อัมพาต อัมพฤกษ์
 
 
มหันตภัย อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคที่ใกล้ตัว
อัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลอดเลือดในสมองตีบ ตันหรือแตก ส่งผลให้เนื้อสมอง ซึ่งทนต่อภาวะขาดเลือดได้น้อย เกิดพยาธิสภาพขึ้น ความรุนแรงขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมอง และขนาดของพยาธิสภาพนั้น ถ้าเป็นน้อยอาจหายเองได้ในเวลาไม่นาน ถ้าเป็นมากอาจเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัมพาตและเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงป้องกันและให้การรักษา ได้แก่
1. โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/90 มิลลิเมตรปรอทเป็นเวลานาน ๆ ทำให้หลอเลือดแข็งตัว จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ เกิดการตีบแตกของหลอดเลือดสมอง โอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติสูงถึง 3 – 17 เท่า
2. โรคเบาหวาน ถ้าให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็งทั่วร่างกาย หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้เกิดอัมพาตได้
3. ไขมันในเลือดสูง ไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง เกิดการอุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอัมพาตได้
4. การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารคาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นตัวเร่งทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการตีบตันขึ้นได้ โอกาสเป็นอัมพาตได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 3 เท่า
5. ปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมทำให้เกิดอัมพาต ได้แก่ :-
. โรคอ้วน
. ภาวะเครียด ผู้ป่วยเครียดมาก ๆ อาจส่งผลทำให้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเกิดแตกได้ง่าย ทำให้เป็นอัมพาตตามมา
. ภาวะการขาดการออกกำลังกาย

อาการเตือนของอัมพาตมีอะไรบ้าง
1. แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดลำบาก หรือไม่เข้าใจภาษา
2. เวียนศีรษะ หัวหมุน อาเจียน เสียการทรงตัว
3. ตามองไม่เห็นครึ่งซีก หรือสองซีก
4. ประสาทตาอัมพาต กลอกตาไม่ได้ ตาเหล่ เห็นภาพซ้อน
5. กล้ามเนื้อ ใบหน้าเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว ปิดตาไม่สนิท
6. กลืนลำบาก พูดไม่ชัด เสียบแหบ
7. ซึม หรือหมดสติ
8. ถ้ามีเส้นเลือดแตกจะมีก้อนกดทับสมอง สมองบวม ความดันในกระโหลกเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน ต้นคอแข็งเกร็ง หมดความรู้สึก
เมื่อมีอาการเตือนของอัมพาตเกิดขึ้น คนใกล้ชิดหมั่นสังเกต หากมีอะไรผิดปกติรีบพบแพทย์ ทำการรักษาทันที บางรายถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหมดสติไป อาจจะต้องรีบทำการผ่าตัดด่วน เพื่อรักษาชีวิตของคนไข้

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความพิการและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการนอนนาน ๆ ได้แก่ โรคปอดบวม โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคแผลกดทับ โรคหัวใจและหลอดเลือด
การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในผู้ป่วยที่ฟื้นตัวดี มักเป็นผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน และมีการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง มีการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้มีสุขภาพจิตดี มีกำลังใยที่เข้มแข็ง รับประทานอาหารถูกส่วน และผู้ที่มีการป้องกันจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ผู้นั้นย่อมหลีกพ้นมหันตภัยของอัมพาตอัมพฤกษ์ชนิดที่ไกลตัวอย่างแน่นอน

Thanarat Hospital : Tel. 0 3262 2155 . 0 3262 1341 E-mail : hosreport@hotmail.com . thanarat@amed.go.th
webmaster : hosarmy@hotmail.com