ประเภท ลักษณะ ที่มา โทษ ภูมิคุ้มกัน แหล่งรักษา กฎหมาย หน้าแรก

ชื่อทั่วไป : ยาเค (Ketamine)

ชื่ออื่น ๆ : เคตาวา (Ketava) , เคตาลา (Ketalar) หรือ คาริบโซ่ (Calypzo)

สารเคมีที่ออกฤทธิ์ : คีตามีน

ลักษณะทางกายภาพ :
มีลักษณะเป็นผงสีขาว ผลึก หรือ เป็นน้ำบรรจุอยู่ในขวดสีชา

ประวัติความเป็นมา
ยาเค เป็นยาที่มีอันตรายสูงที่แพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงเท่านั้น ยาเคถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์โดยใช้เป็นยาสลบมีชื่อ เรียกในวงการแพทย์ว่า "KETAMINEHL" การนำไปใช้นั้นปกติแพทย์จะใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในอัตรา 1 ถึง 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้หมดสติภายในเวลา 1 นาที หรืออาจใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่วิธีนี้จะใช้ปริมาณยามากกว่าการฉีดเข้าเส้นเลือดประมาณ 3 เท่า อาการหมดสติจากการใช้ยาเคจะเป็นอยู่นานประมาณ 10 - 15 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณี ของการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ หรือใช้ทำให้ผู้ป่วยสลบก่อนที่จะผ่านไปสู่การใช้ยาสลบชนิดอื่น

ประเภทของยา :
จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2521

การแพร่ระบาด :
มีการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกลุ่มนักค้าชาวต่างประเทศ และกลุ่มคนไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ มีลักลอบจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป มีการแพร่ระบาดตามเมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว เมืองชายทะเลของประเทศ แพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนที่มีการศึกษาสูง ฐานะค่อนข้างดี สาเหตุที่ทำให้ยาเคกลายเป็นปัญหาเพราะวัยรุ่นบางกลุ่มได้นำยาเคมาสูดดมเพื่อเกิดอาการมึนเมา และมักพบว่ามีการนำยาเคมาใช้ร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และ โคเคน

การออกฤทธิ์ :

ยาเค เป็นยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสานอย่างรุนแรง เมือเสพเข้าไปจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม (Euphoria) รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจพิเศษ (Mystical) มีอาการสูญเสียกระบวนการทางความคิด ความคิดสับสน การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียงจะเปลี่ยนแปลงไป ตาลาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กันหากใช้ปริมาณมากจะเกิดการติดขัดในการหายใจ(Respiratory depression)อาการที่ไม่พึ่งประสงค์เหล่านั้น (Bad Trip) จะปรากฎให้เห็นคล้ายกับอาการทางจิต ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะปรากฎอาการ เช่นนี้อยู่บ่อย ๆ เรียกว่า Flash back ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้ผู้เสพประสพกับสภาวะโรคจิต และกลายเป็นคนวิกลจริตได้

ผลต่อร่างกาย :
 

การนำยาเคมาใช้ในทางที่ผิดย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ โดยนำให้เกิดผล ดังนี้

1. ผลต่ออารมณ์ มีความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มึนงง หรือที่เรียกว่าอาการ "Dissociation"

2. ผลต่อการรับรู้จะเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทั้งหมดในขณะเสพ ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภาพ สี แสง

3. ผลต่อร่างกายและระบบประสาท เมื่อใช้ยาเคในปริมาณมาก ๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการติดขัด ในการหายใจเท่านั้น ยังทำให้เกิดการทางจิต ประสาทหลอน หูแว่ว กลายเป็นคนวิกลจริตได้
 

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

จัดทำโดย...นายไชยา  เฉลียวพงษ์  อาจารย์ 1 โรงเรียนปากคาดพิทยาคม อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย