พัฒนาการนโยบายรัฐบาล
เกี่ยวกับจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส
 
..
   
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
   

 

กระแสนิยมไทยในมาเลย์ ต้องการครูสอนวัฒนธรรม

           คนมาเลเซียเชื้อสายไทย แห่งยุคปัจจุบัน ยังมีความเข้มแข็ง ในวัฒนธรรมไทยอย่างสูง พวกเขาสนใจเรียนภาษา-วัฒนธรรมไทย อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง แต่ขาดผู้สอน และหนังสือไทย
           นางมุจรินทร์ ทีปจิรังกุล ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย ช่อง 11 สงขลา ซึ่งล่าสุด เข้าไปรายงานข่าว เกี่ยวกับประเทศมาเลเซีย เล่า “โฟกัสภาคใต้” ว่าขณะ คนมาเลเซียเชื้อสายไทย ที่อยู่ในรัฐเคดาห์ กลันตัน และเปอร์ลิศ ยังให้ความสนใจ เรียนวิชาภาษาไทย มากพอสมควร ซึ่งนอกจากจะหวังผล ในการอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังให้ความสำคัญ ในฐานะที่ใช้พูดกันในครัวเรือน และชุมชน และทำความเข้าใจในเรื่องที่มาของตัวเอง ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และเรื่องของเมืองไทย
           การเรียนภาษาไทย ของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย มักจะเรียนกันในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ หลังจากเข้าเรียน ในโรงเรียนตามปกติ ซึ่งก็แล้วแต่ชุมชนแห่งไหนเป็นอย่างไร อย่างที่เคดาห์มักจะเป็นวันศุกร์ วันเสาร์ ส่วนที่ปีนัง จัดเป็นวันอาทิตย์วันเดียว ซึ่งมักจะเรียนที่วัด โดยมีพระเป็นผู้สอน พระบางองค์เดินทาง มาจากเมืองไทย ซึ่งก็มีปัญหา ในการเดินทาง และเกี่ยวกับหนังสือเดินทางพอสมควร
           หลักสูตรการสอนภาษาไทย ในมาเลเซีย ยึดเอาตามหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการ ของประเทศไทย โดยปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย เรียน 2 เทอมเหมือนกัน พอสิ้นปีก็จัดสอบเลื่อนชั้นขึ้นไป จุดเด่นของคนไทยในมาเลเซีย เกี่ยวกับภาษา คือพวกเขาเรียนรู้ภาษาไทย แบบโบราณ ที่ในสังคมไทยเองเลือนหายไปมากแล้ว
           สำหรับคนมาเลเซียเชื้อสายไทย สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเรียน อย่างจริงจังก็คือ การเรียนวิชาพุทธศาสนา และปฏิบัติ ตามแนวทางศาสนา อย่างเคร่งครัด และยังสนใจเรื่องวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะ วัฒนธรรมภาคใต้ โดยเฉพาะการรำโนรา
           นางมุจรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ คนไทยในมาเลเซีย มีความต้องการอย่างมาก ที่อยากให้เข้าไป สอนเกี่ยวกับดนตรีไทย การรำไทย การทำขนมไทย อาหารไทย เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ และสืบทอดวัฒนธรรม รวมทั้งอยากได้หนังสือไทย ไปอ่านเสริมความรู้ นอกจากตำราที่เรียนกันในโรงเรียน
           พระราชาสิทธิคุณ เจ้าคณะรัฐเคดาห์ และเปอร์ลิศ มาเลเซีย ซึ่ง เป็นผู้บุกเบิก ทำศูนย์การเรียนภาษาไทย ที่ใหญ่พอสมควร และเครือข่ายไป 8 สาขาแล้วทั่วรัฐเคดาห์ กล่าวว่า ลูกศิษย์วัดที่เรียนภาษาไทย ไปได้ดีหลายคน รู้สึกดีที่สามารถส่งเสริม ให้เด็กไทยประสบความสำเร็จ โดยเงินที่นำมาใช้อุดหนุนก็ได้มาจาก เงินที่ญาติโยมมาทำบุญ รู้สึกภูมิใจที่คนไทยให้ความสำคัญ กับภาษาไทย และพร้อมประกาศ ความเป็นไทย โดยใช้ภาษา และวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือ สื่อสาร

ฉบับที่ 292 2-8 สิงหาคม 2546
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 เวลา 10:37:27 น.