หนุ่มสาวดัดจริต > ความเข้าใจในการเมือง

 

พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสเคยเทศน์เรื่อง “ธรรมะกับการเมือง” ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ น่าสนใจที่ว่า ปัญหาเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองในสังคมไทย เมื่อสามสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้ต่างไปจากปัจจุบันเลย ผู้คนส่วนใหญ่ยังมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มบางพวกไม่เกี่ยวกับตน และการเมืองเป็นเรื่องที่แยกออกจากเรื่องอื่นอย่างเด็ดขาด เราจึงเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างเด็ดขาดเช่นกัน ท่านพุทธทาสยืนยันว่า เราจำต้องเข้าใจการเมืองอย่างถูกต้อง มีท่าทีต่อการเมืองอย่างถูกต้อง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ และไม่นิ่งเฉยปล่อยให้อวิชชาครอบงำสังคมจนโลกดิ่งลิ่วสู่ความหายนะ

“การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” เป็นประโยคแรกที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเยาวชนของฝรั่งเล่มหนึ่ง จิตสำนึกทางการเมืองของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดูและการศึกษา น่าสนใจว่าทำไมเมืองไทยจึงมีวิจิกิจฉาประเภท “นักศึกษาควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่?” “นักวิชาการมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำไม?” “พระจะเทศน์ปัญหาการเมืองและสังคมได้ไหม?” จะว่าคนไทยไร้การศึกษาก็คงไม่ได้ จะว่าการศึกษาเมืองไทยต่างจากฝรั่งก็ว่าไม่ได้อีก เพราะอะไรต่อมิอะไรก็ทำตามอย่างฝรั่งเขาทั้งนั้น แม้กระทั่งเดม็อคคราซี เว้นแต่ว่าลอกได้ไม่ครบ

ลองนึกดูก็แล้วกันว่า แค่การขับขี่รถยนต์ไปบนท้องถนน ก็ต้องมีกฎระเบียบอะไรมากมาย เมื่อถึงสี่แยก พาหนะเส้นทางไหนจะได้ไปก่อน ก็ต้องมีการกำหนดกติกาไว้ การไปเข้าโรงเรียน จะเรียนวิชาอะไร คนในสังคมควรมีความรู้แบบไหน ก็ต้องมีการกำหนดวางแผนไว้ จะใช้ไฟฟ้า ก็ต้องมีการเลือกว่า จะใช้แหล่งพลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติประเภทไหน จะสูญเสียพื้นที่ป่าเท่าไหร่ จะคำนวณราคาของระบบนิเวศน์ที่สูญเสียไปอย่างไร จะแจกจ่ายพลังงานที่ผลิตได้อย่างไร หรือหากจะค้าขายกับใครก็ต้องมีการวางแผนการผลิต การขนส่ง ทำอย่างไรผู้คนจะมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็ต้องมีการตกลงจัดการให้เรียบร้อยก่อนดำเนินการ จะเห็นว่า กระบวนการสังคมเหล่านี้ก็ต้องเกี่ยวข้องกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และทั้งหมดทั้งนั้นล้วนเป็นผลของการเมืองทั้งสิ้น

มีผู้เข้าใจผิดมากว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ แต่แท้จริงแล้วการเมืองเป็นเรื่องของการแบ่งสันอำนาจของสมาชิกในสังคม ซึ่งแล้วแต่จะตกลงกันว่าให้ใครมีอำนาจอย่างไรบ้าง ในระบอบประชาธิปไตย กติกาเหล่านี้จะเขียนไว้ในรูปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะว่าไปรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทยนั้น ได้กระจายอำนาจไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่น่าเสียดายว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังมิได้ตระหนักถึงอำนาจของตน

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกคนดีมีปัญญา เข้าไปเป็นตัวแทนของตนในวุฒิสภาจำนวนมาก ทั้งนี้ ผู้ได้รับเลือกส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน ดังเช่น อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อ.จอน อึ๊งภากรณ์ หรือผู้ที่อยู่ในความศรัทธารักใคร่ของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ดังเช่น นางประทีป อึ้งทรงธรรม นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ กำนันเป๊าะ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ เว้นคนสุดท้าย ปราศจากกำลังทรัพย์ และมิได้สังกัดพรรคการเมืองใด ก็สามารถเข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่นิติบัญญัติได้ และสามารถออกเสียงโดยมิจำเป็นต้องขึ้นกับพรรค

องค์กรอิสระก็มีบทบาทมาก ดังเช่น ปปช. ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ล้วนเป็นอิสระจากพรรคการเมือง และมีอำนาจในตัว องค์กรเหล่านี้ล้วนทำงานได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และเป็นก้าวแรกที่ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า อำนาจมืดและอิทธิพลเถื่อนนั้นแท้จริงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด ปปช. เองเคยตรวจสอบทรัพย์สินของเสธ. หนั่น ขจรประศาสน์ และตัดสินว่ามีความผิดและให้ยุติการเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี ศาลปกครองตัดสินให้นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา มีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบกลั่นแกล้งข้าราชการประจำผู้หนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแม้จะไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้กระทำผิด ก็พยายามที่จะสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สังคมไทยได้รับรู้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขโดยสันติวิธี ดังเช่น กรณีท่อกาซไทย-มาเลย์ที่ถูกประท้วงโดยชุมชนจะนะ สงขลา กรณีกรือเซะและตากใบ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า อำนาจมิได้กระจุกตัวอยู่แต่ในรัฐบาล รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลยุติธรรม อีกต่อไป หากแต่กระจายมายังองค์กรอิสระ และแม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือที่เรียกกันว่าเอ็นจีโอ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นองคาพยพหนึ่งของสังคม ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนบ้านเมือง ให้รอดพ้นจากวิกฤติปัญหานานาประการที่ถาโถมเข้ามา

แม้ในส่วนของปัจเจกบุคคลนั้นเล่า ก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขององค์กรการเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นเสียงสะท้อน เป็นการส่งสัญญาน ให้รัฐบาลหรือองค์กรเหล่านั้นปรับปรุงวิธีการทำงาน หรือวางกรอบนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการของคนในสังคม

เสียงเหล่านี้จะยิ่งมีพลังและมีน้ำหนักน่ารับฟังมากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวกัน ดังเช่น ชมรมคนรักกรุงเทพฯ จัดงานบิ๊กแบง(กอก) เพื่อเปิดเวทีให้ชาวกรุงเทพฯ แสดงความต้องการของตนว่าอยากให้กรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนาไปเช่นไร โดยเชิญผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ มาร่วมรับฟัง จะเห็นได้ว่า นโยบายได้ถูกเสนอไปจากฝ่ายประชาชนคนกรุงเทพฯ มิได้รอให้ผู้สมัครตั้งนโยบายมานำเสนอแต่อย่างใด ผู้สมัครที่รับฟัง และยินดีที่จะนำนโยบายของประชาชนไปปฏิบัติ ก็ย่อมจะได้รับความสนับสนุนมาก หรือการจัดเวทีสัมมนาของกลุ่มสตรีศึกษาเรื่อง “ผู้หญิงคิดอย่างไร” ก็เพื่อจะเสนอนโยบายทางการเมืองจากมุมมองของผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นประชากรผู้มีสิทธิ์ออกเสียงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศ จะเห็นได้ชัดว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง หรือลงสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด

การเมืองภาคประชาชนนี้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญมาก ในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิได้จบลงแต่เพียงการไปออกเสียงเลือกตั้ง และมอบอำนาจในการปกครองบ้านเมืองให้กับรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีไปตลอดสมัยรัฐบาล เพราะแม้แต่รัฐบาลทักษิณที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ก็ยังได้รับคะแนนเสียงเพียง ๑๑ ล้านเสียง จากประชาชน ๖๐ ล้านคน มิได้ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งประเทศ หรือต่อให้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ก็มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะมีอาญาสิทธิ์สมบูรณ์เหนือทุกชีวิต การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มิได้หมายความว่าเสียงข้างน้อยจะสูญเสียซึ่งสิทธิและเสรีภาพให้แก่เสียงข้างมาก ประชาชนยังมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของผู้แทนราษฎร ผ่านกระบวนการส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ เป็นดุลถ่วงอำนาจในสังคมให้เกิดความชอบธรรมอีกทางหนึ่ง พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็เป็นตัวแทนของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็มีอุบายในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอยู่มาก ดังเช่น การทำประชาพิจารณ์ ประชามติ ซึ่งเป็นกระบวนการลดความขัดแย้งลักษณะหนึ่ง เพราะหัวใจของประชาธิปไตยนั้นอยู่ที่การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการยอมรับจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยรับฟังซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้ต้องเป็นไปในระหว่างผู้มีสถานะเท่าเทียมกัน นั่นคือ มีการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน เมื่อพูดคุย ได้รับฟังความคิดและเหตุผลที่แตกต่าง ได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ที่ขัดแย้งก็ย่อมผ่อนปรนลงมาได้

ประชาพิจารณ์และประชามติหลายครั้งล้มเหลว ดังที่เกิดกับกรณีท่อแกสไทย-มาเลย์ เพราะเวทีการพูดคุยนั้นถูกจัดโดยฝ่ายรัฐ มีการกีดกันไม่ให้ผู้นำชุมชนเข้าร่วมเจรจา มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม โดยเน้นเลือกเฉพาะผู้ที่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐ การพูดคุยจึงมิอาจเกิดขึ้นได้ ความเห็นที่แตกต่างจึงมิอาจยอมรับได้ เพราะมีการสรุปผลล่วงหน้าไว้แล้ว ท่อแกสอาจจะสร้างได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนนั้นยิ่งฝังรากลึก ความขัดแย้งหากสั่งสมไว้เป็นเวลานาน ก็เป็นดังระเบิดเวลาลูกหนึ่ง และอาจจะต้องจ่ายด้วยราคาแพงที่กว่าท่อแกสด้วยซ้ำ

กระทั่งสิทธิที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบก็เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง การจับผู้ชุมนุมประท้วงท่อแกสไทย-มาเลย์ และฟ้องร้องด้วยข้อหานับสิบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ เมื่อเรื่องเข้าสู่ขั้นศาลจนกระทั่งเสร็จสิ้นการดำเนินคดีที่ศาลสั่งยกฟ้อง ก็ทำให้เห็นแล้วว่าประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ และการที่ชาวบ้านไม่ยอมสลายการชุมนุม ก็มิได้เป็นการขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะพลเมืองที่มิได้กระทำผิดกฎหมาย ย่อมไม่มีหน้าที่กระทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งข้อกล่าวหาที่ว่าชาวบ้านจะก่อความไม่สงบตามรายงานของสายลับ เมื่อสืบจากพยานหลักฐานแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่อาจหาหลักฐานหรือพยานมายืนยันได้

อย่าว่าแต่กรณีท่อแกสไทย-มาเลย์เลย ผลสอบสวนกรณีตากใบก็ปรากฏออกมาว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดกฎหมายเสียเอง ข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงมีอาการมึนเมาคล้ายกับผู้เสพยา ก็ตรวจพบข้อเท็จจริงในภายหลังว่า มีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น และอาจจะเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มให้พลังงาน หรือกระทั่งยาแก้ปวดที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดด้วยซ้ำ ส่วนข้อที่ว่าผู้ร่วมชุมนุมพกอาวุธประสงค์จะก่อเหตุวุ่นวาย มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากภาพถ่ายที่เจ้าหน้าที่รัฐนำเสนอต่อสื่อมวลชนฝ่ายเดียว ถ้าใครมีไหวพริบสังเกตดีก็ย่อมจะทราบดีว่า สื่อมวลชนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ มิได้นำเสนอภาพข่าว ที่สอดคล้องกับคำให้การของเจ้าหน้าที่รัฐเลยด้วยซ้ำ

การกีดกันมิให้คนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แม้การแสดงความคิดเห็น โดยมีข้ออ้างว่า นักศึกษามีหน้าที่เรียน นักวิชาการมีหน้าที่ทำงานวิชาการ นักบวชมีหน้าที่เทศน์ให้คนทำดี จึงเป็นเรื่องของชนเผ่าใจแคบ สมองแคบ เผด็จการ และข้าทาสแห่งอำนาจนิยม การสร้างการยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น จำต้องทำลายมิจฉาทิฏฐิประเภทนี้ให้สิ้นซาก

ข้อที่ว่า นักการเมืองล้วนเต็มไปด้วยโมฆบุรุษ และการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ก็จำต้องปรับเปลี่ยนทัศนะที่ว่าไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวแปดเปื้อน ด้วยการตั้งระบบคุณค่าใหม่ที่ว่า การเมืองต้องสะอาด นักการเมืองจะต้องมีจริยธรรม ทัศนะนี้จะช่วยก่อให้เกิดการกลั่นกรองคุณภาพของนักการเมือง มีการตรวจสอบความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมือง การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ มิใช่เรื่องที่ยอมรับได้ว่าเป็นเรื่องกินตามน้ำ ดังที่กรณีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุขก็ส่งผลให้อดีตรัฐมนตรี นายรักเกียรติ สุขวัฒนะ ต้องคดีจำคุกมาแล้ว ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างน้อย ๓๐ องค์กร รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีทุจริตดังกล่าว ยิ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นพลังแห่งการรวมตัวได้เป็นอย่างดี

แม้พระอริยเจ้าหรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ยิ่งต้องโปรดสัตว์การเมืองให้มาก เพราะผู้ปกครองต้องประกอบด้วยธรรมจึงจะรักษาความเป็นธรรมในบ้านเมืองไว้ได้ กระทั่งพระราชายังต้องประกอบด้วยทศพิธราชธรรม แล้วอัครมหาเสนาบดีจะรังเกียจคำท้วงติงของสัตตบุรุษได้อย่างไร การเทศน์เรื่องการเมืองที่สอนให้นักการเมืองมีศีล หรือทำให้เวไนยนิกรมีปัญญาเข้าใจการเมืองอย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องน่าสนับสนุนเสียยิ่งกว่าการอวยชัยให้พรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงมาก หรือเจิมหน้าผากกล่าวคาถาให้พรนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ได้เป็นเสนาบดีเสียอีก

นอกจากนี้ พวกเราพึงตระหนักว่า ความพิสุทธิ์หรือโสโครกของนักการเมืองนั้น ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวเราเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะทั้งนักการเมืองและตัวเราเองต่างก็เป็นผลผลิตของสังคมเช่นเดียวกัน จ. บุชเป็นผลผลิตของอเมริกายุคสมัยนี้ฉันใด ท. ชินวัตรก็เป็นผลผลิตของสังคมไทยยุคนี้ฉันนั้น เขาย่อมคิดและทำในสิ่งที่สังคมไทยเห็นว่าเป็นคุณค่าที่ควรยึดถือ คหบดีที่สามารถผ่านการเลือกตั้งเข้าไปนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ก็เป็นผลจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนหนึ่ง และเป็นผลจากการไม่ออกไปใช้สิทธิอีกส่วนหนึ่ง หากผู้ปกครองทำอะไร แล้วปราศจากการทักท้วงตรวจสอบของประชาชน เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทุกฝ่ายก็มีส่วนต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดนั้นด้วย เช่นเดียวกันกับประชาชนเยอรมันทุกคน ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุน อดอล์ฟ ฮ. หรือมิได้ปฏิเสธคัดค้านนโยบายของ อดอล์ฟ ฮ. ก็ตาม

คำถามที่ว่า “ไม่เอาทักษิณแล้วจะเอาใคร” เป็นคำถามคุณภาพต่ำ เพราะคำถามเช่นนี้ตั้งกันมาตั้งแต่ยุค “ไม่เอาเปรมแล้วจะเอาใคร” หรือ “ไม่เอาชวนแล้วจะเอาใคร” ก็หากมีนิสสัยสันดานสยบสมยอมให้กับวีรบุรุษขี่ม้าขาว ก็ย่อมจะเคยชินกับการเป็นทาสและพร้อมจะกดขี่ให้ผู้อื่นเป็นทาสเหมือนตนไปด้วย โดยลืมมองไปว่า สังคมที่มีปราชญ์เรืองปัญญาหลายคน ย่อมมีรากฐานมั่นคงเสียยิ่งกว่าวีรบุรุษคนเดียว ดังเช่น ก๊กของคนแซ่โจ เปลี่ยนไปอยู่ในมือของแซ่สุมา และลูกหลานแซ่โจก็ถูกประหารเกือบสิ้นตระกูล ในเวลาไม่นานหลังจากรัฐบุรุษอย่างโจโฉเสียชีวิตต่างจากก๊กของเล่าปี่ ที่แม้้จะมีกษัตริย์โง่เขลา และแม้ปราชญ์ใหญ่อย่างขงเบ้งจะเสียชีวิตไปแล้ว กลุ่มขุนนางผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมและปรีชาญาน ก็ยังทะนุบำรุงเชื้อสายแซ่เล่าไว้ได้ จนกระทั่งเล่าเสี้ยนทำลายตนเองลงไป ด้วยการเชื่อฟังขันทีที่คอยเพ็ดทูลไม่ให้ทราบความจริงนั่นแหละ

ในยุคสมัยปัจจุบัน ชนชั้นนำทางปัญญาของไทยล้วนเห็นตรงกันว่า อำนาจที่รวมศูนย์มากเกินไป แม้จะถูกต้องตามกฎหมายกติกา แต่ไม่อาจนำความชอบธรรมมาให้สังคมโดยรวมได้ ดังที่อ.ประเวศ วะสี ได้ตอกย้ำความสำคัญของการคานอำนาจโดยฝ่ายค้าน อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ประกาศตนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะถ่วงดุลอำนาจกับพรรคไทยรักไทย และอ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ประกาศตนอยู่ฝ่ายพรรคมหาชน เพื่อเปิดทางให้พรรคขนาดเล็กเข้าไปถ่วงดุลอำนาจอีกทางหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับท่านอาจารย์เหล่านี้ แต่จำต้องยอมรับว่า จุดยืนของท่านเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อชี้แนะทางปัญญาให้กับสังคม

คำถามของไดโนเสาร์ที่ว่า ควรจะยุ่งเกี่ยวหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ใช่ปัญหาที่น่าใส่ใจ ปัญญาชนที่แท้พึงตั้งคำถามกับตนเองว่าควรจะเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร หากพวกเราเข้าใจการเมืองอย่างถูกต้อง มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับผู้อื่น ผ่านกระบวนการทางการเมือง และตระหนักรู้ตนว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่ถูกแบ่งสรรนั้นด้วย เราก็สามารถข้องเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หากไร้ซึ่งสติปัญญา ผลของการปฏิเสธการเมือง ย่อมไม่ต่างจากการยอมตนเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่หากมีอุปายโกศล-วิธีการที่ตั้งอยู่บนหนทางแห่งสติปัญญา การเมืองย่อมจะเป็นเครื่องมือทางสังคมอันวิเศษ ที่จักนำมนุษย์วิวัฒน์ตนเองไปสู่พรหมภาวะ ที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ได้

 

ชลนภา อนุกูล

๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.
๒๕๔๘