ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกรรมฐาน
ทั้งพระภิกษุและฆราวาสให้การยอมรับว่า
"หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
นับเป็นองค์เดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต
จนกระทั่งได้รับสมญาว่า
เป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต"
ประจักษ์พยานแห่งสมญานามดังกล่าว
จะเห็นได้จาก คำเทศน์
คำสอนและความสนใจของหลวงปู่
อยู่ในเรื่อง "จิต" เพียงอย่างเดียว
เรื่องอื่นนอกจากนั้นหาได้อยู่ในความสนใจของหลวงปู่ไม่
ด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิตจึงทำให้หลวงปู่ประกาศหลักธรรมโดยใช้คำว่า
"จิต คือ พุทธะ" โดยเน้นสาระเหล่านี้
เช่น
"พระพุทธเจ้าทั้งปวง
และสัตว์โลกทั้งสิ้น
ไม่ได้เป็นอะไรเลย
นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง
นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว
ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย"
"จิตหนึ่ง
ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้
เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย"
"จิตหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพระพุทธะ
ดังคำตรัสที่ว่า :-
ผู้ใดเห็นจิต
ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นตถาคต"
พระธรรมเทศนาของหลวงปู่ในหัวข้อเรื่อง
"จิต คือ พุทธะ"
โดยละเอียดได้นำเสนอในภาคคำสอน
ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้แล้ว
พร้อมทั้งคำแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย
ในการสอนของหลวงปู่
ท่านจะเตือนสติสานุศิษย์เสมอๆ
ว่า
"อย่าส่งจิตออกนอก"
หลวงปู่ยังสอนแนวทางปฏิบัติ
อีกว่า
"จงทำญาณให้เห็นจิต
เมื่อเห็นจิตได้
ก็จะสามารถแยกรูป
ถอดด้วยวิชชามรรคจิต
เพื่อที่จะแยกรูปกับกายให้อยู่คนละส่วน
แล้วจะเข้าใจพฤติของจิตได้ในลำดับต่อไป"
คำสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตของหลวงปู่
ที่มีการบันทึกไว้ในที่อื่นๆ
อีก ก็มีเช่น :-
"หลักธรรมที่แท้จริง คือ
จิต
จิตของเราทุกคนนั่นแหละ
คือ
หลักธรรมสูงสุดในจิตใจเรา
นอกจากนั้นแล้วไม่มีหลักธรรมใดๆ
เลย
จิตนี้แหละ คือ หลักธรรม
ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่จิต
แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต
ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น
เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า
คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว
พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น
จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์
ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน"
ด้วยเหตุนี้
การสอนของหลวงปู่
จึงไม่เน้นที่การพูด
การคิดหรือการเทศนาสั่งสอน
แต่ท่านจะเน้นที่ การภาวนา
และให้ดูลงที่จิตใจ
ของตนเอง
อย่าไปดูสิ่งอื่น เช่น อย่าไปสนใจดูสวรรค์
ดูนรก หรือสิ่งอื่นใด
แต่ให้ดูที่จิตของตนเอง
ให้ดูไปภายในตนเอง
"อย่าส่งจิตออกนอก" จึงเป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ
ความรู้
ความเข้าใจเรื่องจิต
อย่างลึกซึ้งนี้
เป็นผลจากการปฏิบัติที่ ถ้ำพระเวสฯ
อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เมื่อครั้งนั้นนั่นเอง