เผยผลวิจัยวัยรุ่นไทยคิดฆ่าตัวตายอื้อ

เผยผลวิจัยวัยรุ่นไทยคิดฆ่าตัวตายอื้อ จากการประชุมวิชาการเรื่อง "เด็กไทยวันนี้ เป็นอยู่อย่างไร" ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ รร.อมารี แอร์พอร์ต กทม. รศ.พ.ญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง "เด็กไทยวันนี้ เป็นอยู่อย่างไร : บทสรุปจากโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย" ว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนไทยทั้งสิ้น 9,488 คน เป็นเด็กปฐมวัย 1-6 ขวบ จำนวน 3,156 คน เด็กวัยเรียน อายุ 6-13 ปี จำนวน 3,178 คน และเด็กวัยรุ่น อายุ 13-18 ปี จำนวน 3,154 คน กระจายทั่วทุกภูมิภาค พบว่าภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 61 เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 30 เกิดจากปัญหาภายในครอบครัวที่ไม่สามารถแก้ได้ ร้อยละ 15 เกิดจากคู่สมรสมีปัญหาหย่าร้างหรือแยกทางกัน เป็นต้น รศ.พ.ญ.ลัดดา กล่าวต่อไปว่า การสำรวจข้อมูลเรื่องแรงงานเด็กในช่วงอายุ 6-18 ปี จำนวน 6,303 คน พบว่ามีแรงงานเด็กสูงถึง 326 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กในภาคกลางมากที่สุด และร้อยละ 55 เป็นเด็กที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่พบในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ในกลุ่มเด็กที่เคยขี่รถจักรยานยนต์หรือขับรถยนต์ พบว่าร้อยละ 39-44.5 ของเด็กที่เคยขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 18.8-20 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเด็กอายุ 6-13 ปี ขับรถหลังดื่มสุราสูงถึงร้อยละ 38.4 ขณะที่เด็กอายุ 13-18 ปี ร้อยละ 19.9 เคยมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เด็กวัยรุ่นร้อยละ 3.2 เคยคิดหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตาย ร้อยละ 8 เคยสูบบุหรี่ ส่วนพฤติกรรมการใช้สารเสพติดของเด็กไทยอายุ 6-18 ปี ในรอบ 3 เดือน พบว่าร้อยละ 0.8 เคยเสพยาบ้า รศ.พ.ญ.ลัดดากล่าวอีกว่า สำหรับการสอนเรื่องเพศศึกษา และการมีสัมพันธ์ทางเพศของครอบครัวนั้น พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูส่วนใหญ่ไม่ได้สอน คิดว่าโรงเรียนน่าจะสอนลูกได้ดีกว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูโทรทัศน์ เด็กอายุ 1-6 ขวบ ดูโทรทัศน์ เฉลี่ยวันละ 1.9 ชั่วโมง เด็กอายุ 6-13 ปี ดูเฉลี่ยวันละ 2.8 ชั่วโมง และเด็กอายุ 13-18 ปี ดูเฉลี่ยวันละ 3.3 ชั่วโมง โดยวันหยุดจะดูมากถึง 4.9 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาแก้ไขเร่งด่วน คือ การพัฒนาด้านสติปัญญา โดยจากการศึกษาพบว่าเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น จะมีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปฐมวัย และสิ่งที่จะพัฒนาในด้านดังกล่าวได้ก็คือครอบครัว และอาหาร โดยเฉพาะอาหารนั้นพบว่าเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จะมีปัญหาด้านทุพโภชนาการ ขาดสารไอโอดีน.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ