ประวัติและปฏิปทา

หน้าแรก ประวัติและปฏิปทา ธรรมและคำสอน รูปภาพ

โอ้ โพธิ์พฤกษ์เย็น คุณะเด่นเกษมสรรพ์ บัดนี้ พระดับขันธ์ ดุจะ โพธิหักลาญ

๙. เหนือความตาย

คณะที่นำโดย หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ก็มี พระอาจารย์บุญ พระอาจารย์สีทา พระอาจารย์หนู และ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล รวม ๕ องค์ เมื่อแยกทางจาก พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต แล้ว ก็เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานไปเรื่อยๆ

เมื่อถึง ป่าท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้พิจารณาเห็นว่าสภาพป่าแถวนั้น มีความเหมาะสมที่จะอยู่จำพรรษา จึงได้สมมติขึ้นเป็น สำนักป่าท่าคันโท แล้วทั้ง ๕ องค์ ก็อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ สถานที่นั้น 

เมื่อพิจารณาที่จำพรรษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกองค์ก็ตั้งสัจจะปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ดำเนินข้อวัตรปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของพระอาจารย์ใหญ่อย่างสุดชีวิต 

ป่าท่าคันโท แถบเทือกเขาภูพานในสมัยนั้น ยังรกชัฏ อุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ที่ร้ายกาจก็คือ มีไข้ป่าชุกชุม ชาวบ้านเรียกว่า "ไข้หนาว" ใครก็ตามที่เป็นจะมีอาการหนาวสั่น เหมือนมีคนจับกระดูกเขย่าให้โยกโคลนไปทั้งกาย 

ปรากฏว่าพระทุกองค์ ยกเว้นพระอาจารย์หนูเพียงองค์เดียว ที่ไม่ถูกพิษไข้หนาวเล่นงานเอา นอกนั้นต่างล้มเจ็บได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสด้วยกันทั้งสิ้น 

ในท่ามกลางป่าทึบดงเถื่อนเช่นนั้น หยูกยาอะไรก็ไม่มี ได้แต่เยียวยาช่วยกันรักษากันไปตามมีตามเกิด 

ในกลางพรรษา พระสหธรรมิกรูปหนึ่งก็ถึงแก่มรณภาพไปต่อหน้าต่อตา ยังความสลดสังเวชให้กับหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง 

อย่างไรก็ตาม ความตายมิอาจทำให้เกิดความหวั่นไหวรวนเร ในหมู่พระนักปฏิบัติทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่ 

เมื่อจัดการฝังสรีระของพระสหธรรมิกแล้ว ต่างองค์ต่างก็รีบเร่งความเพียรหนักยิ่งขึ้น เสมือนหนึ่งจะช่วงชิงชัยชนะเหนือความตายที่รุกคืบเข้ามา 

เบื้องหน้าคือความตาย เบื้องหน้าคือความยากลำบาก เบื้องหน้าคือการจากพระสหธรรมิกที่ร่วมเส้นทางกันมา นับเป็นบททดสอบอันเด็ดขาดยิ่ง ที่ต้องเผชิญเป็นครั้งแรกในชีวิตธุดงค์ของหลวงปู่ 

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ เมื่อต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ ก็ได้อาศัยความสำเหนียกรู้ เผชิญกับความตายอย่างเยือกเย็น

ความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ การเผชิญกับโรคาพยาธิ ขณะที่หยูกยาขาดแคลนอย่างหน้าใจหาย 

หลวงปู่เกิดความคิดขึ้นในใจว่า สิ่งที่จะพึ่งได้ในยามนี้ก็มีแต่ อำนาจพุทธคุณ เท่านั้น แม้ท่านจะได้รับพิษไข้อย่างแสนสาหัส ด้วยใจอดทนและมุ่งมั่น ท่านได้รำลึกถึงพระพุทธคุณ แล้วตั้งสัจวาจาอย่างแม่นมั่นว่า 

"ถึงอย่างไร ตัวเราคงไม่พ้นเงื้อมมือแห่งความตายในพรรษานี้แน่แล้ว แม้เราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด"

จากนั้นหลวงปู่ก็เริ่มปรารภความเพียร ตั้งสติให้สมบูรณ์เฉพาะหน้า ธำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอิริยาบถ พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือใช้ มรณานุสติกัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ โดยมิได้ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคามจะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย 

เมื่อไม่หวาดหวั่นต่อความตาย แล้วความตายจะมีบทบาท และความหมายอะไรอีกเล่า !

หน้าต่อไป