เรื่องน่ารู้

 

                              สมาร์ทการ์ดบัตรโดยสารรถไฟฟ้ายุคไฮเทค

            ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง มนุษย์ได้พัฒนาคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมามากมาย สมาร์ทการ์ดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในโลกให้สะดวกสบายขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด สมาร์ทการ์ดได้ถูกนำมาใช้กับวงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะวงการธุรกิจ สมาร์ทการ์ดจะช่วยให้มีความไดเปรียบทางธุรกิจ โดยสมาร์ทการ์ดจะทำการปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น เช่น ให้บริการรับชำระเงิน การวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เนต เป็นต้น นอกจากนั้น สมาร์ทการ์ดยังนำมาช่วยในการควบคุมการเข้าออกอาคารได้ด้วย

                                      

สำหรับธุรกิจขนส่งมวลชน สมาร์ทการ์ดได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเช่นกัน โดยสมาร์ทการ์ดจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่วยบัตรโดยสาร เพิ่มความเร็วในการผ่านเข้าออกของผู้โดยสาร เพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร กล่าวคือผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องนำบัตรออกมาจากกระเป๋าเพื่อสอดบัตรเข้าเครื่องอ่านบัตรเหมือนอย่างปัจจุบัน เพียงแต่นำบัตรที่อยู่ในกระเป๋ามาใกล้กับที่อ่านบัตรเท่านั้น ผู้โดยสารก็สามารถผ่านเข้าออกได้โดยไม่เสียเวลา

      การนำบัตรสมาร์ทการ์ดมาใช้ในระบบขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการนั้น ประเทศต่างๆ ที่มีระบบขนส่งมวลชนได้ให้ความสนใจและมีแนวโน้มที่จะทำการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้บัตรผู้โดยสารจากเดิมมาใช้สมาร์ทการ์ดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์กำลังจะนำสมาร์ทการ์ดมาใช้กับระบบขนส่งมวลชน ดดยภายในสิ่นปี 2544 สถานีรถไฟฟ้าและสถานีรถเมล์ทุกสถานีในสิงคโปร์ จะทำการเปลี่ยนบัตรผู้โดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้บัตรโดยสารสมาร์ทการ์ดแทน โดยผู้โดยสารในสิงคโปร์จะสามารถเดินผ่านประตูโดยสารรถไฟฟ้าและขึ้นรถเมล์โดยสารโดยไม่ต้องห   ยุดสอดบัตรโดยสารเข้าเครื่องอ่านบัตรอีกต่อไป เพียงแต่นำบัตรสมาร์ทการ์ดเข้าไปใกล้เครื่องอ่านในระยะประมาณ 1 – 5 เซนติเมตร ก็สามารถผ่านเข้าออกประตูได้

      ระบบจัดเก็บตั๋วโดยสารแบบใหม่จะไม่ทำให้ค่าโดยสารสูงขึ้น ผู้ลงทุนจะประหยัดเงินจากการใช้ระบบสมาร์ทการ์ดในระยะยาว ทั้งนี้เพราะอายุการใช้งานของสมาร์ทการ์ดมีอายุยาวนานถึง 5 ปี เมื่อเทียบกับบัตรโดยสารแบบแถบแม่เหล็กซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณสองปีเท่านั้น ส่วนต่าบำรุงรักษาก็ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวที่จะต้องดูแบเหมือระบบอ่านบัตรแบบแถบแม่เหล็ก การเปลี่ยนแปลงระบบตั๋วโดยสารแบบใหม่จะเป็นการก้าวสู่สหัสวรรษใหม่อย่างแท้จริง เพราะสามารถเชื่อมต่อกับโครงการขนส่งต่างๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ระบบตั๋วโดยสารแบบใหม่นี้จะทำให้สามารถระบายผู้โดยสารได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้าในสิงคโปร์ที่คาดว่าจะมีประมาณเจ็ดล้านคนต่อวัน ภายในปี 2553 โดยระบบตั๋วโดยสารใหม่จะใช้เวลาเพียง 0.1 วินาทีต่อการทำงานแต่ละครั้งเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณการผ่านเข้าออกประตูของผู้โดยสารสามารถทำได้ถึง 35 คนต่อนาที จากปัจจุบันที่ทำได้ประมาณ 25 คนต่อนาที สำหรับรถเมล์โดยสารสามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 20 คนต่อนาที เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีอัตรา 12 คนต่อนาที หากเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าบัตรโดยสารแบบสมาร์ทการ์ดสามารถเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการแก่ผู้โดยสารไม่น้อยเลยทีเดียว

      สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินของไทยที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่จะเปิดให้บริการบางส่วนได้ในปลายปี 2545 จะนำบัตรโดยสารแบบไหนมาใช้ ขณะนี้ผู้รับสัมปทานกำลังพิจารณาอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้ให้นโยบายที่ให้จัดทำบัตรโดยสาร ที่เอื้ออำนวยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็วในการใช้บริการทัดเทียมกับระบบขนส่งมวลชนสากล ชนิดไม่น้อยหน้าเช่นกัน

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระราชทานชื่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร

 

 ตามที่องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ระยะแรก สายหัวลำโพง - ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ - บางซื่อ เป็นระบบใต้ดินตลอดสายนั้น รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่ปลายปี 2539  แต่เนื่องจากโครงการฯ ดังกล่าว ยังไม่มีชื่อเฉพาะ  

รฟม. จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูล ขอพระราชทานชื่อโครงการ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร ระยะแรกว่า “เฉลิมรัชมงคล”   ซึ่งมีความหมายว่า “งานเฉลิมความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา” และได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า "Metropolitan Rapid Transit Chaloem Ratchamongkhon line หรือ M.R.T. Chaloem Ratchamongkhon Line

        การได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อโครงการฯ ในครั้งนี้ นับเป็นสิริมงคลต่อ รฟม. เป็นอย่างยิ่ง ยังมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่พนักงานองค์การรถไฟฟ้ามหานครอย่างหาที่สุดมิได้ อันจะเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงาน รฟม. มีความมุ่งมั่นปฎิบัติงานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติสืบไป