ความรุนแรงในเด็กแก้ได้ที่ครอบครัว
“ดังนั้น กลุ่มบุคคลที่สำคัญต่อเด็กนักเรียนและเยาวชน เช่น บิดามารดา และครูอาจารย์ ควรจะเร่งพิจารณาบทบาทของตนเอง และหาทางป้องกันแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนของประเทศ ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคตได้” ปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็ก กลายเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องหันมามองด้วยความสนใจอย่างเอาจริงเอาจัง รวมไปถึงต้องให้ความระมัดระวังกับเด็กๆ ในปกครองมากขึ้นด้วย เพราะแม้ว่าข่าวคราวเรื่องความรุนแรงในเด็กจะซาลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่เกิดขึ้นอีก สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เคยทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของกลุ่มนักเรียนชายในระดับมัธยมปลายและสายอาชีวะ ถึงประเด็นดังกล่าว เพื่อสำรวจสภาพและสาเหตุความขัดแย้งของกลุ่มนักเรียนชายในเขตกรุงเทพมหานคร ความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงของนักเรียนชาย และเพื่อสำรวจโอกาสและความต้องการใช้อาวุธของนักเรียนชาย สิ่งที่สำรวจพบในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46 เคยทะเลาะกับบิดามารดา/ผู้ปกครอง เช่นเรื่อง การเที่ยวเตร่ กลับบ้านดึก กลับบ้านช้า การไม่ไปเรียน ค่าใช้จ่าย และการคบเพื่อน รองลงมาคือ ร้อยละ 40 เคยทะเลาะกับครูอาจารย์ เช่นเรื่อง การฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง การแต่งกายผิดระเบียบ การมาเรียนสาย การไม่ทำการบ้าน การไม่ไปเรียน และการส่งการบ้านไม่ทัน ในขณะที่ร้อยละ 19.2 และ ร้อยละ 17.1 เคยทะเลาะกับเพื่อนร่วมสถาบันและนักเรียนต่างสถาบัน ตามลำดับ เช่นเรื่อง การไม่ชอบหน้ากัน ไม่กินเส้นกัน เข้าใจกันผิด คุยกันไม่รู้เรื่อง การแย่งแฟนกัน การดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันของกันและกัน และการกระทบกระทั่งด้วยคำพูดและทางร่างกาย เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.1 ระบุเคยทะเลาะกับแฟนหรือคู่รัก เช่นเรื่อง ความไม่เข้าใจกัน ความระแวงหึงหวง การเปลี่ยนใจออกห่างจากกัน การเอาแต่ใจตัวเอง และการไม่ได้รับความสนใจ ไม่เอาใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างต่อการใช้ความรุนแรงของเด็กนักเรียนในการแก้ปัญหาที่ตกเป็นข่าวที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุว่าไม่เห็นด้วย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้นที่เห็นด้วย และร้อยละ 6.7 ไม่มีความเห็น สำหรับสื่อที่ตกเป็นจำเลย ว่า เป็นต้นตอของการใช้ความรุนแรงในเด็กนั้น เมื่อสอบถามถึงประเภทของสื่อที่มีผลกระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบในการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และตอบได้มากกว่า 1 ประเภท ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 ระบุว่ามาจากภาพยนตร์ ร้อยละ 56.3 ระบุมาจากการชักจูงและสนับสนุนของเพื่อน รองลงมาคือร้อยละ 43.8 ระบุจากว่ามาจากข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้น ร้อยละ 32.4 จากเกมตู้/เกมคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 30.8 จากอินเตอร์เนต ร้อยละ27.2 จากรายการทีวี และร้อยละ 23.4 ระบุอื่นๆ อาทิ หนังสือนิยาย/หนังสือการ์ตูน เป็นต้น ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือ กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชายที่ถูกศึกษาวิจัยครั้งนี้ระบุข้อเสนอแนะต่อผู้ที่เป็นตัวแบบทางสังคม เช่น บิดา มารดา ครูอาจารย์ ดารานักแสดง นักการเมืองและผู้ใหญ่ในสังคม ที่มีผลต่อการ อบรมเลี้ยงดูและการขัดเกลาทางสังคม ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 78.3 ระบุว่าผู้ที่เป็นแบบอย่างทางสังคมควรแสดงความรักและความเข้าใจกลุ่มวัยรุ่นให้มากขึ้น ร้อยละ 74.6 ระบุอย่าใช้อำนาจข่มขู่และอย่าแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดเป็นตัวอย่างให้เห็น ร้อยละ 71.5 ระบุว่าควรหนักแน่นในการใช้เหตุผลอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 69.1 ระบุว่าควรปล่อยให้วัยรุ่นมีอิสระบ้าง ร้อยละ 67.2 ระบุว่าอย่าแสดงการดูหมิ่นผู้อื่น/ไม่ควรยกย่องตนเองว่าประเสริฐกว่าคนอื่น ร้อยละ 64.9 ระบุว่าไม่ควรประณามกันจนเกินไป ไม่ควรซ้ำเติมเวลาทำผิดพลาด ร้อยละ 58.9 ระบุว่าอย่าสัญญาอะไรแล้วทำไม่ได้ตามนั้น ร้อยละ55.8 ไม่ควรอบรมสั่งสอนไปหมดทุกเรื่อง ร้อยละ 52.1 ควรรู้จักกล่าว คำว่า "ขอโทษ" กันบ้าง เวลาผู้ใหญ่ทำผิดพลาดไป ร้อยละ 47.8 ระบุควรมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกัน ในขณะที่ร้อยละ 42.4 ระบุอื่นๆ อาทิ ไม่ควรตามใจวัยรุ่นมากเกินไป/ควรเข้มงวดกวดขันมากขึ้น เป็นต้น จากผลการสำรวจข้างต้น น่าจะเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ทุกคน สามารถนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงดูบุตรหลานของตนได้อย่างเหมาะสม เพราะดูเหมือนว่าหลายๆ แนวทางที่เด็กเสนอมานั้น เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มักจะปฏิบัติในสิ่งที่ตรงกันข้ามต่อพวกเขาเสมอ ประเด็นสำคัญสุดท้าย ได้แก่ วิธีการแก้ปัญหาเวลามีเรื่องกดดันคับข้องใจ ซึ่งผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 จะฟังเพลงที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด รองลงมาคือร้อยละ 53.8 ระบุว่าปรึกษาเพื่อน ร้อยละ 52.4 เล่นกีฬาออกกำลังกาย ร้อยละ 43.2 เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 43.1 ปรึกษาพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ร้อยละ40.6 ดูทีวี ร้อยละ35.8 ดูภาพยนตร์ ร้อยละ32.1 อยู่ลำพังคนเดียว ร้อยละ 29.0 เล่นอินเตอร์เนต ร้อยละ26.3 อ่านหนังสือ ร้อยละ 23.3 ปรึกษาครู/อาจารย์ ร้อยละ 18.1 ไปเที่ยวสถานบันเทิง และร้อยละ 10.1 ระบุอื่นๆ อาทิ นั่งสมาธิ/ไปวัด เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตและน่าเป็นห่วงว่า จากผลสำรวจที่ค้นพบนี้ กลุ่มนักเรียนที่ถูกศึกษาวิจัยครั้งนี้ ใช้วิธีแก้ปัญหาความคับข้องใจด้วยการปรึกษาเพื่อนร้อยละ 53.8 ซึ่งมากกว่าใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการปรึกษาบิดามารดา ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 43.1 และยิ่งไปกว่านั้น เด็กนักเรียนปรึกษาครู/อาจารย์เพียงร้อยละ 23.3 เท่านั้น ดังนั้น กลุ่มบุคคลที่สำคัญต่อเด็กนักเรียนและเยาวชน เช่น บิดามารดา และครูอาจารย์ ควรจะเร่งพิจารณาบทบาทของตนเอง และหาทางป้องกันแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนของประเทศ ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคตได้ นอกจากนี้ ก็ควรทำความรู้จักและเรียนรู้สังคมของบุตรหลานตนเองด้วย โดยเฉพาะการให้ความใกล้ชิดกับเพื่อนๆ ของลูก เพราะเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงส่วนใหญ่ ผู้ที่จะทราบลางบอกเหตุก่อนเป็นคนต้นๆ คือ เพื่อนของลูกนั่นเอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์เสรีรายวัน