COMPLAIN OR OPINION
สื่อเสรีมีจริงหรือ? คำตอบจากสนธิ ลิ้มทองกุล ::
จากรายการกรองสถานการณ์ ทางช่อง 11 จันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2544 ดำเนินรายการโดยอดิศักดิ์ ศรีสม

ประสบการณ์ 28 ปีในวงการสื่อ “สื่อเสรีไม่มีจริง ความเสรีอยู่ที่ตัวเรา เราเสรีไม่เสรีเรารู้อยู่กับตัวเราเอง ถ้าเรามีสติเราทำได้”

อดิศักดิ์ ศรีสม - จากเรื่องที่มีข่าวมาว่ารัฐบาลชุดนี้แทรกแซงสื่อ แล้วก็มีการเปรียบเทียบกันค่อนข้างเยอะ ฝ่ายที่ถูกแทรกแซงก็จะบอกว่ารัฐบาลชุดนี้แทรกแซงสื่อมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา จริงๆ แล้วคำว่าแทรกแซงสื่อต้องหาคำจำกัดความให้ชัดเจนกันสักนิดหนึ่ง รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบไว้ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องบทบาท และทิศทางที่สื่อจะก้าวเดินไป มาตรา 40 พูดถึงการจัดสรรความเป็นเจ้าของสื่อกันใหม่ ตรงนี้เองมองว่าจะสามารถแก้ปัญหาไม่ให้บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อได้ มาตรา 41 พูดถึงความเป็นอิสระของคนที่ประกอบวิชาชีพสื่อ ไม่เฉพาะพนักงานของรัฐ แต่รวมไปถึงเอกชนด้วย กรอบเหล่านี้ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติเต็มร้อยนักเพราะต้องการกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องออกมาอีกมากมาย บทบาทของสื่อควรเป็นอย่างไร บทบาทของรัฐควรจะเป็นอย่างไร วันนี้เรามีแขกรับเชิญสองท่านคือ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของนสพ.ผู้จัดการ และดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ม.กรุงเทพ รัฐบาลนี้แทรกแซงสื่อมากที่สุด มันพิเศษกว่ารัฐบาลอื่นจริงไหมครับ

ดร.สุพงษ์ - ผมว่าคงไม่มีคำว่าพิเศษ สิ่งที่พิเศษที่เราเห็นคราวนี้ก็คือมีการกล่าวหาทั้งผู้แทรกแซงและถูกแทรกแซง การกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงสื่อ เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย ผมไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลไหนไม่ถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงสื่อ เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของสื่อต่างๆ เขาก็ต้องนำเสนอนโยบายและผลงานของรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ เวลาส่วนใหญ่จะให้ไปกับรัฐบาล ฝ่ายค้านจะมีผลงานเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผลงานของรัฐบาลไม่เข้าสายตา ของประชาชน เช่นการขึ้นอัตราค่าทางด่วนจาก 40 บาทเป็น 42 บาท เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ มีการฟ้องร้อง ก็ทำให้ทางด่วน หรือการทางพิเศษ ถอยหลังกลับมาและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตรงนี้ซีกฝ่ายค้านก็จะได้โอกาสที่จะเป็นข่าว คือ เมื่อนโยบายของรัฐไม่เป็นธรรม หรือไม่โปร่งใส การที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีทั้ง ผู้ถูกกล่าวหา และผู้กล่าวหา ว่าแทรกแซงซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงอะไร?
ดร.สุพงษ์ - แสดงถึงว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีแรงขับเคลื่อนไปอีกแนวทางหนึ่งแล้ว ปกติจากแนวดิ่งที่รัฐบาลควบคุม กำหนดกฎเกณฑ์สื่อผ่านทาง กรมประชาสัมพันธ์บ้าง อ.ส.ม.ท.บ้าง ตอนนี้มันเริ่มมาทางแนวราบแล้ว ซึ่งผู้ที่ดำเนินการอยู่หรือ ได้รับสัมปทาน ก็เริ่มกล่าวหาบ้าง
ช่วยให้คำจำกัดความ คำว่าแทรกแซง มีเส้นแบ่งขนาดไหนที่จะบอกว่าแทรกแซงหรือไม่แทรกแซง

สนธิ - เรื่องนี้ต้องอธิบายกันนิดหนึ่ง เพราะว่าคำว่าแทรกแซงสื่อมันไม่ง่าย เหมือนกับว่ามีเลือกตั้ง พอเลือกตั้งเสร็จประชาธิปไตยจะมาแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ผมคิดว่าพวกเราหลายคนยังเข้าใจคำว่าสื่อผิดกันเยอะ สื่อที่เราพูดถึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือสื่อสิ่งพิมพ์ อีกส่วนคือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ กับโทรทัศน์ ผมอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มานับปีนี้ได้ก็ 27-28 ปีแล้ว ถามว่าเคยมีการแทรกแซงไหม ตอบว่าไม่เพียงแต่มีการแทรกแซง เริ่มมาตั้งแต่ยุคสมัยคุณอารี เจ้าของพิมพ์ไทยถูกเก็บตัวไปฆ่า มาจนถึงยุคข่มขู่ ยุคเผด็จการปิดหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งตอนนี้สั่งปิดหนังสือพิมพ์ไม่ได้ ก็เลยเป็นการส่งจดหมายเตือน ถามว่าคนซึ่งทำหนังสือพิมพ์จริงๆ ไม่ว่าจะมติชน หรือไทยรัฐ เขาเคยชินกับเรื่องนี้ไหม ก็ต้องตอบว่าเคยชิน เคยชินถึงขนาดที่ว่าจดหมายสันติบาลมาถึงโต๊ะแล้วหัวเราะ ขยำทิ้งตะกร้าไปเลย ไม่สนใจ เพราะกรอบของรัฐตีไว้เพียงแค่นี้ ถ้าคุณล้ำเส้นสมัยก่อนผมก็ปิดคุณ มาสมัยนี้ก็ทำได้อย่างเดียวคือส่งจดหมายเตือน ถ้าเราไปจริงจังกับมันแล้วไปโวยวายว่ารัฐแทรกแซงสื่อ พูดอีกก็ถูกอีก แต่ถามว่าในเมื่อคุณโดนอยู่ทุกวัน เหมือนกับขับรถบรรทุก ออกจากบ้านต้องจ่ายค่าทางให้กับตำรวจ 50 บาท 100 บาท คุณต้องจ่ายทุกวันแล้วคุณมาโวยวาย แต่คุณก็ทำงานต่อไปได้ ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ... นั่นเป็นกรอบของหนังสือพิมพ์

ทีนี้ไอ้สื่อวิทยุกับโทรทัศน์นี่มีปัญหา มันมีที่มาที่ไป สมัยสื่อโทรทัศน์นั้นเริ่มดังขึ้นมาสมัยหลังพฤษภาทมิฬใหม่ๆ เพราะหลังจากนั้นเกิดรายการทอล์กโชว์ขึ้นมา เพื่อที่จะก่นด่าพวกเผด็จการเก่าๆ จนถึงกากเดนของพวกเผด็จการ เพราะฉะนั้นคุณคงจำได้ว่าจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ถ้าไม่ใช่เทพ ก็มาร เทพ ในยุคนั้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งก็ถูกต้องเพราะว่าในยุคนั้นประชาชนอัดอั้นตันใจเหลือเกิน หลักจากถูกกดดันมาตลอดในยุครสช. จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องยุบสภาเนื่องจาก สปก.4-01 พอยุบสภาไปปัง! ประชาชนก็งงว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะกิ้งกือหกคะเมน ก็เลือกตั้งใหม่ พอเลือกตั้งใหม่คุณบรรหารก็เข้า พอเข้ามาปั๊ป ประชาชนก็ร้องยี้ ต้องขออนุญาตเอ่ยชื่อคือ สมัยนั้นคุณเนวิน ชิดชอบ เข้าไปเป็นรัฐมนตรีทุกคนร้องยี้หมด ไม่ใช่คุณเนวินยุคนี้ แต่เป็นยุคก่อน เพราะฉะนั้นพอมาร้องยี้แล้ว กระบวนการทอล์กโชว์ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่หลังพฤษภาทมิฬก็ยังอยู่ต่อ ก็พอใจแล้ว กลุ่มสื่อที่จัดตั้งก็เช่น กลุ่มของอาจารย์เจิมศักดิ์ และอีกหลายๆ กลุ่ม ซึ่งปัจจุบันก็มีขึ้นมาอีก แต่กลุ่มแรกๆ ก็คือ 'มองต่างมุม' สมัยนั้นก็สนุกสนาน เพราะมันต่างมุมจริงๆ คือเอาสองมุมมาเถียงกันเพราะมันยังอยู่ในยุคของคุณบรรหาร คุณบรรหารแกไม่กล้า แล้วเผอิญรัฐบาลชุดคุณบรรหารเป็นรัฐบาลยี้ มันก็เลยโดนใจประชาชน ประชาชนก็ยินดีกับทอล์กโชว์ พอคุณบรรหารอยู่ได้สักพักก็ยุบสภา ทีนี้ทุกคนหวังว่าประชาธิปัตย์จะกลับมา ปรากฎว่าความหวังใหม่เฉือนประชาธิปัตย์ไป 1 คะแนน อกหักกันเป็นแถว พออกหักกันเป็นแถวรายการทอล์กโชว์ก็อยู่ต่อ เพราะคุณบรรหารไม่กล้ามาจัดการกับสื่อทางด้านนี้ ปรากฎว่าในช่วงยุคพล.อ.ชวลิต นั้นก็ไม่จืดเลยเพราะเราก็มีพระเอกชื่อ เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งสื่อก็ยินดีมากในการจัดทอล์กโชว์เอาออกรายการ พอโชว์ไปเรื่อยๆ ในยุคบรรหาร คุณชวลิต ก็ปรากฎว่า รายการทอล์กโชว์เป็นรายการฆ่านักการเมืองฝ่ายยี้ เชิญคุณบรรหารมาออกมั่ง เชิญคุณเฉลิมมาออกบ้าง แล้วก็ถามคำถามว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ แล้วทำไมทำอย่างนั้น เผอิญพวกนี้ตอบไม่ได้ก็เลยตายบนเวที แล้วก็เป็นเรื่องสนุกสนานกัน

พอถึงยุคคุณชวนขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี คุณชวนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการทรยศของกลุ่มงูเห่า ปรากฎว่าไม่มีการเน้นประเด็นนี้ในทอล์กโชว์ ก็ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ถูกใจประชาชนก็ว่ากันไป ว่าไปเรื่อยๆ 3-4 ปีที่ผ่านมา สื่อรายการทอล์กโชว์นั้นตั้งแต่เริ่มแรกแล้วเป็นเจ้าเดิมมาตลอด ก็ไม่มีการแทรกแซงเลย ก็มันจะแทรกแซงได้อย่างไร เพราะสื่อมันเริ่มมาอย่างนั้น วัตถุประสงค์อย่างนั้น พอตัวเองเป็นใหญ่ก็อยู่อย่างนั้น

พอกลายเป็นคุณทักษิณ ก็เป็นเรื่องแล้วซิ คุณชวนกับคุณทักษิณนี่ไม่เหมือนกัน ต่างกันราวฟ้ากับดิน คนๆ หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าตัวเองจนที่สุด ขณะที่คนอีกคนหนึ่งประชาชนบอกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่รวยที่สุด แนวความคิดก็ต่างกัน คุณชวนบริหารงานแบบข้าราชการประจำ คุณทักษิณบริหารงานแบบนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นคุณทักษิณ ก็ พัวะ พัวะ พัวะ คุณชวนก็ค่อยๆ อ้อยอิ่ง

เพราะฉะนั้นความแตกต่างตรงนี้ยังช็อกคนหลายคนอยู่ พอช็อกคนหลายคนก็เลยเกิดอาการที่เรียกว่าเป็นเกมต่อสู้ทางการเมือง เมื่อเกมทางการเมืองเกิดขึ้นสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ ส่วนสื่อหนังสือพิมพ์ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนเขาวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเขาไม่เคยหยุด สื่อโทรทัศน์ก็เผอิญมาวิพากษ์วิจารณ์ท่านนายกฯทักษิณมากเป็นพิเศษ ก็เลยมีความรู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นอาจจะไม่แฟร์ก็มีการขอร้องให้ลดดีกรีกันบ้าง หรือทำอะไรบางอย่างให้การวิพากษ์วิจารณ์ให้อยู่ในรูปในรอยที่มีเหตุมีผล แต่ว่าจุดหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครเข้าใจ ไอ้พวกผมทำหนังสือพิมพ์มานี่ ก็มีแต่คีย์เข้าคอมพิวเตอร์ สมัยก่อนก็พิมพ์ดีดกันต๊อกแต๊ก ต๊อกแต๊ก วิพากษ์วิจารณ์กันไป จดหมายเตือนไม่พอใจก็ฟ้องศาล หนังสือพิมพ์อย่างผู้จัดการก็มีคดีเฉลี่ยปีละ 16 คดี หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ อย่างไทยรัฐ มติชน ก็มีมากเป็นเงาตามตัว พอมาเป็นโทรทัศน์ พวกผมนี่ไม่เคยเสนอหน้าใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเห็นอย่างเดียวคือข้อเขียน แต่พอโทรทัศน์เป็นทอล์กโชว์ มันกลายเป็น Celebrity เป็น Showmanship ไปเสียแล้ว คือคนที่ออกโทรทัศน์เป็นเจ้าของรายการทอล์กโชว์มันกลายเป็นดาราไปแล้วซิ พอเป็นดาราไปแล้วก็เกิดการเบี่ยงเบนประเด็น มันไม่ใช่ออกมาเพื่อที่จะเอาความเห็นของแขกออกมา

คุณอดิศักดิ์ อยู่ในวงการนี้ บางครั้งการสัมภาษณ์คุณไม่ต้องบี้เขาหรอก ถ้าเขาตอบไม่ได้ผู้ชมทางบ้านก็เห็นเอง ก็เปลี่ยนประเด็นไปเรื่องอื่น ก็เป็นว่าพอบี้คนตายไปแล้ว อีกหน่อยก็ไม่มีใครกล้าออก พอไม่มีใครกล้าออกก็เป็นเรื่องด้านเดียว (One-Sided) ไป พอเป็นเรื่องด้านเดียวก็ต้องถูกหาว่าเข้าข้างกันมากเกินไป เมื่อเรามาพิจารณาดูกันทั้งหมด ผมอยากจะเห็นสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น อย่าไปเน้นตัวเองเป็นพระเอก เน้นคนที่เราเอามาสัมภาษณ์เป็นพระเอก แล้วก็ถามเขาพอถึงจุดที่หลังเขาชนกำแพงแล้ว คนดูออก ก็ฉีกไปถามเรื่องอื่นได้





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.