การแก้ทุกข์

ความทุกข์เป็นของแน่นอนที่ใคร ๆ ก็ต้องประสบด้วยกันทั้งนั้น  ยิ่งการทำวิปัสสนาด้วยแล้ว  ยิ่งจะต้องประสบกับความทุกข์มากขึ้น แต่ความทุกข์ของการเจริญวิปัสสนานั้น ต่างจากความทุกข์ของคนสามัญทั่วไปคือ  ความทุกข์ของการเจริญวิปัสสนา เป็นความทุกข์ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติออกจากความทุกข์ได้ ส่วนความทุกข์ของคนทั่วไปนั้น เกิดเพราะมีกิเลสตัณหา จึงแตกต่างกัน เมื่อเริ่มปฏิบัติด้วยการกำหนดจิตก็ดี กำหนดรูปกายหยาบก็ดี จะต้องประสบกับความทุกข์แน่นอนเช่น ปวดเมื่อย  มีความร้อนเหมือนถูกไฟเผา  ปวดเหมือนถูกทุบ เจ็บเหมือนถูกของแหลมเสียบแทง เหล่านี้เป็นต้น  เป็นอารมณ์ที่ผู้ปฏิบัติจะได้ประสบมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัญญา และการกระทำกรรมที่ดีไม่ดีของผู้ปฏิบัติ  ถ้าทำความชั่วมากทุกข์ก็มาก  ถ้ามีปัญญาดีก็ปล่อยวางได้เร็ว ถ้าโง่ก็ปล่อยวางได้ช้า ดังนั้นเมื่อประสบกับความทุกข์ ผู้ปฏิบัติก็ควรอดทนพยายามยกจิตขึ้นอยู่ให้สูงเสมอ ถ้าหากทุกข์มาก ๆ จนเกือบทนไม่ได้แล้ว ให้ผู้ปฏิบัติกลั้นลมหายใจไว้ในอก ก็จะละความทุกข์ได้ชั่วคราว เพราะจิตถูกเก็บไว้ภายใน ไม่สนใจทุกข์ แต่เมื่อขาดสติก็จะยึดทุกข์อีก  อีกวิธีหนึ่งก็คือ ขณะที่มีความทุกข์นั้นให้ผู้ปฏิบัติทำความรู้สึกให้เต็มหน้า ตั้งจิตไว้ระหว่างตาและทรวงอก ตั้งสติอุเบกขาทำความรู้สึกให้นิ่ง ก็จะเห็นการเกิดดับของจิต ให้ผู้ปฏิบัติปล่อยกระแสจิตให้ไหลไปตลอดกาย ความทุกข์ในกายก็จะค่อยดับไป คลายไปได้ในที่สุด ข้อสำคัญให้มีสติกับอุเบกขาอยู่ตลอดเวลา

หมายเหตุ

การปฏิบัตินั้น ถ้าผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติไปแล้วรู้สึกว่าเกิดความร้อนมีเหงื่อออกตามตัว จัดว่าการปฏิบัตินั้นอยู่ในขั้นดี เพราะความร้อนที่เกิดนั้นแสดงว่าจิตรวมตัวและเริ่มทำงานเผากิเลส แต่ถ้าเมื่อใดทำความเพียรแล้ว รู้สึกสงบเย็น แสดงว่าจิตนั้นได้พักผ่อนอยู่ในสมาธิ  อารมณ์นี้ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ แต่เป็นการให้จิตได้พักผ่อนอยู่ในวิหารธรรมเท่านั้น ถ้าเมื่อใดปฏิบัติแล้ว ฟุ้งบ้าง ง่วงบ้าง ว่างไม่รู้สึกตัวบ้าง เหล่านี้เป็นอารมณ์ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบแก้ไขหาครูบาอาจารย์ และกัลยาณมิตรที่ดีไว้ สำหรับปรึกษา หาวิธีที่ดีและแยบคายในการปฏิบัติต่อไป ควรระวังความยินดียินร้ายในอารมณ์ให้มาก เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ถ้ายินดีสมาธิเคลื่อน ฟุ้งง่าย ถ้ายินร้ายในอารมณ์ที่ไม่ดีจะทำให้จิตไม่ปลอดโปร่ง แก้ปัญหาไม่ตกดับทุกข์ไม่ได้