ผลแห่งกรรมที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

การตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า
           ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ นิครถนาฎบุตร ศาสดาแห่งศาสนาชินหรือไชนได้แต่ปัญหาให้อภัยราชกุมารทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ตรัสว่าจาที่คนอื่นไม่รักไม่ชอบหรือไม่ ถ้าพระพุทธเจ้าทรงรับว่า ตรัสว่า จาเช่นนั้นเหมือนกัน ก็ให้พระราชกุมารทูลสำทับว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต่างกับปุถุชน เพราะปุถุชนพูดวาจาที่คนอื่นไม่ชอบเช่นนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ก็ให้พระราชกุมาร ทูลยืนยันว่า พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์พระเทวทัตว่า จะไปอบายทำให้พระเทวทัตโกรธไม่ชอบใจ เมื่อพระพุทธเจ้าถูกถามปัญหา ๒ เงื่อนเข้าเช่นนี้ ก็จะทรงอึกอักเหมือนอย่างคนที่ถูกคีบเหล็กคีบเข้าไว้ที่คอ มีอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
พระราชกุมารได้ทรงทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า พระองค์ไม่ตรัสวาจาเช่นนั้นโดยส่วนเดียว พระราชกุมารทรงอุทานขึ้นว่า "นิครนถ์ฉิบหายแล้ว"
          ขณะนั้นได้มีกุมารน้อยนั่งอยู่บนพระเพลาของพระราชกุมาร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า "ถ้ากุมารนั้นบังเอิญอมเศษไม้ หรือกระเบื้องในโอฐ จะทรงทำอย่างไร " พระราชกุมารกราบทูลว่า ก็ต้องรีบล้วงเอาออก แม้จะบาดปากทำให้โลหิตออกบ้าง ก็มิใช่เป็นการทำร้าย แต่เป็นการอนุเคราะห์
พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักแห่งพระวาจาของพระองค์ไว้ ดังนี้
                        ๑. วาจาที่ไม่จริงแท้ ทั้งไม่ประกอบด้วยประโยชน์ จะทำให้ใครรักหรือชอบหรือไม่ก้ตาม
                        พระองค์ไม่ตรัส
                        ๒. วาจาที่จริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ จะทำให้ใครรักชอบหรือไม่ก็ตาม
                        พระองค์ก็ไม่ตรัส
                        ๓. วาจาที่จริงแท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ จะทำให้ใครรักชอบหรือไม่ก็ตาม
                         พระองค์ทรงรู้กาลเวลาตรัสวาจานั้น ทั้งนี้เพราะทรงมุ่งอนุเคราะห์ในสัตว์โลก
พระราชกุมารกราบทูลถามว่า " เมื่อพวกบัณฑิตทั้งหลายแต่งปัญหามาทูลถาม ทรงคิดแก้ไว้ก่อนแล้วหรือเกิดปฏิภาณขึ้นทันที " 
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามพระกุมารว่า "เมื่อมีใครมาทูลถามพระกุมารเรื่องเครื่องประดับต่างๆ ของรถที่ทรงรู้อยู่แล้ว ทรงตอบได้อย่างไร"
พระราชกุมารทูลตอบว่า "ทรงมีปฏิสันฐานตอบได้ทันทีไม่ต้องคิดแก้มาก่อน เพราะทรงรู้อยู่ทั้งหมดดีแล้ว"
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "การแก้ปัญหาของพระองค์ก็เช่นเดียวกัน เพราะได้ทรงทราบธรรมธาตุทั้งปวงแจ่มแจ้งอยู่ตลอดแล้ว" พระราชกุมารทรงมีความเลื่อมใส ได้เปลี่ยนมาทรงนับถือพระพุทธศาสนา
          ตามที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีเหตุผลบริบูรณ์ ทั้งนี้เพราะได้ทรงเป็นพระ "ภควา" แปลอย่างหนึ่งว่า "อบรมพระองค์มาด้วยดีแล้วในญายธรรมทั้งหลาย คือ ในเหตุผลที่ถูกต้อง ทรงปฏิบัติในเหตุที่ดี บรรลุถึงผลที่ดี เลื่อนภพคือ ภาวะของพระองค์ให้สูงขึ้นโดยลำดับจนสูงที่สุด ซึ่งเรียกว่า สุดภพ คือ สุดภาวะ เพราะสูงที่สุดแล้ว ไม่มีส่วนที่จะเลื่อนขึ้นไปอีก
พระพุทธเจ้าทรงทรงมีพระญาณรู้ในสิ่งต่างๆ ดังเช่นมีพระญาณสิบเป็นต้น ฉะนั้นจึงมีคำเรียกรวมว่า พระสัพพัญญู รู้ทั้งหมดดังเช่นจะทรงแสดงธรรมโปรดโปรดใคร ทรงรู้เขาทั้งหมด กรรมอดีตของเขาเป็นอย่างไร เขาจะได้รับผลอย่างไร โดยเฉพาะเขามี
อุปนิสัยอันควรจะได้รับการอบรมเช่นไร จึงทรงอบรมเขาให้ได้รับผลอย่างเหมาะที่สุด

โดย..สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

>>

<<

!!