COMPLAIN OR OPINION
กระแสโลกาภิวัตน์ลิดรอนศักดิ์และสิทธิของไทยหรือ? ::
จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2544 โดย ปาริชาต ศิวะรักษ์, ความคิดอิสระ

สิ่งท้าทายสำคัญที่สุดที่เราทุกคนเผชิญอยู่ได้แก่ การท้าทายแห่งโลกาภิวัตน์ เป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์นี้ถูกเร่งเครื่องขึ้นให้เร็วขึ้นไปอีกด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและแรงกดดันจากกระแสการเปิดเสรี การแก้กฎหมายพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขครั้งที่ 2 (2535) อันฉับไวและรวดเร็ว ก่อนถึงกำหนดเส้นตายของข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวโยงกับการค้า (TRIPs) และกรณีที่รัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติ 11 ฉบับ ในช่วงรัฐบาลก่อนในช่วงเวลาสั้นย่อมเป็นหลักฐานสำคัญในเรื่องการกำหนดบทบาทของรัฐไทยที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นติดตามมาจากการโอนอ่อนผ่อนตามต่อแรงกดดันของโลกาภิวัตน์ดังกล่าวคือ

ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของเราและของประเทศเรา ตัวอย่างนี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการโลกาภิวัตน์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับจุลภาคและมหภาค กล่าวคือ ตรงพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชนเลยและระดับสูงขึ้นไปในระหว่างประเทศ รัฐบาลมี กึ๋น ในการกำหนดนโยบายของประเทศ ลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ถ้าศึกษาจนรู้เท่าทันก็จะรับมือและเห็นทางเลือกได้กว้างขึ้น

ถ้าไม่ตรวจสอบโลกาภิวัตน์ ศักดิ์และสิทธิของไทยย่อมไม่อาจดำรงไว้ได้ การอภิปรายเรื่องโลกาภิวัตน์ในหลายระดับโดยเฉพาะในระดับระหว่างประเทศยังมีลักษณะเป็นการโต้วาทีและโต้โวหารระหว่างสองฝ่าย เช่นในเวทีระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนก็โต้กันไปมาทำนองชี้นิ้วต่อว่ากัน หรือในระดับประเทศก็ยังเป็นการโต้คารมระหว่างฝ่ายสนับสนุนโลกาภิวัตน์กับฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์ บางครั้งก็คล้ายเป็นการจัดการชกมวยโดยสื่อมวลชนระหว่างฝ่ายเปิดเสรีกับฝ่ายปิดประเทศ

ในเมื่อในโลกแห่งความเป็นจริงนี้มิใช่เกมชกมวยกระบวนการโลกาภิวัตน์นั้นยังดำเนินต่อไปทุกขณะ และก็ประจักษ์กันว่าผลกระทบด้านลบยังมีมากกว่าผลกระทบด้านบวกอยู่มากเช่นนี้ การวิวาทะทางอุดมการณ์แบบแยกขั้วเหมือนการโต้วาทีระดับโลกเช่นนี้ย่อมจะเสี่ยงต่อการย้ำเท้าอยู่กับที่ และในหากไม่ระมัดระวัง โดยไม่เอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชนและกลุ่มคนที่มีฐานะหมิ่นเหม่อยู่แล้ว ผลเสียย่อมทับถมบนตัวของประเทศที่กำลังต่อรองน้อยกว่าและกลุ่มชนที่อ่อนแอกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากความจำเป็นจะต้องเอาใจใส่วิพากษ์กลไกพื้นฐานของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดช่องว่างและจะถ่างออกมากขึ้นๆ อย่างขณะเดียวกันจำต้องแสวงหาหนทางที่จะประกันให้โครงสร้างระเบียบโลกมีความเป็นธรรมต่อกลุ่มชนและประเทศผู้มีฐานะเสียเปรียบแล้ว ที่สำคัญคือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเราน่าจะส่งเสริมความพยายามที่จะมีความร่วมมือกันในการบรรเทาผลลบและขยายผลบวกโดยยืนบนจุดยืนของประชาชนและคนชายขอบ

และประเทศชายขอบ หากคนไทยเราไม่สามารถดำรงสติและพัฒนาปัญญาในการติดตามตรวจสอบเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่สังคมไทยทั้งในฐานะประเทศและในฐานะประชาชนจะเสียท่าไปอีกมากต่อการรุกของกระแสโลกาภิวัตน์อย่างแน่นอน

ยังไม่มีใครเตรียมพร้อมสำหรับกระแสโลกาภิวัตน์

สิ่งที่ประจักษ์ชัดในระดับนานาชาติในปัจจุบันได้แก่ข้อที่ว่า ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะพวกที่ 1กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการท้าทายแห่งโลกาภิวัตน์ ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานยืนยันการตกเป็นฝ่ายรับและฝ่ายถูกกระทำของเราประเทศอย่างเรา ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจวบจนวิกฤตเศรษฐกิจ

รวมทั้งการถูกชักนำให้ยืนอยู่ข้างตำรวจโลกภายหลังเดือนกันยายนที่ผ่านมาต่อมาจึงมิพักต้องพิจารณาว่าประเทศไทยมีความสามารถในการฉกฉวยโอกาสและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ได้สักเท่าใด โดยเฉพาะการที่ระเบียบวาระของระเบียบโลก (global agenda) นั้นถูกกำหนดโดยประเทศที่พัฒนาแล้วร่วมกับบรรดาบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งสถาบันการเงินการค้าระหว่างประเทศ ผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน อำนาจที่เหลื่อมล้ำกันและกระบวนการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะอำนาจที่เหลือมล้ำอย่างมาก ระหว่างประเทศรวย - ประเทศจน ดังนั้นกระแสโลกาภิวัตน่ เช่น กติกาการค้าระหว่างประเทศ จึงมีผลกระทบด้านบวกต่อคนส่วนน้อยแต่ว่ากลับมีผลด้านลบต่อประเทศและคนส่วนมากกว่า การขาดดุลยภาพในการแบ่งปันอานิสงส์ของโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลในทางลบได้มากกล่าวคือมีผลบ่อนทำลายเสถียรภาพโครงสร้างสังคมเดิม กระทบกระเทือนต่อความชอบธรรมของรัฐบาล รวมตลอดถึงระบบนานาชาติและกติการะหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้นทุกที

ใช้สติปัญญาร่วมกันจึงจะแก้ปมเงื่อนของปัญหาโลกาภิวัตน์ได้

อย่างน้อยที่สุดเราต้องแยกแยะใน 4 ประเด็นได้แก่ โลกาภิวัตน์มีเนื้อหาสาระอะไร? ผลกระทบเป็นอย่างไร สิ่งท้าทายสำหรับเราคืออะไร และเราควรจะดำเนินการต่อไปในแนวทางใด

1. ในด้านเนื้อหาสาระ กระบวนการโลกาภิวัตน์นั้นเป็นกระบวนการเศรษฐกิจ การเมืองสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถ ทะลวง พรมแดนประเทศได้ และสามารถส่งผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ รวมทั้งสิทธิในการพัฒนาของชุมชน รวมทั้งของประเทศได้มาก ผลด้านลบเช่น การที่ประเทศมหาอำนาจสามารถรุกเข้ามาโดยอ้างการเปิดเสรีทำให้รัฐเล็กๆ ต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ส่วนผลทางบวกเช่น การที่ทั้งชาวโลกมีความตื่นตัวร่วมกันในหลักสิทธิมนุษยชน และในระดับนานาชาติมีเครือข่ายข้ามประเทศในความร่วมมือต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรม

2. ในด้านผลกระทบ วิกฤตการเงินในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของผลกระทบด้านลบของโลกาภิวัตน์ได้ชัดเจนกรณีหนึ่ง การที่ประเทศไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินระหว่างประเทศย่อมทำให้ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีอิทธิพลได้ทั้งทางบวกและลบมาก การหลั่งไหลของเงินตราออกนอกประเทศมากมายในเวลาอันสั้นจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติได้ ครั้นเมื่อรัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตก็จำต้องหันไปหาแหล่งทุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ความพยายามของรัฐบาลที่จะกำหนดนโยบายอย่างอิสระจึงถูกจำกัดลงตามเงื่อนไขของการกู้ยืมเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นว่าองค์กรที่มิใช่รัฐแต่เป็นองค์กรข้ามชาติโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ (TNCs) นั้นมีอำนาจและอิทธิพลมากมายกว่ารัฐบาลใดๆ ด้วย ที่ร้ายกว่านั้นก็คือในหลายกรณีผู้นำรัฐบาลมิได้จัดวางนโยบายต่อโลกาภิวัตน์อย่างวิพากษ์ จึงมักจะมีนโยบายแบบโอนอ่อนผ่อนตามลู่ตามกระแสกันเสียมาก พอเวลาผ่านไปก็อาจแสดงจุดยืนอย่างตรงกันข้ามได้อย่างสุดๆ

3. เราคงจะทำตัวแบบมีแนวทางโผเข้าหาในช่วงหนึ่งโดยเฉพาะในตอนต้นที่มีบรรยากาศตามกระแส แล้วพอพ้นช่วงเวลานั้นไปก็หันมาหาแนวทางโบกมืออำลาแค่นี้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์ยังมีการขับเคลื่อนอยู่และตัวเราเองไม่อาจหยุดยั้งกระบวนการนี้ได้อย่างน้อยก็ในระยะใกล้ๆ นี้ หนทางก็คือเราจำต้องแสวงหาหนทางทำให้กระบวนการนี้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น เราจะทำให้กระบวนการตัดสินใจต่อเรื่องนี้มีส่วนร่วมให้กว้างทั้งในเวทีโลกและเวทีท้องถิ่นได้อย่างไร นอกจากนี้ก็จำต้องผลักดันการประสานความร่วมมือระหว่างกันให้ตอบสนองปัญหาความเสมอภาคความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ว่า เรา ณ ที่นี้คือใครเล่า? เราเป็นรัฐบาล เป็นประชาชน หรือเป็นมหาวิทยาลัย ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราผู้นั้นมีสติในการหยุดพินิจพิจารณาสถานการณ์โลกาภิวัตน์อย่างรอบด้านและพยายามใช้ปัญญาอันสำนึกรู้ถึงทางเลือกของนโยบายหรือไม่เพียงไร

4. ภายใต้บรรยากาศโลกาภิวัตน์ที่มีความซับซ้อนและซ่อนเงื่อนนี้ การจับประเด็นผิดและการมองแต่หาแต่ศัตรูที่มองเห็นตัวกลับจะเป็นการเพิ่มภาวะเสี่ยงอันตรายอย่างใหม่ เพราะตัวปัญหาอาจมิใช่สิ่งเห็นเด่นชัดกระทบสายตา แต่อาจซุ่มซ่อนหรือหลบลี้สายตา ในระดับโลก การขาดสร้างสำนึกในประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนา ในโลกที่มีอภิมหาอำนาจกุมอำนาจเหนือรัฐในการกำหนดกติกาของโลกนี้

ยุทธศาสตร์ที่จำเป็นก็คือการผูกไมตรีและการแสวงหาความไว้วางใจเพื่อร่วมมือกับประเทศล้วนแต่เสียเปรียบด้วยกัน แต่ทั้งนี้มิใช่ละเลยมิติของการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมและการสร้างเงื่อนไขแก่การพัฒนาประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ในระยะหลังการมองจากมุมแคบ เน้นแต่สามัคคีภายในชาติภายใต้บรรยากาศโดยการสร้างสำนึกสงครามรบพุ่งสมัยหลายๆ ร้อยปีก่อนมาเป็นเครื่องกระตุ้นชาตินิยม (เช่น ไทยกับพม่า ไทยกับลาว) หรือการผลักดันกิจกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงแต่ความเหนือกว่าและความเป็นปฏิปักษ์ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม กระแสชาตินิยมคับแคบที่คึกคักฮึกเหิมกลับจะเอื้อแก่อำนวจนิยมอาจกลายเป็นการเร่งเร้าแต่ความรังเกียจเดียดฉันท์ทางชาติพันธุ์ภายในประเทศและจะทำให้ขาดการพิจารณาผลประโยชน์อันยั่งยืนในภูมิภาค ความคับแคบเช่นนี้ก็ย่อมจะกลายเป็นอุปสรรคของการสร้างสรรค์สันติสุขและความร่มเย็นในอนาคตไปเสียอีก

สรุป : ต้องมีการปฏิรูปรัฐด้วยกระแสประชาสังคม แม้บางคนเน้นว่าปัจจุบันเป็นโลกยุคไร้พรมแดนบ้างและว่าโลกใบใหญ่นี้ลดขนาดลงรัฐจึงหมดบทบาทไปก็ตาม แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริงในการเมืองและเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันนี้ยังต้องถือว่ารัฐยังเป็นสถาบันหลักในการตัดสินใจแม้ว่าจะมีตัวละคนอื่น (Actors) เช่น บรรษัทข้ามชาติภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และขบวนการทางสังคมเข้ามามีบทบาทด้วยก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะเข้มแข็งหรือจะ ห่วยแตก รัฐยังเป็นสถาบันที่ไม่อาจถูกมองข้ามไปได้ แต่เราก็มักจะประสบว่ารัฐปรับตัวช้าและหลายกรณีรัฐก็ตกเป็นฝ่ายถูกรุกจากพลังกดดันจากภายนอก มิหนำซ้ำที่เคยปรากฎบางครั้งกลุ่มผู้กุมอำนาจตัดสินใจของรัฐก็มีจิตใจคับแคบ แม้ในระยะหลังบางครั้งว่า ขณะที่นักการเมืองในบางระดับปรับตัวตอบสนองได้เร็วต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ระบบราชการอันเป็นเสาหลักของรัฐนั้นกลับเป็นพลังเฉื่อย (inertia) เท่าที่ผ่านมา รัฐจึงไม่ได้ทำหน้าที่ที่พึงกระทำในการเป็นสถาบันหลักของสังคมในการเผชิญกับพลังรุกของตลาดและอำนาจข้ามชาติต่างๆ ในสถานการณ์โลกาภิวัตน์นี้จุดที่สำคัญคือรัฐและองค์ประกอบภายในรัฐจำต้องมีการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวมทั้งต้องปรับบทบาทเสียใหม่ ในการมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้

จะปล่อยให้ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายราชการจัดการแต่ฝ่ายเดียวโดยลำดังย่อมขาดพลังความเข้มแข็ง เช่นจะให้ตัดสินด้านนโยบายนากุ้งโดยกระทรวงเกษตรฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรอยู่ที่กรมกองหนึ่งใดหรือด้านความสัมพันธ์ชายแดนมอบให้กองทัพชายแดนตัดสินมาตรการได้เอง นโยบายแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเสร็จแล้วจะทำอย่างไรอย่างเป็นกระบวน ฯลฯ ย่อมไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องเสียแล้ว ภาคสังคมอันประกอบด้วยประชาสังคม และขบวนการทางสังคมย่อมจำต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเมืองแห่งนโยบายมากขึ้น ยิ่งหากเราเห็นตรงกันว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกที่ทุนนิยมเสรี กระบวนการโลกาภิวัตน์จักต้องถูกปรับเปลี่ยนด้วยการให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น การจำแนกแยกแยะบทบาทของรัฐฝ่ายการเมืองและราชการ รวมทั้งบทบาทส่วนภาคประชาสังคมย่อมจะทำให้เราทุกฝ่ายเข้มแข็งและสามารถเป็นฝ่ายกระทำในระดับประเทศและในระดับโลกได้ดีกว่าเดิม

จากมุมมองนี้ ภายใต้โลกาภิวัตน์ แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย หมายความว่า ถ้าหากเรายังมีความเข้าใจความสามัคคีขงชาติอย่างคับแคบก็กลับจะเป็นผลร้ายแก่ส่วนรวม แต่ถ้าเราต่างคนต่างใช้สติและมีสำนึกแบบวิพากษ์สร้างสรรค์ สังคมไทยโดยส่วนรวมก็ย่อมจะเข้มแข็งทางปัญญามากขึ้น และภายใต้แนวทางเช่นนี้เราทั้งหลายก็น่าจะสามารถพลิกบทบาทจากการตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากโลกาภิวัตน์ไปสู่การเป็นฝ่ายรุกต่อโลกาภิวัตน์อย่างเป็นกระบวนการได้





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.