ร่างข้อบังคับสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย (ฉบับที่2 ) พ.ศ. 2543

ร่าง
ข้อบังคับสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๔๓
...................................
เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงเห็นสมควรให้จัดตั้งสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทยขึ้น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการวิทยุสมัครเล่นและเป็นองค์กรตัวแทนในการประสานงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลและหรือ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
หมวดที่ ๑
บททั่วไป
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า " ข้อบังคับสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓"
ข้อ ๒ ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อ ๔ สภานี้มีชื่อว่า "สภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย" เรียกโดยย่อว่า " สวลท." และให้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "THAILAND AMATEUR RADIO LEAGUE" เรียกโดยย่อว่า "TARL"
ข้อ ๕ เครื่องหมายของสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทยเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในมีสัญลักษณ์ของสายอากาศ ตัวเก็บประจุ ขดลวดและสายดิน เชื่อมกันอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มีอักษรย่อภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ โดยมีอักษร T อยู่มุมบน อักษร A อยู่มุมซ้าย อักษร R อยู่มุมขวา และ อักษร L อยู่มุมล่าง



รูปเครื่องหมายของสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย
ข้อ ๖ ในข้อบังคับนี้
( ๑ ) "สภาวิทยุ" หมายความว่า สภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรเครือข่าย คือ สภาวิทยุสมัครเล่นเขตและสภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัด
( ๒ ) "องค์กรเครือข่าย" หมายความว่า เครือข่ายของสภาวิทยุ ประจำแต่ละเขตและประจำแต่ละจังหวัด
( ๓ ) "สภาวิทยุเขต" หมายความว่า สภาวิทยุสมัครเล่นเขต ที่เป็นองค์กรเครือข่ายของสภาวิทยุ
( ๔ ) "สภาวิทยุจังหวัด" หมายความว่า สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัด ที่เป็นองค์กรเครือข่ายของสภาวิทยุเขต
( ๕ ) "ประธานสภาวิทยุ" หมายความว่า ประธานคณะกรรมการสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย
( ๖ ) "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการสภาวิทยุ
( ๗ ) "องค์กรสมาชิก" หมายความว่า สมาคม ชมรม กลุ่ม หรือ องค์กรชื่ออื่น ที่ได้แสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดเป็นลายลักษณ์อักษร
( ๘ ) "สมาคม" หมายความว่า สมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๙ ) "ชมรม" "กลุ่ม" หรือ "องค์กรชื่ออื่น" หมายความว่า องค์กรของพนักงานวิทยุสมัครเล่นซึ่งดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่นและมีสมาชิกตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป
ข้อ ๗. สำนักงานของสภาวิทยุ ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๔๐/๕๔ ซอยอินทามระ ๘ ถนนสุทธิสาร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐
หมวดที่ ๒
วัตถุประสงค์
ข้อ ๘. สภาวิทยุ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
( ๑ ) เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินกิจการวิทยุสมัครเล่นมีประสิทธิภาพ การใช้ความถี่วิทยุสมัครเล่นเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
( ๒ ) เพื่อพัฒนาและเผยแพร่ การวิจัย การศึกษาค้นคว้า การทดสอบ การทดลองทางวิชาการเกี่ยวกับการแพร่กระจายคลื่นวิทยุ
( ๓ ) เพื่อช่วยเหลือ แนะนำและฝึกฝนพนักงานวิทยุสมัครเล่นให้มีความรู้ความชำนาญในการเป็นข่ายวิทยุสื่อสารสาธารณะสำรอง
ในยามฉุกเฉินหรือยามเกิดภัยพิบัติ
( ๔ ) เพื่อดำรงไว้และขยายความร่วมมือในการปรับปรุงแบ่งปันการใช้คลื่นความถี่วิทยุในกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๕ ) เพื่อประสานงานและช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๖ ) เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการติดต่อประสานงานและประชุมในระดับสากล
( ๗ ) เสริมสร้างความสามัคคี ผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของพนักงานวิทยุสมัครเล่น
( ๘ ) เพื่อสร้างชื่อเสียงของนักวิทยุสมัครเล่น ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
หมวดที่ ๓
สมาชิก
ข้อ ๙. สภาวิทยุประกอบด้วยองค์กรเครือข่ายของสภาวิทยุ ดังนี้
( ๑ ) สภาวิทยุเขต ๑ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี
พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง
( ๒ ) สภาวิทยุเขต ๒ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว
( ๓ ) สภาวิทยุเขต ๓ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
( ๔ ) สภาวิทยุเขต ๔ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี
( ๕ ) สภาวิทยุเขต ๕ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์
( ๖ ) สภาวิทยุเขต ๖ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุทัยธานี
( ๗ ) สภาวิทยุเขต ๗ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสุพรรณบุรี
( ๘ ) สภาวิทยุเขต ๘ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฏร์ธานี
( ๙ ) สภาวิทยุเขต ๙ ประกอบด้วย สภาวิทยุสมัครเล่นจังหวัดตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล
( ๑๐ ) สภาวิทยุเขตกรุงเทพมหานคร
หมวดที่ ๔
คณะกรรมการสภาวิทยุ
ข้อ ๑๐. คณะกรรมการสภาวิทยุประกอบด้วย
(๑) ตัวแทนสภาวิทยุเขตมาจากการคำนวณจากนักวิทยุสมัครเล่นที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตนั้นจำนวน
ห้าพันคนให้มีกรรมการได้หนึ่งคนและเศษของห้าพันคนถ้าเกินกว่าสองพันห้าร้อยคนให้เพิ่มตัวแทนได้
อีกหนึ่งคน โดยนับจำนวนจากการออกใบอนุญาตของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นในวันสุดท้ายของปี
ก่อนการเลือกตั้ง
( ๒ ) บุคคลภายนอกจำนวนไม่เกินห้าคน ตามมติของคณะกรรมการใน ข้อ ๑๐. ( ๑ )
ข้อ ๑๑. ตำแหน่งในคณะกรรมการสภาวิทยุคัดเลือกจากกรรมการตามข้อ ๑๐ (๑) ดำรงตำแหน่งประธานสภาวิทยุหนึ่งคน รองประธานสภาวิทยุสี่คน
เลขาธิการสภาวิทยุหนึ่งคน และ ตำแหน่งอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ให้เลขาธิการสภาวิทยุเป็นเลขานุการสภาวิทยุ
ข้อ ๑๒. กรรมการสภาวิทยุต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
( ๑ ) เป็นสมาชิกสามัญขององค์กรสมาชิก
( ๒) มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
ข้อ ๑๓. คณะกรรมการสภาวิทยุ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี นับแต่วันเปิดสมัยประชุมสภาวิทยุ
ข้อ ๑๔. กรรมการสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทยจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
( ๑ ) พ้นตำแหน่งตามวาระ
( ๒ ) เสียชีวิต
( ๓ ) ลาออก
( ๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
( ๕) เป็นบุคคลล้มละลาย
( ๖ ) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
( ๗) ขาดการประชุมสภาวิทยุติดต่อกันสามครั้งโดยไม่แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร
( ๘) ขาดคุณสมบัติ
( ๙ ) คณะกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของกรรมการทั้งหมดมีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง
( ๑๐) สมาชิกสภาวิทยุอย่างน้อยหนึ่งพันคนเข้าชื่อเสนอให้ถอดถอนและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอย่างน้อยสามในสี่ของกรรมการทั้งหมด
ข้อ ๑๕. ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตาม ข้อ ๑๔. ให้ดำเนินการคัดเลือกหรือเลือกตั้งใหม่แล้วแต่กรณีของการได้มาซึ่งกรรมการในตำแหน่งที่ว่างลงภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งและดำรง
ตำแหน่งจนครบวาระของผู้ที่ตนแทน
หมวดที่ ๕
อำนาจและหน้าที่
ข้อ ๑๖. ให้สภาวิทยุมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้ง คณะทำงาน คณะอนุกรรมการ หรือ มอบหมายให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นปฏิบัติหน้าที่ หรือ หน้าที่อันเกี่ยวเนื่องกับกิจการวิทยุสมัครเล่นและหรือปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมายให้ลุล่วงไป
ข้อ ๑๗. ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
( ๑ ) นำนโยบายและแผนแม่บทกิจการวิทยุสมัครเล่นซึ่งกำหนดโดยองค์กรของรัฐที่ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่นมากำกับดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๒) เสนอแนะวิธีการกำกับ ดูแลการดำเนินการกิจการวิทยุสมัครเล่น การสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น แก่องค์กรของรัฐที่เกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๓) ติดตาม ตรวจสอบและให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการกิจการวิทยุสมัครเล่นขององค์กรเครือข่าย
( ๔ ) เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เหมาะสมให้กับองค์กรของรัฐที่เกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๕) ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นอย่างต่อเนื่อง
( ๖ ) กำกับ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๗ ) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้ง องค์กรเครือข่าย องค์กรสมาชิก และการดำเนินงานอื่นๆ ของสภาวิทยุ
( ๘ ) พิจารณาเงินงบประมาณรายรับ รายจ่าย ของสภาวิทยุ
( ๙ ) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ต่อนักวิทยุสมัครเล่นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
( ๑๐) ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
( ๑๑) ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ขององค์กรของรัฐที่เกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
หมวดที่ ๖
การประชุมคณะกรรมการ
ข้อ ๑๘. ให้คณะกรรมการสภาวิทยุจัดประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ๆ สี่เดือน
( ๑ ) ที่ประชุมคณะกรรมการจะครบองค์ประชุมได้ต้องมีกรรมการเข้าประชุมอย่างน้อย กึ่งหนึ่ง
( ๒ ) การประชุมคณะกรรมการเมื่อถึงเวลาแล้วผู้ที่มิได้เข้าประชุมถือว่าขาดการประชุม
( ๓ ) การเรียกประชุมครั้งที่สองจากการไม่ครบองค์ประชุม ถ้ามีกรรมการเข้าร่วมประชุมตั้งแต่หนึ่งในสามถือว่าครบองค์ประชุม
( ๔) ให้ประธานสภาวิทยุ เป็นประธานในที่ประชุมสภาวิทยุ ในกรณีที่ประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เลือกรองประธานตามลำดับ
ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ในกรณีที่รองประธาน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้เลือกประธานที่ประชุมโดยมติของคณะกรรมการที่เข้าประชุม
หมวดที่ ๗
การเงิน
ข้อ ๑๙. สภาวิทยุ อาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
( ๑ ) ค่าสมาชิก ค่าบำรุง ค่าอบรม และค่าธรรมเนียม
( ๒) เงินอุดหนุน
( ๓) รายได้จากทรัพย์สินหรือกิจการอื่น
( ๔) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค
ข้อ ๒๐. การเงินของสภาวิทยุ อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของคณะกรรมการโดยให้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและหรือบัญชีออมทรัพย์
ไว้กับธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลในนาม "สภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย"
การจ่ายเงินของสภาวิทยุไม่ว่าจากบัญชีใดๆ ต้องประทับตราของสภาวิทยุ โดยมีประธานสภาวิทยุ รองประธาน หรือ เลขาธิการ ลงลายมือชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่าสองคน และมีเหรัญญิกหนึ่งคน โดยกำหนดการเบิกจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) หากมากกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน
การเงินและการบัญชี ให้ดำเนินการตามหลักการบัญชีโดยเคร่งครัดและให้มีการตรวจสอบบัญชีของสภาวิทยุโดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสภาวิทยุ และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ
หมวดที่ ๘
การแก้ไขข้อบังคับ
ข้อ ๒๑. ข้อบังคับจะแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ซึ่งมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการ
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๒. ให้คณะกรรมการชุดปัจจุบัน
(๑) ดำเนินการจัดตั้งสภาวิทยุเขต สภาวิทยุจังหวัด เพื่อเปิดทำการจดทะเบียนและรับสมัคร
สมาชิก ตลอดจนการทำทะเบียนสมาชิก
(๒) จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการสภาจังหวัด แต่งตั้งสภาวิทยุเขต ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน ถัดจาก
วันที่ระเบียบนี้ประกาศใช้
ข้อ ๒๓. การดำเนินการเลือกตั้งตาม ข้อ ๒๒. ให้ดำเนินการโดยจัดตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งและให้หมดวาระลงเมื่อเสร็จสิ้น

ประกาศ ณ วันที่ พ.ศ. ๒๕๔๓


(นาย สมิทธ ธรรมสโรช)
ประธานสภาวิทยุสมัครเล่นประเทศไทย

ตัวแทนสภาวิทยุเขตจำนวน ๓๑ คน ดังนี้
( ๑ ) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๑ จำนวน ๔ คน
( ๒) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๒ จำนวน ๓ คน
( ๓) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๓ จำนวน ๒ คน
( ๔) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๔ จำนวน ๒ คน
( ๕) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๕ จำนวน ๓ คน
( ๖) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๖ จำนวน ๒ คน
( ๗) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๗ จำนวน ๓ คน
( ๘) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๘ จำนวน ๒ คน
( ๙) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขต ๙ จำนวน ๒ คน
( ๑๐) ตัวแทนคณะกรรมการสภาวิทยุเขตกรุงเทพฯ จำนวน ๘ คน