับเราทำแฟรนไชส์ทั่วๆไป ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในกรณีนี้ก็คือผู้ที่เราต้องการจะสร้างอาชีพให้ บริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ก็คือผู้ที่ทำโครงการ ประโยชน์จากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ก็จะเหมือนกับประโยชน์ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับ อาทิเช่น


* ได้รับความรู้ในการประกอบกิจการ เช่นการเลือกซื้อวัตถุดิบ,การผลิต,การขาย การทำบัญชีฯลฯ
* มีเจ้าของแฟรนไชส์เป็นพี่เลี้ยงระหว่างการประกอบกิจการ เป็นการลดความเสี่ยงจากการขาดทุน
* ได้รับความช่วยเหลือในการทำประชาสัมพันธ์ตัวสินค้าจากเจ้าของแฟรนไชส์
* ได้รับอุปกรณ์การผลิตและการจำหน่าย


สิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์(ในกรณีนี้คือผู้ที่ได้รับการสร้างอาชีพ)จะต้องให้กับโครงการ
* ชำระค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้จากโครงการ


สิ่งที่ได้ประโยชน์จากการประกอบอาชีพจากระบบแฟรนไชส์ที่สำคัญก็คือ ลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเนื่องมาจากความไม่ชำนาญในการทำอาชีพใหม่ ซึ่งผมคิดว่าความไม่ชำนาญนี่แหละ ที่ทำให้การฟื้นฟูอาชีพที่เคยทำๆกันอยู่ล้มเหลว ตัวชี้วัดที่บอกได้คือ จำนวนผู้ที่ได้อาชีพใหม่แล้วทำไปไม่นาน ก็เกิดการขาดทุนจนต้องหาเปลี่ยนอาชีพกันอีก


ตรงนี้ผมต้องเน้นให้เข้าใจตรงกันว่า ถึงจะเป็นรูปแบบแฟรนไชส์และมีการชำระคืนเงินที่ใช้เป็นเงินทุนและอุปกรณ์คืน แต่จากหลักการและแนวคิดที่โครงการนี้ ไม่ได้เป็นกิจการเพื่อหาผลประโยชน์ สิ่งที่ผมยึดเป็นเป้าหมายคือ


1.ให้โอกาสกับผู้ที่ทำความดีได้เป็นต้นแบบของสังคม สิ่งเร่งด่วนที่เราต้องหันมาดูแล ผมคิดว่าไม่เพียงเฉพาะคนทำความดีที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ แต่สังคมไทยเองที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนต้นแบบที่ดี ก็จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาอีกด้วย ซึ่งการที่เราจะสามารถนำเรื่องราวความดีที่เกิดขึ้นในจุดเล็กๆของสังคม มาขยายให้เกิดการรับรู้แก่สังคมในวงกว้าง น่าจะช่วยสร้างแบบอย่างให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าของการกระทำความดีนั้นป็นสิ่งที่สังคมให้การยกย่อง


2. ผู้ที่ทำดีมีโอกาสรับการสนับสนุนจากสังคม ถ้าเราจะถือเอาว่าความดีเป็นสิ่งมีค่า คนที่ทำความดีก็ควรนับว่าเป็นสิ่งมีค่าด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม สมควรที่เราจะต้องรักษาเอาไว้ และการที่เราได้มีโอกาสสนับสนุนคนดีให้ได้มีโอกาสทำความดีต่อไปได้ น่าจะนับได้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคม


3.ผู้ที่ทำความดีได้มีช่องทางช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า การช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ด้อยกว่าเราตามศักยภาพที่เรามี สิ่งนี้ช่วยสร้างโลกให้น่าอยู่ ถ้าเราจะพิจารณาว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือในโครงการนี้ วันหนึ่งเมื่อพวกเขาได้รับอาชีพใหม่จนมีรายได้เพียงพอที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากเดิมได้แล้ว

เงินที่เหลือจากเงินออมบางส่วนของพวกเขาจะกลับคืนเข้าสู่โครงการ เพื่อที่จะช่วยคนดีคนอื่นที่ต้องการอาชีพ และเมื่อพวกเขาเกิดความชำนาญในการทำงานมากขี้นแล้ว พวกเขายังสามารถนำความรู้ที่ได้มาสอนคนอื่นได้อีกด้วย เป็นการสร้างเครือข่ายความดี จากผู้ที่เคยรับมาเป็นผู้ให้ นั่นก็คือผู้ที่เป็นคนดีมีโอกาสช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่านั่นเอง
จากหลักการแนวคิดและกิจกรรมในโครงการที่ผมเสนอมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มาจากเจตนาของผม ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังความสามารถที่ตนเองมี เพราะเชื่อว่า เมื่อคนเราเกิดมาแล้วสมควรทำหน้าที่ต่างๆที่ตนเองมีให้ดีที่สุด และการแทนคุณแผ่นดิน ก็เป็นสำนึกอีกสิ่งหนึ่งที่ผมมีด้วยเช่นกัน


ถ้าท่านเอยากจะช่วยกันกับผม สิ่งที่ท่านจะสามารถทำได้คือ
เสนอความคิดเห็นของท่านเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆในโครงการ หรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการทำกิจกรรมต่างๆที่จะมีในอนาคต