วิถีสันติภาพของโลกแนวพุทธ

(ย่อเนื้อหาของคำบรรยายเพื่อใช้เป็นแนวทางของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน)

My.สันติภาพ ๔ หน้า

"สันติภาพ" แปลว่า ความสงบ. สันติภาพหรือความสงบนั้นมีหลายด้าน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความสงบสุขทางจิตใจ(ใจ) และความสงบสุขของมวลมนุษย์ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับความทุกข์และความไม่สงบสุข.

ความสงบสุขทางจิตใจนั้น เป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถสัมผัสได้เมื่อมีความรู้และความสามารถในการบริหารจิตใจแนวพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยากเลย. ที่รู้สึกว่ายากเพราะศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมไม่ตรงประเด็น.

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสสอนอนุปุพพิกถา(อารัมภบท)แล้วต่อด้วยอริยสัจ ๔ อย่างง่าย ๆ และตรัสสอนโดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ตรัสสอนบนถนน ที่บริเวณริมทาง ใต้ต้นไม้ เป็นต้น. ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ พร้อมทั้งเข้าใจและจดจำไว้ได้ตามสมควรก็ถือว่า เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม(พระโสดาบัน).

ครั้นผู้มีดวงตาเห็นธรรมแล้วนำไปฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันตามวิธีการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนได้อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดความสงบสุขทางจิตใจหรือความบริสุทธิ์ผ่องใสของจิตใจทันที.

จากประสบการณ์ตรงเรื่องอริยสัจ ๔ แบบปัจจุบันธรรมของผู้นำเสนอ พบว่า อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องง่าย เรื่องใกล้ตัว คนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจโดยใช้เวลาสั้น ๆ เพราะเข้าใจได้ง่าย เปิดเผย ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ เลย. ถ้าท่านได้ทดลองศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่นำเสนอ ท่านจะพบกับความจริงว่า เป็นเรื่องไม่ยาก ใกล้ตัว เหมือนหญ้าปากคอก และสามารถทำให้เกิดความสงบสุขของจิตใจได้ในชีวิตประจำวันนี่เอง.

เมื่อท่านพบกับความจริงเช่นนี้ แล้วช่วยกันบอกต่อ ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง และถ้าสามารถเผยแพร่ออกไปในนานาชาติได้ มวลมนุษย์ก็จะได้มีโอกาสศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ มากขึ้น เป็นผลให้มีความสงบสุขอย่างกว้างขวาง และโลกก็จะมีสันติภาพมากขึ้น.

 

ความสงบสุขเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อใดที่ใจคิดอกุศล ย่อมทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นผลให้ตนเองและหรือผู้อื่นไม่มีความสงบสุข.

เมื่อใดที่ใจคิดแต่กุศล ย่อมทำให้ไม่เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น ขณะเดียวกัน จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นผลให้ตนเองและหรือผู้อื่นมีความสงบสุข.

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว กล่าวคือ เมื่อใจคิดดี(กุศล) การกระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมดี(กุศล) เมื่อใจคิดชั่ว(อกุศล) การกระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมชั่ว(อกุศล)และเป็นทุกข์ไปด้วย.

ดังนั้น คนเราจะทำดีหรือชั่วนั้น เกิดจากความคิดนี่เอง. ถ้าเราควบคุมความคิดไม่ให้คิดอกุศลและให้คิดแต่กุศลได้ การกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นแต่กุศลเท่านั้น หรือทำให้เกิดความสงบสุขที่แท้จริง เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง.

เมื่อมีสติคอยบริหารจิตใจ ไม่ให้คิดอกุศลและให้คิดแต่กุศลเท่านั้น ย่อมทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธศาสนาหรือโอวาทปาฏิโมกข์.

 

วิธีบริหารหรือดูแลจิตใจ

การรู้ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าวนั้น ใคร ๆ ก็รู้ แต่วิธีการดูแลจิตใจให้ละอกุศลและทำแต่กุศลเพื่อให้จิตใจมีความสงบสุขนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีวิธีการและไม่ฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ย่อมทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความสงบสุขและความบริสุทธิ์ผ่องใสของจิตใจ.

วิธีบริหารจิตตามแนวพุทธนั้นง่าย แต่ต้องพึ่งพาสติปัญญาทางธรรมและความเพียรของตนเอง กล่าวคือ ต้องเพียรศึกษาอริยะสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง.

การปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ คือการเจริญกรรมฐาน จะเหลือเพียง ๒ องค์ประกอบหลัก ดังนี้ :-

๑. ฝึกเจริญสมาธิ(สมถกรรมฐาน) เพื่อฝึกมีสติในการหยุดความคิด พักสมอง และพักร่างกาย.

๒. ฝึกเจริญสติ(วิปัสสนากรรมฐาน) เพื่อฝึกมีสติในการศึกษาธรรม ร่างกาย จิตใจ และฝึกควบคุมจิตใจ ไม่ให้คิดอกุศลและให้คิดแต่กุศลจนเป็นนิสัย หรือฝึกให้คิดและทำตามโอวาทปาฏิโมกข์..

การฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันประกอบด้วยการฝึกเจริญสมาธิและฝึกเจริญสติสลับกันไป เพื่อให้เกิดการดูแลจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง.

 

วิธีเจริญสมาธินั้นง่ายนิดเดียว

ขอให้กำลังใจว่า วิธีเจริญสมาธิเพื่อการดับกิเลสและกองทุกข์นั้น เป็นเรื่องง่ายและเป็นเรื่องใกล้ตัว. ท่านสามารถฝึกเจริญสมาธิเป็นภายในเวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ขอเพียงให้ลงมือฝึก ดังต่อไปนี้ :-

ให้ฝึกในท่านั่งหรือนอนก็ได้ ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล.

ให้ตั้งเจตนาว่า จะมีความตั้งใจ(มีสติ) และมีความเพียร ในการฝึกเจริญสมาธิ ดังนี้ :-

ข้อที่ ๑. มีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูก ซึ่งเป็นกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว โดยไม่คิดเรื่องอื่นใด

ข้อที่ ๒. ระงับการเคลื่อนไหว ข้อที่ ๓. ไม่ต้องบริกรรม

ข้อที่ ๔. เมื่อเผลอสติหรือมีสติรู้ว่าฟุ้งซ่าน ก็ให้รีบกลับมามีสติอย่างเดิม.

วิธีฝึกปฏิบัติ: ให้นั่งในที่ปลอดภัย นั่งตัวตรง ตัวไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ศรีษะตั้งตรง เก็บคาง กล้ามเนื้อทั้งตัวผ่อนคลาย ไม่เกร็ง เพื่อป้องกันการเมื่อยล้าและปวดเมื่อย.

ให้ตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไปเราจะฝึกเจริญสมาธิ โดยพยายามมีสติ(ใจจดจ่อ)อยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกอย่างต่อเนื่องเพียงกิจเดียว(เอกัคคตา) ไม่สนใจเรื่องอื่นใด และไม่คิดเรื่องอะไรเลยเป็นเวลาประมาณ ๑ - ๒ นาที.

ให้เริ่มต้นฝึกด้วยการหายใจเข้าออกแรงและลึก(หายใจยาว)ตามสมควร คล้ายกับการถอนหายใจ หรือแรงพอที่จะรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกได้ชัดเจนขึ้น แต่อย่าแรงมากเกินไปจนคนข้างเคียงสังเกตได้ พร้อมกับมีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียวอย่างต่อเนื่อง. เมื่อฝึกครบตามกำหนดเวลาแล้ว ให้ออกจากสมาธิ.

ฝึกขั้นต่อไป: ให้หลับตาเช่นเดิม พร้อมกับตั้งใจ(มีสติ)รับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียว โดยการหายใจเข้าออกแรงและลึกประมาณ ๓ - ๔ ครั้ง หลังจากนั้น ก็ผ่อนความแรงของการหายใจมาเป็นกลาง ๆ แล้วผ่อนลงมาอีกจนเป็นการหายใจตามปกติประมาณ ๓ - ๔ ครั้ง.

ตลอดเวลาที่ฝึก ให้พยายาม(เพียร)มีสติหรือมีจิตใจจดจ่ออยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกอย่างต่อเนื่อง. เมื่อฝึกครบตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ก็ให้ออกจากสมาธิ.

ฝึกขั้นต่อไป: ให้หลับตาเช่นเดิม พร้อมกับตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไปเป็นเวลาประมาณ ๓ - ๔ นาที เราจะฝึกมีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว คือ ฝึกมีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเช่นเดิม โดยไม่ไปคิดเรื่องอื่นใดเลยหรือไม่คิดฟุ้งซ่าน เพื่อปล่อยวางจากทุกเรื่องในโลกนี้.

อย่าเพ่งสติหรือตั้งใจจนมากเกินไป เพราะจะทำให้เครียด และอย่าน้อยเกินไปเพราะจะทำให้หลับ ควรตั้งใจแต่เพียงพอดี ๆ. เมื่อฝึกครบตามกำหนดเวลาแล้ว ก็ให้ออกจากสมาธิ.

ฝึกขั้นต่อไป: ให้ฝึกเจริญสมาธิในขณะลืมตา โดยตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไป เราจะฝึกเจริญสมาธิในขณะลืมตามองต่ำลงจากระดับปกติประมาณ ๔๐ - ๕๐ องศา หรือมองเฉียงลงตามสมควรเป็นเวลาประมาณ ๑ - ๒ นาที. เมื่อครบตามกำหนดเวลาแล้ว ก็ให้ออกจากสมาธิ.

ฝึกขั้นต่อไป: ให้ท่านเปิดวิทยุทิ้งไว้ เพื่อให้มีเสียงรบกวนเกิดขึ้น แล้วหลับตาเช่นเดิม พร้อมกับตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไปเป็นเวลาประมาณ ๒ - ๓ นาที เราจะฝึกเจริญสมาธิโดยมีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียว โดยไม่คิดเรื่องอื่นใดและไม่คิดฟุ้งซ่าน ถึงแม้ว่าจะมีเสียงรบกวนจากวิทยุ.

เมื่อครบตามกำหนดเวลาแล้ว ให้ฝึกเจริญสมาธิในขณะลืมตาท่ามกลางเสียงรบกวนเป็นเวลา ๒ - ๓ นาที เสร็จแล้วจึงออกจากสมาธิ.

ท่านควรฝึกเจริญสมาธิช่วงสั้น ๆ ที่หน้าโทรทัศน์ ขณะทำงาน ขณะประชุม และขณะอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แต่ต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยด้วย.

ฝึกขั้นต่อไป: เป็นการฝึกเจริญสมาธิให้ตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ โดยการดิ่งสติไปรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกในวินาทีที่ต้องการ.

ให้ตั้งเจตนาว่า ทันทีที่ลงมือฝึกเจริญสมาธิจะมีสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกทันที และไม่คิดเรื่องใด ๆ เลยในเสี้ยววินาทีนั้น.

ให้ฝึกในขณะลืมตา ขณะมีเสียงรบกวน ฝึกในสถานที่ต่าง ๆ ที่ปลอดภัย รวมทั้งฝึกหน้าโทรทัศน์ และฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีความมั่นใจว่าทำได้แน่นอน.

 

วิธีฝึกเจริญสตินั้นง่ายนิดเดียว

วิธีฝึกเจริญสติ คือ ฝึกมีสติในการศึกษาร่างกาย จิตใจ และหลักธรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มข้อมูลด้านธรรมหรือกุศลในความจำ แล้วมีสติใช้ข้อมูลหรือความรู้ดังกล่าวทำการรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ ดังนี้ :-.

ให้ฝึกเจริญสติได้ทุกเวลา และสถานที่ จนเป็นนิสัย.

ข้อที่ ๑. มีสติรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์

ข้อที่ ๒. มีสติศึกษาธรรม ทบทวนธรรม และแก้ปัญหาด้วยธรรม

ข้อที่ ๓. ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน.

ฝึกตามข้อที่ ๑: ตั้งเจตนาว่า จะมีสติรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์. หลังจากนั้นก็พยายามมีสติดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศลอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดที่รู้ตัวว่าคิดฟุ้งซ่าน ก็ให้รีบกลับมามีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ หรือเมื่อใดรู้ตัวว่าคิดอกุศลหรือคิดเรื่องอื่นใดที่ไม่ต้องการคิดก็ให้ระงับความคิดนั้น ๆ ทันที และกลับมามีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ พร้อมทั้งควบคุมจิตใจให้คิดแต่กุศลเท่านั้น.

ฝึกตามข้อที่ ๒: ให้มีสติในการพิจารณาธรรม ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาธรรม ทบทวนธรรม และแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมจนเป็นนิสัย.

ฝึกตามข้อที่ ๓: ใช้สติปัญญา(ความรู้และความสามารถ)ทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน.

 

สรุป

ความไม่สงบ(ความทุกข์)ทางจิตใจนั้น เกิดจากการคิดอกุศล(สมุทัย) เป็นผลให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น. เมื่อไม่คิดอกุศล ก็จะไม่เกิดความทุกข์(นิโรธ) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญกรรมฐาน(เจริญสติและเจริญสมาธิสลับกันไป)ในชีวิตประจำวัน(มรรค)เพื่อให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์นี่เอง.

เมื่อท่านปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติและเจริญสมาธิสลับกันไปในชีวิตประจำวัน ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย แต่ต้องอาศัยความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน. เมื่อท่านสัมผัสกับความสงบสุขได้แล้ว ก็ขอได้โปรดบอกต่อจากประสบการณ์ตรงของท่านเอง เพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นวิถีทางง่าย ๆ ที่จะก่อให้เกิดสันติภาพของโลกมากขึ้นด้วยตัวของท่านเอง.

 

หมายเหตุ: ท่านที่สนใจจะศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้จากหนังสือ เทป หรือไปฟังการบรรยายของผู้นำเสนอ กรุณาดูรายละเอียดได้ที่ www.oocities.org/satipanya และ www.se-ed.net/satipanya สำหรับปี ๒๕๔๕-๔๖ มีการบรรยายสำหรับประชาชนในกทม. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โปรดสอบถามได้ที่โทร. ๐๒ ๒๐๑ ๑๑๓๑ และ ๐๒ ๒๔๕ ๗๘๗๗ และที่พุทธสมาคมฯ โปรดสอบถามได้ที่โทร. ๐๒ ๒๘๑ ๙๕๖๓.