Home คำนำ บทนำ กลไกการฝังเข็ม เข็มและการใช้เข็ม จุดฝังเข็มและเส้นลมปราณ การใช้การฝังเข็มในเวชปฏิบัต แหล่งข้อมูลอ้างอิง เอกสารอ้างอิง WHO Recommendation for Acupuncture การเบิกค่ารักษาพยาบาล ผู้เรียบเรียง

 

            
จุดฝังเข็มและเส้นลมปราณ

จุดฝังเข็ม
การหาตำแหน่งจุด
วิธีการหาตำแหน่งจุด
จุดฝังเข็มที่ใช้บ่อย
เส้นลมปราณปอด (The Lung Channel)
เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ (The Large Intestine Channel)

เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร (The Stomach Channel) 
เส้นลมปราณม้าม (The Spleen Channel)
เส้นลมปราณหัวใจ (The Heart Channel)
เส้นลมปราณลำไส้เล็ก (The Small Intestine Channel)

เส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ (The Urinary Bladder Channel)
เส้นลมปราณไต (The Kidney Channel)
เส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ (The Pericardium Channel)
เส้นลมปราณซานเจียว (The Sanjiao Channel)
เส้นลมปราณถุงน้ำดี (The Gall Bladder Channel)
เส้นลมปราณตับ (The Liver Channel)
เส้นลมปราณตูม่าย (The Du Mai Channel)
เส้นลมปราณเยิ่นม่าย (The Ren Mai Channel)
จุดพิเศษนอกเส้นปราณหลัก

                จุดฝังเข็ม (Acupuncture point) หมายถึง จุดที่มีตำแหน่งแน่นอนอยู่บนส่วนผิวของร่างกาย ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นโดยวิธีการหนึ่ง ๆ เช่น การใช้เข็มแทง, การกดนวด หรือการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า สามารถที่จะมีบทบาทในการรักษาอาการและโรคได้ โดยส่วนใหญ่จุดต่าง ๆ จะกระจายอยู่ตามแนวทางเดินของเส้นลมปราณ แพทย์จีนเห็นว่า จุดฝังเข็มคือตำแหน่งที่พลังลมปราณซึ่งไหลเวียนในร่างกายเปิดติดต่อกับโลกภายนอกร่างกาย มันอาจจะมีอาการหรืออาการแสดงปรากฎออกมาให้ทราบตรงตำแหน่งจุดเหล่านี้ได้ด้วย เช่น รู้สึกเจ็บ หรือคลำได้ก้อนแข็ง หรือสีผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนไป เป็นต้น

จุดฝังเข็ม แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. จุดบนเส้นลมปราณ ได้แก่บรรดาจุดที่มีตำแหน่งกระจายอยู่ตามแนวทางเดินของเส้นปราณหลัก มันมีสรรพคุณในการรักษาอาการหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณนั้นเป็นสำคัญ เช่น จุดบนเส้นลมปราณปอดจะใช้รักษาโรคปอดหรือหลอดลมได้

2. จุดพิเศษนอกเส้นลมปราณ ได้แก่ บรรดาจุดที่ไม่ได้กระจายอยู่ตามแนวทางเดินของเส้นลมปราณหลัก มีชื่อเรียกเฉพาะ มีสรรพคุณในการรักษาอาการหรือโรคที่จำเพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่เส้นลมปราณควบคุมอย่างหนึ่งอย่างใดโดยตรง เช่น จุดไท่หยางที่บริเวณขมับ ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ เป็นต้น

3. จุดกดเจ็บ หมายถึง จุดใด ๆ ก็ตาม (ยกเว้นจุดที่อยู่บนเส้นลมปราณหรือจุดพิเศษ) ที่ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหรือกดเจ็บ มันไม่มีตำแหน่งระบุเอาไว้แน่นอน จึงไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ในการรักษาสามารถที่จะใช้จุดเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยถือหลักว่า “เจ็บตรงไหน แทงตรงนั้น”
Go toTop

    การหาตำแหน่งจุด

ตำแหน่งของจุดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการแทงถูกจุดหรือไม่ จะเกี่ยวข้องกับผลของการรักษาโดยตรงว่าจะได้ผลดีหรือไม่ ในการวัดหาตำแหน่งจุดนั้น ใช้หน่วยวัดความยาวเป็นชุ่น ความยาวของชุ่นมีความยาวผันแปรกันไปตามขนาดรูปร่างของร่างกายแต่ละคน โดยมีการกำหนดมาตรฐานความยาวของแต่ละส่วนของร่างกายเอาไว้ (รูปที่ 10) ตัวอย่างเช่น ระยะทางระหว่างรอยพับข้อมือด้านในมาถึงรอยพับข้อศอกด้านใน ยาวเท่ากับ 12 ชุ่น ดังนั้นความยาว 3 ชุ่น ก็สามารถจะหาได้โดยวัดความยาว ¼ ของระยะห่างรอยพับข้อมือและข้อศอก จะเห็นได้ว่า ความยาว 12 ชุ่น ดังตัวอย่างนี้ ในเด็ก 10 ขวบ กับผู้ใหญ่อายุ 30 ปี ย่อมไม่เท่ากันแน่นอน ดังนั้นระยะตำแหน่งจุดจะต้องกำหนดจากขนาดรูปร่างของแต่ละคนเสมอ

ส่วนของร่างกาย

ระยะห่าง

ชุ่น

หมายเหตุ

 

ศีรษะ

ชายผมด้านหน้าถึงชายผมด้านหลัง

12

ในกรณีที่ชายผมไม่ชัด หรือศีรษะเถิกล้าน ให้วัดระยะห่างจากหว่างคิ้ว ถึงปุ่มกระดูกสันหลังคอที่ 7 เป็นความยาว 18 ชุ่น

หว่างคิ้วถึงชายผมด้านหน้า

3

ปุ่มกระดูกสันหลังคอที่ 7 ถึงชายผมด้านหลัง

3

ปุ่มกระดูกหลังหูข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง

9

ทรวงอกและท้อง

ระหว่างนมทั้งสองข้าง

8

ความกว้างของกระดูกซี่โครง แต่ละซี่ถือเป็น 1.6 ชุ่น

ลิ้นปี่ถึงสะดือ

8

สะดือถึงขอบบนของกระดูกหัวเหน่า

5

หลัง

ขอบในสุดของกระดูกสะบักถึงเส้นกลางหลัง

3

ตำแหน่งจุดบริเวณหลัง นิยมนับจากลำดับของช่องระหว่างกระดูกสันหลังเป็นเกณฑ์

แขน

รอยพับรักแร้ด้านหน้าถึงรอยพับข้อศอกด้านใน

9

 

รอยพับข้อศอกด้านในถึงรอยพับข้อมือด้านใน

12

 

ขา

ขอบบนกระดูกหัวเหน่าถึงขอบบนกระดูกสะบ้า

18

 

ขอบล่างกระดูกสะบ้าถึงจุดกึ่งกลางปุ่มนูนตาตุ่มใน

13

 

ปุ่มนูนกระดูกต้นขาถึงจุดกึ่งกลางกระดูกสะบ้า

19

 

จุดกึ่งกลางกระดูกสะบ้าถึงจุดกึ่งกลางปุ่มนูนตาตุ่มนอก

16

 

จุดกึ่งกลางปุ่มนูนตาตุ่มนอกถึงส้นเท้า

3

 

Go toTop

วิธีการหาตำแหน่งจุด มีอยู่หลายวิธี ซึ่งต้องเลือกใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้เหมาะสม และสะดวกรวดเร็ว

1. วิธีหาโดยการแบ่งส่วน วิธีนี้นิยมใช้กับจุดที่อยู่ตาม แขน ขา หรือลำตัว ซึ่งไม่มีจุดสังเกตทางกายวิภาคเป็นตัวช่วยบอก เช่น จุดซีเหมินอยู่ด้านในของแขนท่อนล่าง ต่ำจากรอยพับข้อศอกลงมา 7 ชุ่น เนื่องจากเราทราบว่า ระยะห่างจากรอยพับข้อศอก ถึงรอยพับข้อมือด้านใน ยาวเท่ากับ 12 ชุ่น ดังนั้นตำแหน่งจุดซีเหมินจะอยู่ต่ำจากกึ่งกลางของระยะห่างนี้ลงมาอีก 1 ชุ่น นั่นเอง (รูป 11)

 

รูปที่ 11 ตำแหน่งจุดซีเหมิน

2. วิธีอาศัยจุดสังเกตทางกายวิภาค (Anatomical landmarks) เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด วิธีนี้จะอาศัยจุดสังเกตต่าง ๆ ทางกายวิภาคที่เห็น, คลำได้ง่ายและชัดเจนมาช่วยหาตำแหน่งจุด เช่น จุดอิ้นถาง อยู่ตรงกลางระหว่างหัวคิ้วทั้งสองข้าง จุดซ่านจงอยู่กึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้อง เป็นต้น นอกจากนี้จุดบางจุดต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในเฉพาะท่าบางท่าเท่านั้น จึงจะหาจุดได้ เช่น ให้ผู้ป่วยอ้าปาก จะเห็นรอยบุ๋มอยู่หน้าต่อรูหู ซึ่งเป็นจุดทิงกง หรือให้ผู้ป่วยปล่อยแขนแนบกับลำตัว ปลายสุดของนิ้วกลางที่ทาบด้านนอกของต้นขา จะตรงกับจุดเฟิงชือพอดี เป็นต้น

3. วิธีวัดโดยใช้นิ้วมือของผู้ป่วย วิธีนี้ใช้กับจุดที่มีระยะห่างสั้น หรือใช้วัดประกอบกับวิธีทั้งสองข้างต้น โดยอาศัยความยาวของแต่ละส่วนของนิ้วมือของผู้ป่วย (ไม่ใช้ผู้ฝัง) (รูปที่ 12)

Go toTop
จุดฝังเข็มที่ใช้บ่อย

            จุดฝังเข็มนั้นมีมากมาย เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ต้องการที่จะเป็นคู่มือปฏิบัติมากกว่าที่จะเป็นตำรา จึงได้คัดเลือกเฉพาะจุดที่มีความสำคัญและใช้บ่อยประมาณ 100 กว่าจุด มาแนะนำให้ทราบถึงตำแหน่ง, วิธีการฝัง และข้อควรระวังในการฝังเข็ม

            เพื่อให้สะดวกแก่การจดจำขอชี้แจงในการหาตำแหน่งจุดให้เข้าใจ ณ ที่นี้ก่อน คือ

            1. ลำดับในการแนะนำจุด จะแนะนำเรียงไปตามลำดับของเส้นลมปราณที่จุดนั้นสัมพันธ์อยู่ จากนั้นจึงเป็นการแนะนำจุดพิเศษนอกเส้นลมปราณ โดยจะมีการแนะนำทางเดินของเส้นลมปราณให้ทราบก่อนแนะนำจุด

            2. เกี่ยวกับเรียกชื่อของจุดนั้น ปัจจุบันมีวิธีเรียกอยู่ 2 ระบบ คือ

            2.1 ระบบภาษาจีน จะเรียกชื่อจุดเป็นภาษาจีนที่เรียกกันมาแต่เดิม ซึ่งแต่ละจุดจะมีชื่อของมันไปเลย เช่น จุดเหอกู่ จุดอิ้นถาง

            2.2 ระบบสากล จะเรียกชื่อจุดตามเส้นปราณหลักที่จุดนั้นสังกัดอยู่ แล้วใส่เลขอารบิคบอกลำดับของจุดที่สังกัดเส้นนั้น ๆ โดยนับจุดที่อยู่ต้นทางของลมปราณ เป็นลำดับที่ 1 เช่น เส้นลมปราณปอดมีจุดสังกัดรวม 11 จุด จุดที่ 7 ก็จะเรียกว่า จุด Lung 7 หรือย่อเป็น L 7 ซึ่งจะตรงกับชื่อจุดในภาษาจีนว่า จุดเลี่ยเชวีย เป็นต้น ส่วนจุดที่อยู่นอกเส้นลมปราณก็เรียกเป็น Extra point เช่น จุด อิ้นถาง ตรงกับ จุด Ex 1 เป็นต้น
   
              ในที่นี้จะเรียกตามระบบสากลแล้วมีชื่อระบบจีนต่อท้าย

            3. เกี่ยวกับสรรพคุณในการรักษาของแต่ละจุด เช่น จุด L 5 ฉื่อเจ๋อ มีสรรพคุณหลักในการรักษาอาการไอ, หอบ, เจ็บคอ และเจ็บแน่นหน้าอก ในที่นี้ได้เว้นที่จะแนะนำเช่นนี้ เพราะในทางปฏิบัติแล้ว การเลือกจุดฝังเข็มไม่ได้เลือกจุดใดจุดเดียวเท่านั้น และการกำหนดแผนการรักษาเลือกจุดก็กำหนดจากการวิเคราะห์อาการและโรคของผู้ป่วยก่อน แล้วจึงมาฝังในจุดที่กำหนดในแผนการรักษา มิใช่ว่ามาไล่ดูว่า จุดไหนมีสรรพคุณอะไร แล้วเลือกแทงจุดนั้นเลย การใช้จุดจึงได้แนะนำอยู่ในบทของการรักษาต่างหากออกไป

             4. ในภาพที่แสดงถึงทางเดินของเส้นลมปราณนั้น

  •  ตัวเลขอารบิคที่กำกับอยู่ แสดงถึงทางเดินของเส้นแต่ละช่วงที่สำคัญ คำอธิบายเกี่ยวกับทางเดินของเสนนั้น อธิบายตามตัวเลขที่กำกับ
  • เส้นทึบ _____ หมายถึง ช่วงทางเดินที่มีจุดฝังเข็มอยู่
    เส้นประ- - - - หมายถึง ช่วงทางเดินที่ไม่มีจุดฝังเข็ม

    l แสดงถึง ตำแหน่งจุดแทงเข็มประจำเส้นปราณนั้น ๆ

    D แสดงถึง ตำแหน่งจุดแทงเข็มของเส้นปราณเส้นอื่น ที่เส้นลมปราณนั้นตัดผ่าน
    Go toTop

                    1. เส้นลมปราณปอด (The Lung Channel)

1. เริ่มต้นจากกลางท้อง ลงมาสัมพันธ์กับลำไส้ใหญ่
2. ย้อนไปโอบล้อมกระเพาะอาหาร 
     
 3. ทะลุผ่านกระบังลม
 4. ไปสังกัดอยู่กับปอด
 5. ผ่านเฉียงจากแอ่งเหนือกระดูกสันอก มาอยู่ชั้นตื้นที่บริเวณหัวไหล่
 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12. ทอดลงมาตามด้านหน้าของแขน มาสิ้นสุดที่ปลายนิ้วหัวแม่มือ
13. มีแขนงแยกไปตรงบริเวณข้อมือไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วชี้

        

        จุดสำคัญในเส้นปราณปอด ได้แก่

L 1 จุดจงฟุ
ตำแหน่ง ด้านข้างของทรวงอก ในช่องซี่โครงที่ 1, 6 ชุ่น จากแนวกลางอก และอยู่ใต้กระดูกไหปลาร้า 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงราบ 1 ซม. ต้องระมัดระวัง จุดบางจุดเป็นจุดที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงจุด ดังนั้นต่อไปจุดฝังเข็มที่เป็นบริเวณที่จะก่อให้เกิดอันตราย จะมีข้อความ “ต้องระมัดระวัง” ข้างท้ายของวิธีแทง
L 5 จุดฉือเจ๋อ
ตำแหน่ง ตรงรอยพับของข้อศอก ชิดกัขอบนอกของเอ็นกล้ามเนื้อ Biceps brachii
วิธีแทง แทงตรงลึก 1-2 ซม.
L 7 จุดเลี่ยเชวีย
ตำแหน่ง 1.5 ชุ่น เหนือรอยพับข้อมือ อยู่ทางด้านกระดูกเรเดียส หรือ ให้ผู้ป่วยเอาง่ามมือทั้งสองข้างประสานเข้าหากัน ให้ปลายนิ้วชี้วางทาบอยู่บนปุ่มกระดูกแขนนอก (Styloid process of the radius) จะคลำได้แอ่งเล็ก ๆ ที่บริเวณปลายนิ้วชี้ คือจุดนี้เอง
วิธีแทง แทงเฉียงขึ้นไปหาข้อศอก 1-2 ซม.
L 9 จุดไท่หยวน
ตำแหน่ง ปลายนอกสุดของรอยพับข้อมือด้านหน้า ตรงกับแอ่งชีพจร
วิธีแทง ใช้นิ้วดันให้เส้นเลือดเรเดียล (Radial artery) เลื่อนออกไป เล็กน้อยก่อน แล้วแทงตรง 0.5 ซม.
L 11 จุดซ่าวซาง
ตำแหน่ง อยู่ห่างจากมุมล่างด้านนอกของโคนเล็บนิ้วหัวแม่มือออกมาประมาณ 0.1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตื้น ประมาณ 1-2 มม.

Go toTop

                    2. เส้นปราณลำไส้ใหญ่ (The Large Intestine Channel)

1. เริ่มที่ปลายนิ้วชี้
2 – 7. ย้อนขึ้นมาตามแขนด้านนอกจนถึงหัวไหล่
8. ข้ามไหล่ไปยังกระดูกสันหลังคอ
9. แทงทะลุมาทางด้านหน้า มาโผล่ที่แอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า (เชวียเผิน)
10 –12. ผ่านลงไปยังปอด, ทะลุกระบังลม ไปสังกัดอยู่ที่ลำไส้ใหญ่
13 –14. มีแขนงแยกออกจากแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้าขึ้นไปตามลำคอ
จนถึงมุมปาก
15. มีแขนงแทงลึกลงไปถึงเหงือกล่าง
16. ส่วนที่เหลือผ่านเหนือริมฝีปากข้ามไปสิ้นสุดที่มุมปีกจมูกด้านตรงกันข้าม



จุดสำคัญในเส้นปราณลำไส้ใหญ่ ได้แก่
LI 4 จุดเหอกู่
ตำแหน่ง 1. กางนิ้วหัวแม่มือออก ใช้หัวแม่มืออีกข้างวางทาบบนง่ามมือระหว่างนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ โดยให้ข้อต่ออันปลายทาบบนขอบง่ามมือ ตรงปลายหัวแม่มือที่ทาบอยู่จะตรงจุดนี้พอดี
2. คว่ำมือ ให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้แนบชิดกัน จุดสูงสุดของกล้ามเนื้อที่นูนขึ้นมา ระหว่างนิ้วทั้งสอง คือ จุดเหอกู่
วิธีแทง แทงตรง ให้ปลายเข็มชี้ไปทางข้อมือเล็กน้อย ลึก 1-2 ซม.
LI 11 จุดชวีฉือ
ตำแหน่ง งอข้อศอกเป็นมุมฉาก จุดนี้จะอยู่ปลายสุดทางด้านนอกของรอยพับข้อศอก
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
LI 14 จุดปี้น่าว
ตำแหน่ง เหนือจุดชวีฉือขึ้นมา 7 ชุ่น ตรงปลายของกล้ามเนื้อ Deltoid
วิธีแทง แทงตรงหรือแทงเฉียงขึ้นบน 2-3 ซม.
LI 15 จุดเจียนหวี
ตำแหน่ง ยกต้นแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับไหล่ ตรงปลายหัวไหล่จะมีแอ่งบุ๋มระหว่างปลายนอกสุดของกระดูกไหปลาร้า และหัวกระดูกต้นแขน จะเป็นตำแหน่งของจุดนี้
วิธีแทง แทงตรงลึก 1-2 ซม.
LI 18 จุดฟูตู้
ตำแหน่ง ด้านข้างของลูกกระเดือก 3 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 0.5 ซม.
LI 19 จุดเหอเหลียว
ตำแหน่ง ใต้จมูก, ด้านข้างของจุด Du 26 เยิ่นจง โดยที่จุดเยิ่นจง อยู่แนวกลาง ระหว่างจมูกและริมฝีปากบน
วิธีแทง แทงเฉียง 0.2-0.5 ซม.
LI 20 จุดหยิงเซียง
ตำแหน่ง ข้างจมูก 0.5 ชุ่น บนรอยบุ๋ม Nasolabrial groove
วิธีแทง แทงราบ หรือแทงเฉียง ลึก 0.2-0.5 ซม.

Go toTop

        3. เส้นปราณกระเพาะอาหาร (The Stomach Channel)
1.เริ่มจากปีกจมูก
2. ขึ้นไปตามสันจมูก ไปยังมุมตาใน
3. วกลงมาที่ขอบตาล่าง แล้วดิ่งตรงลงมาถึงระดับปีกจมูก
4. วกไปผ่านเหงือกบน
5-6. โค้งรอบมุมปากมายังจุดกึ่งกลางใต้ริมฝีปากล่าง
7-11. ไปตามขอบขากรรไกรล่าง ขึ้นไปตามชายผมจนถึงหน้าผาก
12-13. มีแขนงแยกลงมาตามลำคอ มายังแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า
14-15. จากแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า มีแขนงพุ่งลงไปผ่านกระบังลม ไปสังกัดกระเพาะอาหารและสัมพันธ์กับม้าม
16-24. จากแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า มีอีกแขนงหนึ่งผ่านลงมายังหัวนม, ลงมาตามผนังหน้าท้อง ลงไปตามขา ผ่านขอบนอกของกระดูกสะบ้าไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วชี้เท้า
25-26. ใต้กระดูกสะบ้าเล็กน้อยมีแขนงแยกลงมาตามขา มาสิ้นสุดที่ปลายนิ้วกลางซ้าย
27. ที่บริเวณหลังมีแขนงแยกไปสิ้นสุดที่ปลายด้านในของนิ้วหัวแม่เท้า


จุดสำคัญในเส้นปราณกระเพาะอาหาร ได้แก่
St 2 จุดซื่อไป๋
ตำแหน่ง รอยบุ๋มต่ำลงมาจากจุดกึ่งกลางของขอบตาล่าง 1 ชุ่น ซึ่งจะตรงกับรูใต้เบ้าตา
วิธีแทง แทงตรง 0.2-0.5 ซม.
St 3 จุดจวี้เหลียว
ตำแหน่ง ใต้จุดซื่อไป๋ (St 2) ลงมา ตรงกับระดับมุมล่างของปีกจมูกพอดี
วิธีแทง แทงเฉียงหรือราบ ลงมาข้างล่าง ลึก 0.5 ซม.
St 4 จุดตี้คัง
ตำแหน่ง ด้านข้างของมุมปาก 0.5 ชุ่น  ตรงกับเส้นแนวดิ่งที่ลากผ่าน กึ่งกลางตาดำ
วิธีแทง แทงเฉียงออกไปด้านนอก ลึก 1 ซม.
St 5 จุดต้าหยิง
ตำแหน่ง จุดต่ำสุดของด้านหน้าของขอบกล้ามเนื้อ Masseter
วิธีแทง แทงตรง 0.5 ซม.
St 6 จุดเจี๋ยเชอ
 ตำแหน่ง อยู่เยื้องมาทางด้านหน้า และเฉียงขึ้นบน ห่างจากมุมขากรรไกรล่าง 1 ชุ่น จะเป็นตำแหน่งที่อยู่บนกล้ามเนื้อ Masseter คลำได้กล้ามเนื้อนูนขึ้นมาเมื่อทำท่าขบกราม
วิธีแทง แทงตรง 0.5 ซม.
St 8 จุดโถ่วเหว่ย
ตำแหน่ง อยู่เลยมุมชายผมด้านหน้า 0.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงราบ 1 ซม. ปลายเข็มชี้ไปทางด้านหน้า หรือด้านหลังก็ได้
St 21 จุดเหลียงเหมิน
ตำแหน่ง 2 ชุ่น ด้านข้างต่อแนวกลาง และ 4 ชุ่นเหนือสะดือ จุดนี้อยู่ด้านข้างต่อ Ren 12 จงวาน
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง
St 25 จุดเทียนซู
ตำแหน่ง อยู่ด้านข้างของสะดือ ห่างออกมา 2 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
St 29 จุดกุ้ยหลาย
ตำแหน่ง ใต้จุด St 25 เทียนซู ลงมา 4 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
St 35 จุดตู๋ปี๋
ตำแหน่ง งอเข่า คลำพบแอ่งบุ๋มที่ขอบนอกของเอ็นสะบ้า ตรงกับระดับขอบล่างของลูกสะบ้าพอดี คือ ตำแหน่งจุดนี้
วิธีแทง แทงเฉียงเข้าไปทางกระดูกสะบ้า 2-4 ซม.
St 36 จุดจู๋ซานหลี่
ตำแหน่ง ใต้จุดตู๋ปี๋ลงมา 3 ชุ่น ห่างจากขอบกระดูกหน้าแข้ง (กระดูก Tibia) ออกมาทางด้านนอก 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
St 38 จุดเตียวคู
ตำแหน่ง ใต้จุด St 36 จู๋ซานหลี่ 5 ชุ่น และ 1 นิ้วมือจากขอบกระดูกหน้าแข้ง
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
St 40 จุดเฟิงหลง
ตำแหน่ง จุดกึ่งกลางของเส้นสมมติที่ลากเชื่อมระหว่างจุด St 35 ตู๋ปี๋ กับจุดกึ่งกลางตาตุ่มนอก
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
St 44 จุดเน่ยถิง
ตำแหน่ง จุดที่อยู่ห่างจากง่ามนิ้วเท่าที่ 2 และ 3 เข้ามา 0.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรงหรือแทงเฉียง 1 ซม.

Go toTop
          4. เส้นลมปราณม้าม (The Spleen Channel)

1. เริ่มต้นจากปลายนิ้วหัวแม่เท้า
2-7. ผ่านมาตามด้านหน้าของตาตุ่มด้านใน, ด้านในของขาและต้นขา
8-9. เมื่อผ่านขาหนีบ ก็จะเข้าสู่ท้อง ไปสังกัดต่อม้าม และสัมพันธ์กับกระเพาะอาหารด้วย
10-12. ผ่านผนังกระบังลมขึ้นมา ขนาบสองข้างของหลอดอาหารไปสิ้นสุดที่ลิ้น
13-14. มีแขนงแยกจากบริเวณกระเพาะอาหาร ผ่านกระบังลมมาสิ้นสุดที่หัวใจ


จุดสำคัญในเส้นปราณม้าม ได้แก่

Sp 3 จุดไท้ไป๋
ตำแหน่ง เหนือข้อต่อกระดูกหัวแม่เท้าข้อแรก และอยู่ ทางด้านใน
วิธีแทง แทงตรงลึก 0.5-1 ซม.
Sp 4 จุดกงซุน
ตำแหน่ง รอยบุ๋มบริเวณใต้ต่อฐานของกระดูก Metatarsal bone อยู่ทางด้านใน
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
Sp 6 จุดซานยินเจียว
ตำแหน่ง ขอบหลังของกระดูกหน้าแข้ง เหนือตาตุ่มด้านใน 3 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-3 ซม.
Sp 9 จุดหยินหลิงเฉวียน
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มชิดขอบหลังปุ่มกระดูกด้านในของกระดูกหน้าแข้ง (medial epicondyle of the tibia)
วิธีแทง แทงตรง ลึก 2-3 ซม.
Sp 10 จุดเสวียะห่าย
ตำแหน่ง ให้ผู้ป่วยงอเข่าเป็มมุมฉาก แพทย์ผู้ฝังใช้มือวางทาบบนหัวเข่าขวาของผู้ป่วย ให้อุ้งมือทาบบนกระดูกสะบ้า นิ้วหัวแม่มือซ้ายกางออกเล็กน้อย ทำมุมกับนิ้วชี้ซ้ายประมาณ 45 องศา ปลายนิ้วหัวแม่มือซ้ายจะตรงกับจุดนี้พอดี ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่อยู่เหนือขอบบนกระดูกสะบ้าขึ้นมา 2 ชุ่น
วิธีแทง แทงเฉียง 2-3 ซม.
Sp 15 ต้าเหิง
ตำแหน่ง ด้านข้างของสะดือ 4 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม

Go toTop
                    5. เส้นลมปราณหัวใจ (The Heart Channel)
1. เริ่มต้นออกจาก ใจกลางของหัวใจ
2. ผ่านกระบังลม มาสัมพันธ์กับลำไส้เล็ก
3-5. มีแขนงออกจากหัวใจ ขึ้นมาตามคอหอย ไปจนถึงตา
6-11. มีอีกแขนงหนึ่งออกจากหัวใจ โค้งผ่านปอด มาทะลุที่รักแร้ แล้วผ่านลงมาตามด้านในของแขน ไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วก้อย
 


    จุดสำคัญในเส้นปราณหัวใจ ได้แก
He 5 จุดทงลี่
ตำแหน่ง เหนือจุด He 7 เซินเหมิน 1 ชุ่น ขอบนอกของเส้นเอ็น Flexor carpi ulnaris

วิธีแทง แทงตรง 0.5-1 ซม.
 

 

 

 

He 6 จุดหยินซี
ตำแหน่ง เหนือ จุด He 7 เซินเหมิน 0.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 0.5-1 ซม.
He 7 จุดเซินเหมิน
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มในสุดตรงรอยพับข้อมือชิดขอบในของเส้นเอ็น Flexor carpi ulnaris
วิธีแทง แทงตรง 0.5 ซม.
He 9 จุดเส้าชง
ตำแหน่ง ขอบของนิ้วก้อยไปทางกระดูกเรเดียส, 2 มม. เหนือต่อเล็บ
วิธีแทง แทงตรง 1-2 มม.

Go toTop
        6. เส้นปราณลำไส้เล็ก (The Small Intestine Channel)
1. เริ่มต้นจากปลายนิ้วก้อย
2-5. ผ่านขึ้นไปตามหลังมือ, แขน จนถึงไหล่
6-8. วกลงมาที่กระดูกสะบัก แล้วพาดข้ามไหล่มายังแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า ทางด้านหน้า
9-13. จากแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า ทอดแทงลึกลงมาสัมพันธ์กับหัวใจ วนผ่านหลอดอาหาร ผ่านกระบังลม, ผ่านกระเพาะ จนมาสังกัดอยู่ที่ลำไส้เล็ก
14-18. มีแขนงแยกขึ้นมาตามลำคอ ผ่านขากรรไกรล่าง ไปจนถึงมุมตานอก แล้ววกลงมาเข้าไปสิ้นสุดในหู
19-20. ที่บริเวณขากรรไกรล่าง มีแขนงหนึ่งแยก ผ่านโหนกแก้มไปสิ้นสุดที่มุมตาใน
 


จุดสำคัญในเส้นปราณลำไส้เล็ก ได้แก่
SI 3 จุดโฮ่วซี
ตำแหน่ง กำมือ จุดนี้จะอยู่ที่ปลายสุดของรอยพับของเส้นลายมือขวางบริเวณนิ้วก้อย
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 
SI 6 จุดหยางเหอ
ตำแหน่ง รอยบุ๋มของกระดูกอัลนา ทางด้านนิ้วกลาง (Radial side styloid process of the ulna)
วิธีแทง แทงเฉียง 1 ซม. ไปทางจุด Pe 6 เน่ยกวาน
 
SI 9 จุดเจียนเจิน
ตำแหน่ง เมื่อแนบแขนชิดลำตัว จุดนี้จะอยู่เหนือปลายรอยพับรักแร้ด้านหลังขึ้นไป 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
 

 

SI 10 จุดน่าวซู
ตำแหน่ง อยู่เหนือจุดเจียนเจินขึ้นไป เป็นกระดูกแอ่งบุ๋มใต้ปลายหนามกระดูกสะบัก (Scapular spine)
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
SI 17 จุดเทียนหย่ง
ตำแหน่ง ด้านข้างของกระดูกขากรรไกร หน้าต่อกล้ามเนื้อSternocleidomas- toideus
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
 

 

 
SI 18 จุดเฉวียนเหลียว
ตำแหน่ง ขอบล่างของกระดูกโหนกแก้ม (Zygomatic bone) ตรงกับแนวดิ่งที่ลากจากมุมตาด้านนอกลงมา
วิธีแทง แทงตรง 0.5-1 ซม.
SI 19 จุดทิงกง
ตำแหน่ง เมื่ออ้าปากจะคลำพบ แอ่งบุ๋มหน้าติ่งรูหูพอดี ซึ่งจะอยู่ชิดขอบหลังของข้อต่อขากรรไกร (Temperomandibular joint)
วิธีแทง แทงตรง 0.5 ซม.

Go toTop
        7. เส้นปราณกระเพาะปัสสาวะ (The Urinary Bladder Channel)
1. เริ่มต้นจากมุมตาใน
2-3. ขึ้นไปที่หน้าผาก แล้วพาดข้ามยอดกระหม่อม
4. มีแขนงแยกลงมาทางด้านหลังหู
5-9. ตรงยอดกระหม่อมมีแขนงย่อยแทงลึกลงไปติดต่อกับสมอง เส้นลมปราณผ่านต่อไปยังท้ายทอย แล้วทอดดิ่งลงมาขนาบข้างอยู่กับแนวกระดูกสันหลังลงไปจนถึงเอว
10. มีแขนงแยกไปสัมพันธ์กับไต
11. ผ่านจากไตลงไปสังกัดอยู่กับกระเพาะปัสสาวะ
12-13. เส้นลมปราณผ่านกระดูกก้นกบ ต่อไปยังสะโพก, ด้านหลังต้นขา จนถึงข้อพับเข่า
14-16. จากท้ายทอยมีเส้นแขนงอีกเส้น ทอดขนานมาตามแนวดิ่งชิดขอบในกระดูกสะบัก ผ่านสะโพก, ด้านหลังต้นขา มาบรรจบกับเส้นลมปราณเดิมที่ข้อพับเข่า
17-21. จากข้อพับเข่า รวมเป็นเส้นเดียว ทอดลงมาผ่านน่อง แล้วหักเฉไปทางด้านนอกของขา ไปจนถึงส้นเท้า แล้วทอดไปตามขอบนอกฝ่าเท้าไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วเท้าที่ 5
 


        จุดสำคัญในเส้นปราณกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่
UB 2 จุดจ่านจู๋
ตำแหน่ง ปลายสุดของหัวคิ้ว ตรงกับแนวดิ่งที่ผ่านมุมตาด้านใน
วิธีแทง แทงตรง 0.5-0.8 ซม.
UB 10 จุดเทียนจู๋
ตำแหน่ง ด้านข้างต่อจุด Du 15 ย่าเหมิน, 1.3 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรงหรือแทงเฉียง 1-2 ซม.
UB 11 ต้าซู่
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 1 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง
UB 13 จุดเฟ่ยซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 3 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 15 จุดซินซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 5 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง
UB 17 จุดเก๋อซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 7 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง
UB 18 จุดกานซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 9 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 19 จุดต้านซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 10 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 20 จุดผีซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 11 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 21 จุดเว่ยซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) อกที่ 12 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 23 จุดเซิ่นซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) เอวที่ 2 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 25 จุดต้าฉางซู
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลัง (Spinous process) เอวที่ 4 ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 27 จุดเสียวช่างซู
ตำแหน่ง ที่ระดับปุ่มหนามกระดูกกระเบนเหน็บที่ 1 (S 1) ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
UB 28 จุดผังกวางซู
ตำแหน่ง ที่ระดับปุ่มหนามกระดูกกระเบนเหน็บที่ 2 (S 2) ออกมาทางด้านข้าง 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
UB 40 จุดเหว่ยจง
ตำแหน่ง จุดกึ่งกลางของรอยพับเข่า

วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 54 จุดจื้อเปียน
ตำแหน่ง ที่ระดับปุ่มหนามกระดูกกระเบนเหน็บที่ 4 (S 4) ออกมาทางด้านข้าง 3 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 60 จุดคุนหลุน
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มกึ่งกลางระหว่างขอบหลังของตาตุ่มนอก กับขอบในของเอ็นร้อยหวาย
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
UB 62 จุดเซินหม่าย
ตำแหน่ง ใต้กระดูกตาตุ่มด้านนอก 0.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 0.5-0.8 ซม.
UB 67 จุดจื้อยิน
ตำแหน่ง ห่างจากมุมนอกของโคนเล็บนิ้วเท้าที่ 5 ออกมา 0.1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 มม.

Go toTop
        8. เส้นลมปราณไต (The Kidney Channel)
1. เริ่มต้นที่ปลายนิ้วเท้าที่ 5
2-3. พาดข้ามฝ่าเท้ามาวนเป็นวงอยู่หลังตาตุ่มใน
4. แทงเข้าไปในส้นเท้า
5-8. ขึ้นมาตามด้านในของขา, เข่า, ต้นขา แล้วผ่านเข้าไปในกระดูกสันหลังไปสังกัดอยู่กับไต
9. มีเส้นไปสัมพันธ์กับกระเพาะปัสสาวะด้วย
10-14. มีเส้นลมปราณออกจากไต ขึ้นมาผ่านตับ, กระบังลม, ปอด, คอหอย แล้วไปสิ้นสุดที่โคนลิ้น
15. ในระหว่างที่ผ่านปอด มีเส้นแขนงที่แยกออกมาไปสัมพันธ์ติดต่อกับเส้นหัวใจ
 


จุดสำคัญในเส้นปราณไต ได้แก่
Ki 3 จุดไท่ซี
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มระหว่างขอบหลังของตาตุ่มด้านใน และขอบในของเอ็นร้อยหวาย ในระดับเดียวกับจุดนูนที่สุดของตาตุ่มด้านใน
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 

 

Ki 6 จุดเจ้าห่าย
ตำแหน่ง อยู่ใต้กระดูกตาตุ่มด้านใน 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 0.5-1 ซม.
Ki 7 จุดฟุเหลียว
ตำแหน่ง ด้านหน้าของเอ็นร้อยหวาย เหนือตาตุ่มด้านใน 2 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 

 

Ki 8 จุดเจียวซิ่น
ตำแหน่ง ขอบหลังของกระดูกทิเบีย เหนือตาตุ่มด้านใน 2 ชุ่น, หน้าต่อจุด Ki 7 ฟุเหลียว 0.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.

Go toTop
        9. เส้นปราณเยื่อหุ้มหัวใจ (The Pericardium Channel)
1. เริ่มต้นออกจากเยื่อหุ้มหัวใจกลางทรวงอก
2-3. ผ่านกระบังลมลงมาสัมพันธ์ติดต่อกับ เส้นปราณซานเจียว
4-5. มีแขนงแยกออกมาผ่านทรวงอก ทะลุบริเวณข้างลำตัว ใต้รักแร้
6-11. ทอดผ่านลงมาในแนวกลางด้านในของแขน, ฝ่ามือ ไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วกลาง
12. จากบริเวณใจกลางฝ่ามือ มีแขนงแยกย่อยไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วนาง


        จุดสำคัญในเส้นปราณเยื่อหุ้มหัวใจ ได้แก่
Pe 4 จุดซิเหมิน
ตำแหน่ง อยู่ระหว่างเอ็นของกล้ามเนื้อ Palmaris longus และ Flexor carpi radialis, เหนือรอยพับข้อมือ 5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 

 

 
Pe 6 จุดเน่ยกวาน
ตำแหน่ง กำมือให้แน่น จะเห็นเส้นเอ็นสองเส้นอย่างชัดเจนที่บริเวณข้อมือด้านหน้า คือ Palmaris longus และ Flexor carpi radialis, เหนือรอยพับข้อมือ 2 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
Pe 7 จุดต้าหลิง
ตำแหน่ง จุดกึ่งกลางของรอยพับข้อมือด้านหน้าระหว่างเส้นเอ็นทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว ในจุดเน่ยกวานและซิเหมิน
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.

Go toTop
       
10. เส้นปราณซานเจียว (The Sanjiao Channel)
1. เริ่มต้นจากปลายนิ้วนาง
2-8. ผ่านขึ้นมาตามหลังฝ่ามือ, แขน, หัวไหล่
9. พาดข้ามไหล่มายังแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า
10-11. ผ่านทรวงอกไปสัมพันธ์อยู่กับเยื่อหุ้มปอด แล้วทอดผ่านกระบังลมผ่านไปยังกลางท้อง

2-16. จากกลางทรวงอก มีแขนงย้อนกลับมาที่แอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า วกไปยังต้นคอด้านหลัง แล้วทอดขึ้นมาหลังใบหู แล้วขึ้นต่อไปยังชายผมใกล้หน้าผาก
17-19. จากใบหูมีแขนงผ่านไปยังใบหู แล้วมาโผล่ที่ด้านหน้ารูหู ไปสิ้นสุดที่หางคิ้ว

20. จากปลายที่ชายผมใกล้หน้าผาก มีแขนงย่อยมาสิ้นสุดที่มุมตาในอีกที
 


        จุดสำคัญในเส้นปราณซานเจียว ได้แก่
SJ 3 จุดจงจู๋
ตำแหน่ง อยู่ในร่องระหว่างกระดูกฝ่ามืออันที่ 4 และ 5 ทางด้านหลังมือ ถัดจากง่ามนิ้วมือเข้ามา 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 
SJ 5 จุดว่ายกวาน
ตำแหน่ง อยู่ด้านหลังของแขน เหนือรอยพับข้อมือขึ้นมา 2 ชุ่น โดยอยู่ระหว่างปลายกระดูกทั้งสองอัน คือ กระดูกเรเดียส และกระดูกอัลนา
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
  
SJ 6 จุดจือโกว
ตำแหน่ง เหนือจุดว่ายกวานขึ้นมา 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
SJ 8 จุดซานหยางลั่ว
ตำแหน่ง ระหว่างกระดูกเรเดียส และกระดูกอัลนา เหนือข้อมือ 4 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
SJ 14 จุดเจียนเหลียว
ตำแหน่ง กางแขนขึ้นในแนวระดับหัวไหล่ จะพบรอยบุ๋มสองอัน จุดนี้อยู่ที่บริเวณรอยบุ๋มอันหลัง (อยู่หลังเอ็นกล้ามเนื้อไบเซป)
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 
SJ 17 จุดอี้เฟิง
ตำแหน่ง รอยบุ๋มหลังติ่งหู ตรงระหว่างขากรรไกรล่าง (Angle of the Mandible) และกระดูกกกหู (Mastoid process)
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
  
SJ 21 จุดเอ๋อเหมิน
ตำแหน่ง เมื่ออ้าปาก จะคลำพบแอ่งบุ๋มหน้าติ่งรูหูเหนือจุด SI 19 ทิงกง ขึ้นไปเล็กน้อย ตรงระดับรอยหยักบนของติ่งหู
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.

Go toTop
        11. เส้นปราณถุงน้ำดี (The Gall Bladder Channel)
1. เริ่มต้นจากมุมตานอก
2-4. ทอดเฉียงลงมาที่หน้าใบหู วกกลับขึ้นไปตามชายผม แล้วโค้งไปยังด้านหลังใบหู วกกลับมายังหน้าผากเหนือคิ้ว แล้ววกย้อนกลับยังท้านทอยและต้นคอ
5. พาดข้ามไหล่มายังแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า

6-8. จากหลังใบหูมีแขนงเข้าไปในหู มาทะลุที่หน้าต่อรูหู แล้วลงมาสิ้นสุดที่ปลายล่างของใบหู
9-13. จากมุมตานอก มีแขนงทอดมาที่ขากรรไกรล่าง วกขึ้นไปที่โหนกแก้ม แล้วย้อนกลับมาที่ขากรรไกรล่าง ทอดต่อลงไปรวมที่แอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า
14-20. จากแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้ามีแขนงทอดลึกลงไปในทรวงอก ผ่านกระบังลมไปสัมพันธ์ติดต่อกับตับ เข้าไปสังกัดอยู่กับถุงน้ำดี แล้วทอดลงไปตามชายโครง
21-25. จากแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า มีแขนงอีกเส้นทอดออกมาผ่านใต้รักแร้ ลงไปตามสีข้าง จนถึงบริเวณสะโพก แล้ววกไปตามกระเบนเหน็บ วกกลับมารวมกับแขนงตามหมายเลข 14 –20 ที่บริเวณด้านข้างสะโพก เป็นเส้นเดียวกัน
26-31. จากด้านข้างสะโพก ทอดมาตามด้านล่างของขา, หลังเท้าไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วเท้าที่ 4
32. บริเวณหลังเท้ามีแขนงย่อย ทอดข้ามไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วหัวแม่เท้า
 


        จุดสำคัญของเส้นปราณถุงน้ำดี
GB 1 จุดถงจื่อเหลียว
ตำแหน่ง อยู่ห่างจากมุมต่ด้านนอกออกมา 0.1 ชุ่น
วิธีแทง แทงเฉียง 1-2 ซม. ไปในแนวด้านข้าง
GB 2 จุดทิงฮุ่ย
ตำแหน่ง รอยบุ๋มในท่าอ้าปาก หน้าต่อติ่งรูหูใต้จุดทิงกง ในระดับรอยหยักของติ่งรูหู

วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
GB 14 จุดหยางไป๋
ตำแหน่ง จุดเหนือคิ้ว 1 ชุ่น ในแนวดิ่งตรงกับลูกตาเมื่อมองตรงไปข้างหน้า
วิธีแทง แทงเฉียง 0.5-1 ซม.
GB 20 จุดเฟิงฉือ
ตำแหน่ง ลากเส้นตรงในแนวระดับจากปุ่มกระดูกกกหู (Mastoid Process) มายังบริเวณท้ายทอย จนถึงจุดกึ่งกลางท้ายทอย ซึ่งจุดนี้จะเลยขอบตีนผมไป 1 ชุ่น จุดแบ่งครึ่งเส้นที่เชื่อมระหว่างปุ่มกระดูกกกหู และจุดกึ่งกลางท้ายทอยนี้ จะเป็นตำแหน่งของจุดเฟิงฉือ
วิธีแทง แทงตรง โดยให้ทิศทางของปลายเข็ม ชี้ไปทางลูกตาด้านตรงข้าม ลึก 2-3 ซม. (ห้ามแทงลึกกว่านี้โดยเด็ดขาด) ต้องระมัดระวัง
GB 21 จุดเจียนจง
ตำแหน่ง จุดสูงสุดที่อยู่ระหว่างจุด Du 14 ต้าจุ้ย และปุ่มกระดูก Acromian
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง
GB 24 จุดยี่หยู
ตำแหน่ง ช่องซี่โครงที่ 7 ในแนวกึ่งกลางราวนม
 วิธีแทง แทงเฉียง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง
GB 25 จุดจิงเหมิน
ตำแหน่ง จุดต่ำสุดของกระดูกซี่โครงอันที่ 12
วิธีแทง แทงตรง 0.5-1 ซม.
GB 26 จุดต้ายหม่าย
ตำแหน่ง ใต้จุด Liv 13 จางเหมิน, อยู่ในระดับเดียวกับสะดือ
วิธีแทง แทงตรง 1-3 ซม.
GB 30 จุดหวนแท่ว
ตำแหน่ง ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง งอขาเป็นมุมฉากกับสะโพก คลำหาปุ่มนูนใหญ่ของกระดูกต้นขา (Greater trochanter of the Femur) วางนิ้วหัวแม่มือโดยให้รอยพับขวางของข้อนิ้วมือตอนปลายวางอยู่บนปุ่มกระดูกนี้ ปลายนิ้วชี้มายังกระดูกก้นกบ จุดนี้จะอยู่ปลายสุดของนิ้วหัวแม่มือพอดี อีกวิธีหนึ่งคือ ให้หาจุดที่อยู่เหนือปลายสุดของกระดูกก้นกบขึ้นมา 1.5 ชุ่น จากจุดนี้ลากเส้นตรงเชื่อมไปกับปุ่มนูนใหญ่กระดูกต้นขา ตำแหน่งของจุดหวนแท่วจะเป็นจุดที่แบ่งเส้นตรงนี้ออกเป็นส่วนนอก 1/3 และส่วนใน 2/3
วิธีแทง แทงตรง 4-8 ซม.
GB 34 จุดหยางหลิงเฉวียน
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มใต้ข้อต่อปุ่มหัวกระดูกน่อง (Head of Fibula) เยื้องมาทางด้านหน้าเล็กน้อย
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
GB 37 จุดสวนจง
ตำแหน่ง อยู่ระหว่างกระดูกน่องและเอ็นของกล้ามเนื้อ Peroneous longus & brevis เหนือตาตุ่มด้านนอก 3 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
GB 40 จุดกิวซู
ตำแหน่ง อยู่ด้านหน้าและใต้ต่อกระดูกตาตุ่มด้านนอก
วิธีแทง แทงตรง 0.5-1 ซม.
GB 41 จุดหลิงกี
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มระหว่างกระดูกนิ้วนางและนิ้วก้อยเท้า (Metatarsal bone)
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.

Go toTop
       
12. เส้นปราณตับ (The Liver Channel)
1-6. เริ่มจากนิ้วหัวแม่มือเท้า ทอดผ่านขึ้นมาตามด้านในของขาจนถึงขาหนีบ
7-10. วกกลับลงมาอวัยวะสืบพันธุ์แล้วแทงเข้าท้องน้อย ผ่านขึ้นไปยังกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี แล้วเข้าไปสังกัดอยู่กับตับ
11-17. ออกจากตับ ผ่านกระบังลมขึ้นมาตามชายโครง ไปอยู่ด้านหลังของหลอดอาหาร, คอหอย ทอดผ่านเข้าสู่ใบหน้า ผ่านตาขึ้นไปจนถึงกระหม่อม
18-19. จากตามีแขนงทอดลงมาล้อมรอบริมฝีปาก
20-22. มีแขนงออกจากตับ ผ่านกระบังลม เข้าไปในปอดแล้ววกลงมาสิ้นสุดที่กระเพาะอาหาร
 


       
จุดสำคัญของเส้นลมปราณตับ ได้แก่
Liv 2 จุดซิงเจียน
ตำแหน่ง ขอบง่ามนิ้วระหว่างนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 
Liv 3 จุดไท่ชง
ตำแหน่ง อยู่หลังฝ่าเท้าระหว่างกระดูกฝ่าเท้าที่ 1 และ 2 ห่างจากง่ามนิ้วเข้ามา 2 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
Liv 8 จุดชูกวาน
ตำแหน่ง ขอบรอยพับที่เข่าด้านใน
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
 
Liv 13 จุดจางเหมิน
ตำแหน่ง ขอบกระดูกซี่โครงอันที่ 11
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 
Liv 14 จุดชีเหมิน
ตำแหน่ง ช่องซี่โครงที่ 6 ในแนวดิ่งแบ่งครึ่งกระดูกไหปลาร้า
วิธีแทง แทงเฉียง 1-2 ซม. ต้องระมัดระวัง

Go toTop
        13. เส้นปราณตูม่าย (The Du Mai Channel)
1. เริ่มต้นจากในช่องท้องน้อย มาทะลุออกที่บริเวณฝีเย็บ
2-5. ทอดไปทางด้านหลัง ในแนวกึ่งกลางลำตัว ตรงดิ่งขึ้นมาอยู่ภายในลำกระดูกสันหลัง ผ่านท้ายทอย, โค้งผ่านกระหม่อม มายังหน้าผาก แล้วทอดดิ่งลงมาตามสันจมูก มาสิ้นสุดที่จุดกึ่งกลางเหงือกบน
 


        จุดสำคัญของเส้นปราณตูม่าย ได้แก่
Du 4 จุดมิ่งเหมิน
ตำแหน่ง จุดใต้ปุ่มหนามกระดูกเอวที่ 2
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
  

 

Du 6 จุดจี้จง
ตำแหน่ง จุดใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลังอกที่ 11 ในแนวกึ่งกลางหลัง
วิธีแทง แทงเฉียง 1 ซม.
Du 11 จุดซินเดา
ตำแหน่ง จุดใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลังอกที่ 5 ในแนวกึ่งกลางหลัง
วิธีแทง แทงเฉียง 1 ซม.
Du 13 จุดเท่าเดา
ตำแหน่ง จุดใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลังอกที่ 1 ในแนวกึ่งกลางหลัง
วิธีแทง แทงเฉียง 1 ซม.
Du 14 จุดต้าจุ้ย
ตำแหน่ง จุดใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลังคอที่ 7 ในแนวกึ่งกลางหลัง
วิธีแทง แทงเฉียง 1 ซม.
Du 20 จุดไป่หุ้ย
ตำแหน่ง ลากเส้นเชื่อมระหว่างยอดใบหูทั้งสองข้าง ตัดกับเส้นผ่าศูนย์กลางกะโหลกศีรษะจากหน้าไปหลัง จุดตัดของเส้นทั้งสอง คือ ตำแหน่งของจุดไป่หุ้ย ซึ่งห่างจากชายผมด้านหน้า 5 ชุ่น และห่างจากตีนผมที่ท้ายทอยขึ้นมา 7 ชุ่น
วิธีแทง แทงเฉียงไปด้านหลัง 0.5 ซม.
 

 

Du 26 จุดเหยินจง
ตำแหน่ง แบ่งร่องเหนือริมฝีปากออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบน 1/3 และส่วนล่าง 2/3 จุดตัดของส่วนแบ่งทั้งสองนี้คือจุดเหยินจง
วิธีแทง แทงเฉียงขึ้นบน 0.5 ซม.

Go toTop
       
14. เส้นปราณเยิ่นม่าย (The Ren Mai Channel)
1. เริ่มต้นจากภายในช่องท้องน้อย แทงออกมาที่บริเวณฝีเย็บ
2-5. อ้อมมาทางด้านหน้าในแนวกึ่งกลางของลำตัว โดยผ่านบริเวณหัวหน่าว, ท้อง, ทรวงอก, คอหอย จนถึงริมฝีปากล่าง
6-7. จากนั้นแยกโค้งรอบริมฝีปากทั้งสองข้างขึ้นไปสิ้นสุด ที่รูกระบอกตาล่าง (Infraorbital foramen)
 


       
จุดสำคัญเส้นปราณเยิ่นม่าย ได้แก
Ren 3 จุดจงจี๋
ตำแหน่ง แนวกึ่งกลางลำตัว ใต้สะดือ 4 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
 

 

 

 

 

 

 
Ren 4 จุดกวานหยวน
ตำแหน่ง แนวกึ่งกลางลำตัว ใต้สะดือ 4 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1-1.5 ซม.
Ren 6 จุดชี่ห่าย
ตำแหน่ง แนวกึ่งกลางลำตัว ใต้สะดือ 1.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
Ren 12 จุดจงวาน
ตำแหน่ง แนวกึ่งกลางลำตัว จุดกึ่งกลางระหว่างลิ้นปี่กับสะดือ
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
Ren 14 จุดจวี้เจวี๋ย
ตำแหน่ง แนวกึ่งกลางลำตัว ใต้ลิ้นปี่ 2 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 2-3 ซม.
Ren 17 จุดซานจง
ตำแหน่ง แนวกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง
วิธีแทง แทงเฉียงลง 2-3 ซม.
Ren 22 จุดเทียนทู
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มเหนือกระดูกยอดอก
วิธีแทง ให้ผู้ป่วยแหงนคอขึ้นให้เต็มที่ แทงตรงลึก 0.4 ซม.ก่อน แล้วค่อย ๆ แทงดิ่งลงมาให้ชิดกับด้านหลังของกระดูกแผ่นอกอยู่ตลอดเวลา แทงลงมาลึก 2-3 ซม. ต้องระมัดระวัง
Ren 23 จุดเหลียนเฉวียน
ตำแหน่ง แนวกึ่งกลางลำตัว ชิดขอบบนกระดูกลิ้น (Hyoid bone)
วิธีแทง แทงเฉียงเข้าหาโคนลิ้นลึก 2-3 ซม.
 

Go toTop
        15. จุดพิเศษนอกเส้นปราณหลัก
 
Ex 1 จุดอิ้นถาง
ตำแหน่ง จุดกึ่งกลางระหว่างหัวคิ้วทั้งสอง
วิธีแทง แทงเฉียงลงล่าง 0.5 ซม.
 

 

Ex 2 จุดไท่หยาง
ตำแหน่ง รอยบุ๋มห่างจากหางคิ้วและมุมตาด้านนอกเท่า ๆ กัน ออกไปทางด้านหลัง 1 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรงหรือแทงเฉียง 1 ซม.
Ex 3 จุดอู่เหยา
ตำแหน่ง อยู่กลางคิ้ว ในแนวดิ่งตรงกับลูกตาดำ
วิธีแทง แทงเฉียง 0.5 ซม. เฉียงไปทางด้าน Frontal sinus
Ex 6 จุดซิเซินคง
 ตำแหน่ง เป็นจุดสี่จุด อยู่ด้านหน้า, ด้านหลัง และด้านข้าง ของจุด Du 20 ไป่หุ้ย
วิธีแทง แทงเฉียงลึก 0.5 ซม. เฉียงเข้าหาจุดไป่หุ้ย
Ex 8 จุดอันเหมี่ยน I
ตำแหน่ง อยู่ระหว่างจุด SJ 17 ยี่เฟิง และจุด Ex 7 หยี่เหมิน, หลังต่อจุดยี่เฟิง 0.5 ชุ่น
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม. มักใช้พร้อมกันกับจุด Ex 9 อันเหมี่ยน II
Ex 9 จุดอันเหมี่ยน II
ตำแหน่ง กึ่งกลางระหว่างจุด Ex 7 หยี่หมิง และ GB 20 เฟิงฉือ
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
Ex 17 จุดติ้งฉวน
ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกคอที่ 7 ห้างออกไปข้าง ๆ 0.5 ชุ่น (ข้างจุด Du 14 ต้าจุ้ย 0.5 ชุ่น นั่นเอง)
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
 

 

Ex 21 จุดหัวโทวเจี๋ยจี๋
ตำแหน่ง ได้แก่จุดที่อยู่เยื้องใต้ปุ่มหนามของกระดูกสันหลังแต่ละอัน ออกมาด้านข้าง 0.5 ชุ่น นับตั้งแต่กระดูกสันหลังอกที่ 1 จันถึงกระดูกสันหลังเอวที่ 4 รวมทั้งหมดมี 16 จุด คือ เป็นจุดที่ส่วนอก 12 จุด และส่วนเอว 4 จุด
วิธีแทง แทงตรง 1 ซม.
Ex 28 จุดปาเสีย
ตำแหน่ง ง่ามนิ้วมือทั้งหมด มือแต่ละข้างจะมี 4 จุด รวมเป็น 8 จุด
วิธีแทง แทงเฉียงขึ้นบน 1 ซม.
 
Ex 31 จุดเหอติ้ง
ตำแหน่ง กึ่งกลางของขอบบนกระดูกสะบ้า
วิธีแทง แทงตรง 0.5-2 ซม.
 
Ex 32 จุดเน่ยซีเหยี่ยน
ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มข้างกระดูกสะบ้าทางด้านใน ตรงข้ามจุด St 35 ตู๋ปี๋
วิธีแทง แทงตรงหรือแทงเฉียงเข้าใน 0.5-2 ซม.
 
Ex 36 จุดปาเฟิง
ตำแหน่ง ง่ามนิ้วเท้าทางด้านหลังเท้าทั้งสองข้าง รวมมี 8 จุด
วิธีแทง แทงเฉียงขึ้นบน 1 ซม.
 
จุดเน่ยมา “เน่ย” แปลว่า กลาง และ “มา” แปลว่า ชา
ตำแหน่ง กึ่งกลางขอบหลังของกระดูกทิเบีย อยู่ระหว่างตาตุ่มในและข้อเข่า
วิธีแทง แทงตรง 1-2 ซม.
 

Go toTop

 

Webmaster