COMPLAIN OR OPINION
'ฝ่าด่านอคติ' งานหนักของ... สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ::
เรื่อง : ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ : อนันต์ จันทรสูตร์ จากแซกชั่น เสาร์สวัสดี หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2544

"ฝ่าด่านอคติ' งานหนักของ... สุชาดา จักรพิสุทธิ์ "- - - - ->>

...... ในหลายๆ ประเด็น เราเลือกข้างตัวเองถึงแม้จะเรียนมาทางด้านหนังสือพิมพ์ แล้วก็ถูกสอนเรื่องความเป็นกลางในสื่อเยอะมาก แต่ด้วยประสบการณ์ ไม่เชื่อว่าความเป็นกลาง จะมีอยู่จริง แต่ความเป็นธรรมมี แค่เราเลือกที่จะเสนอข่าวคนจนก็ไม่เป็นกลางแล้ว สื่อมันได้ก้าวข้ามจากการเป็นสื่อแล้ว ไปสู่สถาบันการเรียนรู้ ถ้าเพียงแต่สื่อเข้าใจตรงนี้ เขาจะใช้ความเป็นสถาบันการเรียนรู้มาสร้างเนื้อหาอะไรที่ทำให้เกิดการเรียนรู้แก่เยาวชน และคนในสังคมเยอะมาก และนี่คือการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง การทำงานความคิดกับสื่อกระแสหลัก เป็นงานที่ต้องฝ่าด่านอคติ ทำไมเขาจะต้องซื้อข่าว จากสำนักข่าวเล็กๆ สัญชาติไทย กับข่าวที่เหมือนไม่มีความหมายอะไรเลย พูดง่ายๆ ในภาษาของสื่อธุรกิจว่าเป็นข่าวที่ขายไม่ได้ ที่แล้วมาข่าวมันเป็นการไหลลงจากข้างบนสู่ข้างล่าง สำนักข่าวจึงอยากจะถ่วงดุลข่าวสาร ตามที่เราบอกไว้ในภารกิจของเราว่าเพื่อที่จะทำหน้าที่ถ่วงดุลข่าวสาร อยากจะให้ข่าวสารไหลกลับจากข้างล่างขึ้นไปสู่สังคมบ้าง....

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของนิตยสาร 'สารคดี' คงคุ้นกับชื่อ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการรุ่นบุกเบิกคนนี้ แต่ถ้าเป็นเด็กรุ่นหลังมาหน่อย 'ไดโนสาร' เป็นหนังสือสำหรับเยาวชนฉบับคุณภาพอีกเล่ม ที่ออกมาจากมันสมอง และสองมือของเธอ สุชาดา อดีตนักศึกษาวารสารศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือคนเดือนตุลาอีกคนหนึ่ง ที่เข้าป่าไปหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสนใจอย่างจริงจังในประเด็นทางสังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะอำลาวงการน้ำหมึกมาได้ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดเธอก็หวนคืนสังเวียนข่าวสาร ด้วยความเชื่อว่าพลังของสื่อ คือศักยภาพอย่างแท้จริงของการปฏิรูปการศึกษา โดยครั้งนี้เข้ามารับหน้าที่เป็น บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาธรรม ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2544

1 ขวบปี สำนักข่าวแห่งนี้ถูกค่อนขอดว่าเป็นสำนักข่าวเอ็นจีโอ ไม่มีความเป็นกลางในการรายงานข่าว ซึ่งบรรณาธิการหญิงแกร่งคนนี้ได้ออกมาประกาศจุดยืนของตนเองว่า "ไม่เชื่อในความเป็นกลางที่ปราศจากความเป็นธรรม"

วันนี้นอกจากเธอจะมาสร้างวิวาทะเกี่ยวกับความเป็นกลาง และวิพากษ์วิญญาณเสรีที่หายไปจากสื่อกระแสหลัก ผู้หญิงคนนี้ได้เปิดประตูบ้าน...'สำนักข่าวประชาธรรม' สื่อทางเลือกที่มี 'ใจ' เป็นทุนจดทะเบียน ให้ทุกคนได้สำรวจกันอย่างถ้วนทั่ว

+เป็นมาอย่างไรถึงได้มาทำงานกับสำนักข่าวประชาธรรม
คือหลังจากฟองสบู่แตกก็ปิดบริษัทที่กรุงเทพฯ มาทำประสานงานให้กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แล้วก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ทำงาน...ซึ่งพูดให้สะใจตัวเองว่างานสาระแนมาระยะหนึ่ง ได้เข้าร่วมประชุมบ่อยครั้งก็จะได้ยินเรื่องสรุปบทเรียนการทำงาน มักจะเป็นปัญหาว่าสื่อสารกับสังคมไม่ได้ ทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวแล้วก็ไม่เป็นข่าว อะไรทำนองนี้ ครั้งนึงก็เลยคิดขึ้นมาในที่ประชุมว่า แล้วทำไมทางเอ็นจีโอเองไม่จัดองค์กรขึ้นมาที่จะทำงานด้านสื่อโดยตรง แล้วทำงานแบบมืออาชีพเลย ทำงานกับสื่อกระแสหลักได้ ก็ปิ๊งไอเดียเป็นสำนักข่าว แล้วก็คิดต่อเป็นที่สนุกสนานว่าสำนักข่าวอันนี้จะผลิตข่าวของคนจนโดยเฉพาะ แล้วก็จะขายสมาชิกให้แก่สื่อส่วนกลาง สื่อธุรกิจ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 42 เป็นช่วงที่เราขายความคิดกัน มีคุณชัชวาล ทองดีเลิศ ช่วยคุยกับใครต่อใครทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเอ็นจีโอด้วยกัน แล้วทุกคนก็เห็นดีด้วยว่าน่าจะมีองค์กรแบบนี้ หลังจากนั้นก็ไปคุยกับอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) อาจารย์นิธิ ก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือคิดตรงกัน

+ทำไมถึงใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง
คือมันก็เฟด (Fade) ไปยังไงไม่รู้ ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำสักที จนเวลาผ่านไปเป็นปี สถานการณ์มันก็ยิ่งรู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้สื่อเอาข่าวเหล่านี้ไปสื่อสารกับสังคมให้ได้ ในที่สุดก็ตัดสินใจว่า ตัวเองน่าจะเหมาะ เพราะว่าทุกๆ คน ก็คิดว่าควรจะเป็นเราตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่กล้ารับปากเพราะรู้ว่าเป็นงานบุกเบิกที่ยากมาก ที่สำคัญก็คือ ทัศนคติของสื่อกระแสหลักในการที่เขาจะเสนอข่าวหรือไม่เสนอข่าวเหล่านี้ มันค่อนข้างเป็นทัศนคติที่ฝังรากลึกมาก เราคงจะไปเปลี่ยนแปลงยาก รู้ว่าเป็นงานที่ยากก็ลังเลมาตลอด แต่ในที่สุดคิดด้วยเหตุผลก็คงต้องเรา ก็ตกปากรับคำเมื่อกลางปี 43 เข้ามาจัดระบบ ต้องการที่จะทำให้สำนักข่าวเป็นบริษัทจำกัด ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องปิดประตูไม่ให้เลื่อนไหลไปสู่ความเป็นเอ็นจีโอ ต้องการให้มันเป็นองค์กรธุรกิจที่ทำงานเป็นกลาง และมีเป้าหมายที่จะพึ่งตัวเองได้ อาจจะทำกำไรหรือไม่นั่นอีกเรื่องนึง แต่ว่าเพื่อที่จะพึ่งตัวเองได้

+ในฐานะสำนักข่าวทุนน้อย เริ่มต้นอย่างไร
ก็เริ่มจากการหาตัวบรรณาธิการข่าว แล้วก็เซทบอร์ด เซทอะไรต่ออะไรขึ้นมา เริ่มสร้างกลไก ไปประสานงานให้เกิดศูนย์ข่าวภูมิภาค ก็มีศูนย์ข่าวภาคอีสานในชื่อศูนย์ข่าวไทยอีสาน ศูนย์ข่าวภาคใต้ใช้ชื่อว่าศูนย์ข่าวแลใต้ ส่วนศูนย์ข่าวภาคเหนือนี่มันซ้อนอยู่กับสำนักข่าว ใช้ออฟฟิศเดียวกันอยู่ ส่วนภาคกลางมีอยู่ 2-3 องค์กร ก็รวบรวมคนเหล่านี้ว่าตกลงคุณจะเป็นเซ็นเตอร์ในการรีดเอาข่าวต่างๆ ส่งเข้ามาสำนักข่าว เพราะว่าคอนเซ็ปท์ของเราคือเราจะผลิตข่าวในขอบข่ายทั่วประเทศ เพียงแต่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ภาคเหนือ หลังจากนั้นก็ใช้เวลา 3 เดือนปลายปี 43 ในการทดสอบการผลิตข่าว เป้าหมายก็คือวันละ 1 ข่าวเป็นอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 บทความ เมื่อทำได้ตามเป้าหมายปุ๊บ เดือนมกราคม ปี 44 ดิฉันกับอาจารย์นิธิก็รับหน้าที่ออกไปขายสื่อ มีการคุยกันตั้งแต่ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด อะไรทั้งหลาย

+ทราบมาว่างานขายสมาชิก ต้องฝ่าฟันอุปสรรคค่อนข้างมาก
ก็อย่างที่บอกปัญหาใหญ่คือ ต้องทำงานความคิดกับสื่อกระแสหลักมากเลย เอาง่ายๆ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งเขาตอบว่าเขามีนักข่าวท้องถิ่นตั้ง 300 กว่าคน จะให้เอาไปทำอะไร พูดง่ายๆ ก็คือ เขาไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะมองเห็นว่า แนวโน้มข่าวแบบนี้มันจะมีมากขึ้น เนื่องจากกว่าไอ้นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลชุดใหม่กำลังทำ มันมาดึงทรัพยากรไหลกลับไปยังชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ อบต. หรือแม้แต่เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค การขยายตัวธุรกิจที่เริ่มจะมีสาขาลงไปยังท้องถิ่น นี่คือ แนวโน้มที่ทรัพยากรมันกำลังจะทะลักกลับไปถึงชุมชน แล้วสิ่งเหล่านี้มันได้ไปทำให้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นในชุมชนเยอะมาก พูดง่ายๆ ก็คือว่าชีพจรข่าวมันกำลังเต้นตุ๊บตั๊บในชุมชน มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นมั้ย นั่นคือสิ่งที่สำนักข่าวเสนอขาย มันคือข่าวที่ถึงแม้เขามีนักข่าว 300 กว่าคนเขาก็ทำไม่ได้ เพราะเขามองไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข่าวยังไง และนักข่าว 300 กว่าคน ก็ยังทำข่าวแบบที่เคยทำมา คือไปเกาะติดกับส่วนราชการ เพราะนักข่าวท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการเกษียณอายุบ้าง หรือไปฝากอยู่กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบ้าง ซึ่งมันมีปัญหาสลับซับซ้อนทำให้ข่าวที่เขาได้ก็จะเป็นประมาณข่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้มีอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่น ผู้ว่ามาแจกผ้าห่ม ก็ไม่ว่ากัน แต่ว่านั่นเป็นงานใหญ่ของสำนักข่าว เป็นการทำงานความคิดกับสื่อกระแสหลัก แล้วก็เป็นงานที่ต้องฝ่าด่านอคติด้วย อันนี้หนังสือพิมพ์เขาก็ยอมรับนะว่าเขามีอคติว่าทำไมเขาจะต้องซื้อข่าวจากสำนักข่าวเล็กๆ สัญชาติไทย กับข่าวที่เหมือนไม่มีความหมายอะไรเลย พูดง่ายๆ ในภาษาของสื่อธุรกิจว่าเป็นข่าวที่ขายไม่ได้

+ฟังดูเหมือนสื่อมวลชนทุกวันนี้ไม่คิดจะเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านอีกแล้ว?
จริงๆ ระดับบรรณาธิการเขาก็เห็นด้วย เห็นความสำคัญของข่าวแบบนี้ คือ โดยวิญญาณของนักข่าวเขาก็มีจมูกข่าวพอที่จะมองเห็นพอสมควร แต่เจ้านายเขา เจ้าของเงินเขาก็พูดว่าทำไมต้องเสียเงินเพิ่ม แล้วนักข่าวที่มีอยู่จะให้ไปทำอะไร ก็มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อยู่ 2 ฉบับที่คิดอย่างนั้น อีกฉบับนึงยิ่งแย่เลยคือ เขาให้เราพบฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ก็คือมันสะท้อนว่าเขาเข้าใจว่าเราคืออะไร เข้าใจว่าเราไปขายของ เพราะงั้นก็ให้พบฝ่ายการตลาดแล้วก็ไม่มีปฏิกิริยาหลังจากการพบเลย ส่วนหนังสือพิมพ์ที่มีวิสัยทัศน์พอจะเข้าใจว่าชีพจรข่าวจะลงไปสู่ชุมชนยังไง ก็มี 2-3 ฉบับที่ตอบรับเรามา คือ ข่าวสด มติชน บางกอกโพสต์ รวมทั้งรายการทีวีที่ไม่น่าเชื่อเขาติดต่อเรามาเอง ทั้งที่เราไม่ได้ไปติดต่อเสนอขายอะไรเลยคือช่อง 7 ส่วนองค์กรทั่วไปก็มีสถาบันพระปกเกล้า มูลนิธิกองทุนไทย ปูนซีเมนต์ไทย ทั้งหมดก็ประมาณ 10 องค์กรที่เป็นสมาชิกเราอยู่ ซึ่งปกติเราจะส่งให้ทางอี-เมล์ของสมาชิก แล้วหลังจากนั้น 10 วันก็จะเอาข่าวเหล่านี้ขึ้นเวบไซต์ของสำนักข่าว ถือว่าข่าวสารเหล่านี้มันควรจะเป็นของสาธารณะ เนื่องจากสำนักข่าวนี้มันก่อตั้งจากคนเล็กคนน้อย คนทั่วไปก็สามารถเข้าไปดูได้ในเวบไซต์ ซึ่งมันจะช้ากว่า แต่ก็จะมีข่าวที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในสื่ออื่นด้วย

+ข่าวของสำนักข่าวจะต่างจากสื่อกระแสหลักอย่างไร มีเกณฑ์กว้างๆ ก็คือว่า ถ้าเป็นข่าวร้อน อย่างข่าวม็อบ ข่าวชุมนุม ยื่นหนังสือ เราก็เชื่อว่าเขาทำอยู่แล้ว ก็จะพยายามเจาะในประเด็นที่แตกต่าง แล้วเราก็คาดเดาได้ว่าข่าวหลักเขาจะพรีเซ้นท์ยังไง ก็ประมาณว่าข้อเรียกร้อง ความเห็นของผู้นำขบวน อะไรอย่างนี้ เราก็ต้องดูว่ามันมีเบื้องลึกกว่านั้นมั้ย ถ้าเรามองไม่เห็นประเด็นที่แตกต่างเราก็อาจจะไม่ทำ แต่จุดหลักแล้วเราจะไปจับข่าวที่ไม่ใช่ข่าวร้อน แต่เป็นข่าวที่มีนัยสำคัญ หมายถึงว่ามันเป็นข่าวที่บอกว่าภาคประชาชนมีความต้องการที่จะกำหนดชีวิตในเรื่องนี้ ต้องการทางออกในการแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่ง อย่างเช่นเราก็ไปเจอว่ามีหมู่บ้านนึงที่ลำปาง ในขณะที่กองทุนหมู่บ้านเริ่มไหลลงมา มันกำลังฮอต เขาบอกว่าเขาไม่อยากได้กองทุนหมู่บ้านหรอกเพราะว่ามันทำให้หมู่บ้านเขาแตกแยกกัน เพราะหมู่บ้านเขาเลี้ยงวัว ไม่รู้จะเอาเงินไปทำไม กว่าวัวจะโตก็ 2 ปี ถึงจะเห็นเนื้อเห็นหนัง แต่กองทุนมีเงื่อนไขว่าต้องคืนกองทุนภายใน 1 ปี มันไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงเขา ถ้าเป็นนักข่าวรู้ก็อาจจะเฉยๆ แต่เราเห็นว่ามีนัยสำคัญ ที่บอกว่าชาวบ้านเขามีวิถีชีวิตแบบของเขา มีทางออกอีกแบบนึง แต่นโยบายกองทุนหมู่บ้านมันคิดจากส่วนกลาง แล้วมันก็ไหลกลับมายังท้องถิ่น ไม่สอดคล้องกับเขา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนโยบายจากส่วนกลางที่คิดจะแก้ปัญหาของรากหญ้าได้ทันทีทันควัน แบบเปิดขวดยากินแล้วก็หาย แต่จริงๆ แล้วมันไม่จริง มันมีด้านตรงข้าม บางข่าวก็จะซ้อนกัน แต่นำเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป หรือที่เราคาดเดาได้ว่าสื่อคงมองผ่านไป

+ข่าวของสำนักข่าวจำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลมั้ย
ไม่ เช่นบางทีเราก็ด่า อบต. กันเรื่อยว่า อบต.ก็มีแต่โครงการก่อสร้างที่จะหาทางคอรัปชั่น แต่มันก็มี อบต. ที่ลุกขึ้นมาจัดสรรน้ำ แล้วก็แก้ปัญหาความขัดแย้งของชุมชนพื้นราบกับชาวบ้านที่เป็นม้ง ที่เขาทะเลาะกันเรื่องต้นน้ำปลายน้ำ เป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาล อบต.ก็เข้ามาจัดการประชุมจนตกลงกันได้ หรือ อบต.ดีๆ ที่เข้ามาจัดการศึกษาทางเลือกให้กับลูกบ้าน ทำโฮมสคูล ซึ่งเป็นข่าวดี

ข่าวจากภาคประชาชน คนทั่วไปมักจะมองว่ามีแต่ข่าวร้าย เหมือนที่สื่อบอกว่าข่าวที่ขายได้ต้องเป็นข่าวร้ายหรือข่าวที่มีผลกระทบวงกว้าง มีแรงกระเพื่อมสูง แล้วมองว่าข่าวพวกนี้ไม่น่าเป็นข่าว จริงๆ ข่าวดีๆ เหล่านี้มันช่วยให้เราเชื่อว่าภาคประชาชนมีความสามารถในการกอบกู้ตัวเอง ซึ่งมันผิดจากจินตภาพที่สื่อกระแสหลักเสนอกันมาตลอด 40-50 ปีมานี้ ภาพของคนจนหรือประชาชนรากหญ้า ที่ถูกสังคมจดจำว่าเป็นภาพของคนที่พึ่งตัวเองไม่ได้ อ่อนแอ การศึกษาน้อย แล้วก็ขี้เอา เดี๋ยวก็เรียกร้อง เดี๋ยวก็ม็อบ เดี๋ยวก็จะเอาโน่นเอานี่ เดี๋ยวก็ให้ช่วยเหลือ พยุงราคาผลผลิต

นั่นคือภาพของประชาชนแบบนึง ซึ่งมันเป็นภาพที่เราไม่ได้บอกว่าสื่อจงใจสร้าง แต่ข้อมูลที่มันไหลมาด้านเดียว จากภาครัฐแล้วไหลมาสู่สื่อ แล้วสื่อก็ไหลต่อไปยังสังคม มันเป็นภาพด้านเดียวอย่างนี้มาตลอด แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ ว่าคนชั้นกลางหรือคนในเมือง หรือคนในภาครัฐเองก็มองว่าคนจนเป็นแบบนี้ เมื่อคนเหล่านี้ปลุกคนมารวมตัวกัน เราก็ไม่เชื่อว่าเขาอยากได้ทางออกของเขาเอง เราคิดว่าต้องมีมือที่สาม ต้องมีใครยุแหย่ คือไม่เชื่อว่าเขาลุกขึ้นมาเขาทนไม่ได้แล้ว นโยบายของคุณมันไม่แก้ปัญหากลับไปซ้ำเติมให้เขาทุกข์ยากมากขึ้นอีก ไม่เชื่ออย่างนั้น ที่แล้วมาข่าวมันเป็นการไหลลงจากข้างบนสู่ข้างล่าง สำนักข่าวจึงอยากจะถ่วงดุลข่าวสาร ตามที่เราบอกไว้ในภารกิจของเราว่าเพื่อที่จะทำหน้าที่ถ่วงดุลข่าวสาร อยากจะให้ข่าวสารไหลกลับจากข้างล่างขึ้นไปสู่สังคมบ้าง

+คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้สื่อกระแสหลักมองไม่เห็นแง่มุมเหล่านี้
คือสื่อมันไม่ได้ตัดขาดกับสังคม โดยตัวของคนทำสื่อเอง นักสื่อสารมวลชนมันสวมหมวกชนชั้น ทัศนคติอะไรต่ออะไรเยอะมากที่ตัวเองสังกัดอยู่ ผ่านระบบการศึกษา อย่างน้อยที่สุดสื่อก็คิดว่าคนจบปริญญาโทมีความรู้มากกว่าคนจบปริญญาตรี คนปริญญาตรีก็มีความรู้มากกว่าชาวบ้าน อันนี้คือสิ่งที่หล่อหลอมกันมาในระบบการศึกษา แล้วก็สอนคนแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็พกเอาทัศนคติเหล่านี้ ความคิดเห็นเหล่านี้ไปใช้ในการทำงาน แล้วไปทำงานที่มีผลกระทบขนาดใหญ่ เพราะว่าสื่อกระแสหลักเหล่านี้มันต้องอาศัยทุนขนาดใหญ่พอสมควรโดยเฉพาะพวกระดับชาติ มันไม่ใช่ทุนแค่ล้านเดียว มันต้องเป็นทุนเป็นร้อยล้าน ทีนี้ทุนเป็นร้อยล้านมันต้องเกี่ยวกับใครอีก ก็ต้องเจ้าของเงิน อะไรอีกเยอะมาก เพราะอย่างนั้นสื่อกระแสหลักจึงอยู่บนเงื่อนไขผูกพันกับอันที่หนึ่ง ทุนอันที่สอง คนที่เข้าไปสู่สื่อกระแสหลัก และสิ่งเหล่านี้มันก็โผล่ออกมาเป็นสิ่งที่ตัวเองผลิต จะพูดเรื่องอะไรก็ต้องพูดเรื่องที่ไม่กระทบกับทุน พูดเรื่องที่ตัวเองมีจริตเห็นดีด้วย อยู่ในรสนิยมของตัวเอง ในขอบข่ายที่ตัวเองจะเข้าใจได้ เสร็จแล้วพอมันซ้ำด้วยสังคม มันส่งกันมากเลยที่ทำให้สื่อทำในสิ่งที่จะต้องครึกโครม ต้องเด่นต้องดังต้องตอบสนองบริโภคนิยม

+น้ำเสียงดูไม่มีความหวังกับสื่อกระแสหลักเลย?
ถ้ามองในระดับปัจเจก บางคนอาจจะเข้าใจพอสมควร แต่พอเข้าไปในระบบที่ถูกควบคุมโดยทุน ก็พ่ายแพ้ กลายเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกระแสใหญ่อันนั้น แต่ถ้ามองในเชิงโครงสร้างแล้ว สื่อสามารถมองเห็นบทบาทตัวเองว่า สถาบันสื่อกำลังเป็นสถาบันการเรียนรู้ของสังคม คนเราทุกวันนี้ เราไม่ได้เรียนในโรงเรียน ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าจบมหาวิทยาลัยแล้วเลิกเรียนเลย คนมันเรียนรู้ทุกวันโดยผ่านสื่อเหล่านี้ และยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการสื่อสารมันก้าวหน้ามาก เรารู้ทุกอย่างพร้อมๆ กับคนอื่นทั่วโลก เพราะอย่างนั้นสื่อมันได้ก้าวข้ามจากการเป็นสื่อแล้ว ไปสู่สถาบันการเรียนรู้ ถ้าเพียงแต่สื่อเข้าใจตรงนี้ เขาจะใช้ความเป็นสถาบันการเรียนรู้ มาสร้างเนื้อหาอะไรที่ทำให้เกิดการเรียนรู้แก่เยาวชน และคนในสังคมเยอะมาก และนี่คือการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง แต่ในสายตาคนนอก มองว่าสื่อยังไม่รู้ตัว จริงๆ พูดกันมานานแล้วว่าสื่อต้องเป็นตะเกียง แต่สื่อเองก็มองไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ

+ถ้ามองด้วยทัศนะแบบนี้ ในที่สุดสื่อเองจะกลายเป็นปัญหา?
กลายเป็นเครื่องมือของบริโภคนิยม เอาแค่ง่ายๆ สมัยที่ทำสารคดีเราก็มีปัญหากับโฆษณาตลอด แล้วก็เป็นเรื่องอมตะของสื่อทุกที่เลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี อะไรก็แล้วแต่ ฝ่ายคอนเทนต์กับฝ่ายมาร์เก็ตติ้งจะต้องมีปัญหากันตลอด ขัดแย้งกันตลอด

+แล้วใครชนะ?
มาร์เก็ตติ้งชนะทุกที บริโภคนิยมชนะทุกที มันเล่นกับกิเลสของคน กิเลสของคนชนะทุกที ไม่งั้นคนก็ไปสู่นิพพานกันหมดแล้ว กิเลสยังคงชนะอยู่นั่นเอง ไม่ใช่ไม่มีความหวัง คือความเปลี่ยนแปลงในสังคมหนึ่งๆ มีเหตุอยู่ 2 ปัจจัย อันที่ 1 เหตุปัจจัยภายใน ที่เราพูดกันทั้งหมดเป็นเหตุปัจจัยภายในสังคมนี้ แต่เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นภายนอกสังคมมันยังคงมีอยู่ อย่างเช่น ถ้าเศรษฐกิจตกลงเหวอีกครั้งหนึ่ง หรือเศรษฐกิจตกสะเก็ดทั่วโลก มีผลกระทบต่อเมืองไทย บริโภคนิยมอาจจะชะลอตัวช้าลง แล้วคนจะเริ่มมาคิดถึงทางเลือก พอทางมันแคบลงเราก็จะครีเอททางเลือกต่างๆ ที่มันสอดคล้องกับความหลากหลายมากขึ้น มันจะหันออกไปจากกระแสหลัก เช่นเดียวกับฟองสบู่แตกเมื่อปี 40 มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อันนี้เป็นเหตุปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบกับข้างใน ซึ่งอันนั้นเรายังไม่รู้ แต่ถ้ามองปัจจัยภายในเราจะรู้สึกสิ้นหวัง สำหรับตัวสื่อเอง คิดว่ายุคนี้เป็นจุดเปลี่ยนของสื่อ แต่ก็ไม่รู้ว่าสื่อเองมองเห็นหรือเข้าใจตรงนี้หรือเปล่า การแข่งขันในสื่อด้วยกันเอง สื่อประเภทเดียวกัน กับการแข่งขันข้ามสื่อมันกำลังนำมาซึ่งการปรับตัวที่ปรับแค่รูปแบบไม่ได้แล้ว ปรับแค่รูปแบบก็อาจจะซ้ำกัน มันต้องปรับเนื้อหาด้วย เพราะฉะนั้นต้องเลิกคิดซะทีว่าเอารูปแบบไปขาย เอาเรื่องครึกโครมไปขาย อันนั้นเป็นเรื่องรูปแบบ แต่ต้องคิดในเรื่องการแข่งขันในเรื่องเนื้อหา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเป็นตัวอย่างหนังสือพิมพ์ฉบับนึงที่เขาเล่นกับข่าวรากหญ้าควบคู่ไปพร้อมกับข่าวธุรกิจ เพราะเขาคิดว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาคือ ปัญญาชน ทำไมเขาสร้างตลาดเขาได้ โดยส่วนตัวคิดว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องคิดนะ นี่คือ การแข่งขันกันในเชิงเนื้อหา อย่าแข่งขันแต่รูปแบบ

+สำนักข่าวเสนอตัวมาแข่งขันในเวทีนี้ด้วยหรือเปล่า
ยุทธศาสตร์ของสำนักข่าวคือ ต้องทำให้สื่อกระแสหลักเริ่มเปิดใจที่จะมองเห็นว่าข่าวที่สำนักข่าวผลิต เราไม่ได้มาแข่งขันกับสื่อกระแสหลัก แต่สำนักข่าวผลิตข่าวซึ่งต่อแขนต่อขาให้กับสื่อกระแสหลักซึ่งเข้าไม่ถึงข่าวพวกนี้ เนื่องจากว่าเรามีข้อต่อที่อยู่กับรากหญ้าเยอะมาก เราได้ข่าวที่เขาไม่ได้ หรือได้ข่าวที่เขาไม่คิดว่าจะเป็นข่าว เพราะฉะนั้นอันที่หนึ่ง คือให้เขาใช้ข่าวของเราในการเป็นเบาะแส หรือใช้ข่าวของเราเป็นเครื่องมือต่อแขนต่อขา เพื่อให้ข่าวในหนังสือพิมพ์มันหลากหลายขึ้น มีชีพจรจากชุมชนมากขึ้น

อันที่สอง งานหนักของสำนักข่าวก็คือ... ดิฉันพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า 'ฝ่าด่านอคติ' คือ ต้องพยายามทำงานความคิดกับสื่อกระแสหลักให้ได้ว่าข่าวเหล่านี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าขายได้ขายไม่ได้ เพราะว่าข่าวคนชั้นกลางเองก็ไม่ใช่ทุกข่าวจะขายได้ เพียงแต่ว่าข่าวเหล่านี้มันไม่ได้มีสีสันเร้าใจ เพราะว่าคนในข่าวเป็นโนบอดี้ทั้งนั้นเลย เป็นคนเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ แค่ฟังชื่อก็ตลกแล้ว รู้สึกว่ามันขายไม่ได้

แต่เราคิดว่าอันนี้มันเป็นเรื่องที่สร้างได้ ที่แล้วมาที่สื่อกระแสหลักคิดว่ามันขายได้ ก็คือ ข่าวที่สร้างให้มันขายได้ทั้งนั้น ข่าวที่ขายความกลัว ขายความดัง ขายความสวย ขายเซ็กซ์ ขายความรุนแรง ซึ่งมันมีอยู่ในข่าวชุมชนด้วยเหมือนกัน ปัญหาก็คือภูมิหลังของนักข่าวส่วนใหญ่ ไม่สามารถจะลงไปเล่นข่าวชุมชนให้มันมีสีสันได้ แต่ข่าวอย่างหมอวิสุทธิ์ฆ่าเมีย ข่าวดาราแต่งงานกับใคร มันเข้ากันได้ดีกับภูมิหลังของนักข่าว มันคอเดียวกันรสนิยมเดียวกันที่จะเข้าใจได้ อีกอย่างเพราะสื่อมองว่าคนอ่านของเขาคือชนชั้นกลาง แต่จริงๆ แล้ว เคยสำรวจมั้ยว่าคนอ่านเป็นคนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นล่างจริงหรือ คนชั้นล่างก็อ่านหนังสือนะไม่งั้นทำไมคมชัดลึกจะต้องมุ่งเจาะลงไปที่คนชั้นล่าง ทำไมมติชนต้องออกข่าวสดล่ะ ทำไมไทยรัฐยังครองตลาด แสดงว่าคนชั้นล่างก็อ่านหนังสือพิมพ์ เขามีกำลังซื้อ แทนที่เราคิดอะไรที่เป็นความเคยชินเดิมๆ การตลาดแบบเดิม วิธีการคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบเดิม มีนักข่าวที่คิดแบบเดิม หัวหน้าข่าวที่คิดแบบเดิม อย่างที่พูดตอนต้นว่าตอนนี้ทรัพยากรมันไหลกลับไปชุมชน แล้วชีพจรข่าวมันเต้นในชุมชน มีหนังสือพิมพ์กี่ฉบับที่มองเห็นตรงนี้ ก็เพราะว่าภาพของชาวบ้านที่ฝังหัวเขา คือ งมงายไสยศาสตร์ การศึกษาน้อย ถ้าเอาข่าวชาวบ้านมาเล่น ก็คือข่าวประเภทนี้

+ใครคือนักข่าวของสำนักข่าวประชาธรรม
ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นผู้ปฏิบัติงานในเอ็นจีโอซึ่งเราฝึกอบรมไว้ ในเรื่องหลักการเขียนข่าว ความเข้าใจในเนื้อหาข่าว ทีนี้ภูมิหลังข้อมูลเรื่องของภาคประชาชนเขามีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็ทำงานด้านสื่อในองค์กรของตัวเองอยู่แล้ว ก็มาตกลงกันเป็นนักข่าวของเราทำงานให้ศูนย์ข่าวที่มีอยู่ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นคนที่เราฝึกอบรมไว้ อย่างผู้นำชุมชนที่สนใจ มาระยะหลังเร็วๆ นี้เองที่สำนักข่าวจัดตระเวนทั่วประเทศอีก ขณะเดียวกัน เราก็มีนักข่าวที่เป็นนักข่าวอาชีพจริงๆ มาเป็นสติงเกอร์ด้วย แต่เป็นนักข่าวที่มีความเข้าใจในข่าวพวกนี้แล้ว บางคนมีหัวก้าวหน้าเข้าใจความทุกข์ยากเหล่านี้ อยากเอาข่าวของคนจนไปเสนอ แต่บก.ไม่เอา ก็ต้องนำมาให้เรา เราก็จ่ายเป็นชิ้นไป คิดว่าอัตราก็ไม่ได้ดีไม่ได้เลวไปกว่าหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่เขาจ่ายให้สติงเกอร์อยู่ แต่ว่ามองเป็นเรื่องของการร่วมมือร่วมใจมากกว่า

+คิดอย่างไรที่ถูกมองว่าเป็นสำนักข่าวเอ็นจีโอ
ก็ได้รับเสียงสะท้อนอยู่เยอะ ทีนี้เราคงไปเที่ยวอธิบายด้วยถ้อยคำไม่ได้ คงต้องพิสูจน์จากการกระทำจากผลผลิตของเรา เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาข่าวมันไหลเข้ามาน้อย ความหลากหลายของข่าวก็น้อย ในข่าวก็จะเป็นแบบผู้นำเอ็นจีโอมาพูดมาอะไรอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ภาพพจน์อย่างนี้มันก็เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเบี่ยงเบน ตอนนี้เราก็พยายามที่จะเพิ่มกลไกใหม่ๆ มีมืออาชีพส่งข่าวเข้ามาเพื่อให้ข่าวมีความหลากหลาย มีปริมาณมากพอที่เราจะเลือก ที่แล้วมาไม่มีโอกาสที่ได้เลือกหรือเอาทิ้งบ้าง แต่ตอนนี้เริ่มมีการเอาข่าวทิ้งบ้าง เริ่มมีที่เราจะไม่เอาคำสัมภาษณ์ของเอ็นจีโอ เพราะนั่นเป็นภารกิจของศูนย์ข่าว ก็ถือว่าหนักหนา เพราะว่าเราเองต้องทำงานความคิดกับสื่อ ในขณะเดียวกันเราก็ทำงานกับเอ็นจีโอ ให้เขาเข้าใจด้วยว่าเราไม่ใช่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของเอ็นจีโอ เราเชื่อว่าสำนักข่าวจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต้องมีความเป็นธรรมเป็นกลาง ทำงานเป็นมืออาชีพจริงๆ ไม่ใช่ทำงานเพื่อเป็นปากให้กับเอ็นจีโอ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อันนี้เราพยายามทำงานความคิดมาตลอด

+แต่ข่าวที่ออกมาจากสำนักข่าวก็ยังไม่พ้นข้อหาเรื่องความไม่เป็นกลาง ?
ตรงนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าในหลายๆ ประเด็น เราเลือกข้าง คือตัวเองถึงแม้จะเรียนมาทาง ด้านหนังสือพิมพ์ แล้วก็ถูกสอนเรื่องความเป็นกลางในสื่อเยอะมาก แต่ด้วยประสบการณ์ ไม่เชื่อว่าความเป็นกลางจะมีอยู่จริง แต่ความเป็นธรรมมี ความเป็นกลางไม่มี แค่เราเลือกที่จะเสนอข่าวคนจนก็ไม่เป็นกลางแล้ว เราไม่เอาข่าวอย่างอื่นเอาแต่ข่าวคนจน เลือกข้างแล้วไง แต่โจทย์ของเราคือจะเสนอข่าวคนจนที่เป็นธรรมกับคนกลุ่มอื่นด้วยได้อย่างไร จะระมัดระวังตรงนี้ต่างหาก เพราะว่าเราพูดกันถึงเรื่องต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ต้องทำให้ชุมชนเป็นฐานราก ระดับรัฐบาลใครต่อใครเขาพูดกันหมด แต่อยากจะบอกกว่าชุมชนเขาเข้มแข็งไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้ว่าคนกลุ่มอื่นเข้าคิดอย่างไร เขามีปัญหาอย่างไร โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าความเป็นกลางยังมีอยู่ในสังคมที่สลับซับซ้อนแบบนี้ เอาง่ายๆ ว่า หนึ่ง ตัวนักข่าวเองเกิดมาในสังคมเมือง เรียนจบการศึกษาแบบที่ทำให้เราต้องทำงานอยู่ในเมือง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเมืองมาตลอด ถ้าวันนึงเราไปเห็นชาวบ้านที่เขาอยู่บ้านที่ข้างล่างเลี้ยงหมู ขี้หมูเลอะเทอะไปหมด เหม็นเน่า แล้วเขาก็ทำกับข้าวอยู่ตรงนั้น นักข่าวคนนั้นอาจจะมีทัศนะกับภาพเหล่านั้นว่าสกปรก เพราะอะไร ภูมิหลัง การศึกษา ทุกอย่างทำให้เขาคิดอย่างนั้น แค่นี้ก็ไม่มีความเป็นกลางแล้ว เพราะว่ามันเป็นการเอาสายตาของเราไปตัดสินไม่มากก็น้อย หรืออย่างสมัยหนึ่งคนพื้นราบมักจะคิดว่าลานสาวกอดเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะว่าเขาฟรีเซ็กซ์ นี่คือการเอาสายตาของคนพื้นราบเข้าไปมอง บางทีเขามีมิติทางวัฒนธรรมของเขาอยู่สลับซับซ้อนมากกว่า ทำไมเขาถึงมีวัฒนธรรมแบบนี้ หรืออย่างที่ชาวบ้านที่เขาอยู่กับขี้หมู มันก็เป็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เขาเลือกอย่างมีความสุขใจด้วยซ้ำไป

+แต่สื่อทุกวันนี้ก็ยังอ้างความเป็นกลางแบบให้สองฝ่ายพูดเท่าๆ กันอยู่ ?
ถ้าถามว่าความเข้าใจอันไหนถูกต้องกว่ากัน ประการแรก ก็คือนักข่าวเองโดยภูมิหลังก็ไม่สามารถที่จะเป็นกลางได้แล้ว อันที่สองในสถานการณ์หนึ่งๆ ไม่เชื่อว่าคนๆ หนึ่งจะรู้ข้อมูลทุกอย่างได้รอบด้าน เช่น สมัยหนึ่งก่อนที่ยันตระจะเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้นมา สื่อหลายฉบับก็สัมภาษณ์ยันตระ เพราะว่าคุณได้รับรู้ข้อมูลไม่รอบด้าน และเป็นเรื่องที่เป็นข้อจำกัดตามธรรมชาติ คนทุกคนไม่มีใครสามารถรู้อะไรทุกอย่าง ด้วยปัญหาที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ เชื่อว่าคนเราไม่สามารถเป็นกลางได้ เราไม่รู้ขอบเขตของปัญหา แล้วข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่ Truth อย่างเกิดแก่เจ็บตาย แต่ Fact มันประกอบด้วย Time and Space อะไรเยอะแยะไปหมด สิ่งที่นักข่าวพยายามจะเสนอเป็น Fact เท่านั้นเอง เป็นข้อเท็จจริงที่นักข่าวก็ไม่รู้รอบด้าน ยกตัวอย่างชัดๆ เวลาเราไปทำข่าวนักการเมืองคนนึง นักข่าวก็พยายามจะเป็นกลางโดยการสัมภาษณ์ฝ่ายรัฐบาล แล้วก็ไปสัมภาษณ์ฝ่ายค้านอีก แต่จริงๆ แล้วท่ามกลางความพยายามที่จะเป็นกลางเนี่ย นักข่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเยอะมาก ความเป็นกลางมันกลายเป็นด้านซ้ายกับด้านขวา ขาวกับดำ ฝ่ายหนึ่งโต้ตอบกับอีกฝ่ายหนึ่งแค่นี้ จริงๆ ความเป็นกลางอาจจะสัมภาษณ์คนที่เห็นด้วยเห็นพ้องต้องกันในเรื่องเดียวกันก็ได้ แต่เกิดความเป็นกลางเพราะมันมีมุมอื่นๆ ที่ทำให้ข่าวนั้นมันกลมขึ้น แทนที่จะมีมุมน้ำเงินกับมุมแดงเท่านั้น แทนที่จะมีมุมซ้ายกับมุมขวาเท่านั้น แต่มันเริ่มกลมขึ้นเพราะมันมีคนที่มองมิติอื่นๆ อันนี้ก็เป็นกลาง เพราะฉะนั้นอยากจะย้ำว่ามันต้องเป็นธรรม เพียงแต่ความเป็นธรรมมันหา Judgement ยากกว่า เนื่องจากมันขึ้นอยู่กับความวิสัยทัศน์ของคนที่จะไปตัดสินมัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ มันเกี่ยวพันกับตัวคนที่จะไปตัดสินด้วย มันก็เลยหาเกณฑ์อะไรยาก

+หลังจากเปิดสำนักข่าวมาได้เกือบปีแล้ว ประเมินว่าอย่างไร
ในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อกระแสหลักยังเป็นงานยากและหนัก ก็ยังคิดว่าเตาะแตะอยู่มาก ยอมรับว่ายังจับจุดสื่อกระแสหลักไม่ถูก เท่าที่ทำเรคคอร์ดไว้จากเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งหมด 4 เดือน เราผลิตข่าวไปประมาณ 22 ข่าวถูกใช้ไป 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าไม่น้อย หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรคคอร์ดแต่เห็นกระแสว่ามันน้อยลงๆ ทำให้ต้องเดินสายออกไปพบลูกค้าเหล่านี้ คำตอบที่ได้รับคืออันที่หนึ่ง ข่าวเรายังเป็นกระแสเดียวคือเหมือนเป็นปากเสียงให้เอ็นจีโอ ซึ่งเราเองก็อยู่ในช่วงการปรับตัวและแก้ปัญหาอยู่ อันที่สองคือ เขามองว่าเป็นข่าวที่เกิดขึ้นในพื้นที่เล็กๆ ไม่มีผลสะเทือนอะไร ซึ่งอันนี้เกี่ยวพันกับอคติของนักข่าว ตรงนี้แหละที่ทำให้เราทำงานยาก อคติข้อที่สาม ก็คือเขาเห็นว่าข่าวนี้เจ๋ง เล่นข่าวนี้ แต่ก็ไม่อ้างสำนักข่าว ไม่ให้เครดิตสำนักข่าว ทั้งที่ข้อตกลงในการซื้อขายข่าวมันมีอยู่ ก็ไม่ว่ากัน เพราะอย่างที่บอกว่า Goal ของเราคือเตะเข้าประตูเท่านั้น ทำยังไงให้ข่าวเรื่องนี้ออกไปสาธารณะให้ได้ เท่านั้นเอง ถ้าให้ประเมินตนเอง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการทำให้สื่อกระแสหลักอยากได้ข่าวของเรา หรืออยากเป็นสมาชิกสำนักข่าวเรา หรือเชื่อถือว่าข่าวเหล่านี้แล้วเอาไปเผยแพร่ต่อได้ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวพันกับปัจจัยความสำเร็จภายในองค์กรของเราเอง ไม่ได้เกี่ยวพันกับว่าผู้บริหารสำนักข่าวมันเก่งหรือเปล่า นักข่าวสำนักข่าวมันเก่งหรือเปล่า มันไปเกี่ยวพันกับทัศนคติของสื่อกระแสหลัก เพราะฉะนั้นถ้าตอบว่ามันจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มั้ย หรือว่าจะต้องใช้เวลาฝ่าด่านตรงนี้นานเท่าไหร่...ตอบไม่ได้ แต่ก็เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น เอาแค่ที่เราได้ไปเกี่ยวข้องกับสมาคมหนังสือพิมพ์และนักข่าวแห่งประเทศไทย การจัดประชุมในเรื่องวาระที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ภาคประชาชนเยอะ ท้องถิ่นเองก็พยายามจะปรับตัว เพราะว่ามันมีความเคลื่อนไหวภายในท้องถิ่นที่สื่อข้างบนยังมองไม่เห็น แต่นักข่าวในท้องถิ่นเริ่มเห็นแล้ว แค่ที่ไปเป็นวิทยากรก็หลายงานเขาอยากรู้ว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต้องปรับตัวยังไงถึงให้อยู่รอด เขาไม่ได้ต้องการแข่งกับหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง แต่เขาจะทำอย่างไรให้รับกับความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้ มันมีแรงกระเพื่อมจากท้องถิ่นอยู่ตอนนี้

+ทิศทางของสำนักข่าวประชาธรรมปีหน้าจะเป็นอย่างไร
ตอนนี้งานหลักของสำนักข่าวมาเน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวองค์กรเอง เช่น การออกไปจัดเวทีในสาธารณะเพื่อให้เป็นข่าว เพื่อสร้างมุมมองที่ดีของสำนักข่าวขึ้นมา แล้วก็เร่งในเรื่องการระดมหุ้นเข้ามา หาสติงเกอร์ที่เป็นมืออาชีพมากขึ้นทั่วประเทศเพื่อให้ข่าวที่ไหลเข้ามามันมีปริมาณหลากหลายและเราเลือกได้มากขึ้น เพื่อให้ภาพของสำนักข่าวที่ว่าเป็นสำนักข่าวเอ็นจีโอคลี่คลายลง เปลี่ยนไปเป็นสำนักข่าวมืออาชีพสำนักข่าวหนึ่ง ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาโปรดักส์ของสำนักข่าวให้มันน่าซื้อเพิ่มขึ้น

.....................................
ทั้งหมดนี้คือก้าวแรกที่ผู้เป็นบรรณาธิการแอบหวังว่า สำนักข่าวเล็กๆ จากความร่วมมือของคนเล็กคนน้อยจะสามารถส่งผ่านวาทกรรมอีกชุดหนึ่ง เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในกระแสธารข่าวสาร ก่อนจะก้าวต่อไปสู่บทบาทในการสรรค์สร้างสันติธรรมขึ้นในสังคม






>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.