ศึกษาทางไกล เรียนอย่างไรจึงจะสู่ความสำเร็จ

“การศึกษาทางไกล” เป็นอีกรูปแบบการเรียนการสอนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกล หรือขาดแคลนบุคลากรผู้สอน ด้วยผู้สอนจะถ่ายวิชาส่งผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น ทางโทรทัศน์เพื่อการศึกษา วิทยุ ซีดีรอมเทปรายวิชาต่างๆ แต่แม้หนังสือประกอบการเรียนไปยังผู้เรียน เป็นการเรียนการสอนรับส่งด้านเดียว ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง อาจารย์ และนักเรียน การศึกษาในรูปแบบนี้ค่อนข้างอิสระ และสบาย เพราะผู้เรียนต้องศึกษาด้วยตนเอง การเอาใจใส่ และกระตือรือร้นจึงมีน้อยกว่า เนื่องจากไม่มีอาจารย์คอยควบคุมใกล้ชิดมากนัก เทคนิคการเรียนจึงเป็นสิ่งแรกที่ “ผู้เรียน” ควรทำความรู้จักอันเป็นกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนการศึกษาทางไกล “เทคนิคการเรียน” คือ วิธีการเรียนที่จะให้ได้ผลการเรียนดีที่สุด โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด ถ้าคุณต้องการเข้าใจเนื้อหา ก็ต้องศึกษาแบบเจาะลึกไม่ใช่เพียงผิวเผิน พยายามอ่าน ทำความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ซึ่งวิธีการเรียนแบบนี้ แต่ละคนจะมีวิธีการเรียนของตัวเอง สำหรับผู้เรียนการศึกษาทางไกล ลองพิจารณาข้อเสนอแนะต่อจากนี้ แล้วลองปฏิบัติดูอาจเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเองก็เป็นได้ เริ่มจากเมื่อคุณตัดสินใจได้ว่าจะเรียนอะไรแล้ว สิ่งที่นึกถึงจากนั้น คือ “สื่อ” ที่คุณมีอยู่ เช่น เอกสาร ตำรา ครู เพื่อนร่วมงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ เทปเสียง แผ่นซีดี โทรศัพท์ และวิดีทัศน์ อันดับต่อมา คือ ตัวคุณเอง และเวลาในการศึกษา ซึ่งหมายถึงผู้เรียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและศึกษาด้วยตนเอง ตามแบบการศึกษาทางไกล บทบาทของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้เรียนจะต้องพัฒนาความเป็นผู้ใฝ่รู้ ในขณะที่ผู้สอนเป็นเพียงผู้ช่วย ผู้เรียนจะต้องตระหนักตั้งแต่เริ่มต้นว่า มีจุดประสงค์อย่างไรและต้องทำอะไรบ้าง ต้องรู้ว่าจะต้องรับผิดชอบอะไร ประเมินความก้าวหน้าการเรียนอย่างไร ต้องติดต่อกับผู้สอนทางไกลตลอดเวลา เพื่อจะได้รู้ว่าผลการสอนจะเน้นอย่างไร การเรียนเป็นงานที่หนักยิ่งของผู้เรียนและต้องเตรียมความพร้อมเพียงใด การเตรียมตัวที่ดี ความสำเร็จย่อมมีมาก ก่อนตัดสินใจที่จะเรียนจะพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับคุณ เช่น สภาพแวดล้อมส่วนตัวเป็นอย่างไร มีครอบครัวหรือยัง มีลูกเล็กๆ หรือเปล่า ทำงานเต็มเวลาหรือบางเวลา จะเรียนเต็มเวลาหรือบางเวลา ที่บ้านมีคนอยู่มากหรือไม่ จะต้องทำงานที่โต๊ะ อาหาร โดยมีสมาชิกในครอบครัวหลายคน แต่ทำอย่างไรเราจึงจะมีสมาธิกับการเรียนได้ ** ที่เรียน ถ้าบ้านของคุณแออัดจนหาที่เงียบๆ ไม่ได้ ห้องสมุดหลังศูนย์การเรียนอาจเป็นทางเลือกที่จะให้คุณได้ใช้ศึกษา เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ อาจเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณในเรื่องของการช่วยเรียนได้ หรือคุณอาจศึกษา จากผู้เรียนอื่นๆ ซึ่งการพูดคุยกับผู้เรียนคนอื่นก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีในเรื่องของการเรียนรู้ได้ ** เปลี่ยนนิสัย ชีวิตผู้ใหญ่ในสังคมเป็นชีวิตที่มีภาระมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาเวลาทำทุกอย่างได้ การจะจัดเวลาทำการบ้าน การดูแลบ้าน พาลูกไปโรงเรียน ทำกิจกรรม ดูโทรทัศน์ หรือทำงานประจำอื่นๆ เป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มเรื่องการเรียนเข้าไป ทำให้บางครั้งต้องตัดกิจกรรมบางอย่างออกไป คิดดูว่าจะสามารถตัดอะไรได้บ้าง การวางแผนเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว และผู้เรียนเท่านั้นที่จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ถ้าต้องการเรียน อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำการบ้านแทนที่จะทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า อย่าคิดเช่นนั้น การตัดสินใจเรียนอาจเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต อาจะได้พบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนการเรียนอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือสามารถให้โอกาสชีวิตใหม่ๆ ก็เป็นได้ ** วิธีการ เมื่อผู้เรียนสมัครเรียนทางไกลจะได้พบผู้สอน/อาจารย์ที่ปรึกษา จากสถาบันและได้รับเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับหลักสูตร และขอบเขตของหลักสูตรก่อนอื่น ควรดูเอกสารต่างๆ และลองจัดเวลาดูว่าจะต้องใช้เวลาเรียนอาทิตย์ละกี่ชั่วโมง ถ้าเห็นว่าเวลาว่างน้อยแสดงว่าต้องใช้เวลามากขึ้น ในแต่ละวันการเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เป็นเรื่องน่าเบื่อ อย่างน้อยต้องหาเวลาพักหรือได้เดินเล่นบ้าง การศึกษาเอกสารก่อนจะทำให้คำนวณได้อย่างคร่าวๆ ว่ามีหลักสูตรอะไรบ้างจากสื่อ การเรียนไปแต่ละหน่วยจะค่อยๆ เริ่มจากง่ายไปหายากบ้าง ผู้เรียนต้องศึกษาให้เข้าใจไปทีละน้อยตามลำดับ ** ความเครียด ความเครียดเป็นผลร้ายต่อการเรียน วิธีหลีกเลี่ยงความเครียดที่ดีที่สุด คือ วางแผนและฝึกจิตใจ ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้และทำงานทุกวัน หลีกเลี่ยงการทำงานที่คั่งค้าง ส่งงานตามเวลา แต่ถ้าทำไม่ได้คุยหรืออธิบายสถานการณ์ให้ผู้สอนเสริมหรืออาจารย์ที่ปรึกษาทราบ แทนที่จะรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิด ติดต่อกับเพื่อผู้เรียนคนอื่นบ้างถ้ามี เพราะ การมีเพื่อนที่อยู่สถานการณ์เดียวกันจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีซึ่งกันและกันได้ อธิบายให้ครอบครัวและเพื่อนเข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่ค่อยมีเวลาให้ เริ่มทำความเข้าใจกับเอกสารอย่างกว้าง ค่อยๆ อ่านทีละหน้า ดูภาพและอ่านคำบรรยาย เขียนหัวข้อและประเด็นสำคัญๆ บันทึกขีดเส้นใต้ข้อความเรื่องที่สำคัญ จับประเด็นสำคัญและย่อความด้วยคำพูดตัวเอง ถามคำถามเพื่อตรวจสอบว่าตนเองเข้าใจเรื่องที่อ่านมากน้อยแค่ไหน ศึกษากับเพื่อนถ้ามี ตั้งคำถามช่วยกันคิด ทบทวนเอกสารก่อนที่จะบันทึกรายละเอียดและหัวข้อ การจะพยายามอ่านและเขียนทุกๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องรู้จักจับประเด็นที่สำคัญ เพื่อประหยัดเวลาและได้ความรู้ พยายามหาวิธีของตนเอง การเรียนไม่จำกัดที่ต้องอยู่ที่โต๊ะเสมอไป หรืออาจเขียนโน๊ตย่อ ไม่จำเป็นต้องบันทึกเสมอไป อาจบันทึกเทปไว้ฟังเวลาขับรถ ทำกับข้าวหลังล้างชาม ,เขียนคำ หรือวลียากๆ ไว้แล้วไปติดในที่เด่นๆ รอบบ้าน เพื่อจะได้เน้นตลอดเวลาและทำให้จำได้ ,ก่อนนอนอ่านตำราเล็กน้อย ถึงจะอ่านได้น้อยกว่าแต่อาจนับว่าได้อะไรบ้าง ,ตอบคำถาม ในตำราแต่ละตอน แล้วลองตั้งคำถามเองบ้าง ,เมื่อรู้สึกล้าลองให้รางวัลตัวเองบ้าง ,การส่งการบ้านเป็นช่วงๆ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและส่งให้ตามกำหนด ** หากติดขัดในการเรียน หากมีปัญหาก็ให้ทิ้งงานนั้นไว้ก่อนแล้วทำงานอื่นแทน หลังจากนั้น 2-3 วันค่อยกลับมาดูใหม่ บ่อยครั้งจะแก้ปัญหาได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ลองติดต่อกับผู้เรียน อาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วควรทบทวนอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ยอมรับคำตอบของคนอื่นเพื่อผละไป ที่สำคัญติดต่อกับผู้สอนตลอดเวลาไม่ใช่รอจนมีปัญหาเกิดขึ้น ถึงแม้ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการพูดคุยจะทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือทำให้รู้สึกดีเมื่อมีคนให้กำลังใจ

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ