กังวานเกี่ยวข้อง > การอ่านหนังสือ
 

ดิเรก ชัยนาม


งานอดิเรก มีความหมายว่าเราใช้เวลาว่างในการทำอะไร บางคนชอบขับรถไปชมภูมิประเทศ ชอบเล่นดนตรีบ้าง ชอบเล่นกีฬาบ้าง ปลูกต้นไม้ ทำสวนบ้าง ฯลฯ สำหรับข้าพเจ้านั้นชอบอ่านหนังสือ และก็ชอบมาตั้งแต่อยู่โรงเรียน แต่ที่เริ่มอ่านเป็นประจำคือภายหลังที่สำเร็จการศึกษาจากมัธยมศึกษา ตั้งแต่ พ . ศ . ๒๔๖๖ ถ้าข้าพเจ้ามีเวลาว่างเป็นอันต้องอ่านหนังสือ เฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืนข้าพเจ้าไม่เว้นเลย แม้จะไปเที่ยวเตร่หรือไปธุระกลับดึกดื่นประการใด ก็ต้องให้ได้อ่าน มิฉะนั้นจะรู้สึกว่าเราขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง และข้าพเจ้าก็อาจกล่าวได้ว่า ในระหว่าง ๔๐ ปีกว่ามานี้ หนังสือได้ให้ความรู้ความคิดและแนวปฏิบัติในชีวิตของข้าพเจ้าเป็นอันมาก

หนังสือที่ข้าพเจ้าชอบอ่านมีหลายประเภทด้วยกัน
ประเภทแรกคือ หนังสือการเมืองระหว่างประเทศ
ประเภทสอง วรรณคดี
ประเภทสาม ประวัติศาสตร์
ประเภทสี่ ชีวิตบุคคลสำคัญของโลก

 

หนังสือการเมืองระหว่างประเทศ ได้ช่วยข้าพเจ้ามาก ให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของโลก ของประเทศต่างๆ เหตุใดประเทศนั้นประเทศนี้จึงเดินนโยบายต่างประเทศดังนั้น เปิดหูเปิดตาให้มองซึ้งเข้าไปถึงความเป็นจริง แต่แน่นอน ว่าการอ่านหนังสือประเภทนี้จะต้องระวัง เพราะหากเราไม่มีความรู้เป็นมูลฐานอยู่บ้าง ก็อาจเข้าใจผิดไปได้ หนังสือประเภทนี้แทบทุกเล่ม ข้าพเจ้าจะศึกษาก่อนอ่านว่า ผู้แต่งมีอาชีพอะไร เช่นเป็นครู หรือนักการทูต หรือนักประพันธ์ ฯลฯ เชื้อชาติอะไร มีประสบการณ์มาอย่างไร

 

เรื่องวรรณคดี เจ้าคุณอนุมานราชธนเคยอธิบายว่า วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่ประพันธ์ไว้ด้วยการใช้ความคิด ร้อยกรองถ้อยคำให้สละสลวยเหมาะเจาะ เป็นหนังสือชนิดพรรณนาโวหาร อ่านแล้วทำให้เกิดอารมณ์ดูดดื่มสะเทือนใจ ส่วนหนังสือที่ไม่ใช่วรรณคดีคือ หนังสือที่มุ่งเอาแต่เหตุผล เป็นเรื่องจริงและมุ่งเป็นหนังสือสั่งสอน อย่างไรก็ดี บางคราวก็คล้ายวรรณคดีเหมือนกัน แต่วรรณคดีหรือหนังสือที่ไม่ใช่วรรณคดีทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีทั้งดีและไม่ดี แต่วรรณคดีทั้ง ๒ ชนิดนั้นอาจเป็นบทเรียนสอนเราได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญก็คือต้องตั้งปณิธานว่า เราจะเก็บเอาแต่ส่วนดี สิ่งไม่ดีนั้นทิ้งไปเสีย ปัญหามีว่าทำอย่างไรจะรู้ได้ว่าวรรณคดีตอนใดดี ตอนใดไม่ดี คำตอบนั้นง่ายที่สุด สิ่งที่ไม่ดีก็คือสิ่งที่ตัวเราเองรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าปฏิบัติตาม คนส่วนมากจะไม่เห็นพ้องด้วย เราจะรู้สึกละอายขายหน้า ถ้าเราประพฤติตาม เฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องปรากฏจนคนภายนอกได้ล่วงรู้ วรรณคดีที่เราจะอ่านหาความรู้ความเพลิดเพลินนั้น มีมากมายทุกภาษา แต่โดยเฉพาะภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ จะกล่าวถึงวรรณคดีไทยก่อน

วรรณคดีไทยมีมากหลายซึ่งอาจหาได้ไม่ยาก และข้อที่น่าภูมิใจสำหรับวรรณคดีของเรานั้น ในสมัยแรกที่สุดก็เกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก ขอยกตัวอย่างเช่น เรื่อง พระปฐมสมโพธิกถา หรือเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงกับมีชื่อมาจนทุกวันนี้ว่าเป็นสมัยทองแห่งกาพย์กลอน มีวรรณคดีดีๆมากหลาย แต่ข้อที่น่าพิศวงคือชีวิตของกวีสำคัญๆ ของเราก็ดี ของฝรั่งเช่น อังกฤษก็ดี มักจะเป็นชีวิตที่ต้องผจญกับความยากลำบาก และมีความประพฤติส่วนตัวในทางแปลกๆ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะต้องไม่ไปพิจารณาในความประพฤติส่วนตัวของท่าน เราเทิดงานนิพนธ์ของท่านมากกว่า เพราะชิ้นงานที่ท่านทิ้งไว้ให้พวกเราในสมัยนี้ ล้วนแต่ประกอบด้วยหลักปรัชญาบ้าง ภาษิตบ้าง หรือไม่ก็เป็นกาพย์กลอนที่ทำความสะเทือนใจให้เราสุขสบายใจ ในเมื่อได้อ่าน อันเป็นคุณประโยชน์ให้เรามีกำลังใจปฏิบัติงานในหน้าที่ของเราได้ดีไม่มากก็น้อย แต่แน่นอนในขณะเดียวกัน เราก็ต้องระมัดระวังในเมื่อบทความตอนใดชักนำเราไปในทางเสื่อม เราก็ละเสีย อีกนัยหนึ่งเราต้องรู้จักเอาประโยชน์จากงานของท่านเหล่านั้น

ในสมัยพระนารายณ์นี้ ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างกวีเรืองนามมาหนึ่งท่าน คือศรีปราชญ์ เพราะพวกเรารู้จักกันดีแล้ว ศรีปราชญ์มีความสามรถแต่งโคลงได้ตั้งแต่อายุ ๑๒ และบางคราวบิดาแต่งไม่ได้ กลับช่วยแต่งเสียด้วยซ้ำ แต่ความคะนองของศรีปราชญ์มากไป ในที่สุดก็จบชีวิตลงด้วยอาการอันน่าสงสารดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ก็มีกวีสำคัญอีกท่านหนึ่งซึ่งพวกเรารู้จักกันดีคือ สุนทรภู่ ท่านผู้นี้ก็อีกที่มีชีวิตอันเศร้าและตกระกำลำบาก ติดคุกติดตะราง แต่งานของท่านก็ยังมีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ภาษิตของสุนทรภู่มีคติหลายข้อ เช่น
" ทุกวันนี้มีทรัพย์เขานับถือ "
" เอาเงินมัดคัดงานเหมือนอย่างเจ๊ก ได้กินเล็กกินน้อยอร่อยใจ "
หรือ " อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่ เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคน "
" อันข้าไทยได้พึ่งเขาจึงรัก แม้นถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา
เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา แต่วิชาติดกายจนวายปราณ "
แต่มีภาษิตบทหนึ่งซึ่งทุ่มถียงกันอยู่มาก
" รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี "

มีผู้ติกันมากว่าสอนให้เห็นแก่ตัว ให้ลืมหน้าที่ แต่ก็มีผู้แย้งว่า ท่านเทิดการมีความรู้ ส่วนประโยคหลังนั้นเป็นคำประชดพวกที่เห็นแก่ตัวต่างหาก

สุนทรภู่มีปฏิภาณว่องไวมาก เรื่องปฏิภาณของสุนทรภู่นี้บิดาข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟัง ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าท่านได้มาจากหนังสือเล่มใด วันหนึ่งสุนทรภู่ตามเสด็จพระมหากษัตริย์ทางชลมารค เข้าใจว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า พอถึงป้อมแห่งหนึ่งทรงรับสั่งว่า " ถึงป้อมปืน ภู่ต้องยืนให้ปืนยิง " สุนทรภู่ก็ยืนขึ้น แต่ปืนก็ไม่ยิง สุนทรภู่เมื่อยเลยกราบทูลตอบว่า " ปืนก็นิ่งภู่ต้องนั่งคอยฟังปืน " แล้วก็นั่งลง เป็นต้น พึงระลึกว่าในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้ารุ่มร่ามกราบทูลตอบไม่ได้ นั่งลงเฉยอาจถูกเฆี่ยนก็ได้

หนังสือ สามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตสถานก็น่าอ่าน ข้าพเจ้าเคยลองอ่านและทำหมายเหตุตอนที่เป็นปรัชญาหรือคติดู จำได้เลาๆ ว่า มีไม่น้อยกว่า ๒๐๐ แห่ง เวลานี้ก็ดูเหมือนมีผู้เขียน สามก๊ก ฉบับนายทุน และฉบับวณิพก

พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราช รัชกาลที่ ๖ ก็น่าอ่าน เข้าใจง่าย เร้าใจให้รักชาติบานเมือง คิดสนองคุณชาติบ้านเมืองทุกวิถีทาง

สำหรับวรรณคดีของอังกฤษก็มีมากที่สุด ตายแล้วเกิดใหม่อีกหลายชีวิตก็อ่านไม่หมด วรรณคดีเหล่านี้ ถ้าผู้อ่านอ่านแล้วพยายามกลั่นกรองเอาแต่สิ่งที่ดี จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ใจงาม สมองดี มีความกระหายอยากเป็นคนดี อยากทำประโยชน์ให้แก่ชาติให้มากที่สุด เนื่องจากวรรณคดีของอังกฤษมีมากมายหลายประเภท ที่เป็นนวนิยายก็มี ประวัติศาสตร์ก็มี จริยศึกษาก็มี โดยประพันธ์เป็นโคลงบ้าง กลอนบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ฯลฯ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างมาให้ดูสักสองรายที่ผู้แต่งมีชื่อมาก ความจริงมีอีกมากมาย แต่ข้าพเจ้ายกมาเพียงสองท่านเพราะเห็นว่าจะเกินความจำเป็น

คนแรกคือเชกสเปียร์ พวกเราคงได้ยินชื่อท่านผู้นี้มาแล้ว เชกสเปียร์ตายไปแล้ว ๓๐๐ กว่าปี แต่ชื่อยังโด่งดังมาจนทุกวันนี้ และดังไปทั่วโลก ไม่เฉพาะเกาะอังกฤษ บทประพันธ์ของเชกสเปียร์เต็มไปด้วยหลักปรัชญาทั้งสิ้น สอนให้รู้นิสัยมนุษย์ สอนถึงหลักศีลธรรม ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความรักอันแท้จริง ความงามตามธรรมชาติ ความรักชาติ เชกสเปียร์เขียนเร้าใจเรื่องรักชาติ ในเรื่อง King John ซึ่งซาบซึ้งตรึงตรายิ่งนัก This England never did, nor never shall, lie at the proud foot of a conqueror ซึ่งแปลว่า อังกฤษไม่เคย และจะไม่ยอมหมอบอยู่แทบเท้าของผู้ชนะเป็นอันขาด ระหว่างสงครามข้าพเจ้าเคยนึกถึงประเทศไทยตามวาทะของเชกสเปียร์ และเขียนดังนี้ This Thailand, many times overran, but never conquered ประเทศไทยเรานี้ ถูกศัตรูย่ำยีหลายครั้ง แต่ไม่เคยปราบเราได้

มีอีกคนหนึ่งชื่อ Samuel Smile เขียนหนังสือสอนง่ายถึงหลักธรรมต่างๆ เกี่ยวกับจริยศึกษาทั้งสิ้นประมาณ ๕ - ๖ เล่ม เป็นหนังสือที่อ่านแล้วไม่เบื่อ เร้าใจให้เราประพฤติดีคิดก้าวหน้า พึ่งตัวเอง มีศีลธรรม โอบอ้อมอารี ละมุนละม่อม อ่อนโยน แต่ไม่ใช่อ่อนแอ เป็นนักกีฬา สไมล์เขียนหนังสือเหล่านี้ราว ๗๐ - ๘๐ ปีมาแล้ว และก็ตายไปนานแล้ว แต่หนังสือของสไมล์มีอยู่ในห้องสมุดของชาวอังกฤษผู้ที่สนใจการอ่านหนังสือทุกครัวเรือน หนังสือของสไมล์ ช่วยสร้างคน ทั้งอังกฤษ และต่างด้าว ให้เป็นคนที่เจริญก้าวหน้าใหญ่โตมากหลาย

 

ประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าชอบอ่านมาก ความจริงท่านผู้ฟังแทบทุกท่านก็คงเรียนประวัติศาสตร์กันมาแล้ว แต่ข้าพเจ้าเอาความรู้สึกของข้าพเจ้ามากล่าว คือโดยมากเมื่อเวลาเราเรียนนั้นยังเป็นเด็กอยู่ ถ้าตอนนี้เรามาทบ ทวนอีกครั้งหนึ่ง จะได้ประโยชน์มาก คำกล่าวที่ว่า ประวัติศาสตร์ย่อมอุบัติซ้ำนั้นเป็นความจริง จากประวัติศาสตร์เราจะเห็นบทเรียนทุกด้าน ทางปกครอง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม เป็นต้น ประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์เฉพาะอย่างยิ่งนักปกครองและนักกฎหมาย เช่นการจะวางโครงการปฏิรูปให้บ้านเมืองเจริญ บทเรียนในเรื่องนั้นมักจะหาได้มากมายจากประวัติศาสตร์ ไม่เพียงในเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์ช่วยให้เรามีกำลังใจสร้างอุปนิสัยให้ดี ให้สะอาด ให้ประณีต

 

ชีวประวัติ การอ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลสำคัญของโลก สำหรับความรู้สึกของข้าพเจ้า ไม่มีหนังสือวรรณคดีใดที่เร้าใจในทางที่ดียิ่งกว่าชีวประวัติ การศึกษาชีวประวัติของบุคคลสำคัญของโลกทำให้เราเห็นหลักสำคัญ ซึ่งท่านผู้นั้นดำเนินชีวิต ทำให้มีความใฝ่สูงในทางถูก ได้ปรัชญาต่างๆและภาษิตจากท่านเหล่านั้น เราสามารถจะสาวเอาได้ว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังที่ทำให้มหาบุรุษเหล่านั้นเดินงานของท่านไปอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมท่านจึงสามารถกวาดสิ่งอุปสรรคไปได้ ท่านเหล่านั้นมีอุปนิสัยอย่างใด มีกำลังใจเข้มแข็งเพียงใด ครองชีวิตโดยมีความประพฤติอย่างใด การอ่านหนังสือประเภทนี้ บางทีเราได้กลืนเอาสิ่งดีๆ เข้าไปหลายอย่างโดยที่เราไม่รู้สึกตัว สำหรับมหาบุรุษของไทยเราตามประวัติศาสตร์ ก็มีพระมหากษัตริย์หลายพะองค์ และรัฐบุรุษหลายท่าน ที่ได้นำชาติไทยฝ่าอุปสรรคมาจนเรามีเอกราชได้อยู่ทุกวันนี้ สำหรับต่างประเทศก็มีมากหลาย ข้าพเจ้าขอยกประวัติมาให้ดู ซึ่งท่านคงเดาได้คือ แฟรค์กลิน โรสเวลส์ เชอร์ชิล และ มหาตมะ คานธี

แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า ชีวประวัติบุคคลสำคัญที่สุดในโลกที่เราควรศึกษาก่อนคือ พระพุทธประวัต ิ ซึ่งพอค้นคว้าหาศึกษาได้โดยง่าย เพราะหลักฐานมีอยู่มากมาย เฉพาะอย่างยิ่งในภาษาไทย แม้ภาษาต่างประเทศก็มีแทบทุกภาษา ตามพระพุทธประวัติแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ นี่เอง แต่ท่านทรงเป็นเอกอัครอัจฉริยะบุคคล สามารถปฏิบัติพระองค์ดีเลิศ หรือที่เรียกกันว่า perfect ทรงวางหลักปฏิบัติให้พวกเราปฏิบัติ เป็นหลักซึ่งไม่มีใครโต้แย้งได้ พระพุทธประวัติเป็นเครื่องจรรโลงใจให้เราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน พยายามประกอบแต่ความดี ส่งเสริมให้เราชำระจิตให้ใสสะอาด ส่งเสริมให้เรามีความหวังในชีวิต และมีความศรัทธา

โรสเวลส์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค . ศ . ๑๙๓๓ จนถึงอสัญกรรมใน ค . ศ . ๑๙๔๕ เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่สมัครและได้รับเลือกตั้งต่อถึง ๓ ครั้ง ๓ คราว โรสเวลส์ไม่เพียงเป็นคนที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นคนสำคัญขอโลกด้วย เมื่อตาย ทั่วโลกเสียดายอาลัยนัก สำหรับในสหรัฐอเมริกา นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า แทบทุกครัวเรือนร้องไห้ แม้ปรปักษ์ทางการเมืองของโรสเวลส์เองก็ยอมรับว่าอเมริกาสิ้นคนดี โลกสิ้นคนดี เมื่อเป็นเช่นนี้เราต้องค้นคว้าดูว่าบุคคลชนิดนี้ต้องมีดีอะไร อเมริกาและโลกจึงยอมรับนับถือและบูชา เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ มีผู้เขียนชีวประวัติของท่านในแง่ต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๒๐ เล่ม ที่เขียนระหว่างท่านมีชีวิตอยู่ก็มี แต่ส่วนมากเขียนเมื่อท่านตายไปแล้ว

ปัญหามีต่อไปว่า โรสเวลส์เป็นมหาบุรุษจริงหรือไม่ ข้อนี้ไม่มีปัญหา เพราะถ้าไม่เป็น โลกก็คงไม่สนใจในการตายของท่าน แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ท่านเป็นใหญ่ได้ ในข้อนี้ต้องศึกษาลักษณะประจำตัวของท่าน มีผู้อธิบายว่า ท่านมีคุณสมบัติ ๕ ประการสำหรับเป็นรัฐบุรุษ คือ ( ๑ ) ความกล้าหาญ courage ( ๒ ) ขันติ ( ๓ ) สามารถค้นเส้นผมที่บังภูเขาได้เมื่อคนส่วนมากหาไม่ได้ มองเห็นการณ์ไกล ( ๔ ) มีหลักการปฏิบัติ อุดมคติดีงาม ( ๕ ) รู้จักใช้คน

มีผู้ติท่านว่า บางทีเกรงใจคน แทนที่จะตอบปฏิเสธ แต่ก็ไม่กล้า แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อเล็กน้อย และต้องไม่ลืมว่า นักประวัติศาสตร์ยอมให้ว่าท่านเป็นนักการเมืองที่เชี่ยวชาญที่สุด ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ข้อสรุปที่ว่ากล้าหาญ คือท่านไม่เกรงใครในเมื่อท่านรู้ดีว่า conscience ของท่านใสสะอาด ท่านกล้ารับผิดชอบในเรื่องสำคัญๆ ท่านมีขันติอดทนต่อการใส่ร้ายต่างๆ ใจเยือกเย็น ที่ว่าท่านสามารถค้นผมบังภูเขาได้ ก็เพราะตามประวัติมีหลายเรื่องที่พวกรัฐมนตรีขบไม่ได้ แต่ท่านขบได้ในเวลาไม่กี่นาที ที่ว่ามีหลักการอุดมคติดีงามก็คือ ท่านยึดหลักนี้และไม่เคยเดินออกนอกหลักเลย คือให้ทุกคนมีชีวิตเป็นสุข ไม่ว่าหญิงชายหรือเด็ก และท่านยังหวังพยายามให้หลักนี้ไปถึงคนทั่วโลกอีกด้วย อยากให้ทุกชาติมีเอกราชอิสระ

มีผู้กล่าวว่า สหรัฐอเมริกายอมให้บุคคลที่เป็นเอกมหาบุรุษของอเมริกาเพียง ๓ ท่าน คือ จอร์จ วอชิงตัน อับราฮัม ลินคอล์น และแฟงค์กลิน โรสเวลส์ และการที่โรสเวลส์มีวิถีชีวิตใหญ่โตทำบุญคุณให้แก่ชาติมากมายได้นี้ เพราะเหตุหลายประการ อาทิ การศึกษาอบรม มีเลือดโรสเวลส์ซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีมาคนหนึ่งแล้ว มีภริยาที่สามารถมากที่สุด หาตัวจับยาก และอีกนัยหนึ่งคือเมื่อหนุ่มเคยรู้สึกปมด้อย เคยเป็นอัมพาต จึงมีมานะว่าจะต้องบากบั่นเป็นหัวหน้าประเทศให้ได้

ต่อมาก็มีท่านเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ของอังกฤษ ท่านผู้นี้ไม่เพียงคนอังกฤษ แต่โลกก็ยอมรับว่าเป็นมหาบุรุษ จริงอยู่ โลกให้โรสเวลส์มากกว่าเชอร์ชิล แต่ในอังกฤษเชอร์ชิลก็เป็นที่หนึ่งของอังกฤษ ไม่มีใครเทียบสำหรับในยุคนี้ ชีวิตของท่านผู้นี้พิสดารมาก ท่านเกิดในสกุลขุนนาง บิดาเป็นลอร์ด ปู่ชื่อ Duke แห่ง Marborough ซึ่งเป็นแม่ทัพที่มีชื่อเสียง แต่มารดาท่านเป็นอเมริกัน มีนิสัยชอบรบ เคยเข้า public school ที่ Harrow แล้วไปเข้าโรงเรียนนายร้อยที่ Sanhurst สำเร็จเป็นนายทหาร เคยสมัครไปรบที่คิวบาทั้งๆ ที่อังกฤษไม่ใช่คู่สงคราม และในขณะเดียวกัน รับจ้างเป็นผู้แทนส่งข่าวสงครามให้หนังสือพิมพ์อีกด้วย ต่อมาไปรับราชการที่อินเดีย อาสาไปรบพวกปัวร์ที่อาฟริกาใต้ ( เล่าถึงเรื่องหนีจากค่ายเชลย ) ต่อมาคิดเล่นการเมืองเป็นสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวตีฟ แล้วย้ายไปลิเบอรัล แล้วกลับมาเข้าคอนเซอร์เวตีฟอีก ในเรื่องย้ายพรรคนี้มีผู้ติเชอร์ชิลว่า ไม่แน่นอน แต่มีผู้แก้แทนว่าเชอร์ชิลเป็นคนถืออุดมคติอย่างแรงกล้า เมื่อไม่สามารถให้พรรคมีความเห็นด้วย ก็ลาออกจากพรรค

พูดถึงนโยบายการเมือง จริงอยู่ เชอร์ชิลเป็นคอนเซอร์เวตีฟ ชอบให้มีเมืองขึ้น ชอบประเพณีเดิม เกลียดพวกเลเบอร์ซึ่งถือนโยบายสังคมนิยมมาก แต่ถ้าพูดถึงในฐานะเป็นมหาบุรุษรักชาติแล้ว เชอร์ชิลไม่เป็นรองคนอังกฤษคนใด เนื่องจากเชอร์ชิลมีกำลังใจ และมี Character แข็ง ฉะนั้นในเวลาปกติบ้านเมืองสุขสบาย ราษฎรจึงมักไม่อยากให้รับใช้ชาติ เพราะเกรงจะรบตะบันไป แต่เวลาคับขันเป็นต้องกลับเข้ามาทุกคราว และก็นำชาติชนะด้วย

เชอร์ชิลเป็นศิลปินช่างเขียน นักประพันธ์ และไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นอย่างธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นศิลปินชั้นที่มีฝีมือ เชอร์ชิลเป็นคนเด็ดขาด ฝีปากคม ถ้อยแถลงของท่านคนชอบฟัง เข้าใจพูดตรึงตราจิตใจคน ตัวอย่างตอนเข้ารับเป็นนายกรัฐมนตรีในสงครามโลกคราวที่แล้ว ไปแถลงต่อสภาสามัญว่า " ข้าพเจ้าขอแถลงกับสภา อย่างเดียวกันกับท่านรัฐมนตรีที่มาร่วมคณะข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าไม่มีอะไรนอกจากโลหิต งาน น้ำตา และน้ำเหงื่อ " คำพูดของท่านกินใจสภาและประชากรทั้งชาติ ถึงกับถือเป็นภาษิตประจำประเทศ เมื่อท่านถึงอสัญกรรม ทั่วโลกก็แสดงความไว้อาลัย

มหาตมคานธี ท่านคานธีนี้ก็เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เพียงอินเดียนับถือว่าเป็นมหาบุรุษ แม้โลกก็ยอมรับเคารพนับถือ จริงอยู่ การที่อินเดียได้เอกราชเนี้ เพราะความสามารถของรัฐบุรุษอินเดียหลายท่าน เพราะความใจกว้างของอังกฤษ แต่ผู้ที่ควรได้เกียรติมากที่สุดคือท่านคานธี ท่านคานธีเกิดใน ค . ศ . ๑๘๖๙ เป็นเชื้อชาติฮินดู ในสกุลเวศย์หรือพ่อค้าที่พอมีอันจะกิน อายุ ๑๘ ไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษ เป็นเนติบัณฑิตของ Inner Temple กลับมาว่าความที่บอมเบย์ ในค . ศ . ๑๘๙๓ ถูกส่งไปว่าความที่อาฟริกาใต้ การไปอาฟริกาใต้ครั้งนี้ได้เป็นเหตุให้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคานธี คานธีไปพบสภาพของเพื่อนร่วมชาติในประเทศนั้นอยู่ในอาการอันน่าสงสาร ทั้งด้านสังคมและการเมือง เพราะถูกเจ้าของประเทศดูถูกกดขี่ยิ่งกว่าอยู่ในอินเดียเสียอีก คานธีจึงเลิกว่าความ เงินทองมีเท่าใดสละหมด และอยู่ในอาฟริกาใต้ถึง ๒๐ ปี ตั้งตนเป็นหัวหน้าช่วยพวกอินเดีย โดยเรียกร้องขอความยุติธรรม และชักชวนไม่ให้คนอินเดียร่วมมือกับรัฐบาล คานธีถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกรัฐบาลอาฟริกาจำคุกหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐบาลอาฟริกาใต้ผ่อนตาม แต่ก็ยังกดไว้มาก แต่พอถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ คานธีกลับร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษในการพยาบาลอาสากาชาด เสร็จสงครามแล้วคานธีกลับมาอินเดีย เริ่มชักชวนให้ชาวอินเดียขอปกครองตนเอง

คานธีไม่ชอบรุนแรง ชอบใช้การแข็งสิทธิโดยวิธีสันติ (Civil Disobedient) การไม่ร่วมมือ ( เล่าถึงการสนทนากับจันทรโภส ) พวกสานุศิษย์ที่เห็นด้วย ลาออกจากราชการมากหลายมาสนับสนุน คานธีชักชวนให้เด็กๆ ออกจากโรงเรียนรัฐบาลให้หมด และไม่ซื้อสินค้าอังกฤษ เพื่อแสดงว่าอินเดียก็ทำของใช้ได้เอง ท่านเริ่มทอผ้าใช้ ท่านแนะว่าอินเดียจะแข็งต้องไม่แยกกัน พวกอิสลามกับฮินดูควรร่วมมือกัน ควรเลิกชั้นวรรณะ ( เล่าถึงชั้นต่างๆ ของอินเดีย ) ควรห้ามการดื่มสุราอย่างเด็ดขาด และท่านคานธีมีคุณความดีที่สุด คือหลักอันใดที่ท่านประกาศออกไป ท่านยึดปฏิบัติจนอวสานแห่งชีวิต ในที่สุดชาวอินเดียทุกชั้นทุกเชื้อชาติ พากันขนานนามท่านว่า " มหาตมะ " ซึ่งแปลว่า " วิญญาณอันใหญ่ยิ่ง " และโลกก็รู้จักท่านด้วยนามอันนี้ เนื่องจากท่านเป็นหัวหน้าสำคัญ จึงถูกจับขังหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ต้องปล่อย รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นพิจารณา เพื่อให้อินเดียปกครองตนเองหลายครั้ง แต่กรรมาธิการก็ไม่เสนอให้เอกราชเด็ดขาด พวกอินเดียจึงฮือกันขึ้นอีก ขัดขืนต่างๆ เช่นไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ( เล่าเรื่องภาษีเกลือ ) รัฐบาลอังกฤษจับคนอินเดียเข้าคุกประมาณ ๕๐ , ๐๐๐ คน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นตีพม่าได้ กำลังทำท่าจะเข้าอินเดีย คานธีประกาศไม่ต่อต้าน (non-resistance) แต่ให้ต่อต้านโดยสันติวิธี ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ครั้นเมื่อ ค . ศ . ๑๙๔๖ พรรคเลเบอร์ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล จึงมีการเจรจากัน และตกลงที่จะให้อินเดียปกครองตนเอง


คานธีเป็นอัจฉริยะบุคคลหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก นโยบายของท่านคือ อยากให้อินเดียได้เอกราช อยากให้เพื่อนร่วมชาติไม่ว่าเชื้อชาติใดมีความสุข อยากให้มนุษยโลกมีความสุข ไม่ฆ่าฟันกัน แต่การที่จะลุจุดประสงค์นี้ต้องไม่ใช้กำลัง ท่านปฏิเสธความสุขทุกอย่าง ไม่ยอมใช้ของ แม้แต่เป็นของธรรมดาสำหรับชีวิต ท่านใช้ผ้านุ่ง ๒ - ๓ ผืน พันกายตลอดชีวิตของท่าน ตั้งแต่เลิกว่าความ ในชีวิตของท่านท่านถูกจำคุกหลายครั้ง เพราะทำความดี อดอาหาร ๑๕ ครั้ง จนเกือบสิ้นชีวิต เพื่อเรียกร้องความร่วมมือให้ชาติ แต่มหาบุรุษชั้นดีอย่างนี้ก็ยังถูกคนฆ่าตาย

 

พูดถึงเรื่องการอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าเคยไปรับราชการใน ๓ ประเทศด้วยกัน คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เท่าที่สังเกต ประชาชนใน ๓ ประเทศนี้ นิยมการอ่านหนังสือมากกว่าเรานัก ที่สะดุดตาข้าพเจ้ามากที่สุดคือ ไม่ว่าในรถโดยสาร รถใต้ดิน รถไฟ ตามถนนหนทาง จะพบคนอ่านหนังสือแทบทั้งนั้น ตามร้านขายหนังสือก็แน่นไปหมด

มีผู้เล่าว่าร้านขายหนังสือในถนนแชริ่งครอส กรุงลอนดอนร้านหนึ่ง มีชายคนหนึ่งจะโดยไม่มีเงินซื้อหรือเสียดายเงินก็ไม่ทราบ ทุกๆวันเวลาบ่ายโมง จะมาดูที่ตู้หนังสือเก่ามุมร้าน แล้วก็หยิบหนังสือมาอ่านซึ่งขั้นเอาไว้ตั้งแต่วันก่อนแล้ว ก็ยืนอ่านจนเกือบจนบ่าย ๒ โมงก็ขั้นไว้ แล้วก็ไปทำงาน รุ่งขึ้นก็มาอ่านอีก อีกรายหนึ่งเป็นชายชรามีทรัพย์มาก แต่ไม่ชอบจ่ายทรัพย์ ทุกๆ ครึ่งเดือนจะมาที่ร้านนี้ ค้นหยิบหนังสือไป ๒ - ๓ เล่ม แต่ไม่จ่ายทรัพย์ เจ้าของร้านคอยเฝ้าดูแล้วก็จดไว้ว่าหนังสืออะไรบ้าง ราคาเท่าใด แล้วก็ส่งบิลไปเก็บกับเลขานุการๆ จะรีบส่งเช็คมาชำระทุกครั้ง ไม่โต้ถียง

ถ้าท่านเป็นนักเลงหนังสือ ท่านจะรู้ดีว่าใจของนักเลงหนังสือด้วยกันไม่ชอบให้ใครหยิบยืมหนังสือ เพราะเกรงผู้ยืมเอาไปจะไม่คืน ไม่ใช่ตั้งใจจะโกง แต่บางทีก็ลืมบ้าง หรือเห็นเป็นหนังสือดีก็เก็บเอาไว้ ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนกวีนิพนธ์ฝรั่งเศสเรืองนามชื่อ Anatole France วันหนึ่งมีผู้มายืมหนังสือท่านๆ ปฏิเสธ และกล่าวว่า ฉันให้เธอยืมไม่ได้ เดี๋ยวไม่คืน ไปดูหนังสือในตู้ฉันเถอะ มีหนังสือมากมายที่ฉันขอยืมมาและก็ยังไม่ได้คืนเจ้าของ โดยสรุป ตามประสบการณ์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่า การอ่านหนังสือในยามว่างเป็นกิจกรรมอันหนึ่งซึ่งทำให้ชีวิตเราเพลิดเพลิน จิตใจดี ได้ความรู้ในวิชาการทั้งหลาย และคิดประกอบแต่กุศลกรรม

 



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗