Skip Navigation

 

โลกของคนหูหนวก


English Version หน้าแรก Thai Version

แนะนำสมาคมฯ
กรรมการสมาคมฯ
สมัครสมาชิก
การบริจาคสนับสนุนสมาคมฯ
ข้อมูลสำคัญสำหรับคนพิการ
เสียงและการได้ยิน
ความพิการทางการได้ยิน
หน่วยงานและสถานศึกษา
องค์กรที่เกี่ยวกับคนหูหนวก
หนังสือภาษามือ
แนะนำหนังสือ
บทความที่น่าสนใจ
รายการที่มีจอล่ามภาษามือ
เรียนรู้คนหูหนวก
บริษัทจำหน่ายเครื่องช่วยฟัง
หนัง-ละครเกี่ยวกับคนหูหนวก
แผนที่
ลิงค์

 

 

ประวัติการก่อตั้ง
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ได้พัฒนามาจาก "ศูนย์ชุมนุมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนหูหนวกดุสิต" (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเศรษฐเสถียร) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2512 มีศิษย์เก่าจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนสอนคนหูหนวกทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนสอนคนหูหนวกขอนแก่น โรงเรียนสอนคนหูหนวกตาก และโรงเรียนสอนคนหูหนวกสงขลาจำนวน 93 คนมาร่วมประชุมก่อตั้งศูนย์ฯ ใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนเศรษฐเสถียรเป็นสำนักงาน ศูนย์ชุมนุมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนหูหนวกดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 ได้ย้ายสำนักงานออกจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรมาเช่าบ้านเลขที่ 9/1
ซอยสุขุมวิท 51 และดำเนินการจดทะเบียนโดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมพ.ศ.2526 และกองตำรวจสันติบาลได้ออกใบทะเบียนสมาคมฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527เป็นสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย อีก 2 ปีต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2526 ได้ย้ายสำนักงานไปยังเลขที่
34/1 ในซอยเดียวกัน หลังจากนั้นได้ย้ายไปเช่าอาคารเลขที่ 11/3 ซอยพิกุล ถนนสาธรใต้ ต่อมาได้ย้ายไปเช่าสำนักงานอยู่ที่ดินแดง แล้วย้ายไปเช่าอาคารพาณิชย์แถวถนนปั้น สีลม ในที่สุดสมาคมฯ ย้ายมาเป็นสำนักงานถาวรที่ 144/9 หมู่บ้านฐิติพร ซอยพัฒนาการ 29 สวนหลวง กรุงเทพฯ จนกระทั่งปัจจุบัน

วัตถุประสงค
1. เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคี และเป็นศูนย์กลางของคนหูหนวก
2.เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ และสิทธิอันชอบธรรมของคนหูหนวก
3.เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือทางด้านอาชีพแก่สมาชิก
4. เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ความสามารถ และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ระหว่างคนหูหนวกกับสังคมทั่วไป
5.เพื่อส่งเสริมการศึกษาของคนหูหนวกให้มีความก้าวหน้าขึ้น
6. เพื่อส่งเสริมสถานภาพภาษามือไทย
7.เพื่อให้ความร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมคนพิการทั่วโลก ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
การบริหารงานของสมาคมฯ
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย บริหารงานโดยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งในการประชุมสามัญประจำปี
10 ท่าน โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับจากวันเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมฯ มีหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการดำเนินงานและควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่โดยมีผู้จัดการสมาคมฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการรับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในฝ่ายต่าง ๆ
การดำเนินงานของสมาคมฯ
การดำเนินงานของสมาคมฯ แบ่งออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ฝ่ายล่ามภาษามือ
ล่ามภาษามือคือบุคคลที่ช่วยคนหูหนวกในการสื่อสาร โดยการแปลจากภาษมือเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนใน
กรณีต่าง ๆ ขณะนี้ สมาคมฯ มีล่ามภาษามือประจำ 3 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการสมาชิกของสมาคมฯ
ประมาณ 2,500 คนได้ ในแต่ละปีมีคนหูปกติและคนหูหนวกขอรับบริการล่ามภาษามือไม่ต่ำกว่า 5,000 คน สมาคมฯ เล็งเห็นว่าล่ามภาษามือเป็นสื่อสำคัญในการลดช่องว่างในการสื่อสารและการเรียนรู้ของคนหูหนวก จึงได้ริเริ่มโครงการอบรมล่ามภาษามือขั้นพื้นฐานขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตล่ามภาษามือเพื่อช่วยเหลือคนหูหนวกในการสื่อสารประจำวัน โดยรับคนหูปกติที่สนใจภาษามือเข้ารับการอบรมเป็นล่ามภาษามือต่อไป
2. ฝ่ายบริการสมาชิก
สมาคมฯ เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแก่คนหูหนวก ซึ่งนอกจากให้ข้อมูลข่าวสารแก่สมาชิกแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการหาแนวทางแก้ไขในกรณีที่เหมาะสม
งานของฝ่ายบริการสมาชิก
2.1 จัดทำทะเบียนสมาชิก รับสมัครและทำบัตรสมาชิก
2.2 บริการจัดหางาน
2.3 บริการล่ามภาษามือช่วยในการสื่อสารในกรณีต่าง ๆ เช่น พบแพทย์, พบตำรวจ เป็นต้น
2.4 จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิก เช่น ฝึกอบรมบาติก, ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์, สอนภาษาไทยแก่คนหูหนวก
ที่ไม่รู้หนังสือ
2.5 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่คนหูหนวก โดยผ่านจุลสารสายใยโลกเงียบ, วีดีโอข่าว และจัดประชุม
สมาชิก
2.6 บริการให้คำแนะนำปรึกษาแก่คนหูหนวกและครอบครัวคนหูหนวกที่มีปัญหา
3. ฝ่ายศิลป์ / วีดีโอ
ลักษณะงานเป็นการผลิตสื่อศิลป์ประเภทสิ่งพิมพ์และวีดีโอภาพเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของคนหูหนวก เช่น
การบันทึกการประชุม, สัมมนา,
การจัดทำวีดีโอข่าวภาษามือเพื่อเผยแพร่แก่คนหูหนวกในส่วนภูมิภาคและ
ยังรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์งานฝีมือคนหูหนวกของศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาคนหูหนวก ในการจำหน่ายใน
เทศกาลต่าง ๆ เพื่อหารายได้หมุนเวียนสนับสนุนการดำเนินงานสมาคมฯ ต่อไป
4. ฝ่ายภาษามือ
4.1 และเผยแพร่ภาษามือ สมาคมฯ ได้ดำเนินงานเผยแพร่ภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน, อบรมล่ามภาษามือเพื่อช่วย
ในการสื่อสารแก่คนหูหนวก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีของคนหูปกติต่อคนหูหนวก, เพื่อช่วยเหลือในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนหูปกติและคนหูหนวก (ครอบครัวคนหูหนวก, หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้อง)
อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้คนหูหนวก (ครอบครัวคนหูหนวก, หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้อง) อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้คนหูหนวกยอมรับภาษามือว่าเป็นวัฒนธรรมของคนหูหนวก
4.2 ค้นคว้าและวิจัยภาษามือ เนื่องด้วยคนหูหนวกที่มาจากแต่ละกลุ่ม จะมีความยากลำบากในการติดต่อสื่อสาร
เพราะภาษาที่ใช้มีความแตกต่างไปแล้วแต่ภูมิภาค สถาบันการศึกษาบางหน่วยงานก็นำภาษามือจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานทางภาษามือในการสื่อสารกันได้ในประเทศ จึงทำให้เกิดการค้นคว้าและวิจัยภาษามือขึ้น โดยใช้ข้อมูลของภาษาท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เป็นไปตามหลักการการใช้ภาษามือและภาษาสีหน้าท่าทาง การวิจัยทำโดยคนหูหนวกซึ่งจะเข้าใจความรู้สึกและยอมรับท่าทางแสดงความหมายของแต่ละคำได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ให้ความร่วมมือกับวิทยาลัยราชสุดาในการเข้าร่วมสัมมนาคำศัพท์ภาษามือ เช่น ภาษาทางสังคม,
ภาษามือทางด้านอาชีพ, ภาษามือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
5. ฝ่ายฝึกอาชีพ
สมาคมฯ ได้ก่อตั้งสถาบันฝึกอาชีพคนหูหนวกขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านวิชาชีพแก่คนหูหนวกที่ไม่ได้รับการศึกษาโดยคนหูหนวก
ที่มีความรู้ความสามารถในงานช่างไม้ งานวาดภาพ งานตัดเย็บเสื้อผ้า ซิลค์สกรีน เป็นต้น ปัจจุบันสถาบันฯ
ได้เปลี่ยนแปลงชื่อจากเดิมเป็น "ศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาคนหูหนวก" ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมฯ
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังจัดส่งสมาชิกคนหูหนวกเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยพิจารณาจากความต้องการและความเหมาะสมของคนหูหนวกเป็นหลัก ขณะนี้ศูนย์ฝึกอาชีพและ
พัฒนาคนหูหนวกยังไม่มีที่ทำการถาวร สมาคมฯ จึงได้จัดทำโครงการจัดหาทุนก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมและ
ส่งเสริมอาชีพคนหูหนวกขึ้น โดยได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินจำนวน 2 ไร่ บนที่ดินราชพัสดุ คลองหก จ.ปทุมธานี อยู่ระหว่างวิทยาลัยการปกครองและสถานสงเคราะห์บ้านกึ่งวิถี งบประมาณในการก่อสร้าง 8,000,000 บาท
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาทุน
6. ฝ่ายการแสดง
โครงการส่งเสริมกลุ่มนักแสดงคนหูหนวก จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำศิลปการแสดงของคนหูหนวก
เป็นสื่อนำความรู้และความบันเทิงสู่ชุมชน ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างคนหูหนวกกับคนปกติแล้ว
ยังส่งเสริมอาชีพและรายได้ของคนหูหนวกอีกด้วย ปัจจุบันการดำเนินงานของกลุ่มนักแสดงยังไม่ประสบความสำเร็จ
เท่าที่ควร เนื่องมาจากปัญหางบประมาณสนับสนุนและปัญหาคนหูหนวกไม่มีเวลาในการฝึกซ้อมและร่วมแสดง เพราะต้องประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเอง
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ
1.สมาชิกคนหูหนวกทั่วประเทศไทย
2. โรงเรียนสอนคนหูหนวก
3. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
4. องค์กรคนพิการทั้งในและนอกประเทศ
5. ครอบครัวคนหูหนวก
แหล่งเงินทุน / ทรัพยากร
1. รายได้ค่าบำรุงสมาชิก
2. รายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศลของคนหูหนวก
3. เงินสนับสนุนโครงการจากกรมประชาสงเคราะห์, กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
4. เงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา, บริษัทห้างร้านต่าง ๆ
5. มูลนิธิช่วยเหลือคนพิการระหว่างประเทศสวีเดน SWEDISH ORGANISATION OF HANDICAPPED
INTERNATIONAL AID FOUNDATION (SHIA) และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศสวีเดน SWEDISH
ASSOCIATION OF THE DEAF (SDR)
แนวทาง / แผนงานพัฒนาสมาชิกและหรือองค์กรสมาชิก
1. โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพคนหูหนวก
เนื่องด้วยปัจจุบันคนหูหนวกประสบปัญหาการว่างงานสูง ในส่วนที่มีงานทำก็เป็นแรงงานไร้ฝีมือแม้ว่ารัฐบาลได้มีพระราชบัญญัต
ิเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการแต่ละประเภทได้รับโอกาสทางการศึกษา การทำงาน การดำรงชีวิตในสังคมทัดเทียมกับคนปกติแต่คนหูหนวกส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้ารับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐได้อันเนื่องมาจากปัญหาในการติดต่อสื่อสาร เพื่อส่งเสริมให้คนหูหนวกได้รับความรู้และฝึกฝนทักษะทางวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของ
คนหูหนวกและสภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อคนหูหนวกสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีงานทำและได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป
สมาคมฯ จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อฝึกอาชีพให้แก่คนหูหนวก
2. เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่คนหูหนวก
3. เพื่อส่งเสริมทักษะในการพึ่งพาตนเอง
4. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านอาชีพและวิชาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนหูหนวก
5. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างคนหูหนวก ในด้านอาชีพ การศึกษาและสังคม
และได้ขออนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุ คลองหก จังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 ไร่ เป็นที่ตั้งโครงการฯ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานจัดหาทุนก่อสร้างอาคารศูนย์ฯ

2. โครงการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือภาษามือไทย (Publishing and Publicizing Thai Sign Language Books)
ปัจจุบันคนหูหนวกไทยมีปัญหาในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ดีและมีคนหูปกติ
น้อยมาก
ที่สามารถสื่อสารกับคนหูหนวกได้ด้วยภาษามือ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการขาดแคลนล่ามภาษามือที่จะช่วยคน
หูหนวก
ในการเข้ารับบริการต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ภาษามือไทยได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ในชุมชน และลดช่องว่างระหว่างคนหูหนวกกับคนหูปกติในการสื่อสาร สมาคมฯ จึงทำโครงการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือภาษามือไทย เพื่อใช้ในการเผยแพร่และสะดวกในการเรียนสำหรับคนหูปกติ, คนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือ, ครอบครัวคนหูหนวกและหน่วยงาน
ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนหูหนวก โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี (2541 - 2543) และได้เสนอโครงการขอรับการสนับสนุนและความร่วมมือจากสหพันธ์คนหูหนวกแห่งประเทศญี่ปุ่น
(Japanese Federation of the Deaf)

3. โครงการพัฒนาผู้นำคนหูหนวกโลก (World Deaf Leadership Program)
เป็นโครงการต่อเนื่องระยะเวลา 3 ปี โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกาลาเดท วิทยาลัยราชสุดา
และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และได้รับทุนสนับสนุนโครงการฯ จากมูลนิธินิปปอน ประเทศญี่ปุ่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมและสนับสนุนผู้นำคนหูหนวกในประเทศไทยให้สามารถเข้าร่วมกิจกรรม
กับชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งสามารถฝึกอบรมด้านวิชาชีพให้กับกลุ่มคนหูหนวกอื่น ๆ
สำหรับเนื้อหาในการฝึกอบรมนั้น จะพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นนั้น ๆ
โครงการพัฒนาผู้นำคนหูหนวกในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ
1. เพื่อฝึกสอนคนหูหนวกให้เป็นครูสอนภาษามือไทย
2. พัฒนาหลักสูตรภาษามือไทย และสร้างวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน
3. เพื่อจัดให้มีการสอนภาษามือไทยในสถาบันอุดมศึกษา
ทั้งนี้ สมาคมฯ จะได้ผลักดันให้มีครูซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโครงการพัฒนาผู้นำคนหูหนวกโลกเข้ารับการบรรจุ
เป็นครูสอนภาษามือไทยในโรงเรียนสอนคนหูหนวก และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในแต่ละปี โครงการฯ จะรับ
นักศึกษาจำนวน 7-10 คน โดยคนหูหนวก 7 คน จะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา

คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเข้าโครงการฯ
1. อายุ 18 ปี ขึ้นไป
2. เป็นคนหูหนวก
3. เป็นสมาชิกของสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
4. สามารถใช้ภาษามือไทยได้ดี
5. เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนคนหูหนวกและมีความรู้ในเรื่องของคนหูหนวกเป็นอย่างดี
6. มีความประสงค์ที่จะเป็นครูสอนภาษามือไทย

ประสบการณ์ในการดำเนินงาน (ผลงาน, ความสำเร็จ, ความล้มเหลว ปัญหาและอุปสรรค)
ผลงาน
1. จัดตั้งกลุ่มสมาชิกภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของคนหูหนวกและเปิดโอกาสในการรับบริการแก
่คนหูหนวกในส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกในส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 4 ภูมิภาคดังนี้
-กลุ่มสมาชิกคนหูหนวก ส่วนภูมิภาคภาคเหนือ จ.เชียงใหม่
- กลุ่มสมาชิกคนหูหนวก ส่วนภูมิภาคภาคใต้ จ.สงขลา
- กลุ่มสมาชิกคนหูหนวก ส่วนภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม
- กลุ่มสมาชิกคนหูหนวก ส่วนภูมิภาคภาคกลาง จ.กรุงเทพมหานคร
2. วิจัย เรียบเรียงและจัดพิมพ์ปทานุกรมภาษามือไทย เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงและใช้ประกอบการสอนภาษามือ
ไทย 2 เล่ม และจัดพิมพ์หนังสือ ก.ไก่ สำหรับภาษามือไทย เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนระดับเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กหูหนวก
3. บริการสมาชิก
- เผยแพร่ข่าวสาร โดยผ่านทางจุลสารและวีดีโอเทปภาษามือ และจัดประชุม
- บริการล่ามภาษามือช่วยในการสื่อสารในกรณีต่าง ๆ เช่น พบแพทย์, ไปสถานีตำรวจ ฯลฯ
- สอนภาษาไทยให้คนหูหนวกที่ไม่ได้เรียนหนังสือและไม่รู้ภาษามือ
- บริการจัดหางาน
- บริการให้คำแนะนำปรึกษาให้แก่คนหูหนวก, ครอบครัวคนหูหนวกที่มีปัญหา
- จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่คนหูหนวกโดยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่คนหูหนวก,
ฝึกอบรมบาติก เป็นต้น
4. สอนภาษามือให้แก่ผู้ปกครอง, บุคคลทั่วไปและหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนหูหนวก
5. เป็นตัวแทนของคนหูหนวกเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารในปัญหาและความต้องการของคนหูหนวก
6. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิที่คนพิการควรได้รับ เช่น ใบขับขี่สำหรับคนหูหนวก, ตัวอักษรวิ่ง
ในรายการทีวี เป็นต้น สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ในการผลักดันสิทธิที่คนหูหนวกควรได้รับ
และได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ปิดกั้นไม่อนุญาตให้คนหูหนวกรับสมัครตั้ง ซึ่งได้รับการแก้ไขไปแล้ว
ปัญหาและอุปสรรค
1. บุคคลทั่วไปยังขาดความเข้าใจในเรื่องของคนหูหนวก และสมาคมฯ ยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคม ทั้งนี้เนื่องจากขาดแผนการ
ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง จึงทำให้มีผลต่อการเสริมสร้างทัศนคติและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนในสังคม
มีผลต่อการส่งเสริมอาชีพ, การศึกษา และการมีส่วนร่วมในสังคมของคนหูหนวก
2. นโยบายการดำเนินงานแต่ละฝ่ายของสมาคมฯ ไม่ชัดเจน ไม่ได้มีการวางเป้าหมายและแผนงานในระยะยาว
เพื่อรองรับการเติบโตขององค์กร
3. ระดับการศึกษาของคนหูหนวกไทย โดยส่วนใหญ่ ได้รับการศึกษาสูงสุดเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ
มัธยมศึกษาปีที่ 3 คนหูหนวกส่วนใหญ่อ่าน - เขียนภาษาไทยได้ไม่ดี จึงขาดความรู้ด้านวิชาการและข้อมูลข่าวสาร หลังจากจบการศึกษาคนหูหนวกไทยประกอบอาชีพอิสระ ขาดประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับคนปรกติ
จึงมีผลต่อมองปัญหา การใช้ทรัพยากรทางสังคมให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาองค์การและพัฒนาคนหูหนวก
4. การดำเนินงานทางด้านวิชาการ, ข้อมูลข่าวสาร, การประชาสัมพันธ์และการบริหารทรัพยากรทางสังคม
ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่หูปกติในการดำเนินการ
5. คนหูหนวกขาดทักษะในการจัดการและการบริหารองค์กร เช่น การจัดการ, การบริหารโครงการ, การบริหารเงินทุน,
การพัฒนาบุคลากรในองค์กร, ขาดเป้าหมายในการดำเนินงาน ฯลฯ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเต็มที่
6. ล่ามภาษามือไม่เพียงพอที่จะช่วยในการดำเนินงานหรือขยายการดำเนินงานของสมาคม และขาดแคลนบุคลากร
ที่มีความชำนาญในสังคมสงเคราะห์ (งานบริการให้คำแนะนำปรึกษา)
7. งบประมาณสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานไม่เพียงพอไม่สามารถขยายบริการไปยังสมาชิกคนหูหนวกทั้งใน
ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
8. กลุ่มสมาชิกคนหูหนวกส่วนภูมิภาคขาดแคลนล่ามภาษามือ และเจ้าหน้าที่หูปกติประสานงานทำให้งานส่วนภูมิภาค
ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร

รายนามนายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งวาระคราวละ 2ปี

สมัยที่ 1 นายไพศาล วงศ์ศิริพัฒนกุล พ.ศ.2527-2529
สมัยที่ 2 นายไพศาล วงศ์ศิริพัฒนกุล พ.ศ.2529-2531
สมัยที่ 3 นายสุรศักดิ์ จิตติเศรษฐกุล พ.ศ.2531-2533
สมัยที่ 4 นายสุรศักดิ์ จิตติเศรษฐกุล พ.ศ.2533-2534
สมัยที่ 5 นางพนมวรรณ บุญเต็ม พ.ศ.2534-2536
สมัยที่ 6 นายไพศาล วงศ์ศิริพัฒนกุล พ.ศ.2536 (เสียชีวิตก่อนจะครบวาระ)
สมัยที่ 7 นายอนุชา รัตนสินธุ์ พ.ศ.2538-2540
สมัยที่ 8 นายอนุชา รัตนสินธุ์ พ.ศ.2540-2542
สมัยที่ 9 นายอนุชา รัตนสินธุ์ พ.ศ.2542-2544
สมัยที่ 10 นางพนมวรรณ บุญเต็ม พ.ศ.2544-2546
สมัยที่ 11 นางพนมวรรณ บุญเต็ม พ.ศ.2546-2548
สมัยที่ 12 นายยงยุทธ บริสุทธิ์ พ.ศ.2548-2549 (ลาออก)
สมัยที่ 13 นายสุรเชษฐ์ เลิศสัจญาณ พ.ศ.2549 -2550 (รักษาการแทน)

 

กลับไปหน้าแรก

ติดต่อกับเรา
 
โทรศัพท์.66(2)7171902-3 โทรสาร.66(2)7171904