คำจำกัดความของคำว่า “โรงงาน”

            การจะเป็นโรงงานซึ่งควบคุมโดยกฏหมายโรงงานได้จะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ส่วน คือ

                1. มีอาคาร สถานที่หรือยานพาหนะ

                2. ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป

                3. ทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษาหรือทำลาย สิ่งใด ๆ ตามประเภทหรือชนิดกิจการ  (พ.ศ.2535) ออกตามความ 104 ประเภท  ที่ระบุในกฎกระทรวงในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535

เมื่อเป็นโรงงานแล้วต้องขออนุญาตหรือไม่

ไม่จำเป็นเสมอไปว่ากิจการที่เป็นโรงงานแล้วจะต้องขออนุญาตเพราะกฎหมาย โรงงานได้แบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวกด้วยกัน คือ

โรงงานจำพวกที่ 1    เป็นโรงงานที่สามารถประกอบกิจการได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการ

โรงงานจำพวกที่ 2    ก็เป็นโรงงานที่ไม่ต้องขออนุญาตเพียงแต่เมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้ทางราชการทราบก่อน

โรงงานจำพวกที่ 3     เป็นโรงงานจำพวกเดียวที่ต้องขออนุญาต

การแบ่งว่าโรงงานขนาดใดเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 , 2 หรือ 3 ขึ้นกับประเภทของโรงงาน โรงงานบางประเภทแบ่งจำพวกโรงงานโดยอาศัยจำนวนคนงาน เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานบางประเภทแบ่งจำพวกโรงงานโดยอาศัยแรงม้าเครื่องจักร เช่น โรงงานน้ำดื่ม แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งจำพวกโรงงานโดยอาศัยทั้งจำนวนคนงานและแรงม้าเครื่องจักร ซึ่งรายละเอียดการแบ่งจำพวกโรงงานจะระบุในกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535

การตรวจสอบว่ากิจการของตนจัดเป็นโรงงานจำพวกใดมี 2 วิธี คือ

วิธีแรก ตรวจสอบด้วยตนเอง เมื่อทราบประเภทของกิจการ แรงม้าเครื่องจักรรวมและจำนวนคนงานที่ใช้ในโรงงาน ก็ตรวจสอบการจัดจำพวกโรงงานจากกฏกระทรวง (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535

วิธีที่ 2 ตรวจสอบจากทางราชการ โดยสอบถามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (อาคารโรงงานสุราบางยี่ขัน โทร. 4347845-8 และอาคารบางลำพู โทร. 2828206-7 , 2812794) หรือ ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ ซึ่งการสอบถามจะต้องมีข้อมูลประเภทของกิจการแรงม้า เครื่องจักร และจำนวนคนงานที่ใช้ในโรงงานด้วย

อนึ่งตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ยังได้ยกเว้นโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมซึ่ง จัดตั้งขึ้นตามกฏหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือในเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่รัฐมนตรีประกาศ ไม่ต้องยื่นขออนุญาตด้วยแม้จะเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ก็ตาม

นอกจากนั้นโรงงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงและความ ปลอดภัยของประเทศ เช่น โรงงานผลิตอาวุธของกระทรวงกลาโหม เป็นต้น ได้รับยกเว้นในเรื่องการขออนุญาตด้วย (มาตรา 4)

สำหรับผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องการขออนุญาตตามาตร 30 และมาตรา 4 ดังกล่าวข้างต้น เมื่อได้ทราบการจัดขนาดโรงงานของตนว่าเป็นโรงงานจำพวกใดแล้วให้ศึกษาวิธีปฏิบัติของโรงงานแต่ละจำพวกดังจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

การปฏิบัติของโรงงานจำพวกที่ 1

ผู้ประกอบการโรงงานจำพวกที่ 1 ไม่ต้องไปติดต่อขออนุญาตหรือไม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนเริ่มประกอบกิจการ หรือหลังจากเลิกประกอบกิจการไปแล้ว แต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมโรงงานที่กำหนดในกฏกระทรวงและประกาศกระทรวง เช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้งโรงงาน อาคารโรงงาน มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียหรือมลพิษ เป็นต้น จึงจะต้องทราบหลักเกณฑ์นั้น ๆ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว หลังจากที่ได้ประกอบกิจการโรงงานไปแล้ว

สำหรับผู้ที่เคยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 เดิม แต่ต่อมา ตามกฏหมายโรงงานฉบับใหม่จัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 ก็ไม่ต้องมาขอต่ออายุใบอนุญาตหรือไม่ต้องมาขออนุญาตใด ๆ อีก

การปฏิบัติของโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือนอกเขตประกอบการอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือนอกเขตประกอบการอุตสาห-กรรม นอกจากต้องทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมโรงงานเช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจกการโรงงานจำพวกที่ 1 แล้ว ยังมีหน้าที่ที่ต้องกระทำอีก 3 ประการ คือ

1.การแจ้งประกอบกิจการ แม้ไม่ต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการตั้งโรงงาน แต่เมื่อจะเริ่มประกอบกิจการ โรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนโดยใช้ใบแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 (แบบ ร.ง.1) และ เจ้าหน้าที่จะออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 (ร.ง.2) ให้ โดยโรงงานในกรุงเทพมหานครแจ้งที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานในภูมิภาค แจ้งที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดท้องที่ที่โรงงานตั้งอยู่

2. การชำระค่าธรรมเนียมรายปี จะต้องเริ่มชำระค่าธรรมเนียมรายปีตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการโรงงาน (ในทางปฏิบัติเพื่อความสะดวกให้ชำระล่วงหน้าในวันที่แจ้งการประกอบกิจการ) และชำระค่าธรรมเนียมรายปีทุกปีในวันครบรอบวันเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ตัวอย่าง เช่น

โรงงาน ก. เป็นโรงงานจำพวกที่ 2 ยื่นแจ้งการประกอบกิจการโรงงานในวันที่ 3 ธันวาคม 2535 โดยแจ้งว่าจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานวันที่ 8 ธันวาคม 2535 ดังนั้นวันครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมรายปีครั้งแรกคือวันที่ 8 ธันวาคม 2535 (เพื่อความสะดวกให้ชำระในวันแจ้งคือวันที่ 3 ธันวาคม 2535) และวันครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมครั้งต่อไปคือวันที่ 8 ธันวาคม 2536 และครบกำหนดทุกวันที่ 8 ธันวาคม ของทุก ๆ ปี

ในการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ให้นำใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.2) ไปแสดงด้วย อนึ่งหากมิได้เสียค่าธรรมเนียมรายปีในเวลาที่กำหนดให้เสียเพิ่มอีกร้อยละ 5 ต่อเดือน

สถานที่ชำระค่าธรรมเนียมโรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร ชำระที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กองคลัง อาคารบางลำพู หรืออาคารโรงงานสุราบางยี่ขัน) โรงงานในจังหวัดอื่น ๆ ชำระที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดท้องที่ที่โรงงานตั้งอยู่

3. การแจ้งเลิกประกอบกิจการ โรงงานจำพวกที่ 2 ที่มีการเลิกประกอบกิจการโอนให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโรงงานไป ผู้ประกอบกิจการต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว หากไม่แจ้งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ดังนั้น ในการโอนกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 จะไม่มีการโอน ร.ง.2 วิธีปฏิบัติ คือ เจ้าของโรงงานเดิม (ผู้โอน) แจ้งโอนการประกอบกิจการและเจ้าของโรงงานรายใหม่ (ผู้รับโอน) แจ้งเริ่มประกอบกิจการตามข้อ 4.1 ใหม่

4. การดำเนินการของโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว

ในกรณีโรงงานเดิมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 อยู่แล้ว ต่อมาเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ถูกจัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 2 ให้ถือว่าใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานนั้นเป็นใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 (แบบ ร.ง.2) ซึ่งไม่ต้องขอต่ออายุเมื่อใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีทุกปีในวันเริ่มประกอบกิจการ ซึ่งถือเอาวันที่ระบุในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานฉบับแรกเป็นวันครบกำหนด เมื่อไปชำระค่าธรรมเนียมรายปีทางราชการจะออกแบบ ร.ง.2 ให้แทนใบอนุญาตเดิม อนึ่งหากไม่สามารถค้นหาวันที่อนุญาตประกอบกิจการโรงงานในใบอนุญาตฉบับแรกได้ให้สอบถามวันครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมรายปีได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดท้องที่ที่โรงงานตั้งอยู่ หรือที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม

การขออนุญาตและการแจ้งของโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือนอกเขตประกอบการอุตสาหกรรม

การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กฎหมายโรงงานระบุให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตก่อนตั้งโรงงาน

การขออนุญาตให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (แบบ ร.ง.3) ถ้าโรงงานในเขตกรุงเทพมหานครให้คำขอ 2 ฉบับ ยื่นต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม (โรงงาน 6 ประเภท ได้แก่ โรงงานแปรรูปไม้ , โรงงานอาหาร , โรงงานอาหารสัตว์ , โรงงานยา , โรงงานเครื่องสำอาง , โรงงานวัตถุมีพิษ ยื่นที่ศูนย์บริการเพื่อการลงทุน อาคารบางลำพู นอกนั้นยื่นที่กองควบคุมโรงงาน อาคารโรงงานสุราบางยี่ขัน) ส่วนโรงงานในจังหวัดอื่นใช้คำขอ 3 ฉบับ ยื่นต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดท้องที่ที่โรงงานตั้งอยู่

การกรอกรายละเอียดในคำขอให้กรอกให้ครบถ้วน โดยระบุกำหนดระยะเวลาในการตั้งโรงงานไว้ด้วย

ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาการขออนุญาตมีดังนี้

    • เมื่อรับคอขอแล้ว ต้องตรวจสอบทำเล อาคารฯ ภายใน 30 วัน
    • การพิจารณาอนุญาตต้องให้แล้วเสร็จภายใน 50 วัน
    • การแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ ภายใน 10 วัน

(ไม่รวมระยะเวลาที่คืนคำขอ สั่งการให้ผู้ขอไปดำเนินการให้ถูกต้องสมบูรณ์และระยะเวลาที่รอการอนุมัติจาก

หน่วยงานอื่น)

เมื่อได้รับแจ้งผลอนุญาตให้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไปชำระพร้อมรับใบอนุญาตแล้วจึงเริ่มตั้งโรงงานได้ ในกรณีที่ได้รับแจ้งผลไม่อนุญาต ผู้ขอมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีถือเป็นที่สุด

ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกให้ จะมีลักษณะเป็นเล่ม ภายในบรรจุเอกสารอื่น ๆ ไว้อีก 8 แผ่น ได้แก่ เงื่อนไข , การแจ้งประกอบกิจการโรงงานและการต่ออายุ , ใบอนุญาตขยายโรงงาน , เงื่อนไขการขออนุญาตให้ขยายโรงงาน , การแจ้งประกอบกิจการโรงงานในส่วนที่ขยาย , บันทึกการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ , การอนุญาตโอนการประกอบกิจการ , บันทึกการชำระค่าธรรมเนียมภาษี ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับโรงงานไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตขยายโรงงาน การต่ออายุใบอนุญาตหรือการชำระค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น จะต้องนำใบอนุญาตที่มีลักษณะเป็นเล่มดังกล่าวไปติดต่อด้วยทุกครั้ง เพื่อทางราชการจะได้บันทึกรายละเอียดการอนุญาตหรือการดำเนินการในแต่ละครั้งลงในเอกสารหน้าต่าง ๆ ใบอนุญาตประกอบกิจการจะระบุระยะเวลาให้เริ่มประกอบกิจการภายในกำหนดกี่วัน ซึ่งจะต้องเริ่มประกอบกิจการภายในกำหนด หรือมิเช่นนั้นจะต้องแจ้งขยายระยะเวลาออกไป

การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

  1. กิจการที่ต้องทำรายงาน 17 ประเภท
  2. จัดทำรายงาน ฉบับย่อ และรายงานหลัก 16 ฉบับ
    • ส่งหน่วยงานที่ขออนุญาต 1 ฉบับ
    • ส่งกระทรวงวิทย์ฯ 15 ฉบับ
  1. ขั้นตอนการพิจารณา
    • สำนักงานนโยบายและแผนฯ ตรวจสอบรายงาน

ถ้าต้องแก้ไข ต้องแจ้งภายใน 15 วัน

ถ้าเห็นชอบ เสนอภายใน 30 วัน

    • คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา 45 วัน
    • คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา การแก้ไขเพิ่มเติม 30 วัน

กิจการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

  1. เหมืองแร่
  2. โรงแรมริมทะเล ตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
  3. อุตสาหกรรม 9 ประเภท
  4. โครงการในเขตลุ่มน้ำชั้นหนึ่งทุกโครงการ
  5. การถมที่ดินในทะเล
  6. อาคารชุดพักอาศัย
  7. โรงพยาบาล 60 เตียงขึ้นไป หรือถ้าอยู่ริมน้ำ 30 เตียงขึ้นไป
  8. อาคารริมทะเล สูง 23 เมตรขึ้นไป หรือ พท. 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป
  9. จัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัย พานิชยกรรม มากกว่า 500 แปลงย่อย หรือมากกว่า 100 ไร่

อุตสาหกรรมที่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

  1. โรงงานเยื่อกระดาษ กำลังผลิต 50 ตันต่อวันขึ้นไป
  2. อุตสาหกรรมคลอ – แอลคาไลน์ กำลังการผลิต 100 ตัน/วันขึ้นไป
  3. อุตสาหกรรมเปโตรเคมีคัล กำลังผลิต 100 ตัน/วันขึ้นไป
  4. โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลี่ยม
  5. โรงงานผลิตซีเมนต์
  6. การลงทุน หลอมหรือผลิตเหล็ก กำลังผลิต 100 ตัน/วันขึ้นไป
  7. การถลุง หลอมโลหะในชั้นต้น กำลังผลิต 50 ตัน/วันขึ้นไป
  8. การผลิตปุ๋ยเคมีโดยวิธีทางเคมี
  9. การผลิตสารออกฤทธิ์ สารขจัดศัตรูพืชหรือสัตว์โดยขบวนการทางเคมี

เขตควบคุมมลพิษ

  1. กำหนดโดยออกประกาศกระทรวง
  2. ใช้กับท้องที่มีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มร้ายแรง
    • เป็นอันตรายต่อประชาชน
    • เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  1. จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษรวมในแผนปฏิบัติการของจังหวัด

มาตรฐานสิ่งแวดล้อม

  1. มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    • แหล่งน้ำ
    • อากาศ
    • ระดับเสียง ความสั่นสะเทือน
  1. มาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด
    1. ที่กำหนดโดยกฏหมายอื่นต้องไม่ต่ำกว่า
    2. ผู้ว่าอาจกำหนดมาตรฐานให้สูงกว่าได้

พนักงานควบคุมมลพิษ

อำนาจ

    1. เข้าตรวจสอบเกี่ยวกับระบบบำบัดมลพิษ
    2. สั่งการแก้ไข ปรับปรุง
    3. สั่งปรับ

หมายเหตุ

การสั่งการแก้ไขปรับปรุง ระบบบำบัดมลพิษของโรงงานจะต้องแจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้สั่งการ

มาตรา 91 – 92

กรณีไม่ใช้ระบบบำบัดควบคุมมลพิษ จะต้องเสียค่าปรับรายวัน ในอัตรา 4 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำวัน สำหรับการเปิดเดินเครื่องระบบบำบัด

ความรับผิดทางแพ่ง

มาตรา 96 แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษ ทำให้

    • ผู้อื่นได้รับอันตราย
    • ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือของรัฐเสียหาย เจ้าของต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายไม่ว่าจะเกิด

จากจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ของเจ้าของก็ตาม

โรงงานที่ไม่ต้องขออนุญาต

  1. โรงงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ
  2. โรงงานจำพวกที่ 1
  3. โรงงานจำพวกที่ 2
  4. โรงงานจำพวกที่ 3 ในเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือในเขตประกอบการอุตสาหกรรมฯ

โรงงานจำพวกที่ 1

ได้แก่โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่ สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันที ตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน

ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฏกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว

โรงงานจำพวกที่ 2

ได้แก่โรงงาน ประเภท ชนิดและขนาดที่ เมื่อประกอบ กิจการโรงงาน ต้องแจ้ง ให้ผู้อนุญาต ทราบก่อน

ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2

    1. ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงฯ
    2. เมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน
    3. การเลิกประกอบกิจการ การโอน การให้เช่าหรือการให้เช่าซื้อ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนภายใน 30 วัน

โรงงานจำพวกที่ 3

ได้แก่โรงงาน ประเภท ชนิดและขนาดที่ การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อน จึงจะดำเนินการได้

การขออนุญาตของโรงงานจำพวกที่ 3

(นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมฯ)

  1. ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (มาตรา 12)
  2. ขอต่ออายุใบอนุญาต (มาตรา 15)
  3. ขออนุญาตขยายโรงงาน (มาตรา 18)
  4. ขอยกเลิก , เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข (มาตรา 20)
  5. ขอรับโอนใบอนุญาต (มาตรา 21 , 22)
  6. ขอรับใบแทน (มาตรา 25)
  7. ขอย้ายเครื่องจักรบางส่วนไปที่อื่นชั่วคราว (มาตรา 26)
  8. การขอเริ่มประกอบกิจการหลังจากหยุดไปเกิน 1 ปี (มาตรา 33)

การแจ้งของโรงงานจำพวกที่ 3

(นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมฯ)

  1. แจ้งประกอบกิจการโรงงาน (มาตรา 13)
  2. แจ้งทดลองเครื่องจักร (มาตรา 13)
  3. แจ้งเพิ่ม เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร / เพิ่มเนื้อที่อาคาร (มาตรา 19)
  4. แจ้งเปลี่ยนชื่อโรงงาน , ชื่อผู้รับใบอนุญาต (มาตรา 24)
  5. แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน (มาตรา 28)
  6. แจ้งหยุดงานติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี (มาตรา 33)
  7. แจ้งการเกิดอุบัติเหตุ (มาตรา 34)

การกำกับดูแลโรงงานทั้ง 3 จำพวก

  1. การตรวจโรงงานเกิดอุบัติเหตุ (มาตรา 34)
  2. การตรวจโรงงานทั่วไป (มาตรา 35)
  3. การจับกุมผู้กระทำความผิดส่งพนักงานสอบสวน (มาตรา 36)
  4. การสั่งการให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนการผูกมัดประทับตราเครื่องจักร (มาตรา 37)
  5. การสั่งหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และให้การปรับปรุงแก้ไข (มาตรา 39)
  6. การสั่งปิดโรงงาน (มาตรา 39)

การสั่งหยุดประกอบกิจการตามาตรา 39

  1. สาเหตุ
    1. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือ
    2. การประกอบกิจการอาจก่อให้เกิด อันตราย/ความเสียหาย/ความเดือดร้อน อย่างร้ายแรง
  2. การสั่งการ
    1. ผู้สั่งคือปลัดกระทรวง หรือผู้ได้รับมอบหมาย
    2. สั่งหยุดทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นการชั่วคราว
    3. สั่งให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย

การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหยุดตามมาตรา 39

  1. ผู้ประกอบการต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี / ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ + ปรับวันละ 5,000 บาท
  2. สถาปนิก วิศวกร ต้องโทษตามข้อ 1 ด้วย
  3. คนงานให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ร่วมกระทำหรือสนับสนุนการกระทำผิด
  4. ถ้าไม่แก้ไขปรับปรุงภายในเวลาที่กำหนดจะถูกสั่งปิดโรงงาน

การปิดประกาศคำสั่งหยุด / ปิดโรงงาน

    • ปิดประกาศไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ โรงงานนั้นอย่างน้อย 3 แห่ง
    • มีข้อความแจ้งว่าห้ามมิให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานคนงานหรือผู้เกี่ยวข้องทุกคน ทำงานในโรงงาน

คณะกรรมการเปรียบเทียบคดี (มาตรา 65)

    • รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านกฎหมาย
    • จำนวน 3 คน
    • บรรดาความผิดตามกฎหมายโรงงานเว้นแต่การตั้ง / ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
    • เมื่อผู้ต้องหาเสียค่าปรับ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน
    • พนักงานสอบสวนสงเรื่องให้คณะกรรมการฯ ได้