เด็กไทยไม่เป็นรองใคร ใน “โอลิมปิกวิชาการ”
“ตั้งแต่ประเทศไทยส่งทีมผู้แทนฯ เข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2532-2545 ได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 198 รางวัล เป็นเหรียญทอง 17 เหรียญ เหรียญเงิน 53 เหรียญ เหรียญทองแดง 93 เหรียญ และเกียรติคุณประกาศ 35 รางวัล มีเพียงวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียวเท่านั้น ที่ทีมไทยยังไม่เคยมีโอกาสได้รับเหรียญทอง” ข่าวนักเรียนไทยคว้า 3 เหรียญทองเคมีโอลิมปิก 3 เหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก กับอีกเหรียญเงินสาขาละ 1 เหรียญ สร้างความชื่นมื่น ชื่นใจให้กับคนไทยทุกๆ คน เพราะอย่างน้อยก็ถือว่า ในเวทีโลกเด็กไทยไม่เคยเป็นรองใคร โดยเฉพาะในวิชาชีววิทยา ผลงานของทีมไทยอยู่ในอันดับ 1 เคียงคู่ยักษ์ใหญ่ “ประเทศจีน” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแชมป์กวาดเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการแทบทุกประเภท พร้อมด้วยประเทศ “รัสเซีย” ที่ทำผลงานได้เท่าเทียมกัน ทุกๆ ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม คนไทยมักจะได้รับข่าวดีเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการจะจัดขึ้นในช่วงเดือนดังกล่าว สำหรับกำเนิดของการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เกิดขึ้นจากกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมีความคิดและความเชื่อว่า ในทุกประเทศย่อมมีเยาวชนผู้มีอัจฉริยะทางปัญญาอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หากจัดให้เยาวชนเหล่านั้นมาแข่งขันกันในด้านวิชาการ เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ก็น่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถพิเศษทางปัญญาของเยาวชน ให้มีความสามารถยิ่งๆ ขึ้นไป อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว จากแนวคิดดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2502 ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกขึ้นเป็นครั้งแรก จากจุดเริ่มต้นนี้เองทำให้นานาประเทศเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการจัดการแข่งขันนี้ จึงได้จัดส่งเยาวชนของตนเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทุกปี และได้มีการแข่งขันวิชาการต่างๆ เพิ่มขึ้น คือ ฟิสิกส์ เริ่มในปี พ.ศ. 2510 เคมี เริ่มในปี พ.ศ. 2512 คอมพิวเตอร์เริ่มในปี พ.ศ. 2532 และชีววิทยาเริ่มในปี พ.ศ. 2533 และดาราศาสตร์ เริ่มในปี พ.ศ.2540 ตามลำดับ ประเทศไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา โดยมี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงให้การสนับสนุนโครงการมาโดยตลอด ได้ประทานเงินส่วนพระองค์สนับสนุนโครงการ เสด็จประทานเกียรติบัตร แก่นักเรียนที่ผ่านการอบรมเข้ม ครั้งที่ 2 และนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันระหว่างประเทศ และทรงประทานพระอนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เพื่อโครงการโอลิมปิกวิชาการและชมรมโอลิมปิกวิชาการ ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก ในปี 2532 โดยส่งผู้แทนประเทศไทย จำนวน 6 คน ไปร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์ โอลิมปิก ครั้งที่ 30 ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน จากนั้น พ.ศ. 2533 เข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์ โอลิมปิก ครั้งที่ 31 เคมีโอลิมปิก ครั้งที่ 22 และฟิสิกส์ โอลิมปิก ครั้งที่ 21 ในปี พ.ศ. 2534 เข้าร่วมแข่งขันครบ 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์โอลิมปิก ครั้งที่ 32 เคมีโอลิมปิก ครั้งที่ 23 ฟิสิกส์ โอลิมปิก ครั้งที่ 22 คอมพิวเตอร์ โอลิมปิก ครั้งที่ 3 และชีววิทยา โอลิมปิก ครั้งที่ 2 ปัจจุบัน ประเทศไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมแข่งขันครบทั้ง 5 วิชา ต่อเนื่องกันมาทุกปี คือ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา และในอนาคตประเทศไทยมีโครงการจะส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกด้วย ส่วนการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย เพื่อเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศนั้น จะเริ่มจากการแข่งขันคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โอลิมปิกแห่งประเทศไทย มีการสอบคัดเลือกนักเรียน 2 รอบ โดยเปิดรับสมัครนักเรียน ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษา จากทั่วประเทศ และสอบคัดเลือกไว้วิชาละ 20 - 25 คน จากนั้นจะฝึกอบรมเข้ม 3 ครั้ง โดยจัดฝึกอบรมเข้มแก่นักเรียนที่คัดเลือกไว้ในขั้นตอนแรกเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และจะคัดเลือกนักเรียนเหลือ 10-15 คน ก่อนที่จะคัดเอาเพียง 4-6 คน เพื่อเป็นผู้แทนเยาวชนไทยไปแข่งขันระหว่างประเทศต่อไป ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการส่งเด็กเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ นับตั้งแต่การคัดเลือกตัว จนสิ้นสุดการแข่งขันจะใช้งบประมาณ 12-15 ล้านบาทต่อปี โดยเด็กทุกคนที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จะได้รับทุนการศึกษาที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เป็นผู้จัดหาให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านบาทต่อ 1 คน แต่มีเงื่อนไขว่า จบออกมาต้องทำงานในประเทศไทย เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์หรือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ตั้งแต่ประเทศไทยส่งทีมผู้แทนฯ เข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2532-2545 ได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 198 รางวัล เป็นเหรียญทอง 17 เหรียญ เหรียญเงิน 53 เหรียญ เหรียญทองแดง 93 เหรียญ และเกียรติคุณประกาศ 35 รางวัล มีเพียงวิชาคณิตศาสตร์ เพียงวิชาเดียวเท่านั้น ที่ทีมไทยยังไม่เคยมีโอกาสได้รับเหรียญทอง ในปี 2546 ไทยยังเหลือการแข่งขันฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์โอลิมปิกอีกสองรายการที่จะมีการแข่งขันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ขณะที่คณิตศาสตร์แข่งขันเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการลุ้นคะแนน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจข้อสอบ คาดว่าอีกไม่กี่วันก็คงทราบผล ส่วนเคมีและชีววิทยาทราบผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถิติการคว้ารางวัลของทีมไทยจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าคนไทยทุกคนต่างรอลุ้นและเป็นกำลังใจให้กับ “ผู้แทนประเทศไทย” ทุกๆ คน และพร้อมจะต้อนรับการกลับสู่มาตุภูมิของผู้แทนไทยทุกคนด้วยความอบอุ่นอย่างเสมอภาคกัน แม้ไม่ได้เหรียญรางวัลใดๆ ติดมือมาเลยก็ตาม


ที่มา : หนังสือพิมพ์เสรีรายวัน