ประวัติและปฏิปทา

หน้าแรก ประวัติและปฏิปทา ธรรมและคำสอน รูปภาพ

โอ้ โพธิ์พฤกษ์เย็น คุณะเด่นเกษมสรรพ์ บัดนี้ พระดับขันธ์ ดุจะ โพธิหักลาญ

๓๗. ส่งเสริมทั้งปริยัติและปฏิบัติ

ปฏิปทาของหลวงปู่นั้น แม้จะรับภาระด้านการบริหารในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ อาจารย์สอน เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดในภายหลัง หน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ยอมรับอย่างเต็มกำลัง

ในขณะเดียวกัน ปฏิปทาทางคุณธรรม หรือข้อปฏิบัติที่ท่านเคยศึกษามาในทางกัมมัฏฐาน ทางธุดงค์ ท่านก็ยึดแนวทางนี้เป็นหลักสำคัญอยู่ ท่านยังปฏิบัติสม่ำเสมอ ทั้งที่เป็นส่วนตัวของท่าน ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาสอนพระภิกษุสามเณร และประชาชนที่สนใจเป็นประจำเสมอมา

ในช่วงกลางๆ ชีวิต ในระหว่างที่หลวงปู่มาอยู่ที่สุรินทร์นั้น ท่านจะมีการสมาคมไปทางครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐาน มีความร่วมมือ การติดต่อ การไปมาหาสู่เยี่ยมเยียน รวมทั้งส่งพระเณรไปศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ ด้วย

ที่วัดบูรพาราม มีพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก องค์ไหนที่สนใจใส่ใจศึกษาทางฝ่ายปริยัติ นอกจากจะเรียนเบื้องต้นในวัดบูรพารามแล้ว ก็ส่งมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในระดับสูงต่อไป

สำหรับบางรูปที่สนใจในการประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นคือ องค์ไหนสนใจในการธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแท้จริง หลังจากหลวงปู่ให้การฝึกอบรมด้วยองค์ท่านเองแล้ว ท่านก็จะส่งองค์ที่สนใจไปอยู่กับ พระอาจารย์ฝั้น บ้าง ที่ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี บ้าง

นี่คือภาระหน้าที่ด้านการศึกษาที่หลวงปู่ทำ ในระหว่างมาพำนักที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ จนกระทั่งการศึกษาพระศาสนาทั้ง ๒ ด้าน มีความก้าวหน้า เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ ก็เป็นผลงานการวางรากฐานของหลวงปู่นั่นเอง

นอกจากภารกิจด้านการศึกษาแล้ว ด้านพิธีการปฏิบัติต่างๆ ในจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้น ก็ยังไม่มีแบบแผนอะไร แทบกล่าวได้ว่ายังไม่มีอะไรเลย เป็นต้นว่าพิธีในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา การตักบาตรเทโว เป็นต้น คณะสงฆ์ในสมัยนั้นก็ได้ริเริ่มจัดให้มีขึ้น และกำหนดแบบอย่างในการปฏิบัติ เช่น พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ ศาสนพิธีต่างๆ ก็เพิ่งจะมีการฟื้นฟู มีการจัดทำเป็นพิธีการในสมัยหลวงปู่นั่นเอง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ วิธีการที่หลวงปู่มาเผยแผ่ หรือเปิดกรุแห่งการศึกษาทั้งทางปริยัติ ปฏิบัติ และแบบอย่างศาสนพิธี ให้แก่จังหวัดสุรินทร์ในยุคนั้น และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นมรดกธรรมที่เกิดจากการริเริ่มของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นี่เอง

หน้าต่อไป