ไผ่เลี้ยงและการแปรรูปหน่อไม้จากไผ่เลี้ยง

                                    ไผ่เลี้ยง สร้างรายได้แบบยั่งยืน ที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์

คุณมานะ ใจยง ประธานกลุ่มผู้ปลูกไผ่เลี้ยง บ้านเลขที่ 141 หมู่ 2 ตำบลวังพิกุล อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ 67230 โทร. (07) 195-6804 เป็นเกษตรกรผู้นำการบุกเบิกการปลูกไผ่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ เริ่มปลูกอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2535 เริ่มต้นจากการปลูกไผ่เลี้ยงอยู่ 6 สายพันธุ์ ด้วยการศึกษาและสังเกตลักษณะทางพฤกษศาสตร์และการให้ผลผลิตของไผ่เลี้ยงแต่ละสายพันธุ์ได้คัดเลือกจนเหลือ 3 สายพันธุ์ ด้วยคิดว่าเป็นไผ่เลี้ยงสายพันธุ์ดีที่ให้หน่อขึ้นตรง ผลผลิตสูง และรสชาติดี จึงได้ให้สมาชิกในกลุ่มได้ขยายพื้นที่ปลูกจนถึงปัจจุบันนี้มีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 24 คน มีพื้นที่ปลูกของกลุ่มประมาณ 350 ไร่ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำอาชีพเกษตรกรรมที่น่านำไปเป็นแบบอย่าง

ความจริงแล้วการเริ่มต้นการปลูกไผ่เลี้ยงของคุณมานะได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ชายที่เริ่มนำไผ่เลี้ยงมาปลูกแซมไว้ในสวนผลไม้โดยไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องการบำรุงรักษามากนัก คิดว่าเป็นรายได้เสริม ปลูกไปกว่าจะเก็บหน่อได้จะต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี ต่อมาคุณมานะเริ่มมีการเอาใจใส่กับการปลูกไผ่เลี้ยงมากขึ้นพร้อมกับศึกษาในเรื่องสายพันธุ์ กลับพบว่า ไผ่เลี้ยงเมื่อมีการจัดการเรื่องระบบปลูกและมีการให้น้ำที่ดีสามารถผลิตให้แทงหน่อขายนอกฤดูได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือหลังจากปลูกไปได้เพียง 8 เดือน เริ่มเก็บหน่อขายได้แล้ว คุณมานะจำได้ว่าก่อนที่จะเริ่มปลูกและรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อปลูกไผ่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์นั้น เคยมีพ่อค้ามาซื้อหน่อไม้ในราคาถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งเป็นหน่อไม้ที่ออกนอกฤดู จึงได้มีการขยายพื้นที่ปลูกและรวมกลุ่มการผลิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้



รูปแบบของการรวมกลุ่มผู้ปลูกไผ่เลี้ยง

สิ่งที่น่าสนใจของการรวมกลุ่มของผู้ปลูกไผ่เลี้ยงที่นี่คือ มีเกษตรกรให้ความสนใจที่จะเข้ารวมกลุ่มเพิ่มขึ้นทุกปีจนถือเป็นกลุ่มผู้ปลูกไผ่เลี้ยงใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งระดับประเทศ คุณมานะบอกว่า การรวมกลุ่มจะทำให้การจำหน่ายหน่อไม้เป็นระบบและได้ราคาค่อนข้างแน่นอน ไม่มีการขายแบบตัดราคากันเอง ในการซื้อ-ขายหน่อไม้ในแต่ละครั้งทางกลุ่มจะต้องมีการตกลงเรื่องราคากับพ่อค้าให้เรียบร้อยเสียก่อน ในขณะเดียวกันทางกลุ่มจะมีการพูดคุยในเรื่องของปัญหาและอุปสรรคตลอดเวลา

สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม เนื่องจากมีพ่อค้าซื้อ-ขายกันเป็นประจำแล้วก็มี หรือบางรายไม่เข้าใจในระบบของกลุ่มโดยมองว่ายุ่งยากไม่เข้าร่วมก็มี เนื่องจากมีข้อตกลงสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มจะต้องมีการหักรายได้จากการขายหน่อไม้ในแต่ละครั้งกิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อสมทบเป็นทุนกองกลางเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของกลุ่ม อาทิ จัดซื้ออุปกรณ์ในการต้มหน่อไม้ ค่าขนส่ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ของสมาชิกที่สามารถกู้ยืมเงินจากกลุ่มได้และมีเงินปันผลคืนให้ทุกปี



ใช้หลักการตลาดนำหน้าการผลิต

คุณมานะได้เล่าให้ฟังถึงการผลิตหน่อไม้ของกลุ่มจะเริ่มจากการใช้การตลาดเป็นตัวตั้ง รายได้หลักคือ การขายหน่อไม้สด โดยจะเน้นให้ผลผลิตออกนอกฤดูคือ ช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนสิงหาคม ซึ่งในช่วงเวลานั้นหน่อไม้จากป่าออกสู่ตลาดน้อย ราคาหน่อไม้สดจากกลุ่มจะแพงที่สุดในช่วง 3 เดือน คือ เดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน คือขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 บาท (ผลผลิตหน่อไม้ไผ่เลี้ยงจากกลุ่มจะส่งขายในตลาดประมาณวันละ 2,000-3,000 กิโลกรัม) เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนราคาจะตกต่ำลงเนื่องจากหน่อไม้จากป่าเข้าสู่ตลาดและราคาตกต่ำลงมาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 5-7 บาท คุณมานะบอกว่า ทางกลุ่มจะไม่ขายเป็นหน่อไม้สด แต่จะนำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้ต้มหรือหน่อไม้ดองเปรี้ยวซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า อย่างกรณีของหน่อไม้ต้มจะขายได้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท



สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกไผ่เลี้ยง

คุณมานะบอกว่า ความจริงแล้วไผ่เลี้ยงปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิดแต่จะชอบสภาพดินร่วนปนทรายมากที่สุด ไผ่เลี้ยงเหมือนไม้ผลที่ไม่ชอบสภาพน้ำขังแฉะ ถ้าจะผลิตหน่อไม้นอกฤดูจะต้องมีแหล่งน้ำเพื่อให้ได้ตลอดทั้งปี การเริ่มต้นปลูกไผ่เลี้ยงในสภาพพื้นที่เปล่าควรจะไถด้วยรถไถ 3 ผาล จำนวน 1 ครั้ง และไถอีก 1 ครั้ง ด้วยรถไถผาล 7 ในพื้นที่ดอนควรจะมีการยกร่องปลูกแบบลูกฟูกเพื่อการระบายน้ำที่ดี ระยะปลูกระหว่างต้น 1.8 เมตร ระยะระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 230 กอ อย่าลืมหลังจากปลูกเสร็จควรจะมีไม้ดามเพื่อกันลมโยก ความจริงแล้วถ้ามีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์จะปลูกไผ่เลี้ยงได้ทุกฤดู ในเรื่องของการเตรียมแปลงปลูกไผ่เลี้ยงมีสิ่งที่คล้ายกับการปลูกไม้ผลทั่วไปตรงที่ในสภาพไร่น้ำท่วมไม่ถึง ควรจะมีการเตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องลูกฟูกเพื่อช่วยการระบายน้ำที่ดี



การตัดแต่งกิ่งและการให้ปุ๋ยไผ่เลี้ยง

คุณมานะบอกว่า หลังจากปลูกไผ่เลี้ยงลงแปลง เมื่อถึงเดือนที่ 7 หลังจากปลูกควรจะตัดแต่งกิ่งที่เล็กและตัดตอเก่าออกให้เหลือเพียง 6-8 ลำ ต่อกอ โดยคัดเลือกลำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร ขึ้นไป เดือนที่ 8 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้บ้าง เทคนิคการตัดแต่งกิ่งไผ่เลี้ยงที่สำคัญอยู่ในปีที่ 2 ตัดแต่งเอากิ่งแขนงเล็กๆ ออก ในแต่ละกอจะไว้ลำแก่ไม่เกิน 12 ลำ จะตัดแต่งในช่วงปลายเดือนธันวาคม หลังจากตัดแต่งเสร็จจะให้ปุ๋ยและน้ำทันที (คุณมานะบอกสภาพพื้นที่การปลูกไผ่เลี้ยงของกลุ่มจะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำบ้าง แต่ก็ได้แก้ปัญหาโดยการติดหัวสปริงเกลอร์ 1 หัว ต่อไผ่เลี้ยง 4 กอ) หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยและให้น้ำทันที เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น จะมีหน่อให้เก็บเกี่ยวได้ตลอดตั้งแต่หน้าแล้งไปจนถึงช่วงฤดูฝนโดยยึดหลักการเก็บเกี่ยว หน่อที่มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ในช่วงหน้าแล้งและเก็บหน่อที่มีความยาว 50 เซนติเมตร ในช่วงฤดูฝน (เมื่อหัวหน่อโผล่พ้นดินขึ้นมาและนับไปอีกประมาณ 3-4 วัน ก็เก็บได้แล้ว)

ในเรื่องของการให้ปุ๋ยสำหรับการผลิตไผ่เลี้ยงนอกฤดูนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ คุณมานะบอกว่า หลังจากที่ตัดแต่งเสร็จจะใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลหมูหรือมูลไก่แห้งในอัตรากอละประมาณ 20 กิโลกรัม และจะใส่ปุ๋ยคอกเพียงปีละครั้งเท่านั้น หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 หรือ สูตร 30-11-11 หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 1-2 กำมือ ต่อต้น ในแต่ละเดือนจะต้องใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง โดยจะใช้สูตรปุ๋ยดังกล่าวให้สลับกันไปมาก็ได้



ปลูกไผ่ 1 ไร่ ทำเงิน 30,000 บาท

ในขณะที่ทำนาได้เงินมากที่สุด

ไร่ละ 4,000-5,000 บาท

คุณมานะได้เปรียบเทียบรายได้จากการปลูกไผ่เลี้ยงเพื่อขายหน่อเพียงอย่างเดียว ไม่รวมรายได้จากการผลิตกิ่งพันธุ์ขาย มีสมาชิกบางรายของกลุ่มปลูกไผ่เลี้ยงเพียง 5 ไร่ มีรายได้จากการขุดหน่อไม้ขายมากกว่า 1 แสนบาท ต่อปี และในการปลูกไผ่เลี้ยงในพื้นที่ 5 ไร่นี้ จะใช้เพียงแรงงานในครอบครัวเท่านั้น ยิ่งมีระบบการให้น้ำที่ดีพอสมควรและผลิตไผ่นอกฤดูได้หลังจากที่ปลูกไผ่มีอายุต้นตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป ในพื้นที่ปลูกเพียง 5 ไร่ จะมีรายได้เฉลี่ยจากการเก็บหน่อขายได้เงินทุกวัน เฉลี่ยทั้งปีจะได้เงินเฉลี่ยวันละ 500-600 บาท คุณมานะถึงกับเปรียบเทียบว่า ไผ่เลี้ยงที่ให้ผลผลิตแล้วจะทำรายได้อย่างน้อยที่สุดกอละ 1 บาท เป็นอย่างน้อยต่อกอ ต่อวัน



                       การเก็บเกี่ยวหน่อไม้สดและการแปรรูปหน่อไม้



การเก็บเกี่ยวหน่อไม้ของกลุ่มผู้ปลูกไผ่เลี้ยงจะมีการตัดหน่อตั้งแต่เช้าเพื่อให้ทันส่งตลาด ซึ่งพ่อค้าจะเข้ามารับผลผลิตในช่วงเที่ยง ออกรถในช่วงเวลาบ่าย และนำหน่อไม้ไปขายในเวลากลางคืนของวันเดียวกัน ทางกลุ่มจะต้องตัดแต่งหน่อและบรรจุลงถุงให้เรียบร้อย จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าในช่วงฤดูฝนเมื่อมีหน่อไม้จากป่าเข้าสู่ตลาด จะทำให้ราคาของหน่อไม้ตกลง ทางกลุ่มจะไม่ให้เป็นหน่อไม้สดแต่จะแปรรูปเป็นหน่อไม้ต้มหรือผลิตเป็นหน่อไม้ดอง ในกรณีของการต้มหน่อไม้ทางกลุ่มได้มีการจ้างแรงงานมาปอก โดยเหมาเป็นกิโลกรัมละ 1 บาท หลังจากนั้นนำมาต้มในหม้อต้มขนาดใหญ่ที่สามารถต้มได้ครั้งละ 500-600 กิโลกรัม ต่อครั้ง ในการต้มหน่อไม้แต่ละครั้งจะใช้เวลาต้มนานประมาณ 30 นาที หลังจากน้ำเดือด ใช้ฟืนและไม้ไผ่เป็นเชื้อเพลิง

พอต้มเสร็จเอาขึ้นมาให้คนงานปอกและแต่งมัดเป็นกำ กำละ 5 กิโลกรัม แช่น้ำเกลือและมัดใส่ถุง ทางกลุ่มจะมีพ่อค้าจากจังหวัดอ่างทอง มารับซื้อ เพื่อนำไปส่งขายต่อที่ตลาดกรุงเทพมหานครอีกต่อหนึ่ง หน่อไม้ที่ต้มแล้วจะขายได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 15 บาท ได้ราคาดีกว่าขายเป็นหน่อไม้สดซึ่งมีราคาต่ำมากในช่วงที่หน่อไม้ไผ่เลี้ยงจากป่าออกสู่ตลาด



คนขยันยังมีรายได้

จากการขายกิ่งพันธุ์ไผ่เลี้ยง

พันธุ์ไผ่เลี้ยงของกลุ่มได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์ดีมีอยู่ 3 สายพันธุ์ นอกจากจะเป็นพันธุ์ที่ให้หน่อดก หน่อตรง และรสชาติอร่อยแล้ว คุณสมบัติของหน่อไม้ไผ่เลี้ยงของที่นี่จะมีลักษณะเป็นหน่อไม้ไผ่เลี้ยงหวานคือ ต้มเพียงครั้งเดียวก็รับประทานได้เลย ในขณะที่ไผ่เลี้ยงที่อื่นจะต้องต้มหลายครั้งกว่าจะหายขม ในเรื่องของการขยายพันธุ์ไผ่เลี้ยงเช่นกัน คุณมานะบอกว่า ไผ่เลี้ยงขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้าเพียงอย่างเดียว จะใช้วิธีการตอนหรือปักชำไม่ได้ สังเกตได้ว่าเมื่อเราตัดหน่อไปกินแล้ว มันจะมีแขนงแตกออกมา 2 ง่าม เมื่อแม่แขนงมันแก่เราจะใช้เหล็กแทงเพื่อแยกเหง้าออกมาชำในถุงดำ

วัสดุที่ใช้ชำเหง้าไผ่เลี้ยงจะใช้อัตราส่วนของ หน้าดิน : แกลบดำ = 1 : 1 และนำถุงชำมาวางไว้กลางแจ้ง มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอด้วยระบบน้ำสปริงเกลอร์ ไม่แนะนำให้นำเหง้าชำไปวางไว้ในที่ร่มมักจะตายในเวลาต่อมา ถุงชำเหง้าใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถุง 5-6 นิ้ว ชำไปนานประมาณ 2 เดือน นำมาปลูกหรือจำหน่ายได้



ปลูกไผ่เลี้ยงเป็นการผลิตพืชแบบปลอดสารพิษ

ไม่มีการใช้สารปราบศัตรูพืช

หลายคนทราบดีว่า การปลูกไผ่เกือบทุกชนิดจะไม่มีการใช้สารปราบศัตรูพืชเลย และหน่อไม้จัดเป็นพืชผักที่ปลอดสารพิษอีกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในการปลูกไผ่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ของกลุ่มนี้ก็เช่นกัน จะมีการใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืชก่อนที่จะปลูกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากต้นไผ่เจริญเติบโตแล้วห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึมอย่างเด็ดขาด สำหรับการปลูกไผ่เลี้ยงอาจจะพบปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้งระบาดทำลายบ้าง แต่คุณมานะบอกว่า ไม่มีการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเลย ถ้ามีเพลี้ยแป้งให้น้ำสมบูรณ์เต็มที่การระบาดก็ลดน้อยลง

                                                                  
สรุป
วงจรการปลูกไผ่เลี้ยงของกลุ่มผู้ปลูกไผ่เลี้ยงที่มี คุณมานะ ใจยง เป็นประธานกลุ่ม

เดือนกันยายน-พฤศจิกายน ขยายพันธุ์ไผ่เลี้ยง แทงเหง้ามาชำ

เดือนธันวาคม เริ่มตัดแต่งกิ่งและสางต้น

เดือนมกราคม ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม เก็บหน่อไม้นอกฤดูส่งขายตลาด



คู่มือ "การปลูกไผ่เลี้ยง-ไผ่ตงครบวงจร" เกษตรกรและผู้สนใจสอบถามได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, 650-145 และ (01) 886-7398