"ไบโอเทค" ชูไทยศูนย์ชีวภาพเอเชีย

ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ได้เห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย (2547-54) และเตรียมจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป สำหรับแผนฉบับนี้เป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพรวม 6 ยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจ ชีวภาพสมัยใหม่ คาดว่าจะมีการตั้งบริษัทธุรกิจชีวภาพสมัยใหม่อย่างน้อย 100 แห่ง และสร้างมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งธุรกิจชีวภาพใหม่จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ชุดตรวจวินิจฉัยโรค อาหารเสริมสุขภาพและเมล็ดพันธุ์ การบริการทางแพทย์และสาธารณสุข การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการตรวจ เพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ การพัฒนายาใหม่ และการค้นหายีนหรือสารพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ ดึงดูดให้มีบริษัททั้งในและต่างประเทศมาใช้บริการการทำวิจัย และพัฒนาและการสนับสนุนจากบีโอไอหรือการลดภาษีสำหรับธุรกิจประเภทนี้ ดร.มรกตกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ไทยเป็นครัวของโลกใน 20 ปี ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยหวังว่าจะสามารถสร้างอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อส่งออกให้ได้เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2554โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นแกนหลักในการเพิ่มผลผลิต และปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม "เราหวังว่าแผนแม่บทดังกล่าวจะช่วยให้สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียได้ โดยเฉพาะจะดึงลูกค้าด้านการบริการสุขภาพจากที่มีเป้าหมาย ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพแห่งเอเชีย และเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาโรคเขตร้อน เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย และโรคทางพันธุกรรม เพื่อนำไปสู่การป้องกัน ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าแล้วโดยการอนุมัติงบ 163 ล้าน จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายจึงวางเป้าหมายสร้างบุคลากรวิจัยอาชีพ และผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี โท และเอก ในสาขาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งหากพัฒนาได้ตามเป้าหมายก็จะสร้างประเทศ ให้แข่งขันด้านเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศแถบนี้ได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ