วิธีเพิ่มสมาธิ

Home

เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำสมาธิ

ในการทำสมาธิต้องทำจิตให้เป็นกลาง การปรับอินทรีย์ให้สมดุลจึงเป็นสิ่งจำเป็น
อินทรีย์คือความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนซึ่งมีอยู่ 5 ประการ

1. ศรัทธา ในการดำเนินไปของการทำสมาธิ สิ่งแรกเราต้องมีความเชื่อหรือศรัทธาในพระพุทธศาสนา เราต้องมีความเชื่อว่ากรรมมีจริง ซึ่งเป็นผลให้ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมเป็นผลจากการกระทำของเราทั้งในอดีตและปัจจุบัน เราต้องมีความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นจริง และเมื่อเราปฏิบัติตามก็จะทำให้เราลดความทุกข์ และที่สุดก็หมดทุกข์ได้ นอกจากความเชื่อในพุทธศาสนาว่ามีจริงแล้ว เรายังต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในใพระอาจารย์ผู้สอนพระกัมมัฏฐานให้ ว่าท่านเป็นผู้ชำนาญทางนี้โดยแน่แท้ และถูกต้อง ในแนวทางการสอนของท่านที่จะแนะนำให้เราพบความสำเร็จได้ในการทำสมาธิ

2. วิริยะ คือความเพียร เพียรในการปฏิบัติสมาธิ เพียรในการเดินจงกรม เพียรในการสวดมนต์ภาวนา ละความชั่วและทำในความดี การทำสมาธิเป็นหนทางยาวไกลที่ต้องทำทุกวันเพื่อเก็บสะสมพลังจิตจนถึงระดับ เพียงพอที่จะนำมาใช้งานได้ ณ จุดนี้เราต้องเชื่อว่าเราได้สะสมมาบ้างแล้วจากอดีต แต่เราต้องไม่ท้อแท้ ที่จะทำต่อไป และเราต้องคิดว่าเราใกล้ความสำเร็จไปแล้วทุกวันหากเราทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ

3. สตคือความระลึกรู้ สติเป็นธรรมที่รักษาสมาธิที่เราทำมา ให้เป็นตัวรู้ ว่าใครคือผู้รู้ เมื่อมีผู้รู้ เราก็จะเป็นผู้สามารถบัญชาการให้จิตไปทำงานเพื่อประโยชน์ของเรา การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 จึงเป็นการฝึกสติให้เข้มแข็งขึ้น

4. สมาธิ คือความตั้งมั่นในอารมณ์ มีความเป็นหนึ่ง ที่เราสามารถที่จะรวมกำลังสมาธิ เพื่อการใช้งานต่างๆได้ ในการสร้างฌาน สร้างญานความรู้ต่างๆ ได้

5. ปัญญา คือความรู้ ที่เกิดจากที่สมาธิและสติ เมื่อมีพอเพียง ปัญญาก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญญาที่จะใช้ในการงาน ในโครงการต่างๆ ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และในที่สุดเราจะเกิดปัญญาในไตรลักษณ์ หรือรู้เห็นว่าธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งว่าไม่เที่ยง เป็น อนิจจัง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ที่ไม่สามารถที่จะบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้

สรุป ในทางเดินแห่งการทำสมาธิ เราต้องปรับความเป็นใหญ่ทั้ง 5 ให้สมดุลย์ คือทำศรัทธากับปัญญาให้สมดุลย์ เช่นถ้าขาดปัญญาเราก็เชื่ออย่างงมงาย ขาดเหตุผล แต่ถ้าปัญญามากเกินไป เราเรียนรู้ก้าวไปมากกว่าประสบการณ์ความเป็นจริงของระดับจิตเรา เราก็เกิดความสงสัย และทำให้ขาดความศรัทธา และปฏิบัติไม่ลง ปฏิบัติไม่ได้ และเลิกไปในที่สุด ส่วนวิริยะกับสมาธิก็ต้องให้สมดุลย์กัน คือถ้าความเพียรมีน้อยไป ก็ไม่มีการปฏิบัติ เมื่อไม่มีการปฏิบัติจิตก็ไม่ก้าวหน้า แต่สมาธิเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราไม่สามารถใช้กำลังบังคับได้ บางครั้งอยากได้เร็วๆ ทำทั้งวันทั้งคืนก็ไม่เกิดสมาธิ แต่กลับเป็นความเครียดแก่ใจ และเกิดทุกขเวทนาแก่กายไป การปฏิบัติจึงต้องอาศัยการเดินสายกลาง วางใจให้สบาย ทำวันละพอสมควร สะสมไปทุกวัน จึงจะได้ผลดี บางครั้งเมื่อเราปฏิบัติสมาธิไปมากๆ สมาธิกลับเกิน   เอาแต่ดิ่งนิ่งไปเป็นอัปนาฌาน จิตสงบนิ่งเฉย มันก็ไม่เกิดปัญญา กลายเป็นที่เรียกกันว่าสมาธิหัวตอ ไม่สร้างสรรปัญญา หากเช่นนี้เกิดขึ้น เราก็ต้องสร้างสติ ให้ละลึกรู้ รู้เท่าทันในอารมณ์ต่างๆ แล้วสติปัญญาก็จะเกิดตาม การเจริญสติยิ่งทำมากยิ่งดี เพราะ สติเป็นตัวกลางที่ประสานได้ทุกธรรม เมื่อธรรมทั้ง 5 สมดุลย์กันการปฏิบัติก็จะได้ผลเร็วและก้าวหน้าได้ไว

Home