หนุ่มสาวดัดจริต > ชาติ, เชื้อชาติ และดินแดน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด เพราะได้เกิดการเข้าพบนายกรัฐมนตรีโดยนักวิชาการ 22 ราย, มีพระราชเสาวนีย์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน, มีโครงการพับนกแห่งชาติ, เกิดการประกาศตั้งค่าหัวให้ผู้ก่อการร้าย, ล่าสุด ลูกเสือชาวบ้านในสามจังหวัดภาคใต้เตรียมจัดการชุมนุมใหญ่ที่จังหวัดยะลา โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมหนึ่งแสนราย ในขณะที่รัฐบาลก็มีดำริจะออกกฎหมายพิเศษเพื่อต่อต้านผู้ก่อการร้ายโดยตรง

ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ในช่วงนี้ กับสถานการณ์ในช่วงหลังกรณีตากใบ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ความตายในกรณีตากใบกระตุ้นให้สาธารณะแสดงความเห็น ในเรื่องภาคใต้อย่างเต็มที่ ขณะที่หลังกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา รัฐกลับเป็นฝ่ายควบคุมญัตติสาธารณะเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้อย่างสมบูรณ์ หากคิดทบทวนให้ดี ความตายในกรณีตากใบเป็นชนวนให้เกิดเผชิญหน้า และขัดแย้งระหว่างคนหลายฝ่ายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ, องค์กรประชาธิปไตย , วุฒิสมาชิก, ลูกเสือชาวบ้าน, ทหาร, กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, หอการค้า, พระสงฆ์ , จุฬาราชมนตรี, ผู้ก่อความไม่สงบ, ประเทศเพื่อนบ้าน, สหประชาชาติ , cyber soldiers ตามเว็บบอร์ด ฯลฯ แต่ถึงตอนนี้ ความขัดแย้งแนวราบ ระหว่างผู้คนอันหลากพวกหลายกลุ่มเหล่านี้ ถูกแยกสลายให้หมดไป กลายเป็นความขัดแย้งเชิงเดี่ยว ที่ทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่รัฐและคนกลุ่มที่รัฐเรียกว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” โดยตรง พูดในเชิงเปรียบเปรยแล้ว ตากใบนำไปสู่ “บทสนทนาสาธารณะ” เรื่องสามจังหวัดภาคใต้ แตกต่างจากสภาวะการณ์ในปัจจุบันนี้ ที่มีแต่ “รัฐ” ซึ่งผูกขาดนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้อยู่เพียงฝ่ายเดียว

น่าสนใจว่าขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าท่านรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถแท๊กซี่หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย 22 ราย แต่ภายใต้กระบวนการรับฟังความเห็นนั้นเองที่เป็นต้นกำเนิดของ “ความเงียบ” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มองอย่างถี่ถ้วนแล้ว รัฐใช้อุบายหลายอย่าง เพื่อกำจัดบทสนทนาสาธารณะเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ เช่นพับนก, ตั้งกรรมการสมานฉันท์ , ให้ข่าวเกี่ยวกับเครือข่ายก่อการร้าย รวมทั้งอุบายอื่นๆ ที่สรุปโดยรวมแล้ว ก็คือการหันกลับไปหยิบยืมอาวุธทางถ้อยคำ และความคิดที่ทรงพลัง และมีประสิทธิภาพที่สุดของรัฐ นั่นก็คือ ความคิดเรื่องความเป็นชาติไทย

ชาติในความหมายปัจจุบัน เป็นแนวคิดว่าด้วยการรวมกลุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เมื่อไม่กี่คริสตศตวรรษที่ผ่านมา และย้อนหลังไล่ไปได้ไม่เกินร้อยปีกว่าๆ ในสังคมไทย จึงไม่ใช่การรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นเองจากความจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่การรวมกลุ่มที่สืบทอดเป็นเส้นตรงมาแต่อดีต แต่เป็นการรวมกลุ่มที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่เอง ชาติมีองค์ประกอบพื้นฐานที่หลากหลาย หมายถึงชาติ, ศาสนา และพระมหากษัตริย์ก็ได้ และในบางช่วงเวลา ก็อาจประกอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ได้อีก

ชาติเป็นแนวคิดนามธรรม จึงจับต้องไม่ได้ แต่ฆ่าคนได้ สั่งคนให้ไปตายได้ และปรากฎตัวในรูปสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมหลายชนิดในชีวิตประจำวัน เช่นเพลง, ธง, กีฬา, กองทัพ, สถาบันการศึกษา , เครื่องดื่มชูกำลัง, หนังโป๊ ฯลฯ ด้วยเหตุดังนี้ โลกทรรศน์ที่สังคมไทยมีต่อกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ และวีซีดีน้องแน๊ท จึงทำงานบนตรรกะความเป็นชาติแบบเดียวกัน นั่นคือกรรมการสมานฉันท์เป็นตัวแทนของ “สถาบันการศึกษาแห่งชาติ” จึง “เป็นกลาง” จนทุกฝ่ายต้องรับฟัง ขณะที่น้องแน๊ทนั้นถ่ายหนังกับนักแสดงต่างชาติมากเกินไป จึงเป็นอันตรายต่อ “วัฒนธรรมแห่งชาติ” ของไทย

ธงชัย วินิจจะกูล เคยกล่าวไว้ในคำบรรยายสำคัญของเขา เรื่อง “เรื่องราวจากชายแดน : สิ่งแปลกปลอมต่อตรรกะทางภูมิศาสตร์ ของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย” ว่าชาติไทยวางอยู่บนฐานคติว่า ความรู้และตรรกะทางภูมิศาสตร์บางแบบ เป็น “ความจริง” อย่างไม่ต้องสงสัย และหากตั้งข้อสงสัยกับความรู้แบบนี้ ประวัติศาสตร์ก็จะถูกสงสัยท้าทายไปด้วย

ธงชัยเรียกความรู้ทางภูมิศาสตร์แบบนี้ว่า "ตรรกะทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์ไทย" (The Geographical Logic of Thai National History) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ตรรกะชุดเดียวที่กำหนดประวัติศาสตร์ แต่ก็มีตรรกะชุดอื่นไม่มากนักที่มีบทบาทในลักษณะแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความคิดเรื่องความเป็นชาติไทย จึงมีทำงานภายใต้การคิดถึงชาติโดยกรอบคิดเรื่องอาณาเขตดินแดน

อย่างไรก็ดี ดินแดนไม่ได้เป็นฐานคิดเพียงอย่างเดียวของความเป็นชาติไทย เพราะฐานคติที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “ดินแดน” ก็คือการยอมรับว่าชาติไทยเป็นของคนเชื้อชาติไทยอย่างไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ ถึงขั้นที่หากคิดถึงชาติโดยออกไปจากกรอบอ้างอิงเรื่องเชื้อชาติแบบนี้ ความเป็นชาติไทยก็จะถูกสั่นคลอนและท้าทายอย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ความเป็น “เชื้อชาติ” เป็นปัญหาใหญ่ของชาติไทยตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่าชีวิตประจำวันของคนไทยนั้น ส้องเสพ และพัวพันกับวาทกรรมความเป็นเชื้อชาติไทยไปทั้งหมด ทำให้คาราบาวแดงขายได้ เพราะพูดถึงปัญหาสำคัญของสังคมไทยเรื่องความเป็น “คนไทยหรือเปล่า” ของคนทั่วไป

แน่นอนว่าสังคมไทยไม่มีประวัติเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนหลายสังคม จึงไม่ได้เป็นสังคมที่คลั่งเชื้อชาติ จนถึงแก่ฆ่าคนที่ผิดแปลกทางเชื้อชาติได้ เชื้อชาติที่ “ไม่ไทย” จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องถูกกำหราบปราบปรามให้หมดสิ้นไป หากมีแต่เชื้อชาติที่เป็นภัยคุกคามดินแดนเท่านั้น ที่ถูกถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรง

ถึงจุดนี้ ความเป็นชาติไทยจึงทำงานอยู่บนตรรกะที่สำคัญสองชนิด ตรรกะแรกคือตรรกะทางภูมิศาสตร์แห่งชาติ และตรรกะที่สองคือตรรกะเรื่องความเป็นเชื้อชาติแห่งชาติไทย นำไปสู่การคิดถึงชาติไทยในแบบแผน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะทางเชื้อชาติอย่างชัดแจ้ง (ethno geographical territorial space) ไม่ใช่ชาติซึ่งปราศจากลักษณะทางเชื้อชาติในแบบหลายสังคม

ในตรรกะแบบนี้ ความผิดแปลกทางเชื้อชาติและดินแดนเป็นเรื่องอันตราย จนอาจทำให้ถูกฆ่าได้อย่างโหดร้าย ตัวอย่างเช่น การฆ่าและทำร้ายศพในวันที่ 6 ตุลา 2519 รวมทั้งความตายของคนเชื้อสายมลายูที่ตากใบ ซึ่งทั้งหมดนี้ตายโดยถูกถือว่า “ไม่ไทย” และเป็นตัวแทนของคนต่างเชื้อชาติที่หมายคุกคามดินแดนไทย

อย่าลืมว่าเนื้อหาส่วนแรกของเพลงชาติไทยนั้นประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย” ขณะที่เนื้อหาท่อนอื่นก็เชิดชูความสำคัญของการรบพุ่ง ถึงขั้นเรียกร้องให้คนเชื้อชาติไทยทั้งมวลนั้น “สละเลือดเป็นชาติพลี” ในกรณีที่เผชิญกับศัตรูผู้คิดร้าย คุกคามอาณาเขต และดินแดนทางภูมิศาสตร์ของไทย อนึ่ง น่าสนใจว่าไม่มีท่อนไหนในเพลงชาติที่พูดถึงคำสำคัญอื่นๆ เช่น เสรีภาพ, ความเท่าเทียม, และสิทธิ แม้แต่นิดเดียว

กลับไปที่กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกที นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงต้นปี และเกิดการเสีย ชีวิตของพลเรือนในกรณีตากใบ ความขัดแย้งระหว่างคนทุกฝ่ายก็ขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยที่เมื่อรัฐล้มเหลวในการจรรโลงสภาวะสันติต่อไปได้ ความขัดแย้งก็กลายเป็นความตื่นตระหนก อันเกิดจากความไม่รู้ ว่าจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดว่าอย่างไรดี

สถานการณ์เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ผิดปกติอย่างยิ่งยวด จึงเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ความเห็น และทรรศนะทุกแบบเผยตัวออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีการพูดถึงการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น รวมทั้งมีการพูดถึงการแทรกแซงโดยฝ่ายอเมริกามากขึ้น และแน่นอนว่ามีการเล่าลือข่าวสาร และพงศาวดารฉบับกระซิบไปต่างๆ นานา มองในแง่นี้ สถานการณ์ในช่วงหลังตากใบเป็นต้นมา ทำให้สังคมการเมืองไทยแทบจะตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน (state of emergency) ซึ่งรัฐไม่อาจแสดงอำนาจปกครองอย่างสมบูรณ์ได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ด้วยการประกาศอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า กลุ่มก่อการร้ายคือฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง ในสามจังหวัดภาคใต้ ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนหลากกลุ่มหลายฝ่าย อันเนื่องมาจากปัญหาภาคใต้ก็หมดไป กลายเป็นความขัดแย้งเชิงเดี่ยว ที่รวมศูนย์อยู่ที่ชาติไทยกับอิสลามหัวรุนแรงข้ามพรมแดน

จริงอยู่ว่ามุสลิมก่อการร้ายนั้นอันตราย แต่ความรุนแรงในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะ ที่น่าจะเป็นอิสระจากการก่อการร้าย ในความหมายสากลอยู่มาก ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสี่ข้อ

ข้อแรก ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางศาสนา ที่รุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แบบโลกตะวันตก

ข้อสอง ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเต็มไปด้วยองค์ประกอบทางสังคม ที่ส่งผลให้ผู้คนไม่ได้แบ่งแยกฝักฝ่าย ตามความแตกต่างทางศาสนาอย่างตายตัว แต่อาจแบ่งแยกด้วยเหตุผลอื่น และรวมกลุ่มโดยเหตุผลอื่นได้ด้วย เช่น ความยากจน ชาติพันธุ์ ความเป็นละแวก ฯลฯ

ข้อสาม การเผชิญหน้ากับรัฐไม่ได้ปรากฎแต่ในรูปของวินาศกรรม และเข่นฆ่า หากในหลายกรณียังแสดงออกในรูปของการชุมนุม และรวมกลุ่มในลักษณะต่างๆ จึงมีผู้คนที่เกี่ยวข้องโดยกว้างขวาง และเปิดเผย เกินกว่ากลุ่มก่อการร้ายข้ามพรมแดนไม่กี่ราย

ข้อสี่ เป็นไปได้มาก ที่กลุ่มก่อการร้ายจะได้รับความสนับสนุนข้ามพรมแดน จากเครือข่ายก่อการร้ายสากล แต่คุณลักษณะทางชาติพันธุ์ของเครือข่ายก่อการร้ายสากล ก็เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว ในสามจังหวัดภาคใต้อยู่มาก จนต่อให้แม้จะมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายในความหมายสากล คนกลุ่มนี้ก็มีอิทธิพลได้แต่คนในแวดวงจำกัดเท่านั้น

แน่นอนว่าการก่อการร้ายเป็นอันตราย เพราะมุ่งทำลายระเบียบของสังคมโดยไม่สนใจว่าใครคือ “เหยื่อ” ของการก่อการร้ายนั้น รัฐจึงมีหน้าที่พื้นฐานในการต่อต้านการกระทำนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักว่า การก่อการร้ายไม่เคยมีประสิทธิผล ถึงขั้นผลักดันให้มวลชนต้านรัฐอย่างกว้างขวาง อันเป็นปรากฎการณ์สำคัญของสามจังหวัดภาคใต้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ต้นตอของความรุนแรงในภาคใต้ไม่ได้อยู่ที่การแทรกตัวของกลุ่มก่อการร้าย แต่อยู่ที่ความล้มเหลวในการสร้างชาติที่เป็นอิสระจากการผูกขาดทางชาติพันธุ์

 



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๕
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘