หนุ่มสาวดัดจริต > หัวร่อจนตาย

 

ยี่สิบปีผ่านไป หลังจากการตีพิมพ์ หัวร่อจนตาย - Amusing Ourselves to Death: Public Discourse in the Age of Show Business – ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้อื่นอย่างดียิ่ง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า ๘ ภาษาในครั้งนั้น ในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน งานเขียนวิพากษ์สื่อของนีล โพสต์แมน เล่มนี้ ยังประกอบด้วยความแหลมคม และเหมาะที่จะทำความเข้าใจ กับภาวะที่สังคมไทยเต็มไปด้วยรายการละคร เกมโชว์ และความบันเทิงนานาประเภท ได้มากพอควร

หนังสือแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรกโพสต์แมนได้อธิบายภาพรวมของสื่อ ทั้งในฐานะภาพสะท้อนข่าวสารความรู้ของสังคมในยุคสมัยนั้น และในฐานะศาสตร์ที่นำเราไปสู่ความรู้ความเข้าใจ โดยกล่าวถึง สภาพสังคมอเมริกันยุคที่การสื่อสารยังปรากฎอยู่ในรูปของหนังสือ การรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ล้วนผ่านการอ่าน มาจนถึงยุคสมัยที่วิทยุ โทรทัศน์ กลายเป็นสื่อกระแสหลัก และการรับรู้ของผู้คนผ่านการรับภาพ

โพสต์แมนชี้ให้เห็นว่า โดยเหตุที่การใช้ประสาทรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้คนเปลี่ยนไป จากการอ่านมาเป็นการดู ความรู้ความคิดของผู้คนก็เปลี่ยนไปด้วย ทั้งนี้ ฐานความรู้ความคิดของผู้คนในสังคมการอ่านนั้น มีความเข้มแข็งกว่าผู้คนในสังคมการดูโทรทัศน์ ผู้ที่อ่านหนังสือจะมีกระบวนการใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆ ละเอียดรอบคอบกว่า ต่างจากการดูโทรทัศน์ ซึ่งข่าวสารข้อมูลจะวิ่งไปด้วยความเร็วที่สูงกว่า และการใช้ความคิดเป็นสิ่งที่แทบจะไม่มีพื้นที่ในรายการโทรทัศน์ด้วยซ้ำ รายการโทรทัศน์ล้วนแต่นำเสนอการแสดง และการพูด ด้วยอัตราเร็ว ไม่ปรารถนาผู้ที่ขอเวลาคิดก่อนพูด ผู้ชมรายการก็ย่อมคุ้นชินกับกระบวนการรับรู้ข่าวสารดังกล่าว นั่นคือ ย่นย่อกระบวนการรับรู้ลงด้วยการตัดความคิดออกไป

ในส่วนที่สองนั้น โพสต์แมนวิพากษ์ความบันเทิงทั้งหลายอย่างตรงไปตรงมา เขาเห็นว่า หากผู้คนมุ่งปรารถนาจะเสพรับความบันเทิงเป็นหลัก เราก็จะอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยความกลวงโหว่ทางเนื้อหา ชีวิตจะประกอบด้วยความไร้สาระ ดังวลีที่ว่า “ขอเชิญพบกับ...” เพื่อที่จะพบว่าไม่มีอะไรเลย

ขณะเดียวกัน หากเราคิดว่าความบันเทิงจะช่วยนำข่าวสารสำคัญไปถึงผู้คนจำนวนมาก ปรากฏการณ์ที่บาทหลวงจะทำให้การเทศนาสั่งสอนเป็นรายการบันเทิง มีการจัดฉาก จัดเวที มีลีลาการพูดตื่นเต้น มีผู้เข้าร่วมรายการจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ คำถามก็คือว่า แล้วเราจะบรรลุเป้าหมายว่าด้วยเนื้อในของศาสนา ผ่านรายการเทศน์บันเทิงเช่นนี้ได้ล่ะหรือ?

และถ้าหากเราคิดว่า เราจะได้รับฟังนโยบายของนักการเมืองต่างพรรค หรือกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากบุคคลหลากหลาย ข้อจำกัดเรื่องเวลาในการออกอากาศย่อมไม่อำนวยให้เกิดกระบวนการเช่นนั้นได้ ผู้ที่ได้รับเชิญมาออกรายการย่อมไม่ได้รับอนุญาตให้คิดหรือแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น สิ่งที่ทำได้จะมีเพียงการนำเสนอเฉพาะความคิดของตนเท่านั้น และผลในท้ายที่สุด การออกรายการโทรทัศน์จะเป็นการให้ความสำคัญต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ มากเสียยิ่งกว่าความคิด ดังที่ ในช่วงหลัง นักการเมืองเองให้เวลากับการแต่งหน้าแต่งตัว มากกว่าการเตรียมสุนทรพจน์เสียอีก

นอกจากนี้ การพยายามทำรายการเด็กเพื่อการศึกษาดังเช่น ซีเซม สตรีท โพสต์แมนก็มองว่า แท้จริงแล้วเป็นเพียงการฝึกเด็กไม่ให้เกลียดชังห้องเรียนก่อนที่จะเข้าโรงเรียนนั่นเอง เพราะการสอนผ่านโทรทัศน์นั้น เราไม่อาจฝึกฝนวินัยให้เด็กได้เหมือนดังอยู่ในห้องเรียน เด็กอาจจะไม่ได้มีสมาธิตั้งใจเรียนเต็มที่ โทรทัศน์ก็ยังเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว ไม่อาจจะเป็นครูจริง ๆ ได้ และบางที อาจจะเป็นความพยายามบรรเทาความรู้สึกผิดของพ่อแม่ที่ไม่ค่อยเวลาให้กับลูก และเชื่อว่าโทรทัศน์จะช่วยสั่งสอนเลี้ยงดูลูกของตนได้ด้วยรายการเด็กที่มีสาระดังกล่าว

โดยนัยยะเดียวกัน ความมุ่งหวังที่ว่า โทรทัศน์จะเป็นสื่อการศึกษา ช่วยให้ผู้คนในสังคมมีความรู้มากขึ้น จึงเป็นความคาดหวังเกินจริงไปสักหน่อย ท้ายสุด โพสต์แมนตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนให้เป็นความบันเทิง จะนำเราบรรลุสู่เป้าหมายทางการศึกษาได้หรือไม่?

โพสต์แมนปิดท้ายด้วยคำเตือนของอัลดัส ฮักซ์เลย์ ซึ่งให้ภาพของโลกอนาคตไว้ในหนังสือ โลกใหม่ - The brave new world ซึ่งให้ภาพของมนุษย์ที่ประกอบด้วยความถึงพร้อมทางวัตถุแต่ว่างเปล่าทางจิตใจ เทคโนโลยีของยุคสมัยทำให้ผู้คนกลวงด้านใน แม้ผู้คนจะไร้ซึ่งความทุกข์แต่ก็ปราศจากความสุขที่แท้จริง ชื่อหนังสือของโพสต์แมน Amusing Ourselves to Death: Public Discourse in the Age of Show Business ก็ดูราวจะบอกทัศนะที่เขามีต่อสังคมร่วมสมัย ก็คือ การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นความบันเทิง ไม่ว่าเนื้อหาในการนำเสนอจะหนักหน่วงเพียงไร

ข้อที่โพสต์แมนถูกตำหนิเห็นจะเป็นว่า เขาเขียนวิพากษ์วิจารณ์สื่อไว้มาก หากแต่ไม่เขียนเสนอแนะทางออกเอาเสียเลย เขาเองก็เหมือนจะรู้ตัวดี ในหนังสือเล่มหลัง ดังเช่น Building a Bridge to the 18 th Century และ Technopoly เขาได้พยายามเสนอแนะหนทางแก้ไข และด้วยความที่เป็นนักการศึกษา เขาจึงค่อนข้างเชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นทางออก โดยเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มาของความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ร่วมด้วย เพื่อที่จะก่อให้เกิดกระบวนการเข้าใจทางความคิด และมีการตั้งคำถามพิจารณาไตร่ตรอง พูดโดยง่าย เขามองว่า ผู้บริโภคข่าวสารควรจะพัฒนาตนเอง ให้มีภูมิต้านทานเพียงพอ ในกระบวนการสื่อสาร นั่นคือ ไม่เชื่อง่าย

ภาวการณ์สื่อในสังคมไทยร่วมสมัยนั้น เราอาจจะหาอ่านจากบทความ ความเข้าใจเรื่องระบบสื่อสารมวลชน โดย ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ามีความลึกซึ้งกว่าของโพสต์แมนมาก ในข้อที่ชี้ให้เห็นระบบทุนผูกขาด และอำนาจนิยมที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคำว่า “สื่อสารมวลชน” ข้อมูลบางอย่างช่วยเปิดหูเปิดตาข้าพเจ้าอยู่มาก ดังเช่น จำนวนสถานีวิทยุในประเทศไทย ๕๒๔ สถานี อยู่ในความดูแลของรัฐถึง ๓๓๖ สถานี หรือร้อยละ ๖๕ ของสถานีวิทยุทั้งหมด หรือสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทั้งหมด ๑๗ สถานี เป็นของรัฐทั้งสิ้น ทั้งนี้ ช่อง ๗ มีบริษัทกรุงเทพวิทยุและโทรทัศน์จำกัด ซึ่งมีสุรางค์ เปรมปรีด์เป็นเจ้าของ ได้สัมปทาน ๔๗ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๕๘ ช่อง ๓ มีบริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ ของประชา มาลีนนท์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ได้สัมปทาน ๕๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๖๓ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกมากที่น่าเก็บเกี่ยวไปพิจารณา และขบคิดกันต่อว่าเราจะหลุดพ้นจากภาวะที่จะหัวเราะกระทั่งตายได้อย่างไร

 

สารบาญ

บทนำ

ภาคหนึ่ง

๑ สื่อเป็นอุปมา

๒ สื่อในฐานะญานวิทยา

๓ อเมริกายุคภาพอักขระ

๔ จิตใจแบบภาพอักขระ

๕ โลกผลุบโผล่

ภาคสอง

๖ ยุคเกมโชว์

๗ “ขอเชิญพบกับ...”

๘ มุ่งสู่เบธเลเฮม

๙ ค้นหาและเลือกใครสักคน

๑๐ ทำการสอนให้เป็นกิจกรรมบันเทิง

๑๑ คำเตือนจากฮักซ์เลย์

บันทึก

บรรณานุกรม

ดรรชนี

เกี่ยวกับผู้เขียน

นีล โพสต์แมน – Neil Postman ศาสตราจารย์ นักการศึกษา และนักวิพากษ์สังคมผู้นี้ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ที่นิวยอร์ค ซิตี้ และเติบโตในบรู๊คลิน ภายหลังการศึกษา เขาอุทิศตนให้กับการเป็นอาจารย์นิเทศน์ เขียนตำรา และบทความเกี่ยวกับการศึกษาจำนวนมาก ในปี ค.ศ. ๑๙๗๑ เขาได้ก่อตั้งหลักสูตรนิเวศน์วิทยาสื่อ วิชาที่ว่าด้วยสื่อคือสิ่งที่เป็นผลผลิตของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขาเป็นหัวหน้าภาควิชาวัฒนธรรมและการสื่อสาร ช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๘๙ – ๒๐๐๒ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์คซิตี้ในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านนิเวศน์วิทยาสื่อเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๘

โพสต์แมนมีความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของสื่อต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เขาเชื่อว่า “ชีวิตของลูกหลานเราถูกกำหนดโดยสิ่งที่พวกเขาเห็นและได้ยินจากสื่อ” และ “เยาวชนเป็นข่าวสารมีชีวิต ที่พวกเราส่งผ่านเวลาที่เราไม่อาจมองเห็นได้”

เขาเสียชีวิตในวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ สิริรวมอายุได้ ๗๒ ปี

งานเขียนสำคัญ

  • Amusing Ourselves To Death: Public Discourse in the Age of Show Business, 1985
  • In the Disappearance of Childhood, 1994
  • Building a Bridge to the 18th Century, 1999
  • Technopoly, 1993


หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘