COMPLAIN OR OPINION
"ละครโทรทัศน์ "พันธุ์ใหม่" สัญญาณภัยที่ต้องรีบจับตามอง" โดย วิภา อุตมฉันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ::
จากหน้าจุดประกาย- ทัศนะวิจารณ์/ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2546



ปกติไม่ค่อยได้ดูละครโทรทัศน์ แต่ก็ต้องคอยเปิดดูให้รู้จักเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง เพื่อเอาไว้ใช้อภิปรายกับนักศึกษาในห้องเรียน เพิ่งทราบว่ามีละครเรื่องใหม่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ออกอากาศทางช่อง 3 ยอมรับว่า ทนดูไปได้เพียง 2-3 ฉาก ก็ตัดสินใจขึ้นนอนด้วยจิตใจที่ขุ่นมัว พิษของความขุ่นมัวทำให้ต้องลุกขึ้นมาเขียน เพราะรู้สึกว่าเป็นทางเดียวที่จะถ่ายเทความขุ่นมัวออกจากสมอง เพื่อที่มันจะไม่รบกวนใจต่อไปถึงวันใหม่

"ทีเด็ดครูพันธุ์ใหม่" คือชื่อของละครเรื่องนี้ เป็นละคร "พันธุ์ใหม่" ที่สังคมต้องรีบจับตามอง เพราะดูจากการตั้งชื่อและแนวเรื่องที่ท้าทายการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือท้าทายสถาบันทางสังคมและค่านิยมหลักๆ ของสังคม

พอจะคาดเดาได้ว่า ผู้สร้างตั้งใจและจงใจจะทดลองตลาดด้วยละครพันธุ์ใหม่นี้ หากตลาดให้การยอมรับ สังคมเพิกเฉย หรือแสดงปฏิกิริยาต่อต้านไม่รุนแรง ละครพันธุ์นี้ก็จะอยู่ได้ และที่แน่นอน ก็คือ จะแพร่พันธุ์ออกไปในเวลาอันรวดเร็ว

หลายคนคิดในใจว่า ไม่เร็วเกินไปหรือที่จะวิจารณ์ขณะที่ละครเพิ่งออกอากาศ แต่ผู้เขียนกลับคิดว่า ต้องเร็ว เพราะตัวอย่างที่ได้เห็นเพียง 2-3 ฉาก ก็มากพอที่จะต้องแสดงความเห็นยับยั้งกันไว้บ้าง

ผู้เขียนไม่สนใจว่า ละครจะหักมุมต่อไปอย่างไร จะมีสาระอะไรปลอมปนอยู่บ้างหรือไม่ หากเมื่อเทียบน้ำหนักกันแล้ว กรวดมีมากกว่าพลอยอย่างล้นหลาม ความชั่วร้ายมีอยู่มากมาย และแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ขณะที่ความดีมีเพียงน้อยนิด และต้องใช้ปัญญาขุดค้นออกมา เมื่อนั้นก็ต้องไม่นำเสนอละครเรื่องนั้นออกสู่สาธารณะ

ความตกต่ำของสังคมไทยเราทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากละครโทรทัศน์ประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่ ละครที่ผู้สร้างอ้างว่ามีคติสอนใจ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่กว่าที่คนดีจะได้ดี คนชั่วจะได้ชั่ว ผู้ดูได้เห็นแบบอย่างที่เลวร้ายต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบมากมายไปแล้ว เด็กๆ ลอกเลียนแบบที่เห็นจะแจ้งจากโทรทัศน์ไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับเรื่องนี้แม้ผู้เขียนผ่านตาเพียง 2-3 ฉาก แต่มีความแน่ใจในวินิจฉัยของตัวเองว่าเป็นละครที่ไม่เหมาะสม และขอรับผิดชอบต่อความคิดเห็นทุกอย่างที่จะเขียนต่อไป

1. ละครเรื่องนี้มุ่งจับเหยื่อกลุ่มใหม่ คือเด็กนักเรียนมัธยมต้น ที่ยังไม่รู้จัก "ประจำเดือน" ไม่รู้จักการใส่ "บราเซีย" จุดนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่สังคมต้องรีบจับตามองให้ทัน ละครเริ่มจับกลุ่มวัยรุ่นมาพักใหญ่แล้ว แต่เป็นวัยรุ่นระดับมัธยมปลายถึงระดับมหาวิทยาลัย

ละครพันธุ์ใหม่เริ่มจะจับเหยื่อที่เด็กลงไป ที่ไร้เดียงสาลงไปกว่าเดิม เราต้องการเห็นผู้สร้างละครที่ให้ความสำคัญกับวัยรุ่น และจะดีใจหากละครจำนวนมากสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของวัยรุ่น สอนใจให้วัยรุ่นของเรามีสติคิดเป็น แต่สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับการมองวัยรุ่นเป็น "เหยื่อ" ของการตลาด จับวัยรุ่นเป็น "สินค้า" ที่จะขายให้กับสปอนเซอร์

2. ละครเรื่องนี้ใช้กลยุทธ์ที่ตกต่ำหลากหลายอย่างมาหลอกล่อ และดึงดูดความสนใจของผู้ชม เช่น ลอกเลียนแบบรายการที่ได้รับความนิยมอยู่ก่อน ได้แก่ "ทีวีแชมเปี้ยน" ทำละครให้ฉีกแนว โดยมีคนพากย์เล่าเรื่องซึ่งเลียนแบบลีลาและน้ำเสียงของนักพากย์ในรายการดังกล่าว

กลยุทธ์ที่ตกต่ำอันดับต่อมา คือการหยิบประเด็นเรื่อง "เพศและความรุนแรง" มาเป็นแก่นของเรื่อง จับสิ่งที่เป็น "เรื่องใกล้ตัว" เด็กวัยแรกรุ่นที่สุดมาเป็นจุดขาย ในเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงกับฉาก 2-3 ฉาก ละครพาผู้ชมวนเวียนอยู่กับเรื่องสองเรื่อง คือเรื่องประจำเดือน และการใส่เสื้อยกทรง

ใส่คำพูดที่เต็มไปด้วยความรุนแรงจนถึงขั้นลามกลงไปในบทสนทนาระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง วางบทให้ตัวละครทั้งครูและนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงจนถึงขั้นอนาจารตลอดทั้งเรื่อง เช่น ครูผู้ชายหยอกล้อกับเพื่อนผู้ชายเรื่องเสื้อยกทรง ครูชายโยนเสื้อยกทรงให้เด็กนักเรียนหญิง ครูหญิงตวาดใส่ครูผู้ชายที่พูดดูถูกว่า เธอใส่เสื้อชั้นในเบอร์เล็กกว่าความเป็นจริง

และที่น่าเกลียดอย่างที่สุด ก็คือ ให้นักเรียนชายเอาไม้ทิ่มหน้าอกของนักเรียนหญิง พูดใส่หน้าพร้อมหัวเราะเสียงดังต่อนักเรียนหญิงด้วยคำพูด เช่น "นมจริง นมปลอม" และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

3. ละครเรื่องนี้ (อย่างน้อย 2-3 ฉากที่ดู) กล่าวได้ว่า หาสาระที่เป็นประโยชน์ไม่ได้แม้สักนิด นอกจากนี้ ยังเต็มไปด้วยสิ่งเลวร้ายให้วัยแรกเลียนแบบ ละครทำทีว่าจะสอนเรื่องเพศศึกษา แต่แท้ที่จริงเอาเรื่องเพศเป็นเครื่องบังหน้า เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องล่อใจวัยรุ่นให้ติดตาม ละครปลูกฝังค่านิยมที่เลวร้ายให้กับเยาวชนในวัยแรกรุ่นอย่างไม่น่าให้อภัย

อันที่จริงละครไม่ใช่รูปแบบสื่อที่เหมาะแก่การสอนเพศศึกษาใครๆ ก็รู้ จึงไม่ใช่หน้าที่ของละครที่จะมาสอนเพศศึกษาให้เด็กๆ เพราะเพศศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ครูอาจารย์ และนักวิชาการต้องหาทางสอนเด็กๆ ที่พวกเขาใกล้ชิดในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ในสถานที่มิดชิด ในบรรยากาศที่จริงจัง เพื่อให้ทัศนคติต่อเพศที่เด็กได้รับเป็นทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่งจะจรรโลงชีวิตของพวกเขาไปในทางที่สร้างสรรค์อย่างตลอดรอดฝั่ง

เพศศึกษาที่ออกมาในรูปของละครตลกเน้นความบันเทิง แม้จะแสร้งเป็นสอนเพศศึกษาอย่างไร ก็มีแต่จะทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องกระตุ้นเซ็กซ์ เช่น ให้เด็กนักเรียนฝึกใส่เสื้อยกทรงอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องเสแสร้งผิดธรรมชาติ เช่น ครูผู้หญิงว่ากล่าวเด็กนักเรียนเกี่ยวกับการใส่เสื้อชั้นในกลางสนาม ต่อหน้าเด็กนักเรียนชายที่ยืนฟังเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นต้น

4. ละครเรื่องนี้ทำลายคุณค่าของสถาบันการศึกษาโดยสิ้นเชิง ทำลายวัฒนธรรมไทย ทำลายคุณค่าของสตรีไทย ทำลายการให้เกียรติที่เพศชายควรมีต่อเพศหญิงที่เป็นเพศแม่ เพศที่อ่อนแอกว่าและเสียเปรียบกว่าโดยธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้ ละครจึงทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ผิด จากละครเรื่องนี้ เด็กวัยรุ่นจะได้เห็นโรงเรียนที่ปราศจากบรรยากาศของการศึกษาโดยสิ้นเชิง

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเพศกลับเป็นไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ครูผู้ชายและนักเรียนผู้ชายคอยแต่จะเอาเปรียบทางเพศกับนักเรียนหญิง ละลาบละล้วงล่วงเกินเรื่องส่วนตัวของนักเรียนหญิง จ้วงจาบด้วยคำพูดและการกระทำต่อนักเรียนหญิง ฯลฯ

เพียงแค่ 2-3 ฉาก ผู้เขียนในฐานะแม่ ฐานะครูที่คลุกคลีอยู่กับวัยรุ่น ฐานะครูที่มุ่งสอนให้นักเรียนเข้าใจสื่อและวิเคราะห์สื่อได้อย่างถูกต้อง ถึงกับนอนไม่หลับ เพราะเห็นสื่อกระทำต่อลูก ต่อวัยรุ่นและต่อนักเรียนของตัวเองเช่นนี้ กล้าพูดด้วยความมั่นใจว่า ไม่เคยเห็นละครที่ท้าทายสถาบันหลักๆ ของสังคมอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งเช่นนี้ในบ้านเรา หรือในบ้านคนอื่นที่ไหนอย่างนี้มาก่อน

เราจะต้องช่วยกันจับตามอง และช่วยกันบอกกล่าวให้เขาแก้ไขตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็บอกกล่าวให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ปัญหาโดยเร็ว เพราะลูกหลานของเราและวัยรุ่น ซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะต้องไม่ถูกฉุดให้ไถลไปสู่ทิศทางที่ไหลต่ำมากไปกว่านี้อีกแล้ว








>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.