วิปัสสนากัมมฐาน


                                                                            คำนำ

วิปัสสนาสติปัฏฐานเล่มเล็ก ๆ นี้ เริ่มแรกเขียนขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานการปฏิบัติให้แก่นักเรียนนักศึกษาแห่งวิทยาลัยพานิชย์ธนบุรี และวิทยาลัยพานิชย์เชตุพน (บางมด) ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยมีอาจารย์สุวิทย์ อัตถากร และผ.อ.คุณหญิงสมศรี เมาลานนท์ เป็นผู้นิมนต์ข้าพเจ้าไปเป็นผู้อำนวยการฝึกสอน เมื่อครบตามหลักสูตรแล้ว ทางวิทยาลัยก็ไปกราบทูลอาราธนา สมเด็จพระสังฆราช พระอริวงศาคตญาณ วัดราชบพิธและท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประทานมอบวุฒิบัตรให้ 

การปฏิบัตินี้ ใช้วิธีกำหนด กำหนดแปลว่า อะไร ? แปลว่าเขตแดน เขตอดนของอะไร ? ของการกำหนด หรือเป้าหมายที่ต้องกำหนด คือ อารมณ์ที่ปรากฏในปัจจุบัน ปัจจุบันคืออะไร ? คือ อารมณ์ตรงที่รู้เห็นชัดเจน เด่นเฉพาะหน้านั้นแหละ ไม่ใช่อดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่ใช่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง คำนึงถึงอารมณ์ที่มีอยู่ เป็นอยู่นั่นเอง เหมือนคนยิงนก นกจับที่ตรงไหน ยิงตรงตัวนกที่จับตรงนั้นได้นก ผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้ผล ก็เช่นกัน เขากำหนดทันปัจจุบันอารมณ์ กิเลสจึงดับลงได้เพราะไม่ปรุงแต่ง เช่น กำหนดว่า เห็นหนอ ๆ เพียงแต่เห็นเท่านั้น ความยินดียินร้ายก็ดับไปพร้อมกับการกำหนดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใด อิริยาบถใด เมื่อมีสติสัมปชัญญะ พากเพียรกำกับการกำหนดต่อเนื่องดุจสายเส้นด้าย เป็นทางจะได้บรรลุ ผล มรรค นิพพาน (เพราะกิเลสไม่ได้มีโอกาสเกิดขึ้น จะว่างจากกิเลส) ชื่อว่าทำโอกาสให้อริยมรรค อริยผล เกิดขึ้นโดยแท้ เหมือนท้องฟ้าปราศจากเมฆหมอก ย่อมมองเห็นดวงดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ อย่างแน่นอนฉันนั้น ดังนั้น การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานนี้ จึงใช้การกำหนดปัจจุบัน อารมณ์เป็นระบบปฏิบัติให้นักเรียน นักศึกษาทบทวนปฏิบัติแล้ว จะได้อบรมธรรมที่ควรรู้ ควรเห็นยิ่งขึ้นไป 

การพิมพ์ครั้งนี้ ขอขอบใจอนุโมทนาในมหากุศลจิตของคุณจุฬนี โตเลี้ยง เป็นคำรบสองที่ได้สนองศรัทธา การเผยแผ่ธรรมในการใช้จ่าย พิมพ์หนังสือเป็นธรรมทานอีก น้ำใจช่างใสสะอาด ฉลาดในบุญ เยี่ยงมารดาของตน คุณแม่ฟอง โตเลี้ยง ขอจงมีความสุข ความเจริญ สัมฤทธิ์สิ่งพึงปราถนา จงทุกประการฯ 

ขออนุโมทนา 
พระครูสุธรรมานุศาสก์ 
วิปัสสนาประจำสำนัก 
วัดปุรณาวาส แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร



วิปัสสนาสติปัฏฐาน 
-----------------------------
การปฏิบัติธรรม หรือ ที่เรียกวาประพฤติพรหมจรรรย์ เพื่อให้ถึงฐานะอันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส และระดับโทมนัสทั้งปวง ตามหลักใหญ่มี ๒ วิธี คือ สมถะวิธี ๑ วิปัสสนาวิธี ๑ ในสยามประเทศ สำนักที่สอนทั้งสมถะและวิปัสสนามีมากแห่ง กรรมวิธีดำเนินการสอนและปฏิบัติกันนั้นย่อมแตกต่างกันตามความเหมาะสมของจริตนิสัย ความมุ่งหมายก็คงระงับดับกิเลสและกองทุกข์ เช่นเดียวกัน คือถ้าสมถะก็มุ่งความระงับกิเลส และบังเกิดฌาน อภิญญา อิทธิฤทธิ์ มีพรหมโลกเป็นที่สุด 

เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็มุ่งปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นสภาพตามความเป็นจริงแห่งสัจธรรมทั้งหลายว่า ธาตุแท้แห่งสังขารที่ลุ่มหลงกันนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ไม่บุบสลาย ดำรงทนอยู่ได้ และเป็นไปตามปราถนา เช่น อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย อย่าได้พรัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบทั้งสิ้น ทุกสิ่งเป็นของ ๆ ตน ไม่ต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงเป็นต้น ได้หรือไม่ อันความเศร้าโศกเสียใจนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเกิด (ของรูปและนาม) ความเกิดสืบเนื่องมาจากการกระทำ การกระทำสืบเนื่องมาจากกิเลสตัณหาที่ชอบใจยินดี กิเลสตัณหาจะดับลงได้ ต้องเห็นทุกข์โทษของรูปนาม หรือพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ความไม่จีรังยั่งยืนแปรปรวน เปลี่ยนสภาพ ทุกขัง - ความทุกข์ดำรงทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา - ไม่มีแก่นสารเป็นตัวเป็นตนให้สมปราถนา ผิดหวัง ว่าเปล่า ดับสูญ) พระไตรลักษณ์จะปรากฏให้เห็นได้นั้นต้องเจริญวิปัสสนาตามมหลักสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ 

สติปัฏฐาน ๔ คือ 
๑. กายานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ 
๒. เวทนานุปัสสนา สติพิจารณาเวทนาทั้งหลายเป็นอารมณ์ 
๓. จิตตานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาจิต คือ ความคิดอ่านเป็นอารมณ์ 
๔. ธัมมานุปัสสสนา สติกำหนดพิจารณาธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล และกลาง ๆ เป็นอารมณ์ 



๑.กายานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ 

--------------------------------------------------------------------------------
คือ กำหนดรู้ทันปรากฎการณ์ ทางกาย เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน คู้ เหยียด หยิบยก ปล่อยวาง ก้าวหน้า ถอยหลัง ปิดเปิดประตูหน้าต่าง ตลอดถึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ พึงมีสติรู้ทันปัจจุบัน ถ้าเดินให้สำรวมไว้ที่เท้า ทำความรู้สึกตั้งมั่นไว้ที่เท้า สำเหนียกสังเกตให้ดีไว้ที่เท้า ขณะที่เท้าขวาจะก้าวก็มีสติตั้งมั่นที่เท้าจะเดินพลางนึกกำหนดรู้ในใจว่า ขวาย่างหนอ เวลาเท้าซ้ายจะเดิน ก็กำหนดทำนองเดียวกัน ซ้ายย่างหนอ ขณะที่เท้าขวาหรือเท้าซ้ายจะเดินนั้นมีช่วงจังหวะอยู่ ๓ อย่าง คือ ขณะเตรียม เท้าจะยกขึ้นเดิน ๑ ขณะที่เท้าเคลื่อนไปข้างหน้า ๑ ขณะเหยียบเท้าลงกับพื้น ๑ ขณะเตรียมจะเดินอยู่ในจังหวะกำหนดว่า "ขวา" หรือ "ซ้าย" (เท้ายังไม่ก้าว คือ ยกขึ้นเฉย ๆ เท่านั้น) ขณะที่ก้าวไปข้างหน้าอยู่ในจังหวะกำหนดว่า "ย่าง" ขณะที่เท้าจะเหยียบหรือเหยียบกับพื้นอยู่ในจังหวะที่กำหนดว่า "หนอ" เวลายืนให้สำรวมใจ มีสติตั้งมั่นชัดเจนดีอย่างพรั่งพร้อมทั่วถึง ในอิริยาบถยืน และพึงกำหนดว่า "ยืนหนอ ๆ " เวลานั่งให้สำรวมนั่งลงช้า ๆ กำหนดว่า "นั่งหนอ ๆ " การนั่งนั้นให้นั่งกายตรงขัดสมาธิราบหรือคู้บัลลังก์ (เท้าไม่ขี่ทับกัน) หรือจะนั่งสมาธิโดยเอาเท้าขวาทับเท้าซ้ายก็ได้ หรือจะนั่งพับเพียบบ้างก็ได้ แล้วแต่ความจำเป็น บางโอกาสจะนั่งหย่อนเท้าที่เก้าอี้ก็ได้ ข้อสำคัญมีสติสำรวมดี มีสติตั้งมั่นดี มีสติรู้ตัวดี ก็ใช้ได้ 

เมื่อนั่งตามลักษณะที่กล่าวแล้ว พึงนั่งตัวตรง มือขวาวางบนมือซ้ายตามแบบที่นิยมกัน ให้ดำรงสติไว้ด้วยดีที่หน้าท้องบนสะดือประมาณ ๒ นิ้ว เวลาหายใจเข้า หายใจออก ปรากฏการณ์ของท้องจะเคลื่อนไหว มีนูนขึ้นและแฟบลงกำหนดภาวนาว่า "พองหนอ ยุบหนอ" ไปเรื่อย ๆ ห้ามกำหนดว่า "พองหนอ ยุบหนอ" โดยไม่รู้สึกว่ามีพองมียุบ ต่อเมื่อปรากฏ มีพองมียุบจริงจึงกำหนด และไม่ต้องกังวลเรืองลมหายใจ ว่าจะมีหรือไม่ ให้กำหนดที่ความรู้สึกของอาการท้องพองยุบเป็นอารมณ์เท่านั้น เพราะลมหายใจเข้าออกเป็นกายสังขาร ผู้ปรุงแต่งหรือสัมผัสท้องพองยุบอยู่แล้ว คือ ลมเข้าเป็นเหตุ - ท้องพองเป็นผล ลมออกเป็นเหตุ - ท้องยุบเป็นผล ดุจลมเข้าลูกโป่งพอง ลมออกลูกโป่งแฟบ ดังนั้นให้เอาผลของการกระทบสัมผัสของท้องพองยุบเป็นอารมณ์ มีสติรับรู้การสัมผัสของท้องพอง ท้องยุบที่รู้สึกนั้นอย่างไม่ลดละ ด้วยความสำรวมดี มีใจตั้งมั่นให้ดีมีความรู้สึกดีพร้อมไปตลอดทุกครั้งที่กำหนด 

เวลานอนให้กำหนดว่า "นอนหนอ ๆ" โดยนอนตะแคงขางขวาเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ พร้อมที่จะลุกขึ้นประกอบความเพียรทุกเมื่อนอนกี่ชั่วโมง เช่นนอน ๔ ชั่วโมง ให้คำนวณความยาวนานของเวลา แล้วปักสติกำหนดเขตเวลาไว้ว่าจะตื่นเวลานั้น จะปลอดโปร่ง เวลานั้น จักแจ่มใสไม่งัวเงีย ทำความรู้สึกไว้ในใจเช่นนี้เมื่อถึงกำหนด จะตื่นขึ้นมาอย่างแช่มชื้นน่าอัศจรรย์ ลุกขึ้นประกอบความเพียรตามลำดับที่กำหนดไว้ ข้อสำคัญอย่ามักง่ายว่า ขอต่ออีกสักนิดน่าอย่างนี้ไม่ได้ เป็นการทำลายสัจจะ เสียนิสัย เวลาตื่นนอนกำหนดว่า "ตื่นหนอ ๆ" เวลาคู้กำหนดว่า "คู้หนอ ๆ" "เหยียดหนอ ๆ" เวลาหยิบ เวลายก กำหนดวา "หยิบหนอ "หยิบหนอ ๆ " "ยกหนอ ๆ " เวลาปล่อยเวลาวาง กำหนดว่า "ปล่อยหนอ ๆ" "วางหนอ ๆ" เวลาก้าวหน้าถอยหลังกำหนดว่ากำหนดว่า "ก้าวหนอ ๆ" "ถอยหนอ ๆ" เวลาปิดเปิดประตูหรือหน้าต่างกำหนดว่า "ปิดหนอ ๆ" "เปิดหนอ ๆ" ตลอดถึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะ กำหนดว่า "ถ่ายหนอ ๆ" แม้ทวารทั้ง ๖ มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กำหนดเช่นกัน เวลาเห็นมีสติสำรวมไว้ที่ตา กำหนดว่า "เห็นหนอ ๆ" เวลาได้ยินเสียงก็มีสติสำรวมไว้ที่หู กำหนดว่า "ได้ยินหนอ ๆ" เวลาได้กลิ่นสำรวมสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า "ได้กลิ่นหนอ ๆ" เวลาได้รู้รสสำรวมสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า "รู้รสหนอ ๆ" เวลาเย็น ร้อน อ่อน แข็ง มาสัมผัสถูกต้องกาย กำหนดว่า "ถูกหนอ ๆ" หรือ "รู้หนอ ๆ" หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นบุญและบาป ฯลฯ ปรากฏในใจ ก็สำรวมไว้ที่รูปหัวใจ โดยกำหนดว่า "รู้หนอ ๆ" ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความคิดนั้นดับไป 

การเจริญกายานุปัสสนา หรืออิริยาบถต่าง ๆ เกี่ยวกับกาย นิยมให้การกิริยาช้า เพื่อเห็นปรากฏการณ์ ความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป หรือรู้เห็นความเป็นพระไตรลักษณ์ของรูปนามละเอียดถี่ถ้วน เช่นเดียวกับคนนัยน์ตาดี นั่งรถที่แล่นด้วยความเร็วต่ำย่อมเห็นสิ่งของข้อมูลต่าง ๆ สองฟากข้างทางผ่าน ไปได้ละเอียดถี่ถ้วน กว่ารถที่แล่นด้วยความเร็วสูง ฉะนั้น 

อนึ่งการที่กายสงบ กายเชื่องช้า นิ่ง ย่อมนำความรู้สึกดีมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติอย่างไพศาล ซึ่งจะมีอะไรเกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไป จะรู้ชัดเจน สติสัมปชัญญะจะว่องไวทันอารมณ์ แม้กิเลสจะจรมาหรือเกิดขึ้น จะรู้ทันกิเลสโดยทันที ไม่ว่ากิเลสนั้นจะเป็นชนิดไหนจับตัวได้ง่าย (จับด้วยปัญญา รู้ทันด้วยปัญญา) เหมือนกับผู้ร้ายวิ่งผ่านชุมชนที่มีความสงบนิ่ง สำรวมดีอย่างมีระเบียบ คงมีแต่ผู้ร้ายเท่านั้นวิ่งผ่าน (แต่ฝ่ายเดียว) เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำการจับกุมได้โดยสะดวกฉันใด กายนิ่ง กายเชื่องช้า กายสำรวมดีก็อำนวยความสะดวกให้แก่สติสัมปชัญญะ รู้เห็นความเป็นจริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาชัดเจนได้ดียิ่งขึ้นฉันนั้น 



๒.เวทนานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาเวทนาทั้งหลายเป็นอารมณ์ 
--------------------------------------------------------------------------------
คำอธิบายประกอบภาคปฏิบัติเวทนานุปัสสนา 
เวทนามี ๓ หรือ ๙ ณ ที่นี้จะนำเวทนามาปฏิบัติเฉพาะเวทนา ๓ ส่วน เวทนา ๙ ที่เจือด้วยอามิสหรือไม่เจือ หรือเจือบ้างไม่เจือบ้าง ก็ให้รับรู้ว่าเวทนาชนิดใดแทรกแซงหรือสัมผัสกับเวทนา ภ นั้นก็พอ จะไม่นำมากล่าวในที่นี้ ที่ว่าเวทนา ๓ นั้น คือ 

(๑) สุขเวทนา ความเสวยอารมณ์ฝ่ายสุข เมื่อเวทนาชนิดนี้เกิดขึ้น คือความสบาย ความสุข ความดีใจ นึกกำหนดว่า "สบายหนอ ๆ" "สุขหนอ ๆ" "ดีใจหนอ ๆ" 

(๒) ทุกขเวทนา ความเสวยอารมณ์ฝ่ายทุกข์ เมื่อเวทนาชนิดนี้เกิดขึ้นคือความเจ็บปวด เมื่อย คัน ยอก เสียดแทง แน่นจุก คลื่นเหียนอาเจียร มึน ชา ฯลฯ นึกกำหนดว่า "เจ็บหนอ ๆ ปวดหนอ ๆ เมื่อยหนอ ๆ คันหนอ ๆ ยอกหนอ ๆ เสียดหนอ ๆ แทงหนอ ๆ แน่นหนอ ๆ จุกหนอ ๆ คลื่นหนอ ๆ เอียนหนอ ๆ มึนหนอ ๆ ชาหนอ ๆ" กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาชนิดนั้นหายไป 

(๓) อุเบกขาเวทนา ความเสวยอารมณ์ฝ่ายเฉย ๆ เมื่อเวทนาชนิดนี้เกิดขึ้น คือ ความว่างเฉย ความเฉยเมื่อยจิตพัก นึกกำหนดว่า "ว่างหนอ ๆ เฉยเมื่อยหนอ ๆ พักหนอ ๆ โดยชาร์จสติสัมปชัญญะจรดลงอาการวางเฉยนั้นก็จะเปลี่ยนสภาพไป กลายเป็นความพรั่งพร้อมขึ้นมาแทน 

การกำหนดพิจารณาเวทนาททั้งหลายนั้น นอกจากลักษณะของ เวทนา คือ สุข ทุกข์ เฉย รู้จักความเกิดขึ้นของเวทนา คือ เวทนาเกิดขึ้นที่ไหน เช่น เกิดขึ้นที่ตา ที่หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้ชัดตามตำแหน่งที่เวทนาเกิด เมื่อเวทนาดับไป จะเป็นสุข ทุกข์ หรือเฉย ก็รู้ว่าเวทนาดับไป ดับด้วยกิริยาอาการอย่างใด ก็รู้ชัดด้วยกิริยาอารอย่างนั้น เช่น 

อนึ่ง สุขเวทนา ย่อมเป็นที่ตั้งที่เกิดขึ้นของราคานุสัย ฉะนั้นการกำหนดต้องตั้งสติไว้โดยอุบายอันแยบคาย เพื่อป้องกันความยินดี ความเพลิดเพลิน ความติดใจ ความดูดดื่ม ความปราถนาอีก มิให้เกิดร่วมกับ สุขเวทนา การกำหนดคล้ายกับกามฉันทะนิวรณ์ (ข้อ ธัมานุปัสนา) 

ทุกขเวทนา ย่อมเป็นที่เกิด ตั้งปฏิฆานุสัย (ความยินร้ายความขุ่นเคือง ความขัดข้องไม่พอใจ ความหงุดหงิด ความอยากกำจัด) ต้องสติไว้ให้ดีโดยอุบายแยบคาย เพื่อป้องกันปฏิฆานุสัย คือ ชนวนแห่งความโกรธ เกิดร่วมกับทุกขเวทนา เช่นกัน การกำหนดคล้ายกับพยาบาทนิวรณ์ (ข้อ ธัมมานุปัสสนา) 

อุเบกขานุปัสสนา ย่อมเป็นที่เกิดที่ตั้งแห่งอวิชชานุสัย ได้แก่ความไม่ปรากฏ ความไม่ชัดเจน ความมืดบอด ความคลุมเครือ สงสัยไม่รู้จริง ไม่รู้จักวิธีดับทุกข์ ให้มีสติสัมปชัญญะประจำพรั่งพร้อมแบบเดียวกับกำหนดความวางเฉย เพราะอวิชชาสภาวะที่ไม่รู้ สัจธรรมที่ดับกิเลสและกองทุกข์ ตามความเป็นจริง มันจะหลบซ่อนนอนเนื่องอาศัยอยู่กับอุเบกขาเวทนา ดังนั้นต้องมีความไม่ประมาทพลั้งเผลอ 


๓.จิตตานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาจิต เป็นอารมณ ์ 
--------------------------------------------------------------------------------
 ได้แก่ มีสติระลึกรู้ทันปรากฏการณ์ทางความคิดอ่านอารมณ์พึงกำหนดว่า "คิดหนอ ๆ" จนกว่าความคิดชนิดนั้น ๆ ดับไป เมื่อความคิดชนิดใดดับไป ก็รู้ชัดว่า ความคิดชนิดนั้นดับ เมื่อดับไปแล้ว ถึงหันกลับมากำหนด "พองหนอ ยุบหนอ" ตามเดิมอีก 

คำอธิบายประกอบการปฏิบัติ จิตตานุปัสสนา 
ท่านย่อมทราบว่า ความคิดนั้นมีมากอย่างเช่นคิดถึงคน มีบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลูกหลาน เพื่อนฝูง คิดถึงสัตว์เลี้ยง มีหมู หมา วัว ควาย เป็ด ไก่ ช้าง ม้า เป็นต้น กระทั่งคิดถึงสถานที่ตึกรามบ้านเรือน ไร่นาเรือกสวน คิดถึงสิ่งของใช้สอย คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์เก่าส่วนอดีต อารมณ์ใหม่ในปัจจุบัน อารมณ์อนาคตที่ยังมาไม่ถึง ถ้าจิประหวัดคำนึง พึงกำหนดว่า "คิดหนอ ๆ" อย่างเดียวก็พอ ขอให้กำหนดซ้ำ ๆ จนกว่าความคิดนั้นดับไป และท่านไม่ต้องเป็นทุกข์กังวลใจว่าจะไม่สงบสุข หรือทุกข์จะไม่ดับโดยธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับตามหน้าที่แห่งเหตุปัจจัยนั้น ๆอยู่แล้ว 

ข้อสำคัญ เจ้าตัณหาของคนที่ดิ้นรนทะเยอทะยานสร้างทุกข์ให้เรานั้นแหละตัวร้าย พอผิดพลาดสิ้นหวังก็นั่งตรม จะบ่นโทษใคร แต่อย่าเพิ่งเสียใจอย่าทุกข์ฟรีเพราะทุกที่เราเคยประสบพบมาอย่างสาหัสหนักใจก็หลายครั้งมาแล้ว ผ่านไปด้วยดีก็มีหลายหนเราก็เคยแก้ทุกข์นั้นได้ ดังนั้นจะมัวนั่งงอมืองอเท้า เศร้าโทรมให้ทุกข์เผาผลาญข้างเดียวทำไมเล่า คราวนี้เราต้องแก้ทุกข์โดยปฏิบัติตามวิธีของพระพุทธเจ้าอันประเสริฐ ทุกข์นั้นจะพลันดับไปแน่นอน อดีตปล่อยให้ผ่านไป อนาคตก็อย่าใฝ่ถึง เพราะความทุกข์เกิดมาจากความคิดมีอยู่ไม่น้อย ดังนั้นพึงตั้งสติอยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน กำหนดพิจารณาภาวนาไปเรื่อย ๆ ร้อยครั้งพันหนเหมือนกับนำไม้แห้งมาสีไฟ สีไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดความร้อนย่อมเกิดขึ้นไฟก็ติด ฉันใดก็ฉันนั้น คือสมาธิความสงบเยือกเย็นจะก่อตัวเป็นปีติสุขจิตใจผ่องใส ทุกข์ก็คลาย ทุกข์นั้นจะดับไป ปัญญาก็เกิด เพราะเห็นทุกข์เกิด ทุกข์ดับชัดเจน ก็นี่แหละการกำหนดความคิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่เป็นการยั่วยุให้ความคิดกำเริบเติบโตใหญ่ขึ้น หรือเหมือนโยนฟืนใส่ไฟ ไฟรังแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เรื่องการปฏิบัติธรรมประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ฯลฯ เป็นธรรมเป็นไปเพื่อความดับทุก๘ เมื่อนำมากำหนดสัมผัส คือเพ่งอารมณ์ ฝ่ายอกุศล ฯ ย่อมดับไป เหมือนผู้ร้าย (ฝ่ายผิด) พอเจอเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็น (ฝ่ายถูก) ก็หลบหน้าหายไป ความคิดที่ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ พอถูกสติสัมปชัญญะที่นำมากำหนดเป็นฝ่ายวิชา สว่างรุ่งเรือง กิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น เป็นฝ่ายอวิชชา ความมืด ก็เมื่อความสว่างวิชาเกิดขึ้น ความมืดอวิชชา โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ไม่กำเริบเติบใหญ่ ดับไปแน่นอน (ปฏิบัติจริง ๆ เท่านั้นจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตน) 


๔.ธัมมานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาธรรมทั้งหลายเป็นอารมณ์
--------------------------------------------------------------------------------
 ได้แก่มีสติกำหนดรู้ทันธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ปรากฏการณ์ทางใจ มีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น 
นิวรณ์ ๕ คือ 
(๑) กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในกามคุณอารมณ์ 
(๒) พยาปาทะ ความพยาบาทปองร้ายหมายปฏิบัติการจองเวรผู้อื่น 
(๓) ถีนะมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน เกียจคร้าน ขุ่นมัว 
(๔) อุทธัจจะกุกกุจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญยุ่งเหยิง กระวนกระวาย 
(๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยเพราะความไม่ซาบซึ้งในอารมณ์ 

คำอธิบายประกอบภาคการปฏิบัติธัมมานุปัสสนา พึงกำหนดตามประเภทนั้นธรรมนั้น ๆ คือ 
เมื่อกามฉันทะเกิด ก็รู้ว่ากามฉันทะเกิด กำหนดว่า "กามฉันทะหนอ ๆๆ" ซ้ำหลาย ๆ หน จริงจังด้วยจิตสำรวม จิตตั้งมั่น ไม่เผลอ (ปรุงแต่ง) จนเห็นภาพกามฉันทะไม่เที่ยงเปลี่ยนสภาพดำรงทนอยู่ไม่ได้และดับไป ก็รู้ชัดว่าดับไปแล้ว เมื่อพยาบาทเกิด ก็รู้ชัดว่าพยาบาทเกิด กำหนดว่า "พยาบาทหนอ ๆๆ" ซ้ำหลาย ๆ หน จนกว่าพยาบาทนั้นดับไป เมื่อดับก็รู้ว่าดับไปแล้ว หรือจะแผ่เมตตาช่วยอีกก็ได้ เพราะบุคคลที่เราเคืองเขาเจ้าตัวไม่รู้เรื่อง เราก็โกรธเคืองเขาข้างเดียวเป็นผลร้ายแก่ความสงบสุขของจิต ควรจะสงสารเขาให้มาก ๆ เหมือนกับเราถูกผู้อื่นโกรธโดยเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เรานึกว่าเขาดีกับเรา ในที่สุดจึงรู้ว่าเราถูกผู้อื่นโกรธเราฟรี ๆ เกือบเจ็บตัวฟรีหลายหนแล้ว เมื่อถีนะมิทธะเกิด ก็รู้ว่าถีนมิทธะเกิด กำหนดว่า "ง่วงหนอ ๆ" "หดหู่หนอ ๆ" หน้าตาเป็นอย่างไร (แข็งใจกำหนด) หรือสร้างแสวงสว่างจนเห็นแสงสว่างแผ่ออกจากตัวเราง่วงนั้นจักหาย ง่วงเหงาหาวนอนจักหาย ถ้าไม่หายให้เดินจงกรมล้างหน้า อยู่ในที่อากาศโปร่ง มองดูทิศทั้ง ๔ ให้ชัดเจน 

เมื่ออุทธัจจะกุกกุจจะเกิด ก็ให้รู้ว่าอุทธัจจะกุกกุจจะเกิด กำหนดว่า "ฟุ้งซ่านหนอ ๆ " "รำคาญหนอ ๆ" "รำคาญหนอ ๆ" จนกว่าความฟุ้งซ่านรำคาญดับไป ฯลฯ 

เมื่อวิจิกิจฉาเกิด ก็รู้ว่าวิจิกิจฉาเกิด กำหนดว่า "สงสัยหนอ ๆ" ลังเลหนอ ๆ" จนกว่าความลังเลสงสัยหายก็รู้ชัดว่าความลังเลสงสัยหายดับไปแล้ว โดยเหตุที่ว่า เราสำรวมในการกำหนดดี ตั้งใจกำหนดแน่วแน่ดี มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวชัดเจนดีจนเห็นภาวะนิวรณ์ทั้ง ๕ ไม่เที่ยงเปลี่ยนสภาพไปเป็นทุกข์ ดำรงทนทานอยู่ไม่ได้เป็นอนัตตาดับสูญสิ้นไปทุก ๆ ครั้งที่กำหนด เมื่อธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลปรากฏการณ์ทางใจ เช่นมีศรัทธาเลื่อมใสในการบริจาคทาน รักษาศีล อยากเผยแผ่ธรรมสั่งสอนผู้อื่นต้องกำหนดรู้เท่าทันไม่เช่นนั้นจะฟุ้งซ่าน เสียปัจจุบันธรรม แทนที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ชัดเเจ้งเสมือนประตูนิพพานก็ไม่เห็น เมาเพลินไปตามเพลงแห่งอุปกิเลส ฉะนั้น พึงรีบกำหนด อย่าชักช้า จนเห็นความไม่เที่ยงถาวร เห็นความทุกข์สภาพที่ดำรงทนทานไม่ได้เปชห็นความเป็นอนัตตาดับสูญว่างเปล่า หาตัวตนมิได้ เป็นกุศลชั้นสูง เป็นแนวทางพระนิพพาน จึงจำต้องกำหนด แม้เห็นแสงสว่าง ความสุขพิเศษอย่างยิ่ง ตัวเบาตัวลอย เห็นนรกสวรรค์เทวดา อินทร์ พรหม วิมานปราสาท ก็ต้องกำหนดเช่นกัน เพราะไม่มีส่วนใดในการดับราคะ โทสะ โมหะใด ๆ เลย มิหนำซ้ำยังเป็นการะเพิ่มกิเลสให้กับตนเอง หลงทำให้มีตัณหามานะและทิฏฐิยิ่งขึ้น การปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุมรรค ผล นิพพาน กลับเนิ่นช้าเสียเวลา (แต่เป็นของอร่อยง้อหรือหวั่นไหวต่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในที่สุดก็หนีไม่พ้น แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นกฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามหลักพระไตรลักษณ์ที่วิปัสสนาปัญญาเห็นนั่นเอง คือ ถ้าเห็นอริยสัจ มีทุกข์เป็นต้น เป็นการเห็นที่ถูกต้อง เพราะทำให้กิเลสอับเฉาเบาบางดับลงได้) 

การกำหนดพิจารณาดังกล่าวมานี้เรียกว่า "การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔" โดยเอามาสัมพันธ์กับ ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า "ไตรสิกขา" ศีล ได้แก่การสำรวมอินทรีย์ให้เรียบร้อย เมื่อเราสำรวมอินทรีย์ให้เรียบร้อย ดี เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิสงบเยือกเย็นเป็นวิเสสศีล ๆ ในองค์มรรค เพราะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิและปัญญาไม่ใช่ปกติศีล คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แต่ก็ทำให้ศีล ๕ - ๘ - ๑๐ - ๒๒๗ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี กล่าวคือ เมื่อสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ถูกปิดล้อมด้วยอำนาจศีลที่สำรวมไว้ดี นอกจากนั้นสมาธิก็ยังสถิตย์ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ประจำอยู่ที่นั้น (เวลาสำรวม) และถูกปัญญาคือสติสัมปชัญญะรู้ตัวดี อย่างพรั่งพร้อม ประจำอยู่ร่วมประตูทวารทั้ง ๖ เป็นมรรคสามัคคี เวลากำหนดพิจารณา ความยินดียินร้าย ความหลงผิด (รู้ไม่ตรงความเป็นจริง) ก็เข้าไปในใจไม่ได้ เมื่อผู้นำคือกิเลสเข้าไปไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดบังคับให้กาย วาจา ใจ ทำทุจริตได้ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ จึงบริสุทธิ์บริบูรณ์ในตัวนั้นแล 

สมาธิที่สัมพันธ์การปฏิบัติอยู่นี้ เป็นเพียงสมาธิประกอบ เป็นสมาธิตั้งอยู่สถิตย์อยู่ชั่วขณะหนึ่ง มีสติปัญญาเป็นแกนนำ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวชัดเจนแม่นยำเท่าทันกิเลส ตลอดถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของรูปนาม 

ไม่เหมือนสมาธิที่นำมาเจริญสมถกรรมฐาน มุ่งเอาความสงบเป็นแกนนำ เพื่อให้เกิดความสุขแน่วแน่เป็นกระแสเชี่ยวแรง ยังพลังพิเศษเกิดขึ้น มีฌาน อภิญญา อิทธิฤทธ์ เป็นผลรับ มีพรหมโลก เป็นที่สุด (สมถกรรมฐาน นักบวชศาสนาอื่นก็สอนกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมาแล้ว ส่วน มรรค ผล นิพพาน หรือวิปัสสนา โดยเฉพาะ "อนัตตา" มีในศาสนาพุทธเท่านั้น) 

การเจริญวิปัสสนาตามแบบสติปัฏฐาน ๔ นี้ ต้องประกอบด้วย ไตรสิกขา ทั้ง ๓ คือ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ให้เรียบร้อย สมาธิได้แก่ ขณิกสมาธิย่อมเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่กำหนดและสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุก ๆ ครั้ง และปัญญาความรู้ตรงความเป็นจริงและเห็นชัดขึ้นตามลำดับ 

การปฏิบัติวิปัสสนา จำเป็นด้วยหรือต้องอาศัย สมาธิช่วย มีความจำเป็นทีเดียว เพราะสมาธิมีประโยชน์ยิ่ง ทิ้งไม่ได้ รวมทั้งศีลและปัญญา ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งนับว่าบกพร่อง ไม่สมบูรณ์จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเสมอ เพราะศีลปราบกิเลสอย่างหยาบ สมาธิปราบกิเลสอย่างกลาง ปัญญาปราบกิเลสอย่างสูง เหมือนไม้กวาดแข็งก็นำมากวาดเศษขยะมูลฝอยที่หยาบ ไม้กวาดอ่อนรวมทั้งไม้ปัดขนไก่ ก็นำมาปัดกวาดบนบ้าน ผ้าหรือสำลีอ่อนละเอียด ก็นำมาเช็ดกระจกหรือแว่นตา ถ้านำเอาสำลีอันอ่อนหรือละเอียดไปปัดกวาดเศษขยะมูลฝอยที่หยาบท่านจะเห็นเป็นอย่างไร หรือเอาไม้กวาดแข็งมาปัดกวาดกระจกหรือแว่นตาให้ใสสะอาดจะควรหรือไม่ได้ผลเป็นอย่างไร 

ช่างไม้เวลาเจาะไม้ด้วยสิ่วเพื่อให้บรรลุผลตามที่ต้องการ เช่นกรอบวงกบหน้าต่างหรือประตู เป็นต้น ต้องใช้สิ่วจรดลงตรงเส้นหมาย แล้วใช้ฆ้อนถือตอกตีลงที่บนด้ามสิ่ว ด้วยความสามรถอันปราณีตบรรจงของนายช่าง จึงสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีฉันใด สิ่วเปรียบเสมือนปัญญา ที่พิจารณาเจาะรูป เจาะนาม ความสงบสถิตย์ตั้งมั่นที่ประกอบการกำหนด เปรียบเสมอนฆ้อนตอกสิ่วที่ตอกบนด้ามสิ่วความประณีตบรรจงเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสวยงามของนายช่างที่มีต่อการงานนั้น เปรียบเสมือนศีลฉันใดก็ฉันนั้น หรือจะเอาสิ่วจ่อจรดกดลงเฉย ๆ โดยไม่ตอก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันพึงพอใจย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องสัมพันธ์กัน 

นายแพทย์ผู้ฉลาดรอบรู้ ถ้าได้กล้องจุลทัศน์เป็นเครื่องมือช่วยวินิจฉัยเชื้อโรคย่อมสะดวกในการที่จะรักษาคนไข้ได้แม่นยำขึ้นฉันใด ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ต้องอาศัยสมาธิปัญญาก็ฉันนั้น สมาธิเปรียบเสมือนกล้องจุลทัศน์ ปัญญาความฉลาดรอบรู้เปรียบเหมือนนายแพทย์ผู้รักษาคนไข้ให้หายโรค ปัญญาที่สัมพันธ์การปฏิบัติอยู่นี้ ได้แก่ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔ มี เห็นทุกข์ เป็นของควรกำหนดรู้ ควรรอบรู้ ให้แทงตลอด สมุทัย กิเลสตัณหาเป็นของควรละ นิโรธ ความดับทุกข์ให้เห็นกิเลสและทุกข์ดับมาก ๆ มรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ต้องเจริญให้มาก ๆ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง, สัมมาสังกัปปะ ความดำริที่ถูกต้อง คือ ดำริออกจากกาม พยาบาท เบียดเบียน, สัมมาวาจา กล่าววาจาให้ถูกต้อง ไม่เท็จ ไม่เสียดสี ไม่หยาบคาย ไม่เหลวไหล, สัมมากัมมันตะ การงานที่เว้น จากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฉ้อฉล, สัมมาอาชีวะ ดำรงชีพอยู่ตามคลองธรรม, สัมมาวายามะ พยายามที่ถูกต้อง คือ ระวังไม่ให้กิเลสเกิด ละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ทำศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดขึ้น และรักษาคุณความดีให้มีประสิทธิภาพเสมอ, สัมมาสติ ความระลึกที่ถูกต้อง คือ ระลึกตามสติปัฏฐาน ๔ (ที่นำปฏิบัติอยู่นี้), สัมมาสมาธิ ความสงบจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่เรียกว่า มรรค ๘ หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเอง 

เมื่อ ศีล สมาธิ มีบทบาทที่สำคัญในการเจริญวิปัสสนาแล้วทำไมจึงเอาปัญญาเป็นแกนนำเวลาปฏิบัติ เนื่องจาก รูป นาม หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นมรดกของกิเลส ใจอันประกอบไปด้วยกิเลส ต้องการรู้ภาพสีแสง ตาก็เนรมิตให้ ได้เห็น หูก็เนรมิตให้ได้ยินเสียง จมูกก็เนรมิตให้ได้กลิ่น ลิ้นก็เนรมิตให้ได้รส กายก็เนรมิตโผฏฐัพพะสัมผัสได้ ใจจึงได้อารมณ์สมประสงค์ ครั้นได้รับอารมณ์สมประสงค์ จึงเกิดความพอใจรักใคร่ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะดีจะชั่ว ใจก็สั่งสมเอาไว้ อยู่กับรูปกับนามอย่างกลมกลืน จึงหลงเข้าใจว่าเป็นตัวตนของเราจริง ๆ จัง ๆ ขึ้น การจะแยกความรัก โลภ โกรธ หลง ออกจากรูปนามที่ซ่อนเงื่อนงำเอาไว้ให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยอำนาจสมาธินั้นเป็นการยากเพราะกิเลสมีความแยบยลกลวิธีซับซ้อนมาก ชั้นเชิงสูง (มันเป็นยอดนักปลุกระดม) ถ้ามันเสนอะไรมามักเห็นชอบคล้อยทำตามอยู่ร่ำไป ความสงบตามไม่ทัน ขาดความคล่องตัว เหมือนกับดาบคมอยู่ในฝัก ฟันข้าศึกโดยทันทียังไม่ได้ 

ส่วนปัญญาชาญฉลาดที่เห็นสภาวะตามความเป็นจริง มีความคล่องตัวรู้เท่าทันกิเลสและกองทุกข์ ประดุจดาบคมอยู่นอกฝัก สามรถฟันข้าศึกกิเลสโดยทันทีได้เหมือนที่เราใช้สติสำรวมกำหนดกำหนดความยินดี ยินร้ายที่เกิดตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันดับไป ๆ มีเห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น นั่นแหละ ฉะนั้นจึงใช้ปัญญาเป็นแกนนำ ก็แหละปัญญาคือความรอบรู้สภาวะธรรมตรงตามความเป็นจริง ที่ว่าเป็นแกนนำนั้น ได้รู้อะไร เห็นอะไร มีประโยชน์อย่างไร 

คำว่าปัญญาในที่นี้ มิได้หมายความว่า พูดเก่ง ช่างจำ พูดได้มาก หมายถึง ปัญญาที่สามรถดับกิเลสและความทุกข์ทางใจ ที่รู้ว่าอะไร รู้สัจธรรม มีรูปนาม ขันธ์ ๕ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น ว่าไม่เที่ยงอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร ? มันไม่ใช่ตัวตนเราเขาอย่างไร ? ดังนี้จะได้ถอนความวิปลาสและอุปาทานได้ที่ว่าเห็นอะไร คือ เห็นอริยสัจ ๔ หรือพระไตรลักษณ์เมื่อเห็นแล้วได้ประโยชน์ในการละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง หรือราคะ โทสะ โมหะ เมื่อละกิเลสแล้วได้อะไร ได้พบสันติสุข คือพระนิพพาน ก็นิพพานดีอย่างไร ดีเพราะไม่มีทุกข์ กิเลสไม่รบกวน ไม่วุ่นวาย ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเดือดร้อน ไม่เป็นข้าทาสของกิเลส เป็นอิสระเสรี มีความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดร้อยรัดเสียดแทงหลุดพ้นด้วยประการทั้งปวง ฯ จะรู้สภาพธรรมนี้ได้เมื่อเข้าสู่ผลสมาบัติและนิโรธ 
กิเลสนั้นเหมือนตัวโรคภัยไข้เจ็บ ยาแก้โรคเหมือนปัญญาที่เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โรคภัยไข้เจ็บหายเหมือนกิเลสดับ 

วิปัสสนาปฏิปทา ที่นำมาสอนนี้ เขียนขึ้นเป็นบุพภาคเบื้องต้น เท่านั้น ยังไม่ละเอียด 

พอ แต่ก็พอหวังว่าหนังสือแนวปฏิบัติแบบมหาสติปัฏฐานสูตรเช่นนี้ ทางสำนักงานใหญ่ของกรวิปัสสนาธุระ มีพระเดชพระคุณพระธรรมะราชมหามุนี ป.ธ. ๙ (อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ) ได้รจนาไว้มากมาย พร้อมทั้งหนังสือที่ พระเดชพระคุณพระพรหมโมลี วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร ได้รจนาไว้หลายเรื่องเช่นกัน ถ้าหากจะพึงมีข้อเขียนประโยคไหนควรจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมโปรดแจ้งมายังผู้เขียนก็จะเป็นมหากุศลอันสูง 

อนึ่งกลไกในการใช้ปฏิบัติ เช่น "ความอยาก" หมายถึง อยากลุก อยากนั่ง อยากยืน อยากเดิน อยากนอนเป็นต้น เรียกกันว่าต้นจิต เพราะเหตุแห่งจิตอยากลุก กายจึงลุก เพราะจิตอยากนั่ง กายจึงนั่ง เพราะจิตอยากยืนกายจึงยืน เพราะจิอยากเดินกายจึงเดิน เพราะจิตอยากนอนกายจึงนอน อิริยาบถทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของจิต ความประสงค์ของจิตก็มีตัณหาเป็นผู้บงการกระตุ้นจนเกิดพลังผลักดันขึ้นในจิต จิตก็สั่งให้กายเคลื่อนไหว ฉะนั้น จึงต้องกำหนดที่ต้นจิต เพราะต้นสังกัดอยู่ที่จิต โดยมีสติกำหนดรู้เท่าทัน ตัณหาสมุทัยที่ชักใยอยู่ในจิต (ตัณหาในที่นี้หมายถึง ตัณหาที่ติดมากับขันธวิบากของรูปนาม) เช่น การลุกยืน ก็กำหนดว่าอยากลุกหนอ ๆๆ โดยสำรวมสติระลึกรู้ไว้ที่หทัยวัตถุ ดูปรากฏการณ์แห่งความอยากที่ทำให้ดิ้นรนบงการนั้น ๆ ครั้นรู้เห็นชัดเจนแล้ว อันดับต่อไปในขณะลุกก็กำหนดว่าลุกหนอ ๆ 

อนึ่งการกำหนดต้นจิตนี้เป็นของละเอียด ผู้ไม่เคยปฏิบัติตามวิธีนี้ก็จะเข้าใจว่าเพิ่มตัณหา แสวงหาตัณหา แท้จริงเป็นการดับตัณหาต่างหาก เช่น ขณะเดินจงกรมอยู่ ได้ยินเสียงเรียกว่า "คุณ ๆ หรือ ท่าน ๆ (ยังไม่ระบุชื่อ) ผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องกำหนดว่าได้ยินหนอ ๆๆ ไปเรื่อย ๆๆ แต่ใจก็อยากจะเหลียวดูว่า ใครเป็นผู้เรียก การที่อยากเหลียวดูตะหงิด ๆ นั้นแหละเป็นตัณหา โยคีบุคคลนั้นต้องกำหนดตัวตัณหาที่พาเหลียวนั้น โดยมีสติสำรวมระลึกอยู่อย่างมั่นคง ตรงจิตอยากเหลียวนั้น ว่าอยากเหลียวหนอ ๆๆ สักครู่ความอยากดูอยากเหลียวนั้นจะคลายตัว ความจำเป็นที่ว่าต้องเหลียวดูนั้นก็จะดับไป โดยเฉพาะถ้าตัณหาที่จรมาใหม่ โยคีบุคคลย่อมไม่พึงปราถนาอยู่แล้ว เช่น ความยินดี ความยินร้าย ที่เกิดจากการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส และเรื่องราวต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ใจไม่บริสุทธิ์ วุ่นวาย ไม่สงบ เมื่อสติรู้เท่าทันตามสถานที่เกิดมีที่ตา เป็นต้น มันก็ดับไปคงเหลือแต่สภาวะแห่งเหตุปัจจัยที่ไม่มีอกุศลปรุงแต่ง มีแต่สักว่า ได้เห็น ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส และเรื่องราวเกิดกับจิต เมื่อมีสติกำหนดรู้เท่าทันต้องเห็นดับไปแน่นอน ถ้าหากว่า เสียงทีเจาะจงชื่อผู้ปฏิบัตินั้นจำเป็นต้องเหลียว ก็เหลียวโดยมีสติสำรวมอินทรีย์ และโดยอาการอันสงบประกอบด้วย สติสัมปชัญญะรู้สึกตัวดีตลอดเวลาเหลียว กำหนดว่า "เหลียวหนอ ๆๆ" 

กรรมวิธีเจริญวิปัสสนา หรืออุปายโกศล ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดฉันทะ วิริยะ ให้ก้าวหน้าได้ผลแก่ผู้ปฏิบัติอย่างวิเศษนั้นมิได้นำมาบรรจุในข้อเขียนนี้โดยละเอียด เพราะการเพิ่มบทเรียนนี้ก็ดี การแก้ไขอารมณ์ให้ถูกต้องปราศจากอุปสรรคในการปฏิบัติก็ดี เป็นหน้าที่ของอาจารย์ผู้สามรถจะดูช่วงจังหวะที่เหมาะสมให้บทปฏิบัตินั้น ๆ แก่ศิษย์ผู้ตั้งใจจริง เกี่ยวกับเรื่อง "หนอ" สติปัฏฐาน ๔ ไม่มีหนอ ทำไมจึงเอาหนอมาใส่ สอนปฏิบัติแบบมหาสติปัฏฐาน เป็นต้น นับเป็นการเท็จไม่รู้ว่าเอามาทำไม รำคาญใจเปล่า ๆ โปรดเข้าใจว่า เพราะเป็นของนับเนื่องเข้ากันได้และดี ที่ผู้เป็นอริยะใจประเสริฐใช้มาแล้ว 

การปฏิบัติธรรมตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีคำว่าหนอ ประกอบการปฏิบัติ (ที่ดำเนินอยู่นี้) แม้จะไม่มีในสติปัฏฐานก็ตาม แต่สติปัฏฐานอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติคือ กายเวทนา จิต ธรรม นั้นก็เป็นเพียงพื้นฐานสติอาศัยเกิด และเจริญขึ้น เหมือนพืชพันธ์ธัญญาหาร ที่งอกงามขึ้นเพราะ อาศัยแผ่นดิน น้ำ อุตุอากาศ สติที่นำมาเป็นเครื่องกำหนดรู้ ย่อมนำศีล สมาธิ ปัญญา เจริญขึ้นก็ฉันนั้น พร้อมกันนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงมิให้ยึดถืออะไร ๆ ในกาย เวทนา จิต ธรรม และนำให้อภิชฌา และโทมนัส ออกเสียทุกแห่ง พร้อมกับให้ละตัณหาความทะยานอยากได้ พอใจ ออกจากกาย เวทนา จิต ธรรม รวมทั้ง ตาหู จมูกลิ้น กาย ใจ เป็นต้นด้วย 

ส่วนคำว่า "หนอ" ซึ่งเพิ่งรวมเข้ามาและรวมกับสติ ในการกำหนด ก็เพื่อให้การกำหนดนั้น ชัดเจนและมีน้ำหนักในการกำหนด เหมือนการใช้กระแสไฟฟ้ากันมาก กำลังไฟตก เมื่อเราใช้หม้อแปรงไฟฟ้าเพิ่มไฟก็สว่างชัดเจนดีฉันใดก็ฉันนั้น หรือเหมือนกับการใช้คำพูดว่า ครับผม ครับ ค่ะ เจ้าค่ะ เวลาฟังผู้มีการศึกษาอบรมดี พูดกันถามตอบกัน เช่นไปไหน เจ้าคะ ไปไหนครับผม ฯลฯ ฟังแล้วความซึ้งมันเกิดขึ้นดีกว่าไปเฉย ๆ การกำหนดสติมีหนอด้วย ก็ทำให้เกิดความซึ้งความชัดเจนก็ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง คำว่าหนอนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ล้วนมีแต่ความหมายไปในทางกุศล ทั้งนั้น คือเป็นคำปลงธรรมสังเวชบ้าง เช่น ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ฯลฯ เป็นคำอุทานบ้าง เช่น พระพุทธเจ้าเปล่งขึ้นด้วยอำนาจธรรมปีติว่าอัญญาโกญฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ ซ้ำ ๆ (ในธรรมจักรกัปปวัตนสูตร) เป็นคำปลงกรรมฐาน เช่น สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ (พระสงฆ์พิจารณาเวลาบังสกุล) พระอินทร์ พระพรหม ยมยักษ์ อสูร ฯลฯ กล่าวขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็นต้น 

และเป็นคำรำพึงเพื่อความเจริญ ความไม่ตกต่ำ เช่น จะทำอย่างไรหนอ …….ให้เรียนเก่งบ้าง เลิกเทียว เลิกดื่มสุรา เลิกมั่ว….. เลิกอบายมุข ดังกล่าวมานี้ล้วนแต่มุ่งฝ่ายกุศล ถ้าคนประกอบทุจริต จะไม่มีหนอร่วมรายการเลย ถ้ามีหนอร่วมในการกำหนดด้วย ย่อมทำให้การปฏิบัติได้รับผลอย่างงดงาม เหมือนคนรักสวยรักงาม สวมแหวนที่มีทับทิม เพชรนิลจินดา ประดับที่หัวแหวนย่อมดูงดงาม ฉะนั้นการที่ปราชญ์นำหนอมาจากพระไตรปิฎกหลาย ๆ แห่ง มาประกอบการกำหนดนั้น นับเป็นความฉลาดเหมือนช่างที่จัดสรรนำ ทับทิมและเพชร พลอย มาประดับไว้ที่หัวแหวนดูเหมาะสมงดงามดีฉะนั้น 



**** ท่านผู้พิพากษาท่านกล่าวเล่นระหว่างเพื่อน ๆ ว่า บนบัลลังก์ กูนั่งอย่างสง่า บนรถเมล์ กูวางท่าหน้ายู่ยี่ บนบัลลังก์ กูสั่งได้ทุกคดี ในรถเมล์เด็กกระเป๋าชี้ เดินข้างใน 



เกิด แล้วต้องมุ่งมั่น ทำดี 
แก่ จักไม่เสียที เปล่ารี้ 
เจ็บ ใจไม่สุข เพราะประมาท 
ตาย ก่อนตายเช่นนี้ บ่งชี้สงกา 


ตายก่อนตายมี 2 ความหมาย คือ 

๑. ตายก่อนตาย ได้แก่ ตายจากความดี คือผู้ประมาทเหมือนคนตายแล้ว นี้ตายไม่ดี 
๒. ตายก่อนตาย ได้แก่ เจริญมรณานุสสติ นึกถึงความตายที่มีอยู่กับตนเสมอ ชื่อว่าไม่ประมาท ฉลาดในกุศลธรรมทั้งหลาย กาย วาจา ใจ จักสะอาดบริสุทธิ์ นี้ตายดี

ลัทธิ ูน่าเกลียดนั้น ตรองดู 
ประจบ อันท่านเลิศหรู เลิศล้ำ 
สอพลอ ที่หวานหู ร้ายยิ่งนักแฮ 
ผู้อื่น สัมผัสแล้วช้ำ เช่นนี้ ถ่อยคน 



คนชั่วทั่วโลกหล้า ดูเจริญ 
มีทุจริตการเงิน เอ่ยอ้าง 
เขาหมกเม็ดไม่เขิน เมินถูกต้องนา 
แข็งเท่าแข็งเงินจ้าง อ่อนได้ด้วยดี 

ูโลภขึ้นสมองมืดหน้า ใจไหว 
ไม่ว่าอาชีพของใคร เอ่ยอ้าง 
หมกเม็ดเฉดวิสัย ทิ้งหมด 
แข็งท่าแข็งเงินง้าง อ่อนได้ด้วยดี 


อันปัญหาละโมบนั้น ไม่หาย 
บุญบาปหมดความหมาย กล่าวอ้าง 
ศีลธรรมถูกทำลาย ไปหมด 
แข็งท่าแข็งเงินง้าง อ่อนได้ ดังใจ 


ไม่ควรอาลัยกิเลสสิ้น ทั้งผอง 
กิเลสมุ่งหมายปกครอง ยึดไว้ 
จักทำกุศลใดมอง มัวมืด มนต์นา 
อุตส่าห์ข่มใจไซร้ จักได้ สุขี 



อดทนต่อกิเลสไซร้ เป็นดี 
เพราะกิเลสตัวอัปปรีย์ ชั่วช้า 
ถ้าไม่กำจัดหนี เหินห่าง ไกลนา 
เราจักหมกไหม้อ้า ทุกข์ร้อน ในอเวจี 

อธิบายเหตุให้พระสัทธรรมอันตรธาน 
--------------------------------------------------------------------------------
ในบรรดาเหตุให้พระสัทธรรมอันตรธาน ๕ ประการ นั้น 
ประการที ๑ คือ พวกภิกษุเรียนรู้พระปริยัติธรรมผิดพลาด คือ รู้ไม่ดี 
ประการที่ ๒ คือ ภิกษุเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ไม่ทรหดอดทน ไม่รับโอวาทโดยเคารพ 
ประการที ๓ คือ พวกภิกษุที่เป็นพหูสูต เรียนจบหลักสูตรแล้ว ไม่รับหน้าที่เป็นชนครุสอนพระปริยัติธรรม 
ความบกพร่องของภิกษุทั้ง ๓ ประการนี้เป็นเหตุปัจจัยทำให้พระปริยัติธรรมอันตรธาน 
ประการที่ ๔ คือ พวกภิกษุระดับพระเถระ คือ พระผู้หลักผู้ใหญ่เป็นผู้มักมากในปัจจัยลาภ ย่อหย่อนอ่อนแอทางสิกขาวินัย สนใจแต่ในทางสะสมนิวรณกิเลส ทอดะระในทางเจริญธรรมกรรมฐาน ไม่ลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุถึงมรรคผล และนิพพาน นี้เป็นเหตุปัจจัยให้พระปฏิปัตติสัทธรรมอันตรธาน เมื่อพระปฏิปัตติสัทธรรมอันตรธานแล้ว พระปฏิเวธสัทธรรมก็เป็นอันตรธานไปด้วย 
ประการที่ ๕ คือ ภิกษุสงฆ์แตกสามัคคีกันเป็นเหตุปัจจัยให้ชาวโลกสิ้นความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อชาวโลกหมดความเชื่อถือ ไม่ช่วยอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์แล้ว ภิกษุบริษัทก็ดำรงอยู่ไม่ได้ จึงเป็นอันพระพุทธศาสนาอันตรธานสาบสูญไปจากโลกด้วยเหตุ ๕ ประการ ตามที่พระพุทธองค์ทรงประทานเป็นพุทธโอวาทไว้ให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้. 


อธิบายเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ 
--------------------------------------------------------------------------------
การที่เราเหล่าพุทธบริษัทจะเทิดทุนรักษาไว้ซึ่งพระบวรพระพุทธศาสนานั้น ก็จำเป็นต้องดำเนินตามหลักพระพุทธโอวาท ๕ ประการ อันเป็นเหตุให้พระสัทธรรมศาสนาดำรงอยู่ ไม่ฟั่นเฝือ ไม่อันตรธานสาบสูญ ตั้งต้นแต่ช่วยกันยกย่องประคับประคองพระไตรปิฎก ๘,๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คือ ที่เป็นภิกษุสามเณรหนุ่มก็มุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก ไม่ให้วิปริตผิดเพี้ยน ที่เป็นคฤหัสถ์ก็ชวยอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนโดยสมควรแก่สติปัญญา ที่เป็นพระเถระผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่มักมากในปัจจัยลาภ ไม่ย่อหย่อนในสิกขาวินัย ไม่สนในทางสะสมนิวรณกิเลส ลงมือทำความเพียรเจริญธรรมกรรมฐาน เพื่อให้บรรลุมรรคผลและนิพพานเป็นสุด เมื่อการปฏิบัติเช่นนี้ หมู่ภิกษุบริษัทก็จะเป็นสีลสามัญญตา คือมีความคิดความเห็นที่สอดคล้องต้องกัน ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าพวกภิกษุสงฆ์มีความสามัคคีกัน เมื่อภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติดีมีความสามัคคีกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะมีการปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทเป็นสมุฏฐานฉะนี้แล้ว มหาชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้นโดยลำดับ ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะเกิดความเลื่อมใสโดยภิยโยยิ่ง ๆ ขึ้น เป็นอันว่าพระสัทธรรมศาสนาทั้ง ๓ ระดับนั้น จะดำรงอยู่ไม่ฟั่นเฝือ ไม่อันตรธานสาบสูญ ก็ด้วยเหตุที่พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ พากันปฏิบัติตามพระพุทธโอวาท ๕ สถาน ด้วยประการฉะนี้. 

ท่านสามารถ ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อสุภกัมมฐานก๊อก ก๊อก มีใครอยู่ข้างในบ้าง ได้ที่นี่ <= คลิค (คิดให้ดีก่อนที่จะศึกษาอสุภะกรรมฐาน)

>>

<<

!!