หนุ่มสาวดัดจริต > ถวัติ ฤทธิเดช ในกระแสการเมืองราษฎร
 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

คัดจาก ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า : ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 189-199.

ปูมหลังของชีวิตและการต่อสู้ของถวัติ เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศทางการเมืองและสภาพสังคมในช่วง พ.ศ. 2466-2480 ซึ่งให้กำเนิดคนกลุ่มใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์, ความคิด และความต้องการทางการเมืองแบบใหม่ๆ ในขณะที่โครงสร้างการเมืองการปกครอง เต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากอวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และกำเนิดประชาธิปไตยรัฐสภา

โดยปกติของการเมืองในสภาวะนี้มักอ่อนแอและเปราะบางต่อการแตกสลาย จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะควบคุมหรือต่อต้านการท้าทายพลังกลุ่มใหม่ๆ ได้มากนัก บรรยากาศทางการเมืองแบบนี้เปิดโอกาสให้คนแทบทุกกลุ่มต่อสู้ ต่อต้าน และต่อรองกับ “อำนาจ” ได้โดยเปิดเผยและแทบเป็นอิสระ และผลที่ตามมาก็คือ สภาวะที่การเมืองแบบใหม่ของพลเมืองเติบโตขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ภายใต้เงื่อนไขดังที่กล่าวมา สามารถสรุปและประเมินผลบทบาทของถวัติในแง่มุมต่างๆ ได้ดังนี้ี้

ประการที่หนึ่ง ผลสะเทือนต่อ “การเมืองของพลเมือง” ถวัติมีบทบาทในสังคมไทย ในช่วงที่ระบบคุณค่าแบบเก่าเริ่มที่จะล่มสลาย บทบาทของ ถวัติในช่วงต้นจึงเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” ที่โจมตีระบบคุณค่าแบบเก่า พร้อมกับยกย่องเชิดชูระบบคุณค่าแบบใหม่ เช่น ความสามารถสำคัญกว่าชาติกำเนิด การแบ่งแยกระหว่างราชการกับราชวงศ์ โดยอาศัยหนังสือพิมพ์เป็น “ตัวกลาง” ในการเผยแพร่ความคิดเห็นไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม [1] น่าสนใจว่าในขณะที่ปัญญาชนคนอื่นๆ ในรุ่นก่อนนั้น เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ, เทียนวรรณ , นรินทร์ ภาษิต เผยแพร่ความคิดเห็นด้วยสื่อซึ่งเข้าถึงผู้อ่านได้จำกัด ได้แก่ จดหมายเหตุคำกลอน หนังสือเล่ม ใบแจ้งความ และแถลงการณ์ ถวัติกลับเผยแพร่ความคิดผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้าถึงผู้อ่านได้มากกว่า จึงมีผลสะเทือนมากกว่าด้วยเช่นกัน ถวัติเป็นบรรพบุรุษคนแรกๆ ของวงการหนังสือพิมพ์ไทย เช่นเดียวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์, มานิต วสุวัติ และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การสื่อสารมวลชนไทยคนอื่นๆ จึงเป็นหนึ่งในปัญญาชนรุ่นแรกๆ ที่มีส่วนสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” ให้พลเมืองตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

ปรากฎการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายพลเมืองมีอำนาจสูงขึ้น ขณะที่รัฐเริ่มเป็นอิสระจากสังคมน้อยลง จนแม้แต่องค์อธิปัตย์เองก็ไม่ได้เป็นอิสระจากสังคมอีกต่อไป ซ้ำยังสามารถถูกตรวจสอบได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์เกี่ยวกับสังคม ถวัติแถลงเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ของเขาทุกฉบับ ถึงจุดมุ่งหมายในการปกป้องผลประโยชน์ของกรรมกร รวมทั้งคนชั้นล่างกลุ่มอื่นๆ คำแถลงแบบนี้ เป็นผลผลิตของโลกทัศน์ที่มองเห็นว่า คนแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์ขั้นมูลฐานที่แตกต่างกัน สังคมจึงไม่ได้เป็นเอกภาพและเต็มไปด้วยความผสมกลมกลืน แต่สังคมคือหน่วยรวมของคนหลากกลุ่มที่มีผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซ้ำยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งกันและกัน โลกทัศน์ของถวัติข้อนี้ลึกซึ้งกว่าปัญญาชนในสมัยเดียวกัน เพราะขณะที่ปัญญาชนส่วนใหญ่คิดถึงพลเมืองในความหมายกว้างๆ จนพลเมืองมีความหมายใกล้เคียงกับ “กระฎุมพี” ถวัติกลับมองเห็นกำเนิดของคนกลุ่มใหม่ ซึ่งมีคุณลักษณะและอัตลักษณ์แตกต่างจากคนกลุ่มอื่น รวมทั้งตระหนักในการกดขี่ขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบที่ “ธนานุภาพ” กระทำต่อคนเหล่านี้

กล่าวในแง่นี้ ถวัติจึงเป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่มีความรู้เท่าทันพลวัตและความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรม และทุนนิยม อนึ่ง ควรระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าถวัติได้กล่าวโจมตี “ธนานุภาพ” อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่กรรมกรโรงสีข้าว 3,000 คน ก่อการนัดหยุดงานใน ปี 2477 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถวัติในเวลานั้นเริ่มตระหนักถึง “อำนาจ” ของพ่อค้านายทุนอย่างเป็นระบบมากขึ้น ถึงขั้นที่มองเห็นว่าความร่ำรวยทางเศรษฐกิจเป็นรากฐานของอิทธิพลทางการเมือง และมีทรรศนะคติในแง่ลบต่อพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของพ่อค้านายทุนมากขึ้นทุกที

ประการที่สาม ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความคิด ถวัติเป็นบุคคลที่มีความรู้สึกเชิงมนุษยธรรม และความยุติธรรมอย่างแรงกล้า และประสบการณ์จากการทำหนังสือพิมพ์ ก็ช่วยให้เขามองเห็นว่าความยุติธรรมสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘