เอล อลาเมน
(EL ALAMEIN)
ปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ของ Afrika Korp ของกองทัพเยอรมัน ขณะกำลังยิงใส่เป้าหมาย  สมรภูมิในทะเลทราย ว่ากันว่า เป็นสมรภูมิของนักรบสุภาพบุรุษที่แท้จริง เพราะเป็นการต่อสู้ที่กล้าหาญ ไม่มีพลเรือนเข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบกับภูมิประเทศที่โล่งแจ้ง การรบจึงเป็นการรบแบบเผชิญหน้า แบบใครดีใครอยู่
   เมื่อ นายพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ผู้มีฉายาจิ้งจอกทะเลทราย ได้รับมอบหมายจากฮิตเลอร์ให้นำกองทัพแอฟริกา (Afrika Corp) บุกเข้าไปในแอฟริกา กองทัพพันธมิตรในขณะนั้นอ่อนแอ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่า รวมทั้งมีขวัญกำลังที่ต่ำกว่าทหารนาซีของรอมเมลเป็นอย่างมาก ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวน ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างมากมาย จนกระทั่งมาถึงการรบที่เอล อลาเมน รอมเมลยึดเอล อลาเมนได้ แต่เนื่องจากสุขภาพของเขาไม่สู้ดีนัก ประกอบกับอังกฤษได้นายพลที่มีความสามารถทัดเทียมกับฝ่ายเยอรมันนั่นก็คือนายพลมอนทโกเมอรี่ (Montgomery) ผู้มีฉายาว่า หนูทะเลทราย การรบที่เอล อลาเมน ครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ฝ่ายอังกฤษนั้นประกอบกำลังจาก อังกฤษ และทหารจากเครือจักรภพ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝ่ายเยอรมันมีทหารอิตาเลียนร่วมด้วย แต่ประสิทธิภาพของทหารอิตาเลียนนั้นยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ เพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่าฝ่ายพันธมิตร อีกทั้งมีขวัญและกำลังใจที่เปราะบาง ฝ่ายอังกฤษนั้นมีทหาร 150,000 คน รถถัง 1,114 คัน และปืนใหญ๋อีก 2,182 กระบอก บวกกับเครื่องบินขับไล่อีก 500 ลำ และเครื่องบินทิ้งระเบิดอีก 200 ลำ ส่วนฝ่ายเยอรมันนั้น มีอาวุธที่ร่อยหรอลงไปมาก นายพลสตุมม์ (Stumme) ผู้ซึ่งรับหน้าที่ในขณะที่รอมเมลบินไปพักรักษาตัวที่เยอรมัน มีกำลังที่น้อยมาก เพราะเส้นทางลำเลียงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถูกเรือรบอังกฤษขัดขวางอยู่ตลอดเวลา อาศัยว่ากองทหารเยอรมันของรอมเมลเป็นกองทหารที่มีวินัย มีจิตใจรุกรบ และมีประสบการณ์จึงสามารถต่อกรกับฝ่ายพันธมิตรได้ อย่างไรก็ตามมรการคาดกันว่า ถ้ากองทัพแอฟริกาของรอมเมลมีอาวุธที่เท่าเทียมกับฝ่ายอังกฤษ โฉมหน้าการรบที่เอล อลาเมนคงจะมีบทสรุปที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

    เวลา 21.40 น. ของวันที่ 23 ตุลาคม 1942 ปืนใหญ่ของอังกฤษกว่าหนึ่งพันกระบอกเปิดฉากยิงถล่มใส่แนวของฝ่ายเยอรมันและอิตาลี
   ทหารอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ เปิดฉากโจมตีหลังจากปืนใหญ่สงบเสียงลง วันที่ 24 ตุลาคม นายพลสตุมม์ หัวใจวายตาย จอมพลรอมเมลกลับมารับหน้าที่ในวันที่ 25 ตุลาคม แม้ว่าในขณะนั้นเยอรมันขาดแคลนทุกอย่างทั้งปืนใหญ่ น้ำมันที่ใช้กับยานเกราะ และที่สำคัญคือขาดแคลนกำลังทางอากาศอย่างมาก แต่กองทัพแอฟริกาของรอมเมลก็สู้อย่างสมศักดิ์ศรี รอมเมลปรากฏตัวอยู่ในแนวหน้าหลายครั้งพร้อมๆกับทหารของเขา บุคคลิกแห่งความเป็นผู้นำของเขาได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการทหารไว้อย่างน่าสรรเสริญ ทำให้เยอรมันตรึงแนวไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่มอนทโกเมอรี่ของอังกฤษทุ่มเททุกอย่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นกำลังยานเกราะ และทหารราบ เข้าสู่แนวของเยอรมันอย่างหนักหน่วง และทหารราบนี่เองที่เปิดทางให้กับรถถังเจาะทะลุแนวต้านทานของเยอรมันได้ในที่สุด แม้ว่าจะต้องสูญเสียอย่างหนักก็ตาม ตัวอย่างเช่น กองพลน้อยยานเกราะที่ 9 ของอังกฤษรุกเข้าไปสู่แนวต่อต้านรถถังของเยอรมัน ทำให้ต้องสูญเสียรถถังไปถึง 87 คัน คิดเป็น 75 เปอร์เซนต์ของกำลังทั้งหมดของหน่วย 
  
    การรบของรถถังที่ยิ่งใหญ๋เกิดขึ้นที่ เทล เอล อะคาเคอ (Tel El Aqqaqir) และในคืนของวันที่ 4 พฤศจิกายน กองทัพที่ 20 ของอิตาลี ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ปีกซ้ายของกองทัพเยอรมันแตก มีช่องว่างอยู่ 12 ไมล์ รอมเมลไม่มีน้ำมันสำหรับรถถังของเขา ไม่มีกำลังสำรองที่จะไปอุดช่องโหว่นั้น แต่เขาก็สามารถถอนทหารของเขาออกไปอย่างมีระเบียบ และสูญเสียน้อยมาก เพราะมอนทโกเมอรี่มัวแต่กังวลที่จะรุกต่อไป และกองทัพอากาศอังกฤษก็ขาดการโจมตีในระดับต่ำ ทำให้อังกฤษสูญเสียโอกาสในการทำลายกองทัพแอฟริกาของรอมเมลไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับยอดผู้เสียชีวิตนั้น เยอรมันเสียชีวิต 10,000 คน บาดเจ็บ 15,000 คน ฝ่ายอังกฤษเสียชีวิต 13,500 คน รถถังกว่า 500 ถูกทำลาย ถึงแม้รอมเมลจะประสบกับความพ่ายแพ้ แต่ความกล้าหาญและความเป็นอัจฉริยะในสนามรบของเขาก็ได้รับการกล่าวขานไปอีกนานเท่านาน
กลับหน้าหลัก