COMPLAIN OR OPINION
"ส่ง ส.ค.ส.ปีใหม่ ให้สื่อของรัฐ " ::
โดย อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ : คอลัมภ์ร้อยแปดวิถีทัศน์ : จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2544



ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรัฐบาลแทรกแซงสื่อ และเสียงตอบโต้กันไปมาระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เสียงที่เงียบที่สุดคือนักวิชาชีพที่อยู่ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐ จะมีก็เพียงข้าราชการระดับสูง เช่นอธิบดีที่ออกมาแย้งว่า สื่อของรัฐนั้นมีหน้าที่รับใช้รัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ที่รัฐบาลจะสั่งการให้สื่อของรัฐ เสนอหรือไม่เสนอข่าวสารข้อมูล จะให้เปิดรายการหรือปิดรายการใด หรือจะให้หรือไม่ให้ใครพูดผ่านสื่อของรัฐก็ได้

ออกจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่บรรยากาศเช่นนี้ยังคงมีให้เห็นเป็นวัฏจักรของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 30 ปีมานี้ แต่วัฒนธรรมการเมืองในเรื่องการควบคุมสื่อดูจะไม่คืบหน้าไปไหน สังคมไทยมีประสบการณ์อันเจ็บปวดมาแล้วจากการที่สื่อของรัฐ "ปิดหู ปิดตา" ประชาชน และ "บิดเบือนข่าวสาร" หลายครั้งหลายหน จนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในช่วง 14 ตุลา 16-6 ตุลา 19 และในช่วง 17-21 พฤษภาคม 35 ซึ่งนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปฏิรูปสื่อของรัฐ และก่อเกิดเป็นเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ความหมายของการปฏิรูปสื่อจึงอยู่ที่การคุ้มครองและขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยที่สุด ประชาชนต้องการได้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่การหลอกลวง การสร้างภาพลักษณ์หรือเรื่องราวที่ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อและควบคุมความคิดจากสื่อของรัฐ พูดจาประสาชาวบ้านก็คือ อยากเห็นสื่อของรัฐเป็นกลางมากขึ้น หันมาเอียงข้างชาวบ้านให้มาก และเลยไปถึงกล้าที่จะตรวจสอบนักการเมือง และข้าราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน นั่นหมายถึงการที่ชาวบ้านจะมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงจากบริการที่เป็นสื่อของรัฐ

สำหรับเจตจำนงอย่างมากที่การปฏิรูปสื่อจะครอบคลุมไปถึง คือการที่ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในฐานะเจ้าของทรัพยากรสาธารณะ โดยสามารถมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย แนวทางของแผนงานและการบริหาร ตลอดจนเนื้อหาสาระและประสิทธิภาพของสื่อรัฐและเอกชนในโครงสร้างใหม่ของระบบ และยังสามารถมีส่วนดำเนินกิจการในด้านนี้ได้เองโดยตรงอีกด้วย แต่เราจะพักเรื่องของการมามีส่วนร่วมของประชาชนไว้ก่อน แล้วหันมาพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นเรื่องการปฏิรูปสื่อของรัฐว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร

บทพิสูจน์ในระยะ 3-4 ปีมานี้ ชี้ให้เห็นว่าการที่จะให้รัฐเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการปฏิรูปสื่อ เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ไม่ว่าจะมีเสียงเรียกร้องขนาดไหนจากประชาชน นโยบายของรัฐก็ยังคงเส้นคงวากับความเชื่อมั่นว่าสื่อของรัฐต้องมีอยู่ และมีหน้าที่รับใช้รัฐและรัฐบาล โดยไม่หันมาเหลียวแลประชาชนซึ่งเป็นผู้รับบริการแต่อย่างใด

ณ รอยต่อของการเปลี่ยนแปลงขณะนี้ ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปสื่อของรัฐอยู่ที่ตรงไหน ? คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ที่หน่วยงานสื่อของรัฐที่กำลังตระเตรียมแผนรองรับการปฏิรูปด้วยการปรับองค์กรให้มั่นคงขึ้น และให้มีความเข้มแข็งสำหรับการที่ต้องแข่งขันกับสื่อสารมวลชนที่เป็นเอกชน ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้องค์กรเป็นสื่อที่รับใช้ประชาชนมากขึ้น มีเนื้อหาสาระที่กว้างขวาง หลากหลายและน่าสนใจ ยังคงต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด สัญญาณบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิเสรีภาพจากองค์กรสื่อของรัฐจึงยังมีอยู่น้อยมาก ในทางกลับกัน สัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการไม่อยากเปลี่ยนแปลงเพื่อคงสถานะเดิมและประโยชน์ทางเศรษฐกิจดูจะมีมากและเด่นชัดกว่า

แต่ถ้าหากว่าเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อในครั้งนี้ ไม่ทำให้เกิดคุณภาพและสิทธิเสรีภาพใหม่ในเนื้อหาสื่อของรัฐแล้ว การปฏิรูปสื่อจะมีความหมายอะไร เพราะสื่อของรัฐคือปัญหาหัวใจในเรื่องนี้

ในโครงสร้างระบบปัจจุบัน องค์กรสื่อของรัฐเป็นเจ้าของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ และเป็นผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารรายใหญ่ที่สุด (ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยการให้สัมปทานกับเอกชน) ประกอบด้วยจำนวนสถานีดังนี้

องค์กรสื่อของรัฐ*+สถานีวิทยุ+สถานีโทรทัศน์
1.กรมประชาสัมพันธ์+145 (27%)+9 (ช่อง 11 + ภูมิภาค 8 สถานี)
2.องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย+62(12%)+3 (ช่อง 3, 9 และยูบีซี)
3.กระทรวงกลาโหม+213 (41%)**+2 (ช่อง 5 และ 7)
4.กรมตำรวจ+44 (0.8%)+- (เคยแสดงความจำนงขอคลื่น)
*แสดงเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ของรัฐที่เป็นเจ้าของคลื่นและกิจการวิทยุและโทรทัศน์
**กองทัพบกมีจำนวนสถานีวิทยุ 128 แห่ง หรือประมาณ 25% ของจำนวนสถานีทั้งหมด 523 สถานี

ในการปฏิรูประบบสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้น การปฏิรูปสื่อของรัฐจึงเป็นความจำเป็นสูงสุด แม้ว่าความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสื่อของรัฐจากภายในตัวระบบ โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวกับคุณภาพ สิทธิเสรีภาพของข่าวสารข้อมูล อาจเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ซึ่งมีโอกาสเป็นจริงได้น้อยมาก แต่ประชาชนก็ต้องเดินหน้าเรียกร้องต่อไป ควบคู่กับการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างให้สื่อของรัฐมีขนาดเล็กลง ปลดปล่อยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งเป็นการให้โอกาสภาครัฐและเอกชน มีโอกาสแข่งขันกันในเชิงคุณภาพ ในขณะที่วิทยุและโทรทัศน์ภาคประชาชน จะเข้ามาเป็นผู้ถ่วงดุลระหว่างสื่อภาครัฐและธุรกิจเอกชน

ภาพของโครงสร้างระบบวิทยุและโทรทัศน์ใหม่ภายใต้กระบวนการปฏิรูป
ประเภทของผู้ให้บริการ+การจัดสรรคลื่น+ประเภทของผู้รับบริการ+ที่มาของรายได้
1.สื่อภาครัฐ เปลี่ยนเป็นสื่อภาคบริการสาธารณะ+ลดขนาดลงจากเดิม+บริการประชาชน/บริการสาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไร+กองทุน กสช./ค่าสมาชิกในรูปภาษีวิทยุ-โทรทัศน์ (300 บ./ปี/เครื่อง)
2.สื่อภาคประชาชน+จัดสรรใหม่ 20%+บริการชุมชน/ท้องถิ่น โดยไม่แสวงหากำไร+กองทุน กสช.ค่าสมาชิก, เงินบริจาคต่างๆ
3.สื่อภาคธุรกิจเอกชน+จัดสรรใหม่ ไม่อยู่ภายใต้สัมปทานองค์กรสื่อของรัฐ แต่อยู่ภายใต้องค์กรอิสระ กสช.+บริการประชาชน/ธุรกิจ โดยแสวงหากำไร+โฆษณาสินค้า สปอนเซอร์ ค่าสมาชิก

ถึงเวลาแล้วที่สื่อของรัฐจำต้องเป็นอิสระจากการควบคุมโดยตรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารบุคลากรหรือที่มาของงบประมาณ นั่นย่อมหมายความว่า การปฏิรูปจะทำให้องค์กรสื่อของรัฐปลอดจากการครอบงำของอำนาจและการแทรกแซงต่างๆ ให้มีความเป็นไทแก่ตัวเองอย่างแท้จริงอำนาจการควบคุมที่สำคัญของรัฐบาล มีที่มาจากการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับกลางและสูง ซึ่งทำหน้าที่บริหารและคัดเลือกเนื้อหาสาระของรายการ และมาจากงบประมาณของรัฐ

ดังนั้น หากให้มีการแยกองค์กรสื่อภายใต้การกำกับของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งหมดออกมาเป็นอิสระ (ไม่ใช่องค์การมหาชนดังที่กรมประชาสัมพันธ์กำลังดำเนินการอยู่) โดยให้คณะกรรมการหรือบอร์ด และผู้บริหารมาจากการสรรหาและการสอบแข่งขัน องค์กรก็จะอยู่ห่างออกมาจากการควบคุมของรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง

ประการสำคัญต่อมาคือเรื่องงบประมาณ ซึ่งพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (2543) กำหนดให้มีกองทุนเอาไว้แล้ว (กองทุนนี้จัดตั้งจากรายรับค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่และการหักรายได้จากผู้ประกอบการเอกชน) น่าจะมีการพิจารณาว่า ควรจะนำมาเป็นงบประมาณสำหรับองค์กรสื่อของรัฐหรือไม่ หรือจะรณรงค์ให้ประชาชนเป็นเจ้าของโดยตรงจากการเก็บค่าสมาชิกในรูปของภาษีวิทยุและโทรทัศน์ เป็นการเปลี่ยนฐานะของสื่อรัฐ (state service broadcasting) มาเป็นสื่อบริการสาธารณะ (public service broadcasting) ดังเช่นหลายประเทศซึ่งมีสื่อบริการสาธารณะเป็นสื่อที่ให้หลักประกันแก่สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและแสดงออกซึ่งความคิดเห็น

ตัวอย่างที่รู้จักกันดี เช่น บีบีซี ของอังกฤษ, เอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น, เอบีซี ของออสเตรเลีย, ซีบีซี ของแคนาดา โดยประเทศเหล่านี้มีหลักการว่าสื่อบริการสาธารณะต้องไม่เป็นสื่อที่รัฐบาลควบคุมหรือกำกับได้โดยตรง แต่ต้องมีระยะห่างที่รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานและความเป็นอิสระของนักวิชาชีพ ดังนั้น จึงมีการบัญญัติเป็นธรรมนูญขององค์กร หรือเป็นพระราชบัญญัติแล้วแต่กรณีเพื่อให้องค์กรสื่อเป็นอิสระจากปัจจัยการครอบงำทางการเมืองและทางธุรกิจการค้า และเนื่องจากประชาชนเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินโดยตรง สื่อบริการสาธารณะจึงอยู่ภายใต้อาณัติของประชาชน และต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาและประชาชนทุกปี

สื่อของรัฐที่กฎหมายกำหนดว่ามีพันธกิจในด้านข้อมูลข่าวสารโดยตรงได้แก่ วิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบุคลากรรวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 คน และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ซึ่งแตกตัวมาจากกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม หลังปี 2519 มีบุคลากรจำนวนกว่า 1,100 คน ล้วนเป็นบุคคลที่มีความสามารถในทางวิชาชีพทั้งสิ้น แต่การที่องค์กรแรกกลายเป็นองค์กรที่มีภาพเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทุกๆ รัฐบาล คือทำหน้าที่สื่อด้านการเมือง ส่วนองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจ คือเป็นรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารมวลชนที่ทำกำไรให้แก่รัฐ จึงสมควรที่จะมีการทบทวนว่าบริการข่าวสารข้อมูลและศิลปวัฒนธรรมที่รัฐพึงให้บริการและคุ้มครองแก่ประชาชนนั้น ยังจะเดินหน้าไปตามกรอบเดิมๆ หรือไม่ในโลกยุคใหม่ที่ข้อมูลข่าวสารและสิทธิเสรีภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่รัฐครอบครองแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อไปอีกแล้ว

ในวาระปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง จึงขอส่งความปรารถนาดีและข้อเสนอมายังบุคลากรทุกคนในองค์กรสื่อของรัฐว่า การปฏิรูปสื่อของรัฐอยู่ในมือของท่านแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าท่านต้องการเห็นการปฏิรูปเดินไปในทิศทางใด ระหว่างการอยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ (ซึ่งตรงข้ามกับปรัชญาและจิตวิญญาณอิสระของนกน้อยสื่อสารมวลชนเป็นอย่างยิ่ง) หรือการอยู่อย่างเป็นไท ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐ

ในโอกาสเดียวกันนี้ อยากขอให้ประชาชนช่วยกันส่ง ส.ค.ส.ปีใหม่เป็นหมื่นเป็นแสนใบ ไปให้บุคลากรในสื่อของรัฐทั้งสององค์กร เรียกร้องให้พร้อมใจกันเดินออกมาจากระบบเดิมที่ผุกร่อน และอวยพรให้มิตรสหายทุกคน กล้าหาญที่จะเดินเคียงข้างประชาชน เพื่อเปิดศักราชใหม่ของสื่อสารมวลชน

ฟ้าเปิดแล้ว สำหรับเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไยท่านจะมัวก้มหน้าดูดินอยู่เล่า








>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.