COMPLAIN OR OPINION
"6รอบของชีวิต เส้นทางแกร่งของคนกล้า วิภา สุขกิจ-วสิษฐ เดชกุญชร" ::
โดย ธรรมศักดิ์ พึ่งตนเพียร สัมภาษณ์เรียบเรียง จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2544

ใครคือ วิภา สุขกิจ- - - - ->>

เธอไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนดารา แต่ในแวดวงสังคม การเมือง นายกรัฐมนตรีกี่คนต่อกี่คนที่ผ่านมา นักการเมืองรุ่นลายคราม สมัยที่นักการเมืองรุ่นลูกรุ่นหลาน และผู้นำยุคใหม่ยังไม่เห็นเงาเสียด้วยซ้ำ เธอผ่านยุคเผด็จการครองเมืองและยุคเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาอย่างดุเดือดโชกโชนและสง่างาม ย่อมรู้จักชื่อนี้ เป็นนักข่าวรุ่นครูที่ฝีไม้ลายมือและความเด็ดเดี่ยว เที่ยงตรงนั้นสูงสุด และบุกเบิกมติชนมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก เธอเป็น "เจ๊วิภา" ที่นักการเมืองและนักข่าวสายนี้รู้จัก เป็น "หญิงเล็ก" เจ้าของคอลัมน์ซุบซิบ ที่สังคมไฮโซถามถึง เป็นนักข่าวที่ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่แวดวงมหาวิทยาลัย อาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ และลึกลงไปในสังคมไฮโซ กระทั่งตำแหน่งบรรณาธิการ ที่ "มติชน" เมื่อหลายปีก่อน

เธอเป็นหญิงเหล็กและหญิงโสด ทำไม เธอพูดไว้กับพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้ร่วมอาชีพและร่วมชายคาว่า "เพราะฉันแต่งงานกับอาชีพนี้มั้ง" คำนี้มีความหมายอย่างกว้างและลึก และนึกถึงภาพของผู้หญิงคนนี้ได้ชัดเจนขึ้นอีกโข ได้เริ่มต้นงานชิ้นแรกคือการเป็นนักข่าวที่ "พิมพ์ไทย" โดยการชักชวนของ สุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ธรรมศาสตร์ และเปลี่ยนสังกัดไปอีกหลายแห่ง ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง "แม้จะเกลียดอะไรที่อยู่ในกรอบประเพณี แต่ไม่ชอบแหกประเพณี เกลียดความไม่เป็นธรรม แต่ธรรมศาสตร์นี่แหละที่บ่มเพาะ ความคิดอิสระและความรักในสิทธิเสรีภาพ ความอดทน ความแกร่งกล้าให้ทุกอย่าง และเมื่อทำงานหนังสือพิมพ์มาสองสามปีก็รู้ว่า..

นี่แหละใช่เลย" ที่เป็นธรรมศาสตร์ และเป็น วิภา สุขกิจ คนนี้เพราะว่าเธอนักกิจกรรมคนสำคัญในสมัยรัฐ บาลเผด็จการที่ต่อสู้เรียกร้องให้ได้ธรรมศาสตร์คืนมา ในสมัยกบฏสันติภาพ เธอเป็นหนึ่งในผู้ที่มีชื่ออยู่ในแบล๊กลิสต์ของกรมตำรวจ สมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เธอทำข่าวมาตั้งแต่ "ไฟไหม้เข่งก็เป็นข่าว..คนเมาตีกันขึ้นโรงพักก็เป็นข่าวหน้า 1" เธอเล่าผ่านนิตยสารดิฉันไว้ในครั้งหนึ่ง ที่เหลือ เธอให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือเฉพาะกิจเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่ง จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด เป็นบรรณาธิการ บอกเล่าถึงประสบการณ์อันยาวนานบนถนนสายนี้ไว้ว่า

"ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีลาหยุด ถ้าหยุดก็หยุดจริงๆ เลย ก็คือไปเที่ยวเมืองนอก ป่วยก็ไปทำงานได้ เป็นหวัดก็ไป เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะเราเอ็นจอย และเราเป็นสาวโสดด้วย ไม่มีพันธะ ใจคิดแต่เรื่องงาน" "ได้เจอนายกฯทุกคน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะแล้ว เราเปรียบเหมือนคนที่อยู่บนฝั่ง เห็นคนที่กระทบฝั่งแล้วหายไป มองเห็นตั้งแต่เขาขึ้นจนเขาลง เขาตกแล้วกลับมาใหม่ บางคนล้มหายตายจากไปก็มี" ชีวิตนักข่าวไม่ได้หอมหวานราบรื่นอย่างที่ใครๆ คิด เพราะมีขึ้นมีลง ยิ่งในสมัยก่อน รัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์ได้ง่ายๆ สิทธิเสรีภาพไม่มากมายฟุ้งเฟ้อเหมือนสมัยนี้ และอีกด้านธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็มิได้โชติช่วงรุ่งโรจน์ บางแห่งก็ต้องปิดตัวไป เงินในกระเป๋านักข่าวแค่น้อยนิด แม้จะต้องออกไปตระเวนอย่างโชกโชน

"ต้องหุงข้าว ต้มไข่ โรยพริกน้ำปลา ทุกเย็น" นี่ก็สะท้อนกระเป๋าเงินของอาชีพนี้ได้ดี

การเตะฝุ่นนั้นเป็นเรื่องธรรมดา วิภา สุขกิจ ก็เช่นกัน เธอเดินเข้าเดินออกโรงพิมพ์หลายแห่ง ต้องนอนแกร่วร้องเพลงอยู่บ้าน นั่งรถเมล์จนสุดสาย เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน เพราะไม่มีงานให้ทำ เป็นช่วงว้าเหว่และท้อแท้ในชีวิตที่เธอเคยเล่าไว้ ก่อนที่จะมาปักหลักอยู่ที่ค่ายมติชน

การที่เธอผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการนี้มาทำให้ได้พบได้เห็นความเป็นมาและเป็นไปของผู้คนระดับนำมากมายของประเทศนี้ อย่างผู้เฝ้ามอง อย่างใกล้ชิดกว่าคนในแวดวงอื่น "แต่เราก็เหมือนเรือจ้างเหมือนหมาเฝ้าบ้าน คือส่งเขาแล้วเรายืนอยู่ตรงนั้น ไม่ได้เป็นอะไรขึ้นมา ไม่ได้เป็นเศรษฐีขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ด้อยลงไป.. แต่เป็นความพอใจและภูมิใจมากที่ได้ทำงานอย่างนี้มา" ใครจะเป็นอย่างไร "นักข่าวอยู่ที่เดิม" เธอยืนยัน

ครั้งหนึ่งเธอได้ขึ้นมาถึงตำแหน่งบรรณาธิการ เป็นตำแหน่งที่น่ายกย่องนับถือและการยอมรับ แต่ในความเป็นจริง หัวอกบรรณาธิการนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆ คิด "สำหรับป้าแล้วไม่คิดว่าตำแหน่งนี้เป็นความก้าวหน้าอะไร การเป็นบรรณาธิการมันอาจเป็นการลงโทษด้วยซ้ำไปที่เราไม่ได้ไปเที่ยว ไปเจอะเจอคนเพื่อหาข่าว เพราะอาชีพของเราคือการเป็นนักข่าว การเป็นนักข่าวคือการที่เรารู้สึกซื่อสัตย์กับตัวเองมากที่สุด เราจึงอยู่มาได้" เคยมีคนถามเธอว่าความใฝ่ฝันของเธอคืออะไร สำหรับคนเป็นนักข่าวในสายเลือดอย่างเธอ

"จะเรียกว่าความฝันก็ไม่เชิง ถ้าในชีวิตนักข่าวก็ต้องทำข่าวให้ดี ไม่เคยคิดฝันตำแหน่งอะไร และความที่ไม่มีตำแหน่ง เข้าไปอยู่ที่ไหนก็ง่ายเหมือนกัน ป้าเลือกเรียนธรรมศาสตร์เพราะเห็นการต่อสู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาทำงานหนังสือพิมพ์จึงสู้ได้ อีกอย่างเราเป็นคนตัวเปล่า กินง่ายอยู่ง่ายจึงทำงานได้เต็มที่"

"งานคือกีฬาอย่างหนึ่ง ต้องวิ่งแข่งกันหาข่าว ต้องยืนโหนบันไดรอแหล่งข่าว นายกฯยังทำงานอยู่จนเที่ยงคืน เราก็ยืนเฝ้า บางทีเราต้องติดสินบนยามให้ไปซื้อข้าวห่อมาให้กิน" "ป้าเป็นนักข่าวมาตลอดชีวิต หัวอก บ.ก.นี่ไม่เห็นหรอกเพราะนี่คืออาชีพไม่ใช่หัวโขน อาชีพคือนักข่าว" "ก็มีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมอยู่ในอาชีพนี้มาได้นาน 30 กว่าปี ไม่รู้สิมันรัก อยู่ที่ไหนก็รักที่นั่น ทำงานให้เขาเต็มตัว ทุ่มให้เขาสุดตัว"

นั่นคือ แค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่มีสีสัน ผู้หญิงร่างเล็ก แต่หัวใจแกร่งที่ชื่อ วิภา สุขกิจ





" พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร- - - - ->>

เขาเป็นนายตำรวจ เป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ และครูอาจารย์ของตำรวจน้อยใหญ่ บนเส้นทางที่พลิกผันไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เขาน่าจะเป็นหมอ! อะไรคือสิ่งที่มาก่อนหรือมาทีหลัง และอะไรคือจุดที่พลิกผันชีวิตมาฟัง

ท่านทำหนังสือ เขียนเรื่องมาตั้งแต่อยู่ชั้นอุดมศึกษา หรือมัธยมปลายเป็นสาราณียกร ไปเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังเขียนหนังสือ เป็นใบปิดแนวเสียดสี แจกเพื่อนๆ อ่าน มือจับปากกาตลอดเวลา แต่ในใจมุ่งสู่เครื่องแบบสีกากีและตราโล่

"เรื่องการมาเป็นตำรวจนี้ มีเหตุ เพราะสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยม ผมถูกตำรวจแกล้งจับเอาไปขัง เรื่องไม่ค่อยจะเป็นสาระอะไร ผมทะเลาะหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน เขาทะเลาะสู้ผมไม่ได้ เขาก็เลยไปวานตำรวจมาจับผม เอาไปขัง คืนนั้นแหละครับที่ผมตั้งใจไว้เลยว่า ผมจะเป็นตำรวจให้ได้ ความตั้งใจอันแน่วแน่นั้นเกิดขึ้น เมื่อตอนที่อายุ 17-18 ในช่วงวัยรุ่น มีเสียงที่พูดอยู่ในใจตนเองคือ

"อยากให้คนที่จับผมเขาทำความเคารพผมให้ได้" เป็นทิฐิแรงกล้าที่ท่านไม่ได้คิดว่า เส้นทางชีวิตข้างหน้าเป็นอย่างไร "ตอนนั้นใจอยากจะเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจอย่างเดียว แต่ปีนั้นเขาไม่เปิดรับคนนอก ผมก็เลยไปเรียนที่จุฬาฯ เขาเปิดคณะรัฐศาสตร์เป็นปีแรก ก็เสียเวลาเปล่าๆ อยู่ปีหนึ่ง" "ผมก็คิดว่าจะเป็นทางลัด" เป็นทางลัดไปสู่วงการตำรวจ

แต่ทางนั้นก็ไม่ลัดจริงอย่างที่คิดแต่แรก

"ครับเรียนจนจบแล้วก็ไม่ได้ไปยุ่งกับตำรวจอีกเลย แล้วไปเรียนเมืองนอกทางด้านรัฐศาสนประสานศาสตร์แล้วก็เป็นอาจารย์ด้วย ก็อยากจะมาทางด้านปลัดการปกครองเพราะมันใกล้เคียง สองปีต่อมาก็ได้ปริญญาโท มาเป็นอาจารย์อยู่อีกปีหนึ่งแล้วผมก็ลาออกจากจุฬาฯ ผมตั้งใจเป็นอาจารย์เพื่อเป็นตำรวจ ผมต้องการที่จะมียศเป็นอาจารย์ ผมมีความตั้งใจอยู่อย่างเดียว คือต้องการให้ตำรวจที่จับผมไปขังทำความเคารพผม" ที่สุดก็ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ในใจนานหลายปี

"แล้วต่อมาตำรวจคนนี้มาเป็นลูกศิษย์ผม ทั้งที่ผมอายุน้อยกว่า เขาทำความเคารพผมแล้ว" "ก็หายครับ หายแค้นไม่ได้คิดอะไรอีก" เหมือนภารกิจได้สิ้นสุดลงแล้วในเวลานั้น แต่ไม่ใช่ ชีวิตบนเส้นทางสายนี้เหมือนถูกลิขิตไว้ วสิษฐ เดชกุญชร ไม่อาจก้าวออกจากวงการได้เนื่องจากแรงดลใจบางอย่าง

"ผมเจอปัญหาอยู่สองอย่าง ผมพบว่าวงการตำรวจที่ผมเห็นมีตำรวจเลวๆ อยู่เยอะ ก็เลยเปลี่ยนความตั้งใจใหม่ อยากทำให้กรมตำรวจเป็นที่ที่ตำรวจดีๆ อยู่ แล้วมันมีอีกปัญหาหนึ่ง คือปัญหาการคุกคามของคอมมิวนิสต์ แล้วบังเอิญผมเป็นคนอีสานด้วย ทำไมคอมมิวนิสต์ที่นั่นเยอะ ญาติพี่น้องผมก็โดนจับหลายคนข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เกิดข้องใจว่า มันเพราะอะไร อะไรทำให้คนไทยทางอีสาน ชาวนาคนจนเป็นคอมมิวนิสต์ ผมก็เลยตัดสินใจอยู่ต่อ" รู้กันว่าท่านเป็นตำรวจนักปราบคอมมิวนิสต์ แต่แนวทางนั้นอาจไม่ราบรื่นนักเพราะความคิดที่แตกต่าง เพราะขณะที่นโยบายเน้นการปราบปราม แต่นายตำรวจหนุ่มกลับคิดว่าต้องไปมองให้เห็นปัญหาต้นตอ

"ก็ค่อนข้างจะลำบากครับ ในขณะที่คนอื่นเขาจ้องจะปราบคอมมิวนิสต์กัน ผมจ้องที่จะให้คนที่เป็นคอมมิวนิสต์เข้าใจว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์นี่เป็นอย่างไร ผมก็เลยถูกกระแสมันลากจูงไป ต้องไปรบผู้ก่อการร้าย" งานหนัก เหนื่อย เสี่ยง และบางครั้งถึงกับท้อ เพราะสิ่งตอบแทนจากกรมตำรวจสมัยนั้นคือ เงินเดือนไม่ขึ้น "ก็อยากเลิกเหมือนกันบางครั้ง แต่เลิกไม่ลงเพราะลูกศิษย์เยอะ ผมเคยสอนเขา ผมเคยปลุกระดมเขา ไม่ให้ยอมจำนน อย่าท้อ เราทำไม่ได้" "ช่วงประมาณ 12 ปีผมไปอยู่กับในหลวง งานในวังเยอะจนไม่มีเวลา ไม่ได้เขียนอะไรมาก ประการสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันถ้าผมยังแสดงออกทางตัวหนังสือคงทำไม่ได้ ผมเป็นคอลัมนิสต์ ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือตำรวจอยู่หลายปี เป็นที่ผมระบายความรู้สึก และปลุกระดมตำรวจให้ต่อสู้กับความไม่ชอบอยู่ตลอดเวลา ผมก็รู้ว่าไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ตอนนั้นผมโดนสอบวินัย แล้วตอนที่ไปอยู่ในวังผมก็เขียนน้อยลงไป ผมก็เขียนเกี่ยวกับเรื่องการตามเสด็จ ผมอยู่ในวังจนปี 2524 แล้วผมก็กราบบังคมทูลขอออกมาอยู่ที่กรมตำรวจ" "ออกมาผมก็ถูกแช่เย็นไว้ 4 ปี ผมก็ไม่ทำอะไร" เหมือนชีวิตจะถูกลิขิตให้เดินบนทางขึ้นเขาลงห้วยตลอดเวลา "ก็เป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ เขาตั้งตำแหน่งไว้แต่ไม่มีกอง จะเห็นว่าความเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้บังคับบัญชาเก่ายังมีอยู่" คงเป็นธรรมดาหากเป็นใครความท้อแท้ย่อมปรากฏ

"ผมเชื่อและบอกเสมอว่า ถ้าเราตั้งใจเราก็ต้องรอ อย่าท้อแท้และทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อย่าปล่อยให้มันผ่านไป" มิใช่แต่ลาภ ยศ และอุปสรรคขวากหนาม ชีวิตตำรวจไม่เคยลืมตาอ้าปากได้แต่ไหนแต่ไรมาในเรื่องการเงิน เป็นศึกสองด้านในชีวิต

"ความขัดสนนี่ทำให้ตำรวจต้องไปทำอย่างอื่น" เป็นความเชื่อและเป็นความจริงที่รู้กันโดยทั่วไป "ถือว่าผมมีโชคนะ ผมเขียนหนังสือได้ด้วย ก็เลยผ่านมาได้ ก็เลยไม่ต้องไปเบียดเบียนชาวบ้านเขา ถ้าผมไม่มีรายได้จากตรงนี้ผมอาจจะต้องรับสินบนกับเขาบ้างก็ได้ เดี๋ยวนี้ตำรวจที่ยังอยู่ เด็กๆ นี่เขาออกไปทำงาน ไปสืบสวนเขาก็ยังต้องควักกระเป๋าตัวเอง ความจริงอาชีพมันควรจะได้รับการตอบแทนมากกว่านี้ แต่พอมีการเคลื่อนไหวที่จะขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทน มันก็มีหน่วยราชการอื่นขอขยับบ้าง ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ ทำไม่ได้จนทุกวันนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วการเสี่ยงอันตรายตำรวจนี่เสี่ยงมาก" "แล้วถ้าจะปรับก็ไม่ใช่ปรับแต่ข้างบน ต้องมองไปถึงผู้น้อยด้วย ตอนที่ผมเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายบริหาร ผมก็พยายามทำ ผมไปเจอโรงพักเล็กๆ แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด บรรดาแม่บ้านตำรวจเขาก็พยายามที่จะมีรายได้เพิ่ม ด้วยการไปรับผ้ามาเย็บ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นพอควร ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่าง ผมก็สั่งลงไปให้เขาสำรวจเรื่องแรงงานเหลือใช้ก็จะเอาข้อมูลตรงนี้ จะได้ติดต่อไปทางพวกที่เขาทำธุรกิจทำโรงงาน เพื่อจะได้ให้เขารู้ว่าที่นี่มีแรงงาน แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้วเลิกไปแล้วเพราะไม่มีใครผลักดันต่อ"

มีอีกมุมหนึ่ง ที่ผู้สนใจใคร่รู้ในเรื่องศาสนาและการปฏิบัติสมาธิ ทราบดีว่าท่านเป็นผู้รู้คนหนึ่งที่มีลูกศิษย์มากมายในการฝึกฝน แม้ทุกวันนี้

"ผมรู้จักหาวิธีหาความสงบให้ตัวเอง เวลาผมเขียนหนังสือ ผมก็สนใจตรงนั้น หรือเวลาพูดผมกำลังทำงานชนิดหนึ่ง ผมกำลังเผยแพร่ความคิด นั่นคือผมมีสมาธิ ผมสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว ศึกษามาแต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่กระตุ้นให้ผมสนใจสงสัย ก็คือจากพระเจ้าอยู่หัวเพราะท่านปฏิบัติด้วย ผมได้ความคิดนี้จากท่าน เวลาทรงงานนี่ท่านไม่มีอะไรเลยนอกจากงาน เหมือนกับการหลงงานแต่ไม่ใช่ ถ้าคนไม่ได้ศึกษาจะไม่เข้าใจเลยว่าท่านทำได้อย่างไร ทรงงานอย่างหนัก แน่วแน่ แต่ถ้าคนศึกษาเรื่องสมาธิจะเข้าใจทันที จะมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน ตลอดเวลาที่ผมอยู่ในตำหนักสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับผม คือได้เรียนรู้เรื่องสมาธิ" เพราะการได้เฝ้าฯใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง นอกเหนือจากการตระเวนบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชกรณียกิจ และการตามเสด็จ หลายๆ เรื่องในนั้นเป็นเรื่องน่าประทับใจ จนได้รับการเผยแพร่จากปากต่อปาก และแพร่หลายอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอย่างไม่รู้จบ "ปิดทองหลังพระ" ก็เป็นบทตอนหนึ่งซึ่งมีคนพูดถึงอย่างมาก และนี่คือเรื่องจริงจากปากของท่าน

"ครั้งหนึ่ง ผมได้รับพระราชทานพระเครื่ององค์หนึ่ง และครั้งนั้นในหลวงท่านพระราชทานพระบรมราโชวาทด้วย ท่านบอกว่าถ้าจะเอาไปบูชาให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดข้างหลัง แล้วท่านก็อธิบายว่า ที่ให้ทำอย่างนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ เวลาทำดีอย่าได้หวังรางวัล ให้ถือความสำเร็จของหน้าที่การงานเป็นรางวัล ใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่เป็นไร จะได้อะไรตอบแทนหรือเปล่าไม่สำคัญ" "หลังจากที่พระราชทานแล้วผมก็ออกมาปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่ในปีนั้นคือการออกไปชายแดน ผมก็เชิญพระองค์อื่นออกจากคอไป แล้วก็ห้อยอยู่องค์เดียวติดตัว หนึ่งปีหลังจากนั้นผมกลับมาชีวิตเต็มไปด้วยความระหกระเหินการเสี่ยงอันตราย ไปปะทะต่อสู้ แล้วก็พอถึงสิ้นปีก็กลับกรมตำรวจ เขาก็ไม่ขึ้นเงินเดือนขึ้นขั้น นายเขาไม่รักผม" "จากนั้นผมได้เข้าไปเฝ้าฯ เต็มไปด้วยความน้อยอกน้อยใจ ท้อแท้ ที่ไปทำงานเสี่ยงอันตรายแล้วไม่ได้อะไรตอบแทน ที่โต๊ะเสวย ผมก็ได้ทำสิ่งที่ไม่น่าจะกล้าทำ" "ผมกราบเบื้องพระยุคลบาท แล้วกราบทูลที่ที่ผมรู้สึก เล่าเรื่องออกไปว่าเกิดอะไรขึ้น"

"ทูลให้ท่านฟังว่าห้อยพระองค์นี้ มาทำงาน เหนื่อยลำบาก จะเป็นจะตายแต่ไม่ได้อะไรกลับมา แต่ความจริงก็ลืมไปนะว่าเพราะพระองค์ที่ห้อยคอนี้เราเสี่ยงชีวิตมา แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง" สิ่งหนึ่งที่ทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นคือ

"จึงมาขอพระบรมราชานุญาต ปิดทองหน้าพระ เพื่อต่อไปนี้จะได้มีคนเห็น" "ท่านพูดตอบมาทันทีเลยว่า ปิดทองไปข้างหลังเยอะๆ แล้วทองจะออกมาข้างหน้าเอง"

"ผมเชื่อว่าท่านทรงจำได้ ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ผมว่าคงไม่มีใครในโลกนี้ที่กล้าทูลกับท่านอย่างนั้น พอท่านรับสั่งว่าปิดทองหลังพระเยอะๆ แล้วทองจะล้นออกมา ผมก็ได้คิด เรานี่เซ่อ ท่านทรงรับสั่งแล้ว ตั้งแต่วันนั้นออกมาจนกระทั่งทุกวันนี้ผมก็คิดทำงานอย่างเดียวโดยไม่แยแสอะไร แล้วที่สุดทองก็ล้นออกมาหน้าพระจริงๆ หลังจากนั้นลาภยศ สรรเสริญก็มาเอง ตามมา"

ประสบการณ์ของผู้อาวุโสท่านนี้ มากมายจนยากจะกล่าวถึงได้ทั้งหมด แต่เพียงนี้ก็ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่ในส่วนลึกเบื้องหลังเครื่องแบบและยศศักดิ์ สิ่งที่อยู่ภายในความคิดของผู้ที่ผ่านชีวิตมาถึง 6 รอบ เป็นหกรอบที่ความแก่ชราไม่อาจอยู่เหนือความมุ่งมั่นในการงาน กระทั่งทุกวันนี้ ข้อเขียนของท่านก็ยังปรากฏอยู่เสมอ แม้จะลดน้อยถอยลงไปในเรื่องของการทำหน้าที่ครูบาอาจารย์เพื่อบรรยาย ลดลงไปในเรื่องของการสั่งสอนลูกศิษย์ในการปฏิบัติสมาธิ เท่านี้ก็เป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่วัย ยังเยาว์กว่า และกำลังเรียนรู้

ชีวิตของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นั้น เป็นหนังสือเล่มใหญ่ ที่น่าติดตามและให้แง่คิดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า นวนิยายหลายเล่มที่ท่านเขียน "ผมไม่มีเวลารู้สึกอย่างนั้น ไม่รู้สึกว่าแก่ แต่ผมรู้ตัวเองว่าแก่ แล้วผมไม่ปฏิเสธ ทุกคนนี่เราแก่ทุกวินาที ทุกขณะจิต ผมไม่ปฏิเสธและไม่พยายามชะลอด้วย"

"ผมเป็นคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่เพื่อเตรียมตัวตาย ไม่ได้เตรียมตัวที่จะอยู่ เพราะฉะนั้นผมจึงรีบจัดระเบียบซะ อะไรที่ไม่เรียบร้อย รีบทำเสีย อะไรที่เป็นประโยชน์ รีบทำให้เสร็จ" เป็นคำสนทนา ประโยคส่งท้ายในเที่ยงวันหนึ่งที่จับใจ



>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.