นรินทร์(กลึง) ภาษิต
นรินทร์(กลึง) ภาษิต > ชีวประวัติ
 
  ชีวประวัติ
  งานหนังสือ
  ในความคิดของคนอื่น
เกิด

นายนรินทร์ เดิมมีชื่อว่า กลึง เกิดในครอบครัวชาวสวน คลองบางขวาง จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

เรียน

ได้เล่าเรียนหนังสือที่วัดพิชัยญาติ ก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณร

งาน

บวชเณรไม่ทันครบปีก็ลาสิกขาออกมารับราชการเป็นเสมียน การงานก้าวหน้าตามลำดับจนได้รับตำแหน่งนายอำเภอ ที่จังหวัดชลบุรี

ด้วยความที่เป็นคนเก่ง ตำแหน่งการงานก้าวหน้า บรรดาศักดิ์ที่ได้รับครั้งแรกก็คือ เป็นหลวงศุภมาตรา

ความที่เป็นเอาจริงเอาจังในการงาน และเป็นคนซื่อสัตย์เถรตรงอย่างยิ่ง ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระพนมสารนรินทร์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครนายก

แต่ด้วยความเป็นคนตรงอย่างยิ่ง เป็นคุณพระอยู่ได้ไม่นาน ก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ เพราะมีเหตุขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา ขณะนั้นอายุได้ ๓๕ ปี

ในยุคนั้น ปัญญาชนส่วนใหญ่ล้วนให้ความสนใจกับตะวันตก ทั้ง ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ แต่นายนรินทร์กลับให้ความสนใจกับภูมิธรรมตะวันออกดั้งเดิม โดยหันไปศึกษาพุทธธรรมอย่างจริงจัง และได้ก่อตั้งพุทธบริษัทสมาคมขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยมีจุดมุ่งหมายรื้อฟื้นพุทธธรรมแท้ให้กลับมาสู่พุทธบริษัทในสยามอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้เขายังออกหนังสือ "สารธรรม" และ "โลกกับธรรม" เป็นเวทีเผยแพร่ความคิดและทัศนะความเห็นของตนและพรรคพวก ต่อสาธารณชน ไม่นานก็ออกหนังสืออีกเล่ม "ช่วยบำรุงชาติ" ชื่อตรงไปตรงมาดังอุปนิสัยของเขา และได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ถึงขนาดที่ว่าต้องเดินเข้าออกคุกอยู่บ่อยครั้ง

ความคิดเห็นของเขาที่ถือว่าก้าวหน้า แต่เป็นที่ขวางโลกในยุคนั้นก็คือ การโจมตีค่านิยมการมีเมียมาก การให้สิทธิที่เท่าเทียมกับสตรี และที่รุนแรงก็คือการวิพากษ์คณะสงฆ์ ถึงกับเสนอให้มีการสังคายนาพระศาสนา เพราะมีพระสงฆ์ประพฤติคลาดเคลื่อน ผิดไปจากพระธรรมวินัยเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เทศน์สอนให้ชาวบ้านบริจาคทาน แต่ตนเองกลับสะสมทรัพย์ที่มีผู้บริจาค ทั้งยังโจมตีผู้ทำบุญโดยหวังผลบุญตอบแทน ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะเพื่อบรรลุผลในชาตินี้

โดยเหตุที่เขามองเห็นความสำคัญของพุทธบริษัท ๔ ว่าจะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปมิได้ เขาจึงได้ต่อสู้เรียกร้องให้มีสามเณรีและภิกษุณีในประเทศไทย บุตรสาวของเขาทั้งสองคนคือ สาระ และจงดี ก็ได้ตัดสินใจบวช โดยมีสตรีเข้าร่วมบวชด้วยอีก ๖ คน สองเดือนหลังจากนั้นก็เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระราชลิขิตมิให้มีการบวชภิกษุณีและสามเณรี หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เขียนโจมตีนายนรินทร์อย่างรุนแรง ว่าเป็นผู้ทำลายพระศาสนา คณะสงฆ์ก็ออกคำสั่งมิให้วัดใดให้ที่พำนักกับสามเณรี ทั้งที่ชาวบ้านธรรมดาและในหัวเมืองรอบนอกมิได้ตั้งข้อรังเกียจอย่างใด ชาวบ้านยังตักบาตรกับสามเณรี และเจ้าอาวาสวัดบางแห่งก็ยังให้ที่พำนัก โดยเหตุที่ว่าเป็นผู้สำรวมในธรรมวินัย

นายนรินทร์มุ่งหาข้อสรุปเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องนี้ จึงได้เสนอให้มีการประชุมในห้องสามัคคยาจารยสโมสร ของกระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นห้องประชุมสำหรับการประชุมทางศาสนาสำหรับสาธารณชน โดยจะเชิญผู้รู้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมอภิปราย แสดงความคิดเห็น นับได้ว่าเขาเป็นผู้เสนอให้มีการทำ "ประชาพิจารณ์" เป็นคนแรกของเมืองไทยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม กระทรวงธรรมการมิยอมอนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าว

หลังจากการบวชสามเณรีไปแล้วหกปี อภิรัฐสภาได้ประชุมกันหลายครั้งหลายหน แต่ก็มิสามารถเอาผิดทางอาญากับนายนรินทร์ได้ จนกระทั่งได้มีความเห็นให้จับกุมสามเณรี และได้ให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเปลื้องเอาจีวรออก นายนรินทร์เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นกำลังเสด็จประพาสชวา จากเหตุการณ์เรื่องบวชสามเณรีนี้ ทางรัฐบาลจึงได้ยกร่างกฎหมายปกครองสงฆ์ขึ้นใหม่

ความคิดของนายนรินทร์ที่ก้าวหน้าเกินยุคสมัย ดังเช่น การอดข้าวประท้วงเพื่อคนจน การบวชสามเณรี การเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ การวิพากษ์ค่านิยมการมีภรรยาหลายคน ตลอดจนถึงการเสนอไม่ให้มีโสเภณี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเสียสละ และเป็นการกระทำเพื่อคนอื่น โดยเหตุนี้เขาจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนบ้า คนขวางโลก ของยุคสมัย

 

ข้อมูลอื่น

นรินทร์(กลึง) ภาษิต โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

 


หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคน(นั้น)
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗