เสียงร้องที่ดีที่นิยมกัน

     ปกตินกกรงหัวจุกในแต่ละภาคของประเทศไทยจะร้องไม่เหมือนกัน ทั้งสำนวนเพลงและน้ำเสียง ก็เหมือนกับคนนั่นแหละ พูดตามภาษาท้องถิ่นที่ตนเกิดมาได้ทุกๆ คน แต่เมื่อเข้าโรงเรียน เรียนหนังสือ ทางราชการก็ให้ใช้ภาษากลางเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่นกกรงหัวจุกเมื่อเติบโตในถิ่นใดแล้ว ร้องเพลงท้องถิ่นได้ชัดเจนแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะมาฝึกร้องกับนกมาตรฐานที่มีน้ำเสียงและร้องเพลงชัดเจน ก็จะมีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยกเว้นจะเอาลูกนกหูดำซึ่งยังร้องไม่เป็นมาฝึกจึงจะได้ผลดี เพราะลูกนกจะร้องเพลงตามนกครูฝึกนั่นเอง

     เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาคใต้เป็นแห่งแรกที่เริ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุกมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงสามารถจัดเอาน้ำเสียง สำนวนเพลงร้องของนกภาคใต้มาเป็นมาตรฐานได้ แต่ไม่มีใครเคยเขียนเป็นภาษาหนังสือออกมาให้ได้เป็นต้นแบบ นอกจากจะนิยมเล่น ฟังกันเอง และยึดถือกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะเสียงร้องที่เด่นชัดของนกกรงหัวจุก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
     1. สำนวนเพลงร้อง
     
นกภาคใต้ดั้งเดิมจะเริ่มคำว่าฉก...ลงท้ายด้วยเลี่ยว และฉก...ไกว๊หย่อ ส่วนคำกลางก็จะมีหลายรูปแบบ เช่น ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว ฉก - ฟิก - ฝก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว หรืออาจจะมีคำเบิ้ล เช่น ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว - ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว ในสมัยก่อนนิยมเล่นนกกรงหัวจุกโดยฟังน้ำเสียงและสำนวนเพลงร้องเป็นหลัก นกกรงหัวจุกที่จัดว่าร้องได้ไพเราะที่สุด และนิยมเล่นหากันในอดีต เรียงตามลำดับต่อไปนี้
     1.1 นกกรงหัวจุก บริเวณหัวเขาแดง จังหวัดสงขลา
     
สำนวนเพลงร้องขึ้นต้นด้วยฉก...ลงท้ายด้วยไกว๊หย่อ เช่น ฉก - ฟิก - กว่อ - ลิก - ไกว๊ - หย่อ ฉก - ฉก - ฟิก - กว่อ - ลิก - ฉก - ฟิก - ไกว๊ - หย่อ
     1.2 นกกรงหัวจุก อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
     
สำนวนเพลงร้องขึ้นต้นด้วยฟิก...ลงท้ายด้วยเลี่ยว เช่น ฟิก - ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว
     1.3 นกกรงหัวจุก จังหวัดกระบี่
     
สำนวนเพลงร้องขึ้นต้นด้วยฟิก...ลงท้ายด้วยเลี่ยว เช่น ฟิก - ฟี - ลิก - ฟี - เลี่ยว
     ส่วนในปัจจุบัน นกท้องถิ่นเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ในธรรมชาติหาได้ยากมาก ผู้เลี้ยงก็จำเป็นต้องเสาะหาหรือเพราะพันธุ์เอง เพื่อจะให้ได้นกที่มีลักษณะสวยงามตรงตามมาตรฐานมาเลี้ยง ส่วนมากจะเป็นการซื้อนกที่ร้านค้าเอามาขาย ไม่ว่าจะเป็นนกจากภาคกลาง ภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยังมีนกในธรรมชาติอีกมาก สำนวนเพลงร้องจึงเปลี่ยนไป
     สำนวนเพลงร้องแบ่งตามจำนวนพยางค์ได้ดังนี้
     1. สำนวนสั้น (เพลงสั้น)
อาจฟังไม่ไพเราะเท่าที่ควร เพราะเป็นเพลงสั้น 3 - 4 พยางค์ เช่น ฟิก - ฟี - เลี่ยว ฉก - ฟิก - ฟี - เลี่ยว ฟิก - ฟี - กว่อ ฟิก - ไกว๊ - หย่อ
     2. สำนวนกลาง (เพลงกลาง) ฟังไพเราะเสนาะหูกว่าสำนวนสั้น เพราะเป็นเพลง 5 - 6 พยางค์ เช่น ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว ฉก - ฟิก - กว่อ - ไกว๊ - หย่อ ฟิก - ฉก - ฟิก - ฟี - เลี่ยว ฟิก - ฉก - ฟิก - ไกว๊ - หย่อ
     3. สำนวนยาว (เพลงยาว) ฟังไพเราะมาก เพราะร้องได้ถึง 7 - 9 พยางค์ ปัจจุบันจะหาฟังได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะนกที่ร้องเพลงยาว 7 - 9 พยางค์ และมีน้ำเสียงดีด้วยแล้วยิ่งหาฟังได้ยากยิ่งจริงๆ เช่น ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว - ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว ฟิก - ฉก - ฟิก - ฟอ - ลิ - ติ - กว่อ ฟิก - ฉก - ฟิก - ฟอ - ลิก - ฟี้ - เลี่ยว ฟิก - ฟิก - ฝก - ฟิก - กวอ - ลิ - ติ - กว่อ ฉก - ฟิก - กวอ - ลิก - ไกว๊ - หย่อ ฉก - ฉก - ฟิก - กวอ - ลิก - ฉก - ฟิก - ไกว๊ - หย่อ
     นอกเหนือจากสำนวนเพลงทั้งสามแบบ ก็มีการร้องเล่นๆ เช่น ควิก - ควิก ฟิด - เฟี่ยว ฉก - ฉก ปิ๊ด - ปิ๊ด ฉก - ฟิก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการร้องที่มีการนับสำนวน ไม่เป็นเพลง ไม่มีเสียงสูง - ต่ำ และในแต่ละคำไม่ถึง 3 พยางค์
     2. น้ำเสียง
     
ปกติน้ำเสียงของนกกรงหัวจุกนั้นค่อนข้างจะบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญในการฟังและแยกเยอะเอาเอง ซึ่งถ้าผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกคลุกคลีกับนกเป็นระยะเวลานานพอสมควร ก็จะสามารถแยกแยะน้ำเสียงของนกภายในบ้านของเราเองได้ เพราะนกแต่ละตัวจะมีน้ำเสียงไม่เหมือนกัน พอเราชำนาญ เมื่อไปสนามซ้อมหรือสนามแข่ง เราก็ต้องพยายามฟังนกให้ได้มากที่สุด และพยายามแยกแยะให้ได้ หรือสอบถามผู้รู้ว่า นกตัวที่มีชื่อเสียงดีๆ นั้นชื่ออะไร น้ำเสียงอย่างไร เพลงกี่จังหวะ และพยายามฟังเสียงจริงๆ จากนกตัวนั้น เราก็จะจดจำรูปแบบเหล่านั้น และสามารถยึดเป็นแนวทางเพื่อคัดเลือกนกมาเลี้ยงเองได้ภายหลัง
     นกที่น้ำเสียงดีจะมีผลมาจากรูปร่างลักษะของนกเองด้วยหลายเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ รูปร่างลำตัวค่อนข้าวยาว หน้าอกใหญ่ (ปอดจะใหญ่ด้วย) ลำคอพองใหญ่ ศีรษะและใบหน้าใหญ่ ส่วนนกที่ตัวเล็ก ช่วงลำตัวสั้น ศีรษะเล็ก เท่าที่ผ่านมาผู้เขียนเคยพบว่า มีนกเสียงดีอยู่บ้าง แต่น้อยมาก
     รูปแบบน้ำเสียง แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
     1. เสียงเล็ก โดยทั่วๆ ไป รูปร่างของนกมักจะตัวเล็ก ช่วงสั้น มีลีลาคล่องแคล่ว กระโดดโลดเต้นตลอดเวลา ร้องมาก เพลงสั้นๆ และไม่ค่อยมีเว้นวรรค แต่ละพยางค์ร้องติดๆ กัน ฟังไม่ชัดเจน ไม่เน้นจังหวะต้น - ปลาย เช่น ฟิก - ฉก - ฟิก - ติ - เปี๊ยว
     2. เสียงกลาง เป็นเสียงร้องของนกกรงหัวจุกส่วนมากในปัจจุบันซึ่งมีเสียงกลางเต็ม - กลางไม่เต็ม แยกไปอีกชั้นหนึ่งสำหรับผู้ที่ฟังนกเป็นแล้ว แต่ปกติโดยรวมจะเรียกเป็นนกเสียงกลาง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเพลงที่ร้องด้วย มักจะเน้นต้น กลาง หรือปลาย ให้เด่นชัดกว่าคำอื่น ฟังดูกลมกลืน น้ำเสียงไม่แหบเครือ เช่น ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เลี่ยว ฉก - ฟิก - กวอ - ลิ - ติ - กว่อ
     3. เสียงใหญ่ ปัจจุบันที่มีน้ำเสียงแบบนี้หาได้ยากมาก ที่เคยพบเห็นมักเป็นนกที่มีรูปร่างลำตัวช่วงยาว หน้าอกใหญ่ ลำคอพองใหญ่ ศีรษะและใบหน้าใหญ่ รูปร่างสง่างาม เพลงที่ร้องมักเป็นเพลงยาว มีการเน้นจังหวะปลายดีมาก เช่น ฟิก - ฉก - ฟิก - กวอ - ลิก - ติ - กว่อ ฉก - ฟิก - กวอ - ลิก - ไกว๊ - หย่อ ฉก - ฉก - ฟิก - ฟอ - ฟี้ - เหลี่ยว จังหวะต้นธรรมดา เมื่อร้องคำปลายน้ำเสียงมักจะต่ำ ห้าว ทุ้ม เสียงก้องกังวาน เปล่งเสียงออกมาจากลำคอโดยตรง