แก้ปัญหาเด็ก หลัง 4 ทุ่มไล่เด็กกลับบ้าน

             จาตุรนต์ ไฟเขียว กระทรวงยุติธรรม ออกกฎกระทรวง ให้ตำรวจและสารวัตรนักเรียน มีอำนาจส่งเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่มกลับบ้านได้ ด้านกระทรวงศึกษาธิการ ขอมีส่วนอนุญาต ตั้งสถานบันเทิง-เริงรมย์ เพื่อตีเส้นพ้นเขตสถานศึกษา พร้อมสั่งขึ้นบัญชีดำ โรงเรียนชอบก่อเหตุหาเรื่อง ยกพวกตีกัน ซึ่งรวมถึง โรงเรียนที่มีครูหื่นกาม ดร.จรวยพร ธรณินทร์ รักษาการรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการออกกฎกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฉบับใหม่ ที่ออกตาม ปว.132 และ ปว.294 ทั้งนี้ โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและสารวัตรนักเรียน สามารถส่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ออกนอกเคหสถาน หลังเวลา 22.00 น.โดยไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล กลับเข้าสู่เคหสถาน นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการยังได้เสนอว่า ในการพิจารณาอนุญาตจัดตั้งสถานบันเทิงหรือสถานเริงรมย์ต่างๆ ขอให้มีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาด้วย วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้สถานบันเทิงเหล่านั้นตั้งอยู่ไกลจากสถานศึกษา ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยินดีให้ความร่วมมือในการเข้าตรวจค้นอาวุธภายในสถานศึกษา หรือในครอบครัวที่ได้รับแจ้งว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงหรือการก่อเหตุทะเลาะวิวาทขึ้น โดยทางเจ้าหน้าที่จะได้มีการจัดชุดปฏิบัติการออกตรวจตราพื้นที่ พร้อมทั้งให้นายตำรวจระดับรองสารวัตรขึ้นไปเข้าร่วมเป็นกรรมการสถานศึกษา โดยมุ่งให้เกิดการสืบสวนสอบสวน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ในช่วงที่มีการจัดการแสดงคอนเสิร์ต การตรวจสถานบันเทิงที่อยู่รอบๆ สถานศึกษา และการตรวจบัตรประชาชนไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปเที่ยวในสถานบันเทิง รักษาการรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อสถานศึกษา ที่มีประวัติเหตุการณ์นักเรียนยกพวกตีกัน เหตุการณ์นักเรียนทำร้ายเพื่อนนักเรียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนที่มี ครู ผู้บริหารที่มีพฤติกรรมละเมิดหรือทำร้ายเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ จากการหารือครั้งดังกล่าว ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่และเวลา ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อจัดรายการเพื่อการศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการแจกรางวัลที่มีมูลค่าสูง แทนการมอบโล่รางวัลให้กับบริษัทหรือศิลปินที่ผลิตรายการด้านการศึกษาดีเด่น เช่น ให้เงินรางวัล 200,000 บาท เพื่อจูงใจในการผลิตรายการเพื่อการศึกษาที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน จากกรณีสถานศึกษาใน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ปฏิเสธรับเด็กม้งถ้ำกระบอกเข้าเรียน อันเป็นเหตุให้ผู้ปกครองของเด็กพากันร้องเรียนมายังสภาทนายความ สภาทนายความ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกิจการพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเด็กม้งเข้าเรียน ฝ่ายบริการการศึกษา สำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสระบุรี ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอพระพุทธบาท จึงได้จัดเวทีเพื่อพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว อาจารย์พีระวุฒิ ภิรมย์ ตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนบ้านซับชะอม หมู่ 9 ตำบลนาวัง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ที่ทางโรงเรียนไม่รับเด็กม้งเข้าเรียนเนื่องจากเป็นมติของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน "คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 12 คน รวมทั้งชาวบ้านไม่เห็นด้วยที่จะให้รับเด็กม้งเข้ามาเรียนที่นี่ ตอนแรกทางโรงเรียนก็เปิดรับสมัครตามที่เคยประชุมกันไว้ แต่เมื่อเริ่มสมัครทางฝ่ายชาวบ้านก็เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้าน" อ.พีระวุฒิกล่าว และว่า ชาวบ้านให้เหตุผลว่า เกรงจะเกิดเหตุลักขโมยและยาเสพติดขึ้น อีกทั้งไม่สามารถสื่อภาษากับชาวม้งได้ โดยผู้ปกครอง และผู้ใหญ่บ้านยืนยันว่า หากทางโรงเรียนรับเด็กม้งเข้ามา ผู้ปกครองเด็กในหมู่บ้านทั้งหมดก็พร้อมที่จะย้ายเด็กไปเรียนที่อื่น และยังเสนอให้ตั้งโรงเรียนให้เด็กม้งโดยเฉพาะ ขณะที่นางรัชนี ธงไชย สมาชิกที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคม ตัวแทนสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นปัญหาจากทัศนคติ และวัฒนธรรมของคนในชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ตนเห็นว่า อาจจะต้องรอกฎกระทรวงใหม่ และต้องปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ตอนนี้ก็แก้ไขปัญหาตรงจุดอื่นๆ ไปก่อน" ต่อกรณีดังกล่าว นายสุรพงษ์ กองจันทึก จากสภาทนายความ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบว่าด้วยหลักฐานวัน เดือน ปีเกิดในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2535 และแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร และเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งกำหนดไว้ว่า ทางโรงเรียนจะต้องรับเด็กที่มีอายุครบเกณฑ์เข้าศึกษา ไม่ว่าเด็กจะมีหรือไม่มีเอกสารทางราชการใดๆ เลย "เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียน กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จัดการศึกษาให้ แต่ตอนนี้มีปัญหาว่า บางโรงเรียนไม่รับเด็ก นอกจากมีการสอบถามชาวบ้าน ตรวจพื้นที่ และประชุมกันแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่มีมติที่แน่ชัด ยิ่งในกรณีของซับชะอมที่ประชุมไม่คุยเรื่องนี้ เมื่อไม่คุยเรื่องนี้ก็เป็นขั้นตอนของศาล คือตอนนี้มีชาวบ้านมาร้องเรียน โดยมีสภาทนายความเป็นทนายให้" ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากโรงเรียนบ้านซับชะอมแล้ว ยังมีกรณีของโรงเรียนธารเกษม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และผู้ปกครองม้งได้ร้องเรียนไปยังทางสภาทนายความด้วยเช่นกัน ว่าโรงเรียนธารเกษมรับเข้าเรียนแต่เฉพาะเด็กม้ง ที่ผู้ปกครองมีหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น ซึ่งขัดกับระเบียบของทางกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามกับทางโรงเรียน ผู้ปกครองได้รับคำชี้แจงว่า ทางโรงเรียนมีบุคลากรครูไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ