www./oocities.com/pontipa001
หน้าแรก .......... ทดสอบความรู้

ทางด่วนข้อมูล รากฐานของการศึกษาทางไกล

นับตั้งแต่ อัล กอร์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายทางด่วนข้อมูล หรือทางด่วนสารสนเทศ (Information Superhighway) ขึ้นมา ดูเหมือนว่าจะเป็นการจุดประกายให้โลกได้รู้จักและตื่นตัวกับ "เคเบิลใยแก้วนำแสง - Fiber Optic Cable" ตามมาด้วย
การเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของทางด่วนข้อมูลนี้ได้ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายยิ่งขึ้น บางคนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานในสำนักงาน แต่ก็สามารถเรียกประชุมกับลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หรือบางคนอาจจะนั่งอยู่ที่บ้านแต่ก็สามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าได้ เป็นต้น
และไม่เพียงแต่การดำเนินชีวิตประจำวันทั้งในเรื่องส่วนตัวและธุรกิจการงานเท่านั้น ทางด่วนข้อมูลยังเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการศึกษาของมนุษยชาติอีกด้วย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ทางด่วนข้อมูลนี้แหละที่เป็นผู้ให้กำเนิดการเรียนการสอนที่เรารู้จักกันในชื่อว่า "Tele Education"
ในปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ให้ความสำคัญต่อระบบการเรียนการสอนผ่านทางด่วนข้อมูล หรือเคเบิลใยแก้วนำแสง แม้แต่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวด้วย รวมถึงประเทศไทย
ประเทศไทย เพิ่งรู้จักชื่อทางด่วนข้อมูลได้ประมาณ 4-5 ปีมานี้เอง หลังคำว่า "โลกไร้พรมแดน หรือ โลกาภิวัตน์ - Globalization" ไม่นานนัก แต่คำสองคำนี้ดูจะสอดคล้องต้องกัน เพราะเมื่อมีทางด่วนข้อมูลเมื่อใด เมื่อนั้นพรมแดนแทบจะสิ้นความหมายไปในทันที
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งที่นำระบบทางด่วนข้อมูลมาใช้ในการเรียนการสอนกันบ้างแล้ว
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่นำความไฮเทคของเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้สำหรับการเรียนของนิสิตและการสอนของอาจารย์ ที่เรียกได้ว่าได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจที่รวดเร็ว ตั้งแต่ 6-7 ปีแล้ว นับว่าทีมบริหารของมหาวิทยาลัยมองการณ์ไกลทีเดียว เพราะถ้าตัดสินใจช่วงนี้ก็คงต้องชลอให้พันยุค IMF ก่อน
ทั้งนี้ ภายใต้การร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงข่ายทางด่วนข้อมูลข่าวสารให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ. ยืน ภู่วรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกับบริษัทเทเลคอมเอเซียฯ วางโครงข่ายทางด่วนข้อมูลข่าวสารไปยังวิทยาเขตต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วยไมโครเวฟ ในปัจจุบันขยายเครือข่ายด้วยเทคโนโลยี ATM (Asychronous Transfer Mode) เป็นโครงข่ายหลัก (backbone) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครือข่ายแบบสื่อหลายแบบ (Multimedia) จนก่อให้เกิดโครงการเครือข่ายการเรียนรู้ (KULN - Kasetsart University Learning Network)

โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ ประกอบด้วย

ห้องเรียน ซึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับอาจารย์ 1 เครื่อง เชื่อมต่อกับ Object Display และวีดิโอโปรเจ็กเตอร์คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อเครือข่ายนนทรีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเรียกใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จากเครือข่ายนนทรีและอินเทอร์เน็ตได้
สถานีสำหรับนิสิต point เป็นจุดที่นิสิตสามารถเข้ามาใช้เครื่องเพื่อเรียกเข้าสู่เครือข่ายนนทรีได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยติดต่อเครื่องภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช่น โรงอาหาร ห้องปฏิบัติการ ห้องพักนิสิต ฯลฯ เพื่อสามารถใช้เครือข่ายได้ตลอดเวลา รวมถึงการเรียกเข้าจากบ้านผ่านโมเด็
สถานีบริการเว็บ เป็นสถานีบริการเก็บข้อมูล เนื้อหา ตำรา วิชาการต่าง ๆ เพื่อเรียกใช้ และการเก็บข้อมูลได้ทั้งภาพ เสียง วีดิโอ ฯล
การกระจายสัญญาณเสียง (real audio) เป็นสถานีวิทยุ เพื่อการศึกษาบนเครือข่ายนนทรี เปิดบริการตามความต้องการเก็บเนื้อหาต่าง ๆ ไว้บริการมากมาย
การกระจายสัญญาณวิดิโอ (real video) เป็นสถานีบริการทีวีออนดีมานด์ เก็บเนื้อหาทางด้านวิชาการไว้บริการ
เว็บบอร์ด (web board) เป็นสถานีบริการที่เก็บข้อมูล ข่าวสารเหมือนเป็นกระดานข่าวที่ใครจะนำข้อความข่าวสารมาติดไว้ได้
โฮมเพจนิสิต (student homepage) เป็นที่เก็บทรัพยากรข้อมูลข่าวสารของนิสิต ซึ่งสามารถทำการบ้านไว้ที่ homepage ของตน และส่งให้อาจารย์ตรวจได้ โดยการส่ง pointer บอกตำแหน่งของการบ้านที่เก็บไว้ อาจารย์จะเข้ามาตรวจการบ้านได้โดยอัตโนมัติ
ห้องสมุดดิจิตอล (Digital Library) เป็นที่เก็บข้อมูลความรู้ข่าวสารต่าง ๆ ที่สามารถเรียกค้นผ่านทางเครือข่ายได้ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการจัดการสอนแบบอะซิงโครนัส (Asynchronous Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนแบบเรียนที่ใดก็ได้ (any where) และเรียกเวลาใดก็ได้ (any time) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดการเรียนการสอนได้ตลอดเวลา การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์นนทรี ทำให้นิสิตสามารถเรียกเข้ามาใช้ได้จากที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ เป็นการเชื่อมประสานการใช้งานด้วยการเรียนการสอน โดยที่ไม่ต้องเดินทางมามหาวิทยาลัย ทำให้ระยะทางไม่เป็นข้อจำกัด และการกระจายโอกาสการเรียนการสอน ระบบการเรียนด้วย KULN จึงเป็นหนทางการเพิ่มคุณภาพการศึกษา

โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นบนทางด่วนข้อมูลให้ประโยชน์กับกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม เช่น

กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาที่มีโอกาสจะเข้ามาเป็นนิสิต นักศึกษา การวางเครือข่ายการเรียนรู้นี้สามารถตอบสนองหรือเอื้ออำนวยให้นักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์
นิสิตในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเป้าหมายหลักที่จะใช้ประโยชน์โดยตรง
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย จะได้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของศิษย์เก่า เพื่อนำความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพ เพราะความรู้เหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ประชาชนทั่วไป เป็นการบริการทางวิชาการ เพื่อให้คนไทยได้มีแหล่งความรู้ และเข้าถึงความรู้เรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเกษตร การส่งเสริมการเกษตร สุขภาพ และการดำรงชีวิตภายใต้ภาวะวิกฤติต่าง ๆ เป็นต้น
เผยแพร่ความรู้ไปในต่างประเทศ เนื่องจาก KULN บนเครือข่ายนนทรีเน็ต จะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายโลก ทำให้การติดต่อสื่อสารกับทั่วโลกได้
รศ. ยืน กล่าวอีกว่า สิ่งที่ได้ประโยชน์มาจากทางด่วนข้อมูลคือ อินเทอร์เน็ต เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่วิทยาเขตกำแพงแสนจะเรียกใช้ข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็วมากเหมือนอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะทางด่วนข้อมูลที่ทำไว้มีแถบความถี่ (bandwidth) กว้างมาก
เครือข่ายทางด่วนข้อมูลข่าวสารใช้เคเบิลใยแก้วนำแสง ทำให้สภาพการใช้งานคงทน แม้ฝนตก ฟ้าร้อง การใช้ยังมีประสิทธิภาพเช่นเดิ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแผนที่จะนำข้อมูลจากตำรา ความรู้ต่าง ๆ ด้านการเกษตรกว่า 300 เล่ม จัดเก็บไว้ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่าเป็น "สถานีเว็บ" เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองของประชาชน เช่น ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรเพื่ออาชีพ การปลูกผัก การปลูกผลไม้ ปัญหาการใช้ปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งอาจจะพูดรวม ๆ ได้ว่าเป็น "ห้องสมุดความรู้การเกษตร" หรือ "Digital Library" ห้องสมุดดิจิตอลยังสามารถเก็บบทบรรยายของมหาวิทยาลัยใส่เข้าไปในรูปแบบ real audio เพื่อฟังเสียงได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับโครงการกาญจนาภิเษก และโครงการเครือข่ายโรงเรียนจัดทำโครงการ "ห้องสมุดความรู้" โดยมีหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน
รศ. ยืน มองอนาคตของการศึกษาไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้าว่า พื้นฐานการศึกษาที่เคยพูดว่า คนไทยต้องอ่านออกเขียนได้นั้น ควรเปลี่ยนเป็นว่าต้องสร้างให้เขาแสวงหาและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่นทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความรู้ในการเพิ่มผลผลิตในการเกษตร เรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเอง หรือรู้จักการรักษาโรคภัยไข้เจ็บขั้นพื้นฐาน ใช้ยาถูกต้อง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการกระจายความรู้ให้ทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ
คนเก่ง ๆ สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่านหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้อยู่ที่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรเพื่อช่วยกระจายความรู้ให้กว้างไกลโดยเสียต้นทุนต่ำ การเรียนรู้เหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเรียนจากโรงเรียนอย่างเดียว แต่สามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีทางด่วนสารสนเทศ ซึ่งเป็นทางด่วนข้อมูล จะนำพาสิ่งต่าง ๆ ไปสู่ยังชนบทห่างไกล เพื่อให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาข้อมูล ตำรับตำราได้เฉกเช่นเดียวกับคนในเมืองทั้งหลาย


หน้าแรก