มาลาเรีย : มหันตภัยร้ายของไก่ชน

โดย  ธเนศร์  บุญตาแสง

jom.tha@chaiyo.com

....................................................................................................................................

                พอหน้าฝนคืบคลานเข้ามาเยือน  นับเป็นฤดูกาลที่ธรรมชาติได้คืนความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดินอีกครั้งหนึ่งในรอบปี  การสับเปลี่ยนฤดูเช่นนี้เท่ากับเป็นการให้เวลากับธรรมชาติสร้างพืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในโลกให้รอดพ้นจากความอดอยาก   ระบบนิเวศย่อมรักษาความสมดุลในตัวของมันเองโดยสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาต้องมีอีกสิ่งที่คอยควบคุมหรือจำกัดประชากรให้มีจำนวนที่เหมาะสม   สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นผลดีมาสู่มวลมนุษย์โดยตรง   แต่สิ่งที่มากับหน้าฝนนั้นก็อาจสร้างความหายนะให้กับมวลมนุษย์ได้เช่นกัน

                ยุงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มักก่อปัญหาในทุก ๆ ปีที่ฤดูฝนย่างกรายเข้ามาเยือนโดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพอนามัยคนและสัตว์เลี้ยง   เพราะยุงเป็นพาหนะนำเชื้อโรคหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิต  เช่น  โรคไข้เลือดออก  โรคเท้าช้าง  ไข้มาลาเรีย  นอกจากนี้ยุงยังสามารถไปรบกวนสัตว์เลี้ยงด้วยการกัดกินเลือดจนสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพทรุดโทรม  หลับนอนไม่ได้เต็มที่  ภูมิคุ้มกันลดลงอาจติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ได้ง่าย  โรคบางอย่างเมื่อยุงกัดสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งก็จะนำเชื้อไปสู่อีกตัวหนึ่งได้  เช่น  มาลาเรียในไก่ชน  เป็นต้น

                ปกติการเลี้ยงไก่ชนนั้นเราจะเอาใจใส่เป็นพิเศษก็เฉพาะตัวที่ต้องเลี้ยงเพื่อออกชนเท่านั้น แม่ไก่-พ่อไก่และไก่เล็กก็จะปล่อยเลี้ยงเหมือนกับไก่พื้นเมืองทั่ว ๆ ไป  เป็นโอกาสที่ให้ยุงได้เข้าไปแพร่เชื้อได้ดีเพราะไก่ชอบนอนรวมกันในเล้าเป็นฝูง  ดังนั้นการกางมุ้งให้ไก่นอนในเวลาค่ำคืนก็นับเป็นวิธีหนึ่งที่ป้องกันยุงและโรคที่จะมากับยุงได้โดยตรง  แต่เมื่อโรคร้ายนี้ได้เข้าระบาดในไก่ฝูงใดแล้วการเฝ้าระวังนั้นนับเป็นงานที่ลำบากอยู่ไม่น้อย  เพราะยุงเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กและออกหากินในเวลาค่ำคืนมองหาและเห็นตัวยาก  และเป็นสัตว์ที่มีมากในทุก ๆ พื้นที่  ดังนั้นผู้เลี้ยงไก่ชนต้องมีการป้องกันที่ดีเอาไว้ก่อน  จะได้ไม่เสียใจตามภายหลัง

                การเลี้ยงไก่ชนนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องนำไก่ไปชนกัน  นำไก่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอยู่เป็นประจำ  ทั้งนี้อาจด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน  เช่น  นำไปปล้ำ  นำไปชน  นำไปเพื่อผสมพันธุ์  หรืออาจนำไก่จากฝูงอื่นมาเลี้ยง  เราไม่อาจตรวจตราด้วยตาเปล่าได้เลยว่าไก่ตัวนั้นจะมีเชื้อมาลาเรียอยู่ในตัวหรือไม่  การตรวจหาเชื้อมาลาเรียนั้นจะต้องมีการเจาะเลือดตรวจในห้องแล็ปเท่านั้น  ฉะนั้นการแพร่เชื้อของโรคนี้จึงค่อนข้างป้องกันยากพอสมควร  ยิ่งอาการของโรคนั้นคล้ายกับไก่เป็นโรคอื่น  ๆ ที่มักระบาดอยู่เป็นประจำ  เช่น  คอมีเสียงดังคล้ายกับเป็นหวัด  ขี้ขาวซึ่งเหมือนกับไก่เป็นโรคขี้ขาว  หงอยซึมคล้ายคลึงกับเป็นนิวคลาสเซิล  ดังนั้นจึงมักทำให้เจ้าของไก่คาดไม่ถึงว่าจะเป็นโรคมาลาเรีย  ทำให้การวางแผนการรักษาผิดพลาด  ทางที่ดีนำไก่ของท่านไปตรวจที่ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ที่ใกล้บ้านท่านเป็นทางดีที่สุด

                ไก่ที่ติดเชื้อมาลาเรียนั้นในระยะแรก ๆ จะมีอาการหงอย  ซึม  เหมือนไก่กำลังง่วงนอน  เมื่อเราเข้าไปใกล้ไก่จะยังตีปีกทักทายผู้เป็นเจ้าของได้อย่างปกติ  จนบางครั้งทำให้เราคิดว่าไก่คงอยากจะนอนพักผ่อนตามปกติเท่านั้น  หากสังเกตอย่างละเอียดต่อไปจะพบ่วาไก่กินน้ำและอาหารได้น้อยลง  ระยะยนี้จะใช้เวลา  1-3  วัน  ระยะต่อมาไก่จะแสดงหงอยซึม  คอตก  ให้เห็นอย่างชัดเจน  ขับถ่ายเป็นของเหลวสีขาว  เริ่มมีอาการขาอ่อนเดินกระปกกระเปลี้ยนอนหมอบ  ระบบทางเดินอาหารเริ่มไม่ทำงาน  กระเพาะไม่ย่อย  ป้อนข้าวก็จะเหลือข้าวให้น้ำก็จะเหลือน้ำในกระเพาะอยู่เหมือนเดิม  น้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็ว  หน้าซีด  หงอนซีด  เพราะเชื้อมาลาเรียซึ่งเป็นเชื้อโปรโตชัวอาศัยในกระแสเลือดจะทำลายเม็ดเลือดแดง  ไก่จะผอมแห้งลงอย่างรวดเร็วจนเหลือแต่กระดูก  ระยะนี้อาจมีเชื้ออื่น ๆ เข้าแทรกซ้อนได้ง่าย  เช่น  หวัดต่าง ๆ ระยะสุดท้ายนี้ไก่จะเริ่มทะยอยตายไปจนกว่าจะหมดฝูง  ตัวที่เหลือก็จะไม่แข็งแรงเป็นตัวอมเชื้อที่จะแพร่ไปติดตัวอื่นได้อีก

                ที่จริงไก่บ้านเราอาจเป็นโรคนี้มานานแล้ว  ในหลาย ๆ พื้นที่  โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงชุกชุม  แต่ชาวบ้านมักปล่อยปละละเลยไม่นำไก่มาตรวจเพาะเชื้อหาสาเหตุการตายของไก่อย่างจริงจัง  ส่วนมากเป็นไก่ชนที่ผู้เป็นเจ้าของรักมาก  และมีราคาค่างวดสูง ๆ เจ้าของจึงจะนำเข้ามาปรึกษาสัตวแพทย์  ที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบเชื้อมาลาเรียในไก่ชน  และเจาะเลือดส่งตรวจที่ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งเป็นห้องแล็ปตรวจเลือดหาเชื้อ  และจะทราบผลภายใน 1  วัน  จากนั้นคุณหมอจะแนะนำแนงทางการรักษา  ยาที่ใช้รักษามาลาเรียในไก่นั้นเป็นตัวยาเดียวกับที่ใช้รักษามาลาเรียในคน  คือ  ให้ยาคลอโรควิน  หรือ ดอ็กซีไซคลินไฮโดรคลอไรด์  ในปริมาณ  50  มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1  กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน  โดยให้กินติดต่อกัน  4  วัน  และต้องบำรุงไก่ในระยะนี้ด้วยอิเล็กโตรไลท์  อาหารที่ย่อยง่าย  เมื่อไก่มีอาการดีขึ้นจึงนำไปตรวจซ้ำอีกทีหนึ่ง  แต่ที่ผ่านมานั้นผู้เป็นเจ้าของไม่ยอมนำไก่มาตรวจซ้ำเลย  จึงยากต่อการป้องกันและรักษาที่เป็นระบบ

                ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการประมาทจนเกินไป  เราควรเอาใจใส่ตัวไก่ที่เรารัก  เป็นการป้องกันเอาไว้ก่อนดีกว่า  ด้วยการกางมุ้งให้ไก่นอน  กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและลูกน้ำ  ทำความสะอาดบริเวณเล้าไก่ให้ปราศจากวัชพืชต่าง ๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของยุง  และหากมีไก่ตัวใดหรือฝูงใดเป็นก็ต้องรักษาให้หายขาด  มีการตรวจซ้ำเชื้อจะไม่ได้แพร่ต่อไปยังไก่ตัวอื่นและฝูงอื่นในบริเวณข้างเคียง  แม้ว่าไก่เราจะไม่เป็นอะไร  หรือเจ้าตัวอาจมั่นใจว่าหายจากโรคแล้ว  ก็ควรนำไปตรวจและตรวจซ้ำอยู่เสมอ  โรคนี้จึงจะหายขาดครับ

กลับไปหน้าหลัก